xs
xsm
sm
md
lg

เดินผ่านนักปรัชญา จึงหยิบมาพินิจการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

นักปรัชญาหลายคนมีความคิดตรงกันอย่างหนึ่งว่า หากมนุษย์อยู่ในสังคมที่มีความสงบสุขเกินไป จะทำให้เกิดความเฉื่อยชา หยุดนิ่งอยู่กับที่ ไม่มีพัฒนาการ และอาจปรับตัวไม่ได้เมื่อประสบกับปัญหาที่เข้ามากระทบ

อิมมานูเอล คานท์ นักปรัชญาชาวเยอรมันยุคศวรรษที่ 18 ได้ให้ข้อคิดที่น่าสนใจว่า หากสังคมปราศจากความขัดแย้ง มนุษย์จะใช้ชีวิตราวกับอยู่ในดินแดนสวรรค์ มีความหฤหรรษ์ สมานฉันท์ และรักใคร่ปรองดองกัน แต่ทว่าความสามารถทั้งหลายของพวกเขาจะถูกฝังจมอยู่ในวิมาน และไม่อาจสร้างสรรค์สิ่งใหม่ใดๆ ให้เกิดขึ้นได้เลย

คานท์ ได้แสดงความขอบคุณธรรมชาติที่ได้สร้างลักษณะที่ไม่เป็นมิตร ความริษยา ความหลงตัวเอง ความเห็นแก่ตัวและความกระหายอำนาจอันไม่รู้จักอิ่ม แก่มนุษย์ โดยชี้ว่า แม้ว่ามนุษย์จำนวนมากต้องการความสงบสันติและมิตรภาพ แต่ธรรมชาติรู้ดีว่าอะไรดีสำหรับชีวิตมนุษย์ ธรรมชาติจะมอบความขัดแย้งและความแตกต่าง เพื่อกระตุ้นให้มนุษย์ได้รู้จักแก้ปัญหาและพัฒนาความสามารถตามธรรมชาติของพวกเขาให้ดีขึ้น

หากมองในแง่นี้ การเกิดขึ้นของระบอบทักษิณในสังคมไทยก็นับได้ว่าเป็นสิ่งที่พิสูจน์ว่าประชาชนไทยมีศักยภาพและความสามารถในการปรับตัวและแก้ปัญหาได้มากน้อยเพียงใด เพราะว่าระบอบทักษิณได้ท้าทายสิ่งที่มีคุณค่า บรรทัดฐาน และระเบียบทางสังคมในแทบทุกระบบ

ทักษิณ เครือญาติ และบริวารได้ท้าทายค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริตของสังคมไทยอย่างถึงรากถึงโคน จนเราสามารถสรุปเป็นข้อความทั่วไปได้ว่า “ที่ใด พื้นที่ใด องค์กรใดที่ระบอบทักษิณแผ่อิทธิพลไปถึง ที่นั่น ย่อมไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตดำรงอยู่อีกต่อไป”

สภาวะเช่นนี้จึงทำให้สังคมไทยเกิดความตระหนัก และต้องหันมาเอาใจใส่กับการซื่อสัตย์สุจริตกันอย่างจริงจัง สำรวจตรวจตราว่าจะหาแนวทางสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของระบอบทักษิณได้อย่างไร และจะรื้อฟื้นค่านิยมซื่อสัตย์สุจริตขึ้นมาได้อย่างไร เพราะหากสังคมใดที่เต็มไปด้วยความฉ้อฉล การโกหก หลอกลวง ความเชื่อถือไว้วางใจก็จะหมดไป และสภาพของความสับสน ไร้ระเบียบทางสังคมก็จะเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลักเลี่ยงได้

สิ่งที่ระบอบทักษิณได้ท้าทายอีกประการคือ ความสงบ สันติ การให้อภัย และเมตตาธรรม เราสามารถเขียนเป็นข้อสรุปทั่วไปได้ว่า “ที่ใด องค์กรใด ที่ระบอบทักษิณแผ่อิทธิพลไปถึง ที่นั่นจะเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความรุนแรง การอาฆาต และความโหดเหี้ยมอำมหิต”

หากไล่เหตุการณ์ต่างๆตั้งแต่ พ.ศ. 2544 จนถึงปัจจุบัน เราก็พบว่ามีข้อมูลเชิงประจักษ์นับไม่ถ้วนที่สนับสนุนข้อสรุปข้างต้น เช่น การฆ่าตัดตอน การสังหารหมู่ชาวมุสลิมที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ การเผาบ้านเผาเมือง การเข่นฆ่ามวลชนเสื้อแดงซึ่งเป็นพวกเดียวกันเอง เพื่อสร้างสถานการณ์ให้ได้มาซึ่งอำนาจการเมือง การเข่นฆ่าสังหารผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ประท้วงรัฐบาลของระบอบทักษิณ และการยิงระเบิดใส่องค์กรอิสระและตุลาการ เป็นต้น

ความอาฆาตและโหดเหี้ยมของระบอบทักษิณแสดงออกมาอย่างชัดเจนเมื่อเร็วๆนี้อีกครั้ง เมื่อมีแกนนำ กปปส. เป่านกหวีดใส่คนสำคัญของระบอบทักษิณ หลังจากนั้นบ้านของครอบครัวของแกนนำที่เป่านกหวีดก็ถูกยิงหลายครั้ง และถูกข่มขู่คุกคามอีกนับครั้งไม่ถ้วน

แต่เรื่องที่ตลกร้ายก็คือไม่กี่วันก่อน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บุคคลสำคัญของระบอบทักษิณ กลับร้องขอสันติภาพและเมตตาธรรม ด้วยเหตุที่ว่าศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า พ.ร.บ. กู้เงินสองล้านล้านบาท ผิดรัฐธรรมนูญ บุคคลนี้ถึงกับน้ำตาคลอขณะให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

ร้องขอเมตตาธรรม แต่ไม่เคยหันมองตนเองว่าเคยมีสำนึกผิดชอบชั่วดีหรือไม่ เคยมีเมตตาธรรมต่อผู้อื่นหรือไม่ ช่างน่าสมเพชเสียนี่กระไร

ภายใต้การท้าทายของระบอบทักษิณที่มี ดูเหมือนว่าจะทำให้ผู้คนในสังคมไทยเกิดความตระหนักว่าจำเป็นต้องมีการปฏิรูปประเทศกันอย่างขนานใหญ่ แต่จะทำได้มากน้อยเพียงใด ทำได้สำเร็จหรือไม่ ก็ยังเป็นคำถามที่ต้องใช้เวลาในการตอบอีกนานทีเดียว

การต่อสู้กับระบอบทักษิณของผู้คนในสังคมไทยนั้น มีความต่อเนื่องมานานหลายปีแล้ว กลุ่มที่เริ่มมีการต่อสู้อย่างเป็นระบบกับระบอบทักษิณคือ กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งทำให้อิทธิพลของระบอบทักษิณต้องสะดุดหยุดลงชั่วคราว หลังจากนั้นก็มีประชาชนอีกหลายกลุ่มที่ร่วมกันต่อสู้กับระบอบทักษิณ จนกระทั่งในปัจจุบันกลุ่มหลักที่มีพลังมากที่สุดในการต่อกรกับระบอบทักษิณคือ กปปส.

มนุษย์แต่ละคนละคน แต่ละสังคมมีความสามารถในการปรับตัวแตกต่างกัน ดังนั้นเมื่อมนุษย์เผชิญหน้ากับประสบการณ์เดียวกัน ผลสืบเนื่องที่ตามมากลับหลากหลายยิ่งนัก เช่น เมื่อเรามีประสบการณ์ต่อสู้กับระบอบทักษิณ ประสบการณ์นั้นอาจทำให้บางคนพัฒนาความคิด เกิดปัญญามองเห็นปัญหาของระบอบการเมืองในภาพรวม ขณะที่บางคนอาจคิดเพียงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาของตัวบุคคล หากหยุดยั้งบุคคลในระบอบทักษิณไม่ให้เข้าสู่อำนาจได้ ปัญหาก็จะหมดไป

เช่นเดียวกัน เมื่อมนุษย์บางคนได้มีโอกาสไปนั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประสบการณ์จากการอยู่ในตำแหน่งอาจทำให้บางคนใช้อำนาจอย่างย่ามใจและชั่วช้าสามานย์ บางคนอาจไม่ยอมตัดสินใจใดๆที่อยู่นอกเหนือกรอบบรรทัดฐานตามกฎหมายและถูกลืมเลือนไปอย่างรวดเร็ว แต่บางคนอาจใช้อำนาจอย่างสร้างสรรค์และจรรโลงความรุ่งเรืองของสังคม ถูกผู้คนยกย่องและจดจำไปอย่างยาวนาน

เป็นความน่ายินดีที่ว่า ประชาชนไทยจำนวนไม่น้อยเมื่อผ่านประสบการณ์การต่อสู้ทางการเมือง ก็ได้แสดงออกถึงจิตวิญญาณที่ตื่นตัว เกิดความตระหนักรู้ ซึ่งชักนำไปสู่แสงแห่งปัญญาของตรรกที่สอดประสานกันอย่างกลมกลืนงดงาม และสามารถเข้าถึงความจริงทางการเมืองอันซับซ้อนซึ่งมีการเชื่อมโยงกันในหลากหลายมิติ

มีปัญหาประการหนึ่งที่ทำให้การต่อสู้กับระบอบทักษิณมีอุปสรรค นั่นคือ การขาดความสำนึกผิดชอบชั่วดีของนักการเมืองทั้งที่อยู่ในและอยู่นอกระบอบทักษิณ ข้าราชการบางกลุ่มบางพวก กรรมการในองค์กรอิสระบางคน และสมุนบริวารทั้งหลายของระบอบทักษิณ

อันที่จริงในเรื่องสำนึกผิดชอบชั่วดี นักปรัชญาอย่าง คานท์ ได้ชี้ไว้ว่า “มีความจริงที่น่าอัศจรรย์สำหรับประสบการณ์ของมนุษย์อยู่อย่างหนึ่งคือ ความรู้สึกทางจริยธรรม ซึ่งเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลักเลี่ยงได้นั่นคือ ความรู้สึกที่ว่าสิ่งนี้ถูก สิ่งนั้นผิด” แน่นอนว่าการกระทำเมื่อเผชิญหน้ากับความเย้ายวนต่างๆ เราอาจพ่ายแพ้ แต่ทว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้นก็ยังดำรงอยู่

โดยทั่วไปความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ธรรมดาทั่วไป แต่มีมนุษย์บางจำพวกที่จิตถูกครอบงำด้วยสัญชาตญาณดิบดั้งเดิม มีความโลภอย่างไร้ขอบเขต มีความหลงอย่างมืดมิดและมีความอำมหิตเลือดเย็น จนไม่สามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดี และอาจไม่เคยเกิดความรู้สึกเช่นนี้เลยก็ได้ เราอาจจะพบคนประเภทนี้ในแทบทุกวงการ ทั้งกลุ่มนักการเมืองไทย ข้าราชการพลเรือน ทหาร ตำรวจ อัยการ และนักวิชาการ แต่จะพบมากหน่อยในกลุ่มที่เป็นสมุนสาวกโดยตรงของระบอบทักษิณ และคนกลุ่มนี้จะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปฏิรูปประเทศที่กำลังขึ้นขึ้น

คนบางกลุ่มเช่น มวลชนเสื้อแดงบางคน แต่เดิมนั้นอาจมีจิตสำนึกผิดชอบชั่วดี แต่ความรู้สึกเช่นนี้ได้ถูกทำให้หายไปโดยนักการเมืองและแกนนำเสื้อแดง สมุนของระบอบทักษิณเหล่านี้ได้ประดิษฐ์วาทกรรมและใช้กลไกการล้างสมองทุกรูปแบบ เพื่อทำให้ความสำนึกผิดชอบชั่วดีของมวลชนเสื้อแดงหายไป และเมื่อสำนึกนี้หายไป พวกเขาก็จะถูกใช้ในฐานะเครื่องจักรแห่งการทำลายล้าง และเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความรุนแรง

การต่อสู้กับระบอบทักษิณตลอดช่วงเวลาสามถึงสี่เดือนที่ผ่านมานี้ แม้ว่าประชาชนจะประสบชัยชนะในหลายเรื่อง หลายประเด็น แต่ก็ยังไม่บรรลุเป้าหมาย ยังไม่อาจเดินหน้าปฏิรูปประเทศได้ ด้านหนึ่งแม้ว่าประชาชนสามารถตัดทอนอิทธิพลของระบอบทักษิณให้ลดลง แต่ก็ไม่สามารถขจัดอุปสรรคของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงสังคมในครั้งนี้ได้

แต่ดูไปแล้ว สถานการณ์การเมืองไทยในยามนี้มีสภาพประดุจเรือที่ลอยไปลอยมาอยู่ในกลางมหาสมุทรที่เต็มไปด้วยซากอันเปื่อยเน่าของนักการเมือง และปกคลุมด้วยความมืดมิดของราตรีที่ไม่มีแม้กระทั่งแสงดาวหรือแสงจันทร์ มองไม่เห็นเส้นทางใดสู่ชายฝั่ง กัปตันเรือก็มัวแต่นั่งรอโชคชะตาและภาวนาให้กระแสลมพัดพาเรือไปสู่ชายฝั่ง แต่กว่าจะเกิดโชคเยี่ยงนั้น เรือก็อาจจะแตกสลายไปแล้ว

ผมคิดว่า กัปตันเรือและลูกเรือจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการคิด เพื่อจะได้เข้าใจความเป็นจริงได้อย่างลึกซึ้ง จากนั้นก็กำหนด วิสัยทัศน์กว้างไกล คิดค้นยุทธศาสตร์ทางการเมืองที่แหลมคม ใช้ความซื่อสัตย์สุจริตและมีสำนึกแห่งความรับผิดชอบชั่วดีเป็นรากฐาน และใช้ความกล้าหาญทางจริยธรรมเป็นธงนำ เพื่อนำพานาวาแห่งประชาชนฝ่าฟันมหาสมุทรที่เน่าเหม็นของระบอบทักษิณ ไปสู่ชายฝั่งแห่งความหวังให้สำเร็จ


กำลังโหลดความคิดเห็น