ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตัดสินกันไปแล้วด้วยมติเอกฉันท์ เรื่องพ.ร.บ.กู้ 2 ล้านล้าน ว่าขัดรัฐธรรมนูญ ทั้งเนื้อหา และกระบวนการออกกฎหมาย เป็นอันว่ากฎหมายนี้ตกไป คนไทยไม่ต้องเป็นหนี้ก้อนมหึมา ที่ต้องตามใช้หนี้กันถึง 50 ปี
แต่ นายกฯยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ไม่ได้คิดจะแสดงความรับผิดชอบอะไร นอกจากบ่นเสียดายโอกาสที่จะได้พัฒนาประเทศ เพราะก่อนหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสิน รัฐมนตรีวราเทพ รัตนากร ก็ออกมาตีกันไว้ก่อนแล้วว่า เรื่องนี้จะไม่มีผลต่อนายกฯ และรัฐบาลรักษาการ โดยอ้างว่าเป็นกฎหมายที่สภาให้ความเห็นชอบมาแล้ว ไม่ใช่กฎหมายที่ ครม.เสนอมา แล้วถูกตีตกในชั้นการพิจารณาของสภา
ก็เลยต้องเป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะต้องไปต่อยอดเอาเอง ด้วยการยื่นเรื่องให้ป.ป.ช. ตรวจสอบ เอาผิดกับครม.ทั้งคณะ ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมาย และอาจลามไปถึงส.ส.-ส.ว. ที่ร่วมลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้
หรืออาจจะต้องใช้วิธี ยื่นถอดถอน นายกฯยิ่งลักษณ์ และครม. ออกจากตำแหน่ง โดยต้องล่าชื่อประชาชน 2 หมื่นชื่อ ยื่นต่อประธานวุฒิสภา ให้ส่งคำร้องไปยังป.ป.ช. เพื่อไต่สวน และหาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่าผิดจริง ก็จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที
แต่วิธีที่ว่านี้ คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะรู้ผลว่ามะม่วงจะหล่นหรือไม่
เหมือนที่ เฉลิม อยู่บำรุง บอกว่า ไม่ห่วงเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เพราะไม่ใช่หมัดน็อก แต่ที่จะเป็นหมัดน็อกคือเรื่องจำนำข้าว ที่ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดของนายกฯยิ่งลักษณ์ ในเร็วๆ นี้ เพราะ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ที่รับผิดชอบคดีนี้ เคยให้สัมภาษณ์ว่า น่าจะชี้มูลได้ภายในเดือนมี.ค.นี้
ทั้งนี้ รายละเอียดของเรื่องจำนำข้าวนั้น นายกฯยิ่งลักษณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ถูกฝ่ายค้านยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่เมื่อครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ ปล่อยปละ ละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งมีโทษอาญาตามมาตา 157 พ่วงด้วย แต่นายกฯ ก็ให้สัมภาษณ์ปฏิเสธมาโดยตลอด
กระทั่งเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ได้มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหากับนายกฯ ยิ่งลักษณ์ และได้เรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว แต่นายกฯส่งทนายไปแทน
เมื่อรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เรียกไปชี้แจง จะแก้ข้อกล่าวหา หรือ มีพยาน หลักฐานอะไร ก็ให้นำไปแสดง ไปยืนยันถึงความบริสุทธิ์ได้ ซึ่งป.ป.ช.ได้นัดให้ไปชี้แจงในวันที่ 14 มี.ค.
ถ้านายกฯยิ่งลักษณ์ มั่นใจว่าไม่ได้ทำผิด ไม่มีการทุจริต อย่างที่อ้างมาตลอด ก็น่าจะแสดงความบริสุทธิ์ใจ ด้วยการไปชี้แจงตามนัด แต่นายกฯ ก็ให้ทนายไปขอเลื่อนการชี้แจงออกไป 45 วัน โดยไปยื่นคำขอเลื่อน เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับมติของกรรมการป.ป.ช. ว่า จะให้เลื่อนหรือไม่ ถ้าให้เลื่อน จะเลื่อนได้กี่วัน ก็คงต้องจับตาดู
การขอเลื่อนชี้แจงดังกล่าว แสดงให้เห็นชัดว่า นายกฯยิ่งลักษณ์ ต้องการยื้อเวลาออกไป เพราะไม่มั่นใจว่า ป.ป.ช.จะชี้มูลออกมาว่าอย่างไร ถ้าชี้ว่าไม่ผิด ก็แล้วกันไป แต่ถ้าชี้ว่าผิด นายกฯยิ่งลักษณ์ ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และป.ป.ช.ก็ต้องส่งเรื่องไปให้ประธานวุฒิสภา ทำการถอดถอนออกจากตำแหน่ง โดยต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาที่มีอยู่ ขณะเดียวกันก็ส่งไปฟ้องเอาผิดอาญา ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของนักการเมืองด้วย
ปัญหาจึงมีเรื่องเงื่อนเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะขณะนี้ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีจำนวนประมาณ ครึ่งหนึ่งของสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมด ได้หมดวาระไปแล้วเมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากดำรงตำแหน่งมาครบ 6 ปี และจะมีการเลือกตั้งกันใหม่ในวันที่ 30 มี.ค.ที่จะถึงนี้
จึงมีปัญหาว่า องค์ประชุมของวุฒิสภาจะนับเฉพาะ ส.ว.สรรหา ที่เหลืออยู่ หรือจะนับรวมเอา ส.ว.เลือกตั้งที่หมดวาระไปแล้วนี้ด้วยหรือไม่ ความเห็นนี้มี 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่า ไม่นับส.ว.เลือกตั้ง เพราะหมดวาระไปแล้ว ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งบอกว่าต้องนับด้วยเพราะมีข้อกฎหมายระบุว่า ส.ว.เลือกตั้งที่หมดวาระไปนั้น ยังต้องปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมี ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่เข้ามา
เช่นเดียวกับตำแหน่งประธานวุฒิสภา ซึ่ง นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ก็มาจาก ส.ว.เลือกตั้ง และมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการดำรงตำแหน่งเช่นกันว่า เมื่อหมดวาระลงเช่นนี้ ตำแหน่งประธานวุฒิสภาจะต้องหมดตามไปด้วยหรือไม่ จะต้องให้รองประธานวุฒิสภา ขึ้นมาทำหน้าที่แทนหรือไม่ แต่นายนิคม ยืนยันว่า ตนเองยังต้องทำหน้าที่รักษาการประธานวุฒิสภาต่อไป จนกว่าจะมีประธานคนใหม่เข้ามาทำหน้าที่
มาแนวเดียวกับนายกฯยิ่งลักษณ์ไม่มีผิด
อีกประการคือ นายนิคม ไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ว.ในครั้งนี้ด้วย เพราะรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้ลงสมัครรับเลือกตั้งสองสมัยติดต่อกัน
ดังนั้นถ้า ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ภายในเดือน มี.ค.นี้ ย่อมมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องหลุดจากตำแหน่ง ด้วยการถูกวุฒิสภาถอดถอน
แม้ว่า จะนับรวมเอาส.ว.เลือกตั้งที่หมดวาระไปแล้ว มาเป็นองค์ประชุมได้ แต่ทางป.ป.ช.ก็ส่งสัญญาณออกมาแล้วว่า จะสรุปความผิดของกลุ่ม 308 ส.ส.-ส.ว. ที่ถูกกล่าวหาในคดีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว.ได้บางส่วน ภายในเดือนมี.ค.นี้
ถ้ามีการชี้มูลความผิด ส.ส.-ส.ว.ที่ถูกชี้มูล ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ในส่วนของส.ส.นั้นไม่มีปัญหาเพราะยุบสภาไปแล้ว แต่ส.ว.ที่ไปโหวตหนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ล้วนเป็นส.ว.ที่อยู่ในสายของรัฐบาล ถ้าถูกชี้มูลและต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็มีผลต่อองค์ประชุมทันที ถ้าต้องมีการโหวตถอดถอนนายกฯในช่วงนี้ แล้วส.ว.ที่เป็นองค์ประชุมส่วนใหญ่เป็นส.ว.สรรหาแล้วละก็ คงคาดผลล่วงหน้าได้เลย
เช่นเดียวกับนายนิคม ที่จะต้องพยายามยื้อเวลาอยู่ในตำแหน่งเพื่อทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ป.ป.ช.ชี้มูลตนเองภายในเดือนนี้ จึงได้ใช้วิธียื่นคำขอให้ป.ป.ช.ไต่สวนพยานเพิ่มเติมในส่วนของตนเอง
จึงต้องจับตาว่า ภายในเดือนมี.ค.นี้ ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้หรือไม่ จะชี้มูลความผิดกลุ่ม 308 ส.ส.-ส.ว.ได้กี่คน ในจำนวนนั้น มี ส.ว.เลือกตั้ง ที่อยู่ในสายรัฐบาลกี่คน นายนิคม จะยังสามารถทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา ต่อไปได้หรือไม่
เหล่านี้ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะชี้ว่า "มะม่วง" จะหล่นในเดือนมี.ค.นี้ หรือไม่ !!