xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลศึกษาปัญหาคอร์รัปชันในไทย ยิ่งทวีความรุนแรง โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดผลศึกษาปัญหาคอร์รัปชันในไทยยังรุนแรงและไม่ดีขึ้น แม้เวลาผ่านไปถึง 80 ปี ส่งผลต่อธุรกิจเอกชนต้องมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอย่างน้อย 10% และผลักต้นทุนพุ่ง 30% นักลงทุนขาดเชื่อมั่นแข่งขันยาก โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา “ทีดีอาร์ไอ” ชี้ ปัญหามาจากพรรคการเมือง และการบริหารจัดการภาครัฐ ย้ำระบบตรวจโกงยังขาดคุณภาพ ข้อมูลโครงการเปิดเผยสาธารณชนน้อย แนะปฏิรูปการเลือกตั้ง เผยในเวทีโลก ไทยได้คะแนนต่ำกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ สะท้อนความไม่โปร่งใส

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการสัมมนาเรื่อง “ดัชนีวัดสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในปรเทศไทย” วันนี้ (10 มี.ค.) ซึ่งจัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย เผยผลการศึกษาการคอร์รัปชันในประเทศไทย พบว่าปัญหาการทุจริตยังอยู่ในระดับสูงและยังคงเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ จากการสำรวจกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจร้อยละ 93 เห็นว่าระดับความรุนแรงของปัญหายังอยู่ในระดับสูงมาก ขณะที่ร้อยละ 75 ของกลุ่มผู้นำภาคธุรกิจเห็นว่าปัญหาทุจริตเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาภาคเอกชนพยายามเข้าไปมีส่วนแก้ไขปัญหา เพราะภาคเอกชนมีความสำคัญในการแก้ไขปัญหา โดยผู้นำภาคธุรกิจเข้าใจถึงธรรมชาติของการคอร์รัปชันในไทย และเห็นว่ามีผลต่อประสิทธิภาพในการแข่งขันของประเทศ ทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศไม่ดี รวมทั้งทำลายคุณค่าที่ดีทางสังคม

ทั้งนี้ รูปแบบการคอร์รัปชัน 3 อันดับแรกคือ การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้อง การให้ของขวัญหรือติดสินบน และการทุจริตเชิงนโยบาย โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มการเกิดทุจริตมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ โทรคมนาคม พลังงานและสาธารณูปโภค และการเกษตร

สำหรับผลกระทบการทุจริตคอร์รัปชันต่อการดำเนินธุรกิจภาคเอกชนทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 10 โดยกระบวนการที่ทำให้เกิดการคอร์รัปชันมากที่สุดคือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รองลงมาคือ การขอใบอนุญาตต่างๆ และอันดับ 3 คือ การประมูลโครงการภาครัฐ โดยเมื่อเปรียบเทียบผลการศึกษาปี 2556 กับปี 2554 พบว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นในด้านการพยายามแก้ไข แม้ว่าการทุจริตยังสูงอยู่ แต่ผู้นำภาคธุรกิจส่วนใหญ่เชื่อว่าปัญหาทุจริตคอร์รัปชันสามารถแก้ไขได้ในอนาคต

การเปลี่ยนแปลงที่พบคือ ต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการคอร์รัปชันลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเดิมร้อยละ 52 เหลือร้อยละ 20 โดยกระบวนการของรัฐที่ได้รับการปรับปรุงมากที่สุดคือ การทำหนังสือเดินทาง บัตรประชาชน กระบวนการทางภาษีสรรพากร

น.ส.บุญวรา สุมะโน นักวิชาการทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า หน่วยงานต่างชาติที่จัดทำดัชนีเกี่ยวกับคอร์รัปชัน ได้แก่ Transparency International ซึ่งจัดอันดับ 177 ประเทศ โดยประเทศไทยปี 2556 ไทยได้คะแนน 35 ซึ่งคะแนนต่ำยิ่งไม่โปร่งใส ไทยต่ำกว่าสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ และรายงานว่าปี 2556 คะแนนประเทศไทยเทียบระดับโลก พบว่าพรรคการเมืองและตำรวจถูกมองปัญหาคอร์รัปชันแย่ลง

ส่วน Legatum Institute จัดไทยอยู่อันดับดีขึ้น โดยอยู่อันดับที่ 52 จาก 142 ประเทศ เพราะเศรษฐกิจที่วัดจากความกินดีอยู่ดีและความมั่งคั่ง สถาบันทางการเงินได้รับความเชื่อถือในความโปร่งใสมากที่สุดร้อยละ 92 ขณะที่รัฐบาลได้อันดับที่ดีขึ้น ความสามารถในการแข่งขันระดับโลกจาก 148 ประเทศ ไทยได้อันดับ 37 อันดับ 4 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ มาเลซีย และบรูไน ตัวที่ทำให้คะแนนดีขึ้นคือ ด้านเศรษฐกิจของไทยที่ไม่เป็นปัญหา แต่ที่แย่สุดคือเรื่องความโปร่งใสในการจัดทำนโยบายของรัฐบาล

สรุปต่างชาติมองการคอร์รัปชันในประเทศไทยว่า คอร์รัปชันเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย เป็นอุปสรรคสำคัญในการประกอบธุรกิจ และยังเกี่ยวโยงนักการเมืองมากที่สุด คนไทยไม่เชื่อมั่นในนักการเมือง ไม่เชื่อว่าไม่มีการซื้อเสียงในการเลือกตั้ง และปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทยรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2553 จนกระทั่งประเทศไทยได้รับการจัดลำดับที่ต่ำกว่าฟิลิปปินส์แล้ว ซึ่งถือว่าน่าเป็นห่วงมาก

นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยไม่ได้ดีขึ้นกลับแย่ลงโดยตลอด และนับตั้งแต่ปี 2475 หรือ 80 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยยังคงมีระดับปัญหาคอร์รัปชันไม่ต่างจากประเทศที่เพิ่งจะเปลี่ยนการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย

ทั้งนี้ การตั้งองค์กรอิสระขึ้นมาในประเทศไทยหลายหน่วยงาน แต่ที่จริงแล้วไม่เป็นอิสระจริง เพราะต้องของบประมาณจากรัฐบาลทำให้มีข้อจำกัดในการทำหน้าที่ตรวจสอบการคอร์รัปชัน ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการติดสินบนเล็กๆ น้อยๆ (petite) หากแก้ไม่ได้จะทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ได้ ซึ่งประเทศไทยพบว่ามีการจ่ายสินบนให้ตำรวจมากที่สุด

นอกจากนี้ ยังพบปัญหาว่าประชาชนไม่ได้รับการเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ แม้จะมี พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารภาครัฐก็ตาม แต่หน่วยงานต่างๆ ก็ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ซึ่งจะต้องแก้ไขในเรื่องนี้ เพราะที่ผ่านมาเป็นไปได้อย่างไรที่ประชาชนไม่ทราบข้อมูลโครงการรับจำนำข้าวเพราะภาครัฐไม่ยอมให้ข้อมูล

ด้านนางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยไม่ได้พัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นเลย และในช่วงหลังนี้โครงการลงทุนภาครัฐมีขนาดใหญ่มากขึ้น ส่งผลแม้สัดส่วนไม่เพิ่มขึ้นแต่เมื่อคำนวณกลับมาเป็นเม็ดเงินจะสูงขึ้นตามไปด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น