xs
xsm
sm
md
lg

ขรก.-การเมือง ทำดัชนีโปร่งใสไทย35จาก100

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (20ส.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี ได้จัดงานสัมนา เรื่องแนวทางการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐตามหลักเกณฑ์การเปิดเผยราคากลาง การคำนวณราคากลาง และการจัดทำแสดงบัญชีรายการรับจ่ายของโครงการ โดยมี นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช เป็นประธาน
นายภักดี กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ประเทศไทยขับเคลื่อนอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์แห่งชาติ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ระยะที่ 2 ปี พ.ศ.2556 - 2560 เป้าหมายเพื่อสังคมไทยมีวินัย โปร่งใส และร่วมกันป้องกันปราบปรามการทุจริตเพื่อเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เนื่องจากในปีหน้าไทยต้องเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นอกจากนี้ สถานการณ์การทุจริตมีแนวโน้มที่จะพัฒนารูปแบบเป็นการทุจริตเครือข่ายข้ามชาติ
นายภักดี กล่าวว่า กลุ่มเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติ ระยะที่ 2 คือ
1. กลุ่มเป้าหมายเด็กและเยาวชน ต้องมีการปลุกจิตสำนึกอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มตั้งแต่เด็กเล็ก
2. หน่วยงานภาครัฐ ใช้หลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการองค์กรและยึดจริยธรรมเป็นแนวทางปฏิบัติ กำหนดกลไกขับเคลื่อนให้เข้มแข็ง และโครงสร้างการทำงานที่โปร่งใส ปรับปรุงกฎระเบียบในการดำเนินงาน การจัดซื้อจัดจ้าง บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มแข็ง
3.องค์กรภาคเอกชน สร้างความโปร่งใสรับผิดชอบในการดำเนินงาน ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชั่น
4. ภาคประชาสังคมและสื่อ เสริมบทบาทของประชาชนโยทั่วไป ไม่ให้ยอมรับคนโกงและช่วยเปิดเผยโครงการทุจริตต่างๆ
นายภักดี กล่าวอีกว่า ในส่วนของดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันของไทย (ซีพีไอ) ในปีนี้ ได้คะแนนเพียงร้อยละ 35 อยู่ในอันดับที่ 102 ของโลก และในอาเซียน เราอยู่อันดับที่ 5 ของกลุ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2555 ไทยอยู่อันดับที่ 2 ในกลุ่มอาเซียน สิ่งนี้แสดงได้หลายอย่าง โดยประเทศอื่น อาจจะมีการพัฒนาด้านนี้ได้ดีขึ้นกว่าเรา และสิ่งหนึ่งที่สะท้อนคะแนนส่วนนี้มากน้อยเพียงใดของประเทศไทย อยู่ที่นักการเมืองผู้มีอำนาจ เข้ามาแทรกแซง แต่งตั้งโยกย้าย ใช้ระบบอุปถัมภ์ ช่วยในการทุจริต ภาคธุรกิจต้องจ่ายสินบนในขบวนการต่างๆ ส่วนนี้เรามีปัญหามาก และเราต้องนำยุทธศาสตร์มาขับเคลื่อนปัญหานี้ เพื่อให้ซีพีไอ ในปี 2560 ของเราอยู่ที่ร้อยละ 50 ให้ได้ ทั้งนี้ เราต้องมีการปรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์แห่งชาติ โดยให้ทุกภาคส่วนบูรณาการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ผนึกกำลังองค์กรตามรัฐธรรมนูญทั้ง 7 ใช้มาตรการทางกฎหมาย เช่น มาตรา 100 มาตรา 103 มาตรา 103/7แห่งพ.ร.บ. ป.ป.ช. พ.ศ. 2554 เป็นเครื่องมือจัดการ ให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นายภักดี กล่าวถึงสภาพปัญหาการทุจริต โดยเฉพาะเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมา ว่า มีการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบทำให้รัฐเสียหาย จัดซื้อจัดจ้างที่แพงเกินจริง จ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นคู่สัญญา แข่งขันราคาอย่างไม่เป็นธรรม การจัดซื้อจัดจ้าง เอื้อประโยชน์ต่อเอกชนบางราย โดยป.ป.ช มีมาตรการป้องกันการทุจริตในเรื่องนี้ ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ. 2554 มาตรา 103/7 ให้หน่วยงานของรัฐจัดทำข้อมูลรายละเอียดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง โดยเฉพาะราคากลาง และการคำนวณราคากลางไว้ในระบบข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ประชาชนเข้าตรวจดูได้ จะช่วยทำให้การทำงานโปร่งใสมากขึ้น โดยประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้ เพราะที่ผ่านมา งบประมาณด้านนี้ถูกจำกัดไว้กว่า 20 –30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อนำมาเบียดเบียนให้กับคนบางกลุ่ม ทำให้ประเทศชาติเกิดความเสียหาย การพัฒนาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง จึงนำมาสู่การกำหนดมาตรการนี้ และหลังจากมีมาตรานี้คงจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลง ประชาชนเกิดความเลื่อมใสศรัทธาต่อภาครัฐมากขึ้น ส่งผลต่อเนื่องให้ภาครัฐยกระดับดีขึ้น และผลซีพีไอ จะมีลำดับที่ดีขึ้น นอกจากนี้ หากหน่วยงานไหนไม่ปฏิบัติตาม หรือฝ่าฝืนจะมีความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุให้ถึงขั้นถูกถอดถอนทางการเมือง
**อ้างตีตกคดีฮั้วประมูล 3 จีมีเหตุผล
นายภักดี ในฐานะประธานอนุกรรมการไต่สวน กรณีกล่าวหา คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีพฤติกรรมทุจริตเกี่ยวการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี กล่าวถึง กรณีที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.มีมติให้กรณีกล่าวหา กทค.มีพฤติกรรมทุจริตเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ตกไป เนื่องจากไม่มีมูล ทั้งที่อนุกรรมการไต่สวนสรุปสำนวนว่าควรชี้มูล ว่า เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นมติที่จะวินิจฉัยว่า จะชี้มูลหรือไม่ ซึ่งมีหลายครั้งที่ทางอนุกรรมการไต่สวน อาจจะเสนอมาอย่างหนึ่ง แต่มติกรรมการป.ป.ช.ออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่ง เรื่องนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้โหวตเหมือนกับทุกคดีที่ผ่านมา
เมื่อถามย้ำว่า เสียงที่โหวตเป็นมติเอกฉันท์หรือไม่ นายภักดี ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม
นายภักดี ยังกล่าวถึงกรณี บริษัท ไร่ส้ม จำกัด ที่มี นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธีกรชื่อดัง เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท ยักยอกเงินโฆษณาเกินเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาร่วมผลิตรายการกับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เป็นเงินกว่า 138 ล้านบาท ว่า การไต่สวนในชั้นคณะทำงานร่วมอัยการสูงสุด (อสส.) กับ ป.ป.ช. ได้ทำการสอบพยานปากต่างๆ จนเสร็จสิ้นหมดแล้ว ขณะนี้คณะทำงานร่วมฝ่ายอัยการกำลังอยู่ระหว่างการเสนอให้ อสส.พิจารณา ว่าส่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งหากอสส.ไม่เห็นด้วย จะส่งเรื่องกลับมายังป.ป.ช. เพื่อให้ป.ป.ช.ส่งฟ้องเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น