ป.ป.ช.จัดสัมนาแนวทางปฏิบัติรัฐเผยราคากลาง “ภักดี” แจง ไทยตั้งเป้าปราบโกงระยะ 2 ปี ชี้มีแนวโน้มโกงข้ามชาติ วางเป้ากลุ่มขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ระยะที่ 2 เผยมาตรการเปิดเผยราคากลาง ช่วยให้โปร่งใสขึ้น ปชช.ตรวจสอบได้ หลังกินเปอร์เซ็นต์ชาติเสียหาย ลุ้นแต้ม “ซีพีไอ” อยู่ที่ร้อยละ 50 ให้ได้ ลั่นหน่วยงานไหนไม่ปฏิบัติตามมีโทษทางวินัย-ถอดถอน
วันนี้ (20 ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี สำนักงาน ป.ป.ช.จัดงานสัมนาเรื่องแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐตามหลักเกณฑ์การเปิดเผยราคากลาง การคำนวณราคากลางและการจัดทำแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการ โดยมีนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.เป็นประธาน โดยนายภักดีกล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ประเทศไทยขับเคลื่อนอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2556-2560 เป้าหมายเพื่อสังคมไทยมีวินัย โปร่งใส และร่วมกันป้องกันปราบปรามการทุจริตเพื่อเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เนื่องจากในปีหน้าไทยต้องเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนี้สถานการณ์การทุจริตมีแนวโน้มที่จะพัฒนารูปแบบเป็นการทุจริตเครือข่ายข้ามชาติ
นายภักดีกล่าวว่า โดยกลุ่มเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติระยะที่ 2 คือ 1. กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ต้องมีการปลุกจิตสำนึกอย่างต่อเนื่องโดยเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก 2. หน่วยงานภาครัฐ ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการองค์กรและยึดจริยธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติ กำหนดกลไกขับเคลื่อนให้เข้มแข็งและโครงสร้างการทำงานที่โปร่งใส ปรับปรุงกฎระเบียบในการดำเนินงาน การจัดซื้อจัดจ้าง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง 3. องค์กรภาคเอกชน สร้างความโปร่งใสรับผิดชอบในการดำเนินงาน ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน และ 4. ภาคประชาสังคมและสื่อ เสริมบทบาทของประชาชนโยทั่วไป ไม่ให้ยอมรับคนโกงและช่วยเปิดเผยโครงการทุจริตต่างๆ
นายภักดีกล่าวอีกว่า ในส่วนของดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของไทย (ซีพีไอ) ของไทยปีนี้ ได้คะแนนเพียงร้อยละ 35 อยู่ในอันดับที่ 102 ของโลก และในอาเซียนเราอยู่อันดับที่ 5 ของกลุ่ม ก่อนหน้านี้ในปี 2555 ไทยอยู่อันดับที่ 2 ในกลุ่มอาเซียน สิ่งนี้แสดงได้หลายอย่าง โดยประเทศอื่นอาจจะมีการพัฒนาด้านนี้ได้ดีขึ้นกว่าเรา และสิ่งหนึ่งที่สะท้อนคะแนนส่วนนี้มากน้อยเพียงใดของประเทศไทยอยู่ที่นักการเมืองผู้มีอำนาจ เข้ามาแทรกแซง แต่งตั้งโยกย้าย ใช้ระบบอุปถัมภ์ช่วยในการทุจริต ภาคธุรกิจต้องจ่ายสินบนในขบวนการต่างๆ ส่วนนี้เรามีปัญหามาก และเราต้องนำยุทธศาสตร์มาขับเคลื่อนปัญหานี้ เพื่อให้ซีพีไอในปี 2560 ของเราอยู่ที่ร้อยละ 50 ให้ได้ ทั้งนี้ เราต้องมีการปรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติ โดยให้ทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ผนึกกำลังองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น มาตรา 100, มาตรา 103, มาตรา 103/7 แห่ง พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2554 เป็นเครื่องมือจัดการ ให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายภักดีกล่าวถึงสภาพปัญหาการทุจริตโดยเฉพาะเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมาว่า มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทำให้รัฐเสียหาย จัดซื้อจัดจ้างที่แพงเกินจริง จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นคู่สัญญา แข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรม การจัดซื้อจัดจ้าวเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย โดย ป.ป.ช.มีมาตรการป้องกันการทุจริตในเรื่องนี้ ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลางและการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ จะช่วยทำให้การทำงานโปร่งใสมากขึ้น โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ เพราะที่ผ่านมางบประมาณด้านนี้ถูกจำกัดไว้กว่า 20-30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำมาเบียดเบียนให้กับคนบางกลุ่มทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย การพัฒนาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จึงนำมาสู่การกำหนดมาตรการนี้ และหลังจากมีมาตรานี้คงจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ประชาชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อภาครัฐมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ภาครัฐยกระดับดีขึ้น และผลซีพีไอจะมีลำดับที่ดีขึ้น นอกจากนี้ หากหน่วยงานไหนไม่ปฏิบัติตามหรือฝ่าฝืนจะมีความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุให้ถึงขั้นถูกถอดถอนทางการเมือง