xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

กู้ 2 ล้านล้านขัดรธน. มะม่วงหล่นที่ยังไม่ “เน่า” กับดรามา “ปู” บีบน้ำตา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป็นที่ชัดเจนตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 ที่ผ่านมา แล้วว่าการออก “ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ.....” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท” โดยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 ด้วยมติ 8 ต่อ 0 และกระบวนการตราร่างพ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญ ด้วย มติ 6 ต่อ 2 ส่งผลให้ร่างกฎหมายดังกล่าวตกไปจากสภา

คำถามที่สังคมต้องการคำตอบมีอยู่ 2 ข้อคือ

หนึ่ง-ขัดต่อรัฐธรรมนูญตรงไหน อย่างไร

และสอง-แล้วรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบหรือมีกระบวนการใดๆ เพื่อให้รัฐบาลรับโทษทัณฑ์ตามกฎหมายหรือไม่

สำหรับคำถามข้อแรก คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอธิบายเอาไว้อย่างละเอียดดังนี้

ประเด็นที่หนึ่ง ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่

ศาลพิจารณาจากพยานหลักฐานที่ได้จากการไต่สวนฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติได้ว่า นายนริศร ทองธิราช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสกลนคร พรรคเพื่อไทย ได้ใช้บัตรแสดงตนและออกเสียงลงคะแนนในระบบอิเล็กทรอนิกส์แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรายอื่น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันศุกร์ที่ 20 กันยายน 2556 ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และมาตรา126 วรรคสาม ศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีมติเสียงข้างมาก เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้

ประเด็นที่สอง ร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วย การเงิน การคลัง และงบประมาณ หรือไม่

ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาแล้วเห็นว่า เมื่อเงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัตินี้มีลักษณะเป็นเงินแผ่นดิน การใช้จ่ายจึงต้องขึ้นอยู่ในบังคับแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง เว้นแต่ในกรณี “จำเป็นเร่งด่วน” รัฐบาลจะจ่ายไปก่อนก็ได้แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติและต้องตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังในพระราชบัญญัติโอนเงินงบประมาณรายจ่ายพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมหรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณถัดไป แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า การดำเนินการเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศตามที่ร่างพระราชบัญญัตินี้มุ่งประสงค์ ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน

การใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลัง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง เพื่อการรักษาเสถียรภาพ การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และความเป็นธรรมในสังคม ดังนั้น การที่ร่าง พ.ร.บ. บัญญัติให้เงินกู้ตามร่างพระราชบัญญัตินี้นำไปใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ได้โดยไม่ต้องนำส่งคลังตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังและบัญญัติให้คณะรัฐมนตรีรายงานการกู้เงิน ผลการดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานในแต่ละยุทธศาสตร์ ต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากที่พระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการจ่ายเงินแผ่นดินบัญญัติไว้ ทำให้การควบคุมตรวจสอบการใช้จ่ายเงินดังกล่าว ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าด้วยกรอบวินัยการเงินการคลังดังที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วย การเงิน การคลัง และงบประมาณ ร่างพระราชบัญญัตินี้ในส่วนดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หมวด 8 ว่าด้วย การเงิน การคลัง และงบประมาณ จึงมีผลให้ร่าง พ.ร.บ. ตกไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคสาม

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะรับผิดชอบต่อเงินงบประมาณซึ่งเป็นงบกลางภายใต้ความรับผิดชอบโดยตรงของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่นำไปใช้ด้วยวิธีพิเศษ ผิดกฎหมายป.ป.ช.ม. 103/7 จำนวน 240 ล้านบาท ในการเดินสายโฆษณาชวนเชื่อในโครงการรถไฟความเร็วสูง ทั้งที่กฎหมายยังไม่ได้ผ่านและอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และ จะรับผิดชอบต่อการกดบัตรลงคะแนนแทนกันของ ส.ส.รัฐบาลซึ่งผิดรธน.อย่างไร

แต่ปัญหามีอยู่ว่า แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยว่า “พ.ร.บ.กู้ชาตินี้ แต่ใช้หนี้ยันชาติหน้า”เป็นกฎหมายที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่โดยปกติแล้วรัฐบาลจะต้องแสดงความรับผิดชอบในทางใดทางหนึ่ง แต่นั่นไม่ใช่สำหรับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เพราะนอกจากจะไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ แล้ว ยังเล่นบท “3หนาห้าห่วง” ไม่รู้ไม่ชี้ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีต่อไปหน้าตาเฉย ซึ่งนั่นคือคำตอบของคำถามข้อที่สอง

ทั้งนี้ ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย หากยังจำกันได้ก่อนหน้านี้ “นายวราเทพ รัตนากร” และ “นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา” ได้เคยออกมาตีกันเอาไว้แล้วว่า กฎหมายดังกล่าวผ่านการเห็นชอบจากสภาแล้ว แม้จะถูกชี้ว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล และรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบใดๆ

ดังนั้น นี่จึงไม่ใช่จุดจบของรัฐบาลหน้าด้าน หากแต่ยังต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายอีกหลายขั้นตอนเพื่อ “บังคับ” และลากคอผู้กระทำผิดมาลงโทษให้จงได้

ดังนั้น ศึกครั้งนี้จึงจำต้องสู้กันอีกยาว

ที่สำคัญคือนอกจากไม่แสดงความรับชอบแล้ว เบื้องสูงและเบื้องต่ำของ ระบอบทักษิณยังได้ดาหน้ากันออกมาโจมตีศาลรัฐธรรมนูญอย่างหนัก ดังคำให้สัมภาษณ์ของ “นางยกฯ ยิ่งลักษณ์” ที่บอกว่า ผลของคำวินิจฉัยครั้งนี้จะทำให้ประเทศชาติเสียโอกาสในการพัฒนา

จากนั้น เมื่อทราบผลของคำพิพากษา “นางยกฯ ยิ่งลักษณ์” ก็ตอกย้ำคำพูด เดิมๆ ว่า “รัฐบาลทำอย่างเต็มที่แล้ว ที่เราอยากเห็นประเทศของเราพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพราะตั้งแต่มีการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ก็จะเห็นว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเป็นรองเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตามเมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมา ก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่เสียดายกับการที่เราควรได้พัฒนาให้เราสามารถที่จะก้าวนำในการเชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียน และการที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางในการลงทุนในประเทศภูมิภาค ก็ถือว่าเราทำอย่างเต็มที่แล้ว”

และเมื่อถามถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์เตรียมยื่นถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือและมีน้ำตาคลอว่า “เจอมาทุกรูปแบบแล้ว ไม่ว่ากลไกต่างๆ อยากขอว่า อย่างน้อยให้เรามีความยุติธรรมอยู่ในสังคม เรามีหลักเมตตาธรรมที่ให้ทุกคนที่คิดว่า เราทำเพื่อประเทศใครก็ตามที่จะคิดว่าเราทำเพื่อประเทศ ก็อยากให้มองที่เจตนา อย่ามองการใช้ข้อกฎหมาย เป็นข้อเพื่อที่จะลิดรอน เป็นข้อที่จะตัดสิทธิ์ของทุกคนเลย แล้วอย่างนี้เราจะไปด้วยกันลำบาก การพัฒนาประเทศต่างๆ ก็ลำบาก เพราะเรามุ่งแต่ว่า ทำทุกอย่างใช้ข้อกฎหมาย ในการที่จะตัดสิทธิ์ โดยที่ไม่มองถึงเจตนารมณ์อันเบื้องต้น ตรงนี้ต่างหากที่เราคิดว่า เราหวังว่า เราจะได้รับความเข้าใจ แล้วเราจะได้รับความยุติธรรมแล้วก็เห็นใจ”

เรียกว่า บีบน้ำตาขอความเห็นใจอย่างไม่อายฟ้าดิน ราวกับนางยกฯ กำลังแสดงเป็น “น้ำผึ้ง”ที่รับบทโดย “จุ๋ย-วรัทยา นิลคูหา” ในละครสามีตีตรา ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของการทำผิดกฎหมายที่นางสาวยิ่งลักษณ์ควรต้องแสดงความรับผิดชอบในฐานะนายกรัฐมนตรี แถมยังฟาดงวงฟาดงาว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีความยุติธรรมอีกต่างหาก

เช่นเดียวเด็กในบ้านอย่าง “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่บอกว่า ร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทจะทำให้จีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นกว่า 3 เปอร์เซ็นต์ หรือหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญคือผู้ที่ทำให้จีดีพีของประเทศหดหาย

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดีเปิดเผยว่า ทางพรรคจะใช้ช่องทางตามรัฐธรรมนูญ ดำเนินการยื่นถอดถอนไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อตรวจสอบเอาผิดกับคณะรัฐมนตรีทั้งคณะในฐานะผู้เสนอร่าง และสมาชิกทุกคนที่ร่วมลงมติผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ และหากพบมีกรณีการทุจริตผิดกฎหมายก็จะฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เช่นเดียวกับกรณีการแก้รัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ที่ ป.ป.ช.จะชี้มูลในเดือนนี้ นอกจากนี้ยังสามารถยื่นเรื่องไปยังคณะกรรมการไต่สวนอิสระของศาลฎีกาฯ ได้ด้วย แต่ต้องรอผลคำวินิจฉัยฉบับเต็มมาพิจารณาด้วย

“กฎหมายฉบับนี้เสนอโดย ครม. ทั้งนี้เห็นว่ารัฐบาลต้องลาออกเนื่องจากเป็นมาตรฐานของโลกแต่รัฐบาลคงดื้อต่อ ทั้งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ต้องลาออกทันที แต่กลับไปแถว่าเสียดายที่กฎหมายนี้ไม่ผ่านทำให้ประเทศเสียโอกาส ในตรงกันข้ามกลับทำให้ประเทศไทยรอดพ้นปากเหยี่ยวปากกา ลูกหลานคนไทยโชคดีที่ไม่ต้องเป็นหนี้50 ปี หรืออาจจะยาวนานกว่านั้น” นายวิรัตน์แจ้งเส้นทางกฎหมายที่จะดำเนินต่อไป

ดังนั้น คงต้องติดตามกันต่อไปว่า สุดท้ายแล้วเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร และจะสามารถลากคอคนออกกฎหมายในทุกขั้นตอนมาลงโทษได้หรือไม่

แต่ที่แน่ๆ คืองานนี้เครือข่ายของนักการเมืองและนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลคงจะบักโกรกไปตามๆ กันหลังจากไปกว้านซื้อที่ดินตามแนวรถไฟความเร็วสูงเอาไว้จนราคาพุ่งกระฉูด ซึ่งก็คงไม่มีความเห็นใจใดๆ นอกเสียจากคำว่า.... “สมน้ำหน้า”


กำลังโหลดความคิดเห็น