xs
xsm
sm
md
lg

เด็ก พท.ยื่นวุฒิฯ ตะเพิด 5 กกต.ไม่จัดการเลือกตั้งให้เสร็จ “นิคม” อ้างถอดถอน “ปู” อาจมีปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเวศร์ วัลลภบรรหาร สมัยหาเสียงเลือกตั้ง ส.ก.เขตดอนเมือง ในนามพรรคเพื่อไทย (แฟ้มภาพ)
สมาชิกเพื่อไทยสวมเสื้อเครือข่ายคนไทยประชาธิปไตย นำสาวกกว่า 100 คนยื่นประธานวุฒิสภา ถอดถอน 5 เสือ กกต. อ้างส่อพฤติกรรมไม่พยายามจัดการเลือกตั้ง “นิคม” ออกลาย ชี้หาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้วุฒิฯ ถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” โครงการจำนำข้าว ยังมีปัญหาเรื่องจำนวน ส.ว.ที่ยังทำหน้าที่อยู่ ส่วนหากนายกฯ ถูกชี้มูลความผิดจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ ยังมีคนอื่นที่มาทำหน้าที่แทนได้

ที่อาคารรัฐสภา 2 เครือข่ายคนไทยประชาธิปไตย กว่า 100 คน นำโดยนายประเวศร์ วัลลภบรรหาร อดีตผู้สมัคร ส.ก.ดอนเมือง พรรคเพื่อไทย ผู้นำเครือข่ายฯ นำประชาชนเข้าแสดงตนเป็นผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้วุฒิสภามีมติถอดถอนคณะกรรมการการเลือกตั้งทั้ง 5 คน ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 274 เนื่องจากส่อพฤติกรรมพยายามไม่จัดการเลือกตั้งในวันที่ 2 ก.พ. ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง อีกทั้งยังปล่อยให้ผู้ชุมนุมกลุ่ม กปปส.มาขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้งในวันที่ 23-27 ธ.ค. 56 และการเลือกตั้งในวันที่ 26 ม.ค. และวันที่ 2 ก.พ. ซึ่ง กกต.ก็ทราบดีแต่ก็ไม่มีการเตรียมการป้องกันเหตุในการประสานหน่วยงานอื่น เช่น ทหาร ตำรวจ เพื่อให้การเลือกตั้งดำเนินการไปได้

นายประเวศร์กล่าวว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 11 ก.พ. กกต.ได้มีการประชุมและมีมติให้จัดการเลือกตั้งใหม่ทดแทนการเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 20 เม.ย. และทดแทนหน่วยเลือกตั้งที่ไม่สามารถลงคะแนนได้ในวันที่ 27 เม.ย. ส่วนเขตที่ไม่สามารถเปิดรับสมัครได้จำนวน 29 เขต กกต.ได้มีมติให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่นั้นมองว่า กกต.มีการประวิงเวลาเพื่อให้กำหนดการลงคะแนนเป็นไปอย่างล่าช้า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการขัดขวางเพื่อให้การเลือกตั้งได้จำนวน ส.ส.ไม่ถึงร้อยละ 95 และไม่สามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ การดำเนินการของ กกต.จึงเข้าข่ายกระทำผิดอันมิชอบด้วยหน้าที่ ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่คุ้มครองสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิโดยมิได้กระทำการใดๆ ตามอำนาจหน้าที่ จึงขอให้วุฒิสภาได้มีมติเพื่อถอดถอน กกต.ออกจากตำแหน่งต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างที่กลุ่มเสื้อขาวนั่งรอเพื่อยื่นหนังสือ เป็นจังหวะเดียวกับที่ น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม.เดินผ่านมาพอดี จึงทำให้กลุ่มเสื้อขาวพากันโห่ไล่ด้วยความไม่พอใจ จน น.ส.รสนาต้องเดินเลี่ยงออกไปทันที แต่ก็ไม่ได้เกิดเหตุความวุ่นวายใดๆ

ด้านนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงคำวินิจฉัย ป.ป.ช.ที่แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี กรณีโครงการจำนำข้ายวว่า เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ไต่สวนข้อมูล พิจารณาลงมติว่านายกฯกระทำการ แจ้งข้อกล่าวหา ขัดต่อกฎหมายหรือระเบียบ เมื่อนายกฯ รับแจ้งข้อกล่าวหาแล้วก็ต้องให้เวลาอีก 15 วัน หรืออาจจะขยายเวลาออกไป ในการรวบรวมเอกสารชี้แจง ตนเชื่อว่าสิ่งที่นายกฯ ต้องไปชี้แจงเป็นประเด็นประกอบการพิจารณาของ ป.ป.ช. ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องใช้เวลาพิจารณาพอสมควร แต่หากผลสุดท้ายเมื่อ ป.ป.ช.ชี้มูลมาแล้วส่งมาที่ตนตามมาตรา 274 เพื่อถอดถอน โดยใช้เสียง 3 ใน 5 ของสมาชิก หรือจำนวน 90 เสียงในการถอดถอน

ผู้สื่อข่าวถามว่า หาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ ส.ว.พิจารณาถอดถอนระหว่างที่ ส.ว.เลือกตั้งหมดวาระดำรงตำแหน่งจะมีปัญหาด้านข้อกฎหมายหรือไม่ นายนิคมกล่าวว่า เป็นประเด็นที่ที่ประชุมวุฒิสภาทั้งสองฝ่ายต่างโต้เถียงกันอยู่ว่าจะนับองค์ประชุมอย่างไร เพราะความจริง ส.ว.เลือกตั้ง เมื่อครบวาระดำรงตำแหน่งแล้วก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปจนกว่ามี ส.ว.ชุดใหม่ และหาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องถอดถอนให้วุฒิสภา สามารถเรียกประชุมได้ทันที แต่ต้องมาพิจารณาเรื่องที่สำคัญ คือองค์ประชุม ว่าจะต้องใช้จำนวน 149 คน หรือเพียงแค่ที่มีอยู่ เพราะหากเกิดกรณีที่ ส.ว.ถูกชี้มูลความผิดไป จำนวน 50 คนก็จะเหลือปฏิบัติหน้าที่เพียง 99 คน

ดังนั้น ประเด็นดังกล่าวต้องพิจารณาอีกครั้งบนหลักของกฎหมาย รวมถึงข้อบังคับการประชุม และประเพณีปฏิบัติ ดูปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วยเยอะแยะ อย่าเพิ่งสรุปว่าองค์ประชุมจะเหลือเพียง 99 คน หรือ ส.ว.ที่ถูกชี้มูลต้องหยุดแล้วปฏิบัติหน้าที่อะไรไม่ได้เลย ทั้งที่ความเป็น ส.ว.ยังมีอยู่ เขายังกินเงินเดือนหลวงอยู่

ส่วนหาก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายกฯ ต้องมีการปฏิบัติอย่างไรหรือไม่ เพื่อความสง่างามทางการเมือง นายนิคมกล่าวว่า เมื่อชี้มูลความผิดก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และไปดูกฎหมายต่อไปว่า เมื่อถูกชี้มูลแล้ว รัฐธรรมนูญยังกำหนดว่าจะต้องอยู่จนกว่ามี ส.ส. หรือ สภาผู้แทนราษฎร และเลือกนายกฯ คนใหม่เข้ามา ดังนั้นต้องพิจารณาว่าเมื่อชี้ไปแล้วนายกฯ หยุดยังมีบุคคลอื่นเข้ามาทำหน้าที่ได้

นายนิคมกล่าวว่า ถ้านายกฯ ตัดสินใจลาออกก่อน ป.ป.ช. ชี้มูล ถือเป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ นายนิคมกล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของนายกฯ ที่บอกว่าเมื่อกฎหมายบอกว่าให้อยู่รักษาการไปจนกว่ามีรัฐบาลใหม่เข้ามา หากท่านชิงลาออกก่อนอาจจะแก้ได้ในประเด็นหนึ่ง แต่ยังมีประเด็นอื่นที่มีปัญหา เช่น การละเว้น การไม่ทำหน้าที่ก็จะกลายเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ส่วนตัวตนมองว่าเป็นเรื่องของการเมืองล้วนๆ ในการเอาประเด็นเรื่องข้าวมาเป็นประเด็นการชี้มูล และถอดถอน เมื่อกฎหมายกำหนดไว้อย่างไร ทำไปโดยตามกระบวนการของกฎหมายอย่างเป็นธรรม ทุกคนเมื่อมาเป็นนักการเมือง หรือมาเป็นข้าราชการก็พร้อมเผชิญกับปัญหาแบบนี้

“แล้วแต่ว่าจริยธรรม คุณธรรมของแต่ละคน ผมเชื่อว่านายกฯ ก็มีวุฒิภาวะและมีจริยธรรมที่จะรับรู้และรู้ว่าจะวางตัวอย่างไร” นายนิคมกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น