xs
xsm
sm
md
lg

ทีดีอาร์ไอชี้ 80ปีปชต.ไทย ไม่ช่วยลดโกง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (10 มี.ค.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จัดสัมมนา “ดัชนีชี้วัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย” ที่ โรงแรมสวิสโซเตล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ ถ.รัชดาภิเษก เพื่อเผยแพร่ผลสำรวจ และประสบการณ์เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันของไทยในปัจจุบัน และมีการระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนาฐานข้อมูลสถิติ และดัชนีชี้วัดการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย
ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีปัญหาคอร์รัปชันสูงมาก ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ประเทศที่มีประชาธิปไตยมานานกว่า 40 ปี จะมีปัญหาการคอรัปชันลดลง แต่กรณีของประเทศไทยไม่เป็นเช่นนั้น เพราะไทยมีประชาธิปไตยมายาวนาน 80 ปีแล้ว หากนับตั้งแต่ปี 2475 แต่มีประชาธิปไตยแบบไม่เต็มใบ จึงยากที่จะนับว่าเรามีประชาธิปไตยมากี่ปี และที่ปัญหาคอร์รัปชันไทย ไม่ลดลง ซึ่งต้องมาทบทวนกันว่าเป็นเพราะเหตุใด
ดร.เดือนเด่น กล่าวว่า แม้ไทยจะมีองค์กรตรวจสอบความโปร่งใสจำนวนมาก แต่ปัญหาการคอรัปชันนั้นไม่ลดลง จึงต้องทบทวนการทำงานตรวจสอบขององค์กรเหล่านั้นด้วยว่า อิสระจริงหรือไม่ในการทำงาน เนื่องจากยังมีบางองค์กรอิสระ ที่ต้องพึ่งนโยบายรัฐอยู่ ดังนั้นกรณีในประเทศไทย จึงต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้โปร่งใส โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐในการทำงาน ตัวอย่าง นโยบายจำนำข้าว ก็สะท้อนว่า เราไม่รู้ข้อมูลการซื้อขายข้าว ราคา จำนวน เป็นได้อย่างไรที่ภาครัฐไม่เปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ ไทยจึงต้องพึ่งพาภาคประชาชนมากที่สุดในการตรวจสอบคอร์รัปชัน ไม่ใช่พึ่งองค์กรอิสระต่างๆ เท่านั้น
ผอ.ทีดีอาร์ไอ กล่าวถึง การคอร์รัปชันที่กระทบภาคธุรกิจว่า ปัญหาชัดเจนที่อ้างอิงได้จากดัชนีที่ต่างชาติจัดทำคือ ภาคการเมืองคอร์รัปชัน ส่วนจุดแข็งคือ ภาคธุรกิจและการเงิน จึงน่าเสียดายที่การเติบโตของไทยถูกถ่วงน้ำหนักจากภาคการเมือง คอร์รัปชันที่เกิดจากภาคการเมืองมาทำร้ายธุรกิจไทย
"ข้อมูลการสำรวจและดัชนีเกี่ยวกับทุจริตคอร์รัปชันถูกนำไปใช้ในการทำนโยบายน้อยมาก ข้อมูลมีเยอะ แต่หน่วยงานราชการไม่สนใจกับดัชนีเหล่านี้ ขณะที่ป.ป.ช. ซึ่งทำแผนต่อต้านทุจริตคอร์รัปชันไม่ได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์แต่อย่างใด" ดร.เดือนเด่น กล่าว และว่า ปัญหาคอร์รัปชันในระดับประเทศจะไม่หมดไป หากยังมีการคอร์รัปชันเล็กๆ น้อยๆ อย่างการติดสินบนต่างๆ ที่ไทยยังมีอยู่มาก
ด้าน ดร.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการประจำสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา หัวข้อ "ดัชนีการทุจริตคอร์รัปชันของประเทศไทย : ต่างชาติเขามองเราอย่างไร" โดยระบุว่า หากอ้างอิงตามดัชนีชี้วัดคอร์รัปชัน หรือ ซีพีไอ ที่จัดทำโดยองค์กรวัดความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งจัดอันดับในทุกๆ ปี จะเห็นว่า สถานการณ์คอรัปชันในไทย แย่ลงตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2553-2556 ไทยได้รับอันดับแย่ลงตามลำดับคือ อันดับที่ 78, 80, 88 และ 102
ดร.บุญวรา กล่าวว่า องค์กรวัดความโปร่งใส ยังมีดัชนีอีกตัวที่วัดความเห็นประชาชนในประเทศนั้นๆ ที่มีต่อการคอรัปชันในประเทศต่างๆ เรียกว่า มาตรวัดคอร์รัปชันโลก (Global Corruption Barometer) ซึ่งจะคำถาม 12 ข้อ ที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชัน
ทั้งนี้ นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ ยังได้ยกตัวอย่างคำถาม 2 ข้อ จาก 12 ข้อ ได้แก่ คุณเห็นว่าสถาบันใดในประเทศไทยมีการคอร์รัปชันมากที่สุด และ จากประสบการณ์ของคุณ หน่วยงานภาครัฐใด ที่คุณเคยติดสินบน โดยผลการสำรวจพบว่า ตำรวจและพรรคการเมือง เป็นองค์กรที่คอร์รัปชันมากที่สุดในไทยปี 2556 และคนไทยเคยติดสินบนให้ตำรวจมากที่สุด ในบรรดาองค์กรรัฐในปีเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม คำถามอีก 10 ข้อ ของมาตรวัดคอร์รัปชันโลก ได้แก่ 1. ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ระดับคอร์รัปชันในประเทศของคุณเปลี่ยนแปลงหรือไม่ 2. ประเด็นใดที่ทำให้คุณคิดว่าการคอร์รัปชันเป็นปัญหาของภาครัฐในประเทศของคุณ 3. ในการติดต่อกับภาครัฐ การรู้จักเป็นการส่วนตัวสำคัญต่อการทำให้สิ่งต่างๆ บรรลุอย่างไร
4. ประเด็นใดที่ทำให้คุณคิดว่า รัฐบาลของคุณดำเนินงานด้วยคนเฉพาะกลุ่มเพราะเห็นแก่ประโยชน์ของพวกพ้อง 5. ภาครัฐของคุณทำงานต่อต้านคอร์รัปชันได้มึประสิทธิภาพอย่างไร 6. อะไรคือเหตุผลหลักในการติดสินบน 7. คนทั่วไปสามารถเปลี่ยนแปลงโดยต่อต้านคอร์รัปชันหรือไม่
8.คุณต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมกับการต่อต้านคอร์รัปชันหรือไม่ 9. ให้คุณรายงานการคอร์รัปชัน และ 10. การปฏิเสธการจ่ายสินบน
นอกจากนี้ ดร.บุญวรา กล่าวเพิ่มเติมว่า คอร์รัปชันในประเทศไทยน่าเป็นห่วง เพราะได้อันดับโลกต่ำกว่าฟิลิปปินส์ ทั้งที่ไทยมีสถานะทางเศรษฐกิจดีกว่า และนักธุรกิจนานาชาติมองว่า การคอร์รัปชันเป็นปัจจัยที่น่ากังวลในการมาลงทุน
ดร.บุญวรา กล่าวอ้างอิงดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขัน ปี 2556 ซึ่งระบุว่า คอร์รัปชันเป็นปัจจัยที่มีปัญหามากที่สุด 20.2% รองลงมาคือ เสถียรภาพของรัฐบาล 16.5% เสถียรภาพทางนโยบาย 13.5% และ ประสิทธิภาพในการบริหารงานของภาครัฐ 13.4% ขณะเดียวกัน ไทยได้รับเสียงสะท้อนที่ดีเกี่ยวกับนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงิน ได้แก่ การเข้าถึงด้านการเงิน หรือ อัตราภาษี เป็นต้น ทั้งนี้ หากพิจารณาดัชนีการแข่งขันระดับโลกควบคู่ โดยเปรียบ เทียบกับประเทศอาเซียนจะพบว่า ไทยยังมีระดับการแข่งขันที่ไม่แย่นักคือ อันดับ 4 รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน
กำลังโหลดความคิดเห็น