ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -และแล้ว ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท หรือ ที่มีชื่อเต็มว่า พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ…. ก็มีอันตกไป เมื่อ ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัย เมื่อวันที่ 12 มี.2557 ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 เพราะโครงการที่จะทำไม่ใช่โครงการจำเป็นเร่งด่วน และเงินกู้ดังกล่าวถือเป็นเงินแผ่นดิน จะต้องใช้จ่ายโดยวิธีการงบประมาณเท่านั้น
รวมทั้ง กระบวนการตราร่าง พ.ร.บ.ฯ ก็เป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากในขั้นตอนการลงมติในสภานั้น ส.ส.พรรคเพิื่อไทยได้เสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน
หลังคำวินิจฉัยออกมา ก็ไม่เหนือความคาดหมาย เมื่อบรรดาเครือข่ายบริวารของ นช.ทักษิณ ชินวัตร ต่างดาหน้ากันออกมาโจมตี-เหน็บแนมศาลรัฐธรรมนูญต่างๆ นานา แม้ว่า ช่วงก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกฯ เคยบอกว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าร่าง พ.ร.บ.นี้ขัดรัฐธรรมนูญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องรับผิดชอบในทางใดทางหนึ่ง
เริ่มจากหัวขบวนอย่าง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาตัดพ้อทันทีหลังจากทราบคำวินิจฉัย ว่า เสียดายกับการที่เราควรได้พัฒนาให้เราสามารถที่จะก้าวนำในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนและการที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการลงทุนในประเทศภูมิภาค
ยิ่งเมื่อถูกถาม กรณีพรรคประชาธิปัตย์จะนำไปยื่นร้องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบเอาผิดเช่นเดียวกับกรณีการแก้รัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยิ่งดราม่าบีบน้ำตา ว่า ขอให้เรามีความยุติธรรมอยู่ในสังคม อยากให้มองที่เจตนา อย่ามองการใช้ข้อกฎหมาย เป็นข้อเพื่อที่จะลิดรอน เป็นข้อที่จะตัดสิทธิ์ของทุกคนเลย แล้วอย่างนี้เราจะไปด้วยกันลำบาก การพัฒนาประเทศต่างๆ ก็ลำบาก เพราะเรามุ่งแต่ว่า ทำทุกอย่างใช้ข้อกฎหมาย ในการที่จะตัดสิทธิ โดยที่ไม่มองถึงเจตนารมณ์อันเบื้องต้น
วันต่อมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ก็ยังดราม่ากับนักข่าวขณะตระเวนภาคอีสานว่า เราอาศัยใช้ข้อกฎหมายไล่ล่ากันทุกวัน แล้วเราจะหาความสงบในบ้านเมืองนี้ได้อย่างไร
“เราอย่าใช้กฎหมาย หรือใช้องค์กรมาทำงานเพื่อเรา จะเรียกว่าเราตัดสิทธิห้ำหั่นกันไปคนละข้างกันเลย เราเพิ่งผ่านพ้นสิ่งที่เราพูดว่าเราไม่อยากเห็นความรุนแรงของการปฏิวัติ แต่เราก็ไม่อยากเห็นการที่เราใช้กฎหมาย หรือใช้องค์กรต่างๆ ในกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้คำตอบต่างๆ” น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวอ้าง
ส่วน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการ รมว.แรงงาน และผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ศรส.) กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเรื่องที่หนักใจสำหรับรัฐบาล แต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคือประชาชน และประเทศ ซึ่งจะไม่ได้รับการพัฒนาเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน หรือ เออีซี ในอีก 5 ปีข้างหน้า หลายฝ่ายจะต้องกลับมาคิด เนื่องจากไม่ได้มีการพัฒนาประเทศตั้งแต่วันนี้
ด้าน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย อดีต รมว.พลังงานผู้ทำปืนลั่น ปูดโครงการเงินกู้ 2 ล้านล้านในชื่อ “นิวไทยแลนด์” ออกมาตั้งแต่ช่วงน้ำท่วมกรุงครั้งใหญ่ปลายปี 2554 จนถูกนายใหญ่ตำหนิ ก็ออกมาตัดพ้อว่า รู้สึกผิดหวังอย่างมากกับคำตัดสินของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่ทำให้การกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งจะทำให้ประเทศพัฒนาล่าช้า และทำให้ประชาชนขาดโอกาสที่จะเข้าถึงความเจริญรวมถึงการมีรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อประกอบกับความไม่สงบทางการเมืองของผู้ชุมนุมในปัจจุบัน อาจทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสการเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคไปด้วย
ส่วนนายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ได้โพสต์เฟซบุ๊กสรุปใจความได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญแทรกแซงการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติอีกแล้วเนื่องจาก การวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมเป็นอำนาจรัฐสภา ศาลฯ ก้าวก่ายฝ่ายบริหารในการตัดสินใจว่าควรทำโครงการอะไร
นายจาตุรนต์ยังจินตนาการต่อเนื่องอีกว่า การถือเอาการทำลายบุคคล กลุ่มบุคคลหรือพรรคการเมืองเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญสูงสุดโดยไม่คำนึงถึงระบบ กติกา ความถูกต้องชอบธรรมและผลเสียที่ตามมาได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีมานี้ เมื่อมาถึงกรณีล้ม พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงคลังกู้เงินฯ นอกจากจะเกิดการทำลายหลักการแบ่งแยกอำนาจ ฝ่ายตุลาการก้าวก่ายแทรกแซงและลดทอนฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติแล้ว กระบวนการทำลายล้างฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างไม่ลืมหูลืมตานี้ยังได้ขัดขวางการพัฒนาประเทศที่เป็นความหวังและประโยชน์สุขของคนทั้งประเทศ
ขณะที่นายจรัญ ดิษฐาภิชัย หนึ่งในแกนนำคนเสื้อแดง และผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่า การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ สะท้อนจุดยืนมั่นคงของของตุลาการ เป็นเครื่องมือรับใช้ระบอบเก่า เป็นศัตรูกับประชาชนผู้รักประชาธิปไตยตลอดมา
ไม่เว้นแม้แต่ศาสตราจารย์ ดร.เกษียร เตชะพีระ หัวหน้าสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการ“หางเครื่อง”ระบอบทักษิณ ได้แสดงความเห็นทางเฟซบุ๊ก ตั้งข้อสังเกต 4 ข้อ สรุปใจความได้ว่า คุณจะรับมืออย่างไรกับความโกรธแค้นที่ถูกเก็บกดไว้ ซึ่งกำลังขยายตัวมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งความคับข้องใจทางการเมืองที่ถูกยั่วยุหนักขึ้นของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง "เสียงข้างมาก" ผู้รู้สึกว่าอำนาจและความปรารถนาของพวกเขาได้ถูกช่วงชิงทำลายไปโดย "สถาบันเสียงข้างน้อย" ซ้ำแล้วซ้ำเล่า? กลไกอำนาจของสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากกำลังเป็นอุปสรรคขัดขวางทั้งประชาธิปไตยและทุนนิยมไทยอย่างเสียหายร้ายแรงมากขึ้นทุกที และคงต้องทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการมีอยู่หรือไม่ของศาลรัฐธรรมนูญและถ้ามีจะขีดเส้นกรอบขอบเขตอำนาจและกระบวนการขั้นตอนการใช้อำนาจของศาลอย่างชัดเจนเคร่งครัดอย่างไร มิให้ตีความเกินเลยเพื่อหยิบฉวยรวบริบอำนาจที่มิใช่ของตนไปใช้โดยมิชอบอีก
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำคนเสื้อแดง บอกว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ยึดอำนาจเบ็ดเสร็จแล้ว และประชดประชันว่าคณะตุลาการเคยนั่งรถไฟครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เราอยู่แบบสังคมมวยปล้ำที่กรรมการเข้าข้างคู้ต่อสู้ตั้งแต่ก่อนแข่งแล้ว
อย่างไรก็ตาม บรรดาเครือข่ายบริวารทักษิณ ไม่ทราบหรือไรว่า ในวันเดียวกับที่มีคำวินิจฉัยเงินกู้ 2 ล้านล้านนั่นเอง ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติไม่รับคำร้องกรณีที่นายไทกร พลสุวรรณ และนายเศวต ทินกูล ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กกต.และนายกรัฐมนตรีกระทำการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีที่ไม่สามารถจัดให้มีการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศในวันที่ 2 ก.พ. ทำให้ไม่สามารรถประกาศผลการเลือกตั้งร้อยละ 95 ของ ส.ส.ที่พึงมีทั้งหมดภายใน 30 วันนับแต่วันเลือกตั้ง
รวมทั้งไม่รับคำร้องที่ นายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้วินิจฉัยว่าคณะรัฐมนตรี กระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 หรือไม่ จากกรณีที่การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ไม่สามารถนำไปสู่การเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ภายใน 30 วัน ทำให้ไม่อาจได้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่มาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งการอยู่ในตำแหน่งต่อไปของคณะรัฐมนตรีจึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐ ธรรมนูญ และโดยข้อกฎหมายต้องถือว่าคณะรัฐมนตรีต้องสิ้นสุดลง
นอกจากนี้ หากย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ก.พ.2555 ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีคำวินิฉัยว่า พ.ร.ก.สำคัญ 2 ฉบับของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อวางระบบบริหารการจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 วงเงิน 350,000 ล้านบาท และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนฟื้นฟูเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบ สถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 วงเงิน 1.14 ล้านล้านบาท นั่นเพราะเห็นว่าการบริหารจัดการน้ำหลังจากเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่และการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนมีความจำเป็นเร่งด่วน
ส่วนเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2556 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีที่กลุ่ม 40 ส.ว. และ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย เนื่องจากมีการปรับลดงบประมาณของสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลปกครอง และสำนักงาน ป.ป.ช.
การออกมาตีโพยของฝ่ายบริวารทักษิณ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้าน ด้วยการใส่ความและกล่าวหาไปต่างๆ นานา จึงสะท้อนถึงความเห็นแก่ได้ ของเครือข่ายทักษิณเป็นอย่างยิ่ง เพราะในความเป็นจริงแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องราวต่างๆ ไปตามตัวบทกฎหมาย ไม่ได้มีคำวินิจฉัยที่เป็นโทษต่อระบอบทักษิณเพียงอย่างเดียว ตามที่ฝ่าย นช.ทักษิณพยายามบิดเบือน
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนด้วยน้ำตาคลอเบ้า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญและตราขึ้นโดยมิชอบ