ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต
ในยามนี้ประชาชนไทยจำนวนมากมีความตื่นตัวทางการเมืองและเข้าร่วมขับเคลื่อนเพื่อสร้างกระบวนการเปลี่ยนแปลงสังคมอย่างรอบด้าน มีความมุ่งมั่นในการปฏิรูปประเทศเพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลทางการเมือง กระจายอำนาจ สร้างความยุติธรรมและเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็มีธรรมชาติอย่างหนึ่งของสังคมที่ว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมใดๆย่อมมีทั้งพลังขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพลังเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลง สังคมไทยก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงกฎเกณฑ์เช่นนี้ได้
พลังล้าหลังที่เหนี่ยวรั้งการปฏิรูปประเทศคือเครือข่ายระบอบทักษิณที่ประกอบด้วยนักการเมืองพรรคเพื่อไทยและพรรคอื่นๆที่ร่วมสมจรได้ประโยชน์ร่วมกัน นายทุนหรือนักธุรกิจสามานย์ที่ได้ประโยชน์จากการร่วมทุจริตกับนักการเมือง สื่อมวลชนที่ได้รับแบ่งชิ้นเนื้อจากระบอบทักษิณ ข้าราชการที่ฉ้อฉลและกระหายตำแหน่งลาภยศ กลุ่มอันธพาลการเมืองเสื้อแดงซึ่งเป็นสมุนรับใช้ตระกูลชินวัตร และนักวิชาการแดงที่มีทั้งกลุ่มที่ไร้เดียงสา กลุ่มซากเดนซ้าย กลุ่มอนาธิปไตยหลังสมัยใหม่ และกลุ่มที่หลงลาภยศจากระบอบทักษิณ
นักวิชาการแดงใช้ความรู้ทางวิชาการสร้างความชอบธรรมแก่ระบอบทักษิณมาโดยตลอดภายใต้วาทกรรมที่ว่าเป็นการช่วยเหลือคนจน ลดความเหลื่อมล้ำ ปกป้องประชาธิปไตย และโค่นล้มกลุ่มอำมาตย์
ผมมีข้อแนะนำบางอย่างให้นักวิชาการแดงบางคนที่ยังไม่มีอคติหรือผลประโยชน์บดบังสติปัญญาอันสูงส่งของท่านลองทบทวนและพิจารณาความเป็นจริงอย่างรอบด้าน และตั้งคำถามง่ายๆว่า “นักการเมืองระบอบทักษิณช่วยเหลือคนจนหรือใช้คนจนเป็นเครื่องมือในการครองอำนาจเพื่อแสวงหาผลประโยชน์และสร้างความมั่งคั่งกันแน่”
พวกท่านอาจคิดว่านโยบายกองทุนหมู่บ้าน นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค และนโยบายจำนำข้าว เป็นการช่วยเหลือคนจน หากมองอย่างผิวเผินก็ดูเหมือนเป็นเช่นนั้น แต่หากพิจารณาอย่างละเอียดและไตร่ตรองด้วยเหตุผลและใช้ข้อมูลข่าวสารที่เพียงพอแล้ว ภาพความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งก็จะผุดขึ้นมา
นโยบายกองทุนหมู่บ้านใช้เงินงบประมาณของประเทศ กลุ่มคนที่เข้าถึงและได้รับเงินก้อนนี้คือกลุ่มผู้นำในหมู่บ้านหรือชุมชน และเงินที่กู้ไปส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อการบริโภคซื้อสิ่งฟุ่มเฟือย และกลายเป็นหนี้สูญจำนวนมาก อันเป็นการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ทั้งสิ้น
นโยบายสามสิบบาทรักษาทุกโรค ด้านหนึ่งแม้ว่าทำให้คนจนเข้าถึงโรงพยาบาลมากขึ้น แต่ผลที่ตามมาโดยเฉพาะในช่วงแรกคือการใช้บริการอย่างล้นเกิน คนที่ไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลจำนวนมากก็อยากไปใช้สิทธิ จนทำให้ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรักษาจริงๆได้รับผลกระทบเพราะต้องใช้เวลารออย่างยาวนานกว่าจะได้รับการรักษา และเมื่อมีปริมาณคนไปใช้บริการจำนวนมากก็ย่อมกระทบต่อคุณภาพของการรักษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งยังบุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานหนักอย่างไม่จำเป็น จนมีการลาออกไปจำนวนไม่น้อย ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่มีการใช้นโยบายนี้คือ คุณภาพของระบบสาธารณสุขของไทยเสื่อมลง และท้ายที่สุดก็มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนโดยรวม โดยเฉพาะคนจนที่มีทางเลือกไม่มากนัก ก็ยิ่งได้รับผลกระทบที่รุนแรงมากกว่ากลุ่มคนอื่นๆในสังคม
ส่วนนโยบายจำนำข้าวที่นักวิชาการแดงบางคนสนับสนุนนักหนาว่าเป็นการช่วยเหลือชาวนา ก็กลายเป็นเครื่องมือสร้างความชอบธรรมแก่กลุ่มโรงสี กลุ่มพ่อค้าข้าว และกลุ่มนักการเมืองเข้าไปฉกฉวยผลประโยชน์บนความหายนะของระบบงบประมาณ ระบบเศรษฐกิจ และระบบข้าวของไทย
เรื่องนี้มีข้อมูลจากการวิจัยจำนวนมากโดยเฉพาะจาก TDRI ที่พิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ชาวนาได้ประโยชน์จากนโยบายจำนำข้าวเพียงประมาณหนึ่งแสนล้านบาทจากงบประมาณที่ทุ่มลงไปถึง 4-5 แสนล้านบาท และโครงการนี้ขาดทุนถึงประมาณ 3 แสนล้านบาท มีการทุจริตเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของการนำนโยบายไปปฏิบัติ และเป็นการทุจริตเงินงบประมาณจำนวนมหาศาลอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของสังคมไทย
ไม่ทราบว่านักวิชาการแดงเคยอ่านหรือฟังการนำเสนอข้อเท็จจริงเหล่านี้หรือไม่
หากต้องการช่วยเหลือชาวนาจริงก็ควรทำให้มีประสิทธิภาพและปราศจากการทุจริต มีทางเลือกอีกหลายอย่างที่ทำได้โดยไม่สร้างความหายนะเช่นดังที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์กระทำ
เพียงแค่สามเรื่องที่ผมหยิบยกมา หากพิจารณาโดยใช้สติปัญญาเพียงเล็กน้อยก็เห็นชัดเจนว่าวาทกรรมที่ว่าระบอบทักษิณช่วยเหลือคนจนนั้น เป็นความเชื่อที่ปราศจากความจริงรองรับแม้แต่น้อย แล้วอย่างนี้นักวิชาการเสื้อแดงบางคนที่มีสติดีอยู่บ้างยังหลับหูหลับตาสนับสนุนระบอบทักษิณได้อีกหรือ แต่หากยังยังยืนกรานสนับสนุนก็ไม่ว่ากระไร เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องรับผิดชอบเอาเอง
ทีนี้ลองมาดูคำถามที่สองว่า “รัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณลดความเหลื่อมล้ำหรือขยายความเหลื่อมล้ำ กันแน่” ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ ทั้งความเหลื่อมล้ำของรายได้ ความเหลื่อมล้ำของโอกาส และความเหลื่อมล้ำของอำนาจ หากพิจารณาในมิติแรก มีข้อมูลจำนวนมากที่บ่งบอกว่าการกระจายรายได้ของคนในสังคมไทยเสื่อมทรามลงตลอดระยะสิบกว่าปีที่ระบอบทักษิณครองอำนาจ เกษตรกรเกือบทุกกลุ่มทั้งชาวสวนยาง สวนปาล์ม และสินค้าเกษตรอื่นๆนับสิบประเภทรายได้ลดลง มีเพียงชาวนากลางบางกลุ่มเท่านั้นที่อาจมีรายได้มากขึ้น คนจำนวนมากตกงานจากนโยบายขึ้นค่าแรงและขึ้นเงินเดือนที่หวังคะแนนนิยม แต่ขาดการวิเคราะห์อย่างมีเหตุมีผลของรัฐบาล
โอกาสของประชาชนในการเข้าถึงบริการและการใช้สิทธิต่างๆอย่างมีคุณภาพก็ลดลง ประชาชนอาจไปถึงโรงพยาบาลมากขึ้น แต่โอกาสได้รับการบริการแย่ลง และโอกาสที่จะมีสุขภาพดีขึ้นก็น้อยลง อาจเข้าถึงการศึกษาเพิ่มขึ้น แต่โอกาสที่ได้รับความรู้อย่างมีคุณภาพและการกล่อมกลอมให้มีคุณธรรมลดลง รวมทั้งไม่ได้รับโอกาสในการสร้างความมั่นคงแก่ชีวิต เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ละเลยไม่สนใจกฎหมายที่เกี่ยวกับการออมภาคประชาชนไปปฏิบัติ
ดังนั้นความเหลื่อมล้ำได้ขยายตัวมากขึ้นขึ้นในเรื่องโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพ การศึกษาที่มีคุณภาพ และการสร้างความมั่นคงของชีวิตของประชาชน
ด้านความเหลื่อมล้ำด้านอำนาจก็ยิ่งขยายออกไปอย่างชัดเจน เพราะรัฐบาลยิ่งลักษณ์ได้แก้ไข รัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยตัดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญากับต่างประเทศ ปิดกั้นสิทธิและเสรีภาพในการพูดและเสนอข้อมูลข่าวสารในรัฐสภา และพยายามกระชับอำนาจให้รวมศูนย์ในกลุ่มนักการเมืองทุนสามานย์เพียงกลุ่มเดียว
สำหรับคำถามที่สาม “ระบอบทักษิณปกป้องประชาธิปไตยหรือทำลายประชาธิปไตยกันแน่” ลองมาค่อยๆพิจารณาทีละระดับครับจากประชาธิปไตยระดับเบื้องต้น ไปสู่ระดับที่มีความซับซ้อน
ประชาธิปไตยระดับเบื้องต้นจะดูที่กระบวนการการได้มาซึ่งอำนาจ คือ มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม มีการแข่งขันของพรรคการเมืองหรือผู้สมัครหลายพรรค ประเทศไทยมีผู้สมัครหลายพรรคจริงครับ แต่ว่าการเลือกตั้งกลับทุจริตและไร้ความเที่ยงธรรม มีการซื้อขายเสียงแบบแจกเงินให้อย่างตรงๆอย่างแพร่หลาย มีการใช้นโยบายประชานิยมซื้อเสียงประชาชนทางอ้อม และมีการใช้อำนาจรัฐเอาเปรียบคู่แข่งทั่วทุกหัวระแหง มีงานวิจัยและหลักฐานจำนวนมากที่ระบุตรงกันว่าประเทศไทยเป็นต้นแบบของการทุจริตเลือกตั้งในยุคใหม่ จนนักการเมืองหลายประเทศนำไปเลียนแบบ วาทกรรมปกป้องประชาธิปไตยของนักวิชาการเสื้อแดงและระบอบทักษิณจึงเป็นวาทกรรมที่ส่งเสริมและให้ท้ายการเลือกตั้งที่ทุจริต ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่นักการเมืองของระบอบทักษิณนั่นเอง
ด้านนิยามของประชาธิปไตยที่มีความซับซ้อนระดับกลางจะดูที่ การมีสถาบันทางการเมืองและสังคมที่ปกป้องสิทธิ เสรีภาพ สร้างความยุติธรรมและความเป็นธรรมให้แก่ประชาชน ทีนี้ลองมาดูสถาบันทางการเมืองแรกคือ พรรคการเมือง ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่มีอำนาจในสังคมไทยอย่างพรรคเพื่อไทยมีลักษณะที่เป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ ถูกควบคุมและบงการจากนายทุนกลุ่มชินวัตรอย่างสมบูรณ์แบบในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการกำหนดตำแหน่งกรรมการบริหารพรรค การคัดเลือกผู้สมัครลงเลือกตั้ง และการตัดสินใจทางการเมืองทุกเรื่อง หรือ นักวิชาการเสื้อแดงจะเถียงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
ส่วนรัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณก็เช่นเดียวกัน มีการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนนับครั้งไม่ถ้วน ไม่เคยสักครั้งเดียวที่รัฐบาลภายใต้ระบอบทักษิณจะขยายสิทธิและเสรีภาพประชาชน แต่เรื่องที่ทำล้วนแล้วแต่เข้าข่ายลิดรอนสิทธิและจำกัดเสรีภาพทั้งสิ้น เช่น เรื่องฆ่าตัดตอนผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดจำนวนประมาณ 2,800 คน การสังหารหมู่ที่ตากใบและกรือเซะ การอุ้มฆ่าทนายสมชาย และนายเอกยุทธ อัญชัญบุตร และล่าสุดการปราบปรามและทำร้ายผู้ชุมนุมที่สนามกีฬาแดนแดงจนได้รับบาดเจ็บหลายคน
ด้านรัฐสภาที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นเสียงส่วนใหญ่ ก็ปรากฏว่าตัดสินใจแบบผลประโยชน์ทับซ้อน สร้างความไม่เป็นธรรม ละเมิดรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายสร้างหนี้ และล้างความผิดคนโกง รวมทั้งมีพฤติกรรมที่ทุจริตลงคะแนนแทนกัน และเอาเอกสารปลอมเข้าไปประชุม การตัดสินใจของรัฐสภาไทยแทบทุกเรื่องเข้าข่ายของ “ทรราชเสียงข้างมากทั้งสิ้น” ไม่มีส่วนใดเลยที่บ่งบอกได้ว่าสะท้อนความเป็นประชาธิปไตย
และเมื่อพิจารณานิยามของประชาธิปไตยที่มีความซับซ้อนยิ่งขึ้นคือ ดูที่เนื้อหาหรือผลลัพธ์ของระบอบ ก็ปรากฏว่า ประชาธิปไตยแบบระบอบทักษิณสร้างผลลัพธ์ที่เลวร้ายและนำสังคมไทยไปสู่ความหายนะ
ระบอบทักษิณสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างลึกซึ้ง ทำให้ตระกูลชินวัตร นักการเมืองเสื้อแดงและอันธพาลเสื้อแดงกลายอภิสิทธิ์ชนละเมิดกฎหมายได้โดยไม่ถูกลงโทษ สร้างหนี้สินแก่คนไทยมากขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำลายค่านิยมที่ดีงามของสังคมจนหมดสิ้นโดยทำให้คนบูชาว่าการทุจริตเป็นเรื่องธรรมดา การคุกคามทำร้ายคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลเป็นเรื่องปกติ ทำให้เกิดการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่เป็นธรรม พื้นที่ใดที่เลือกรัฐบาลจะได้รับการจัดสรรงบประมาณมาก ส่วนพื้นที่ไหนที่เลือกก็จะได้รับการจัดสรรน้อย
กล่าวโดยสรุป วาทกรรมปกป้องประชาธิปไตยแบบระบอบทักษิณคือ วาทกรรมที่พยายามกดทับ กลบเกลื่อนการทุจริตเลือกตั้ง การละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้อำนาจเผด็จการของนายทุนพรรคการเมือง ระบบทรราชเสียงข้างมากในรัฐสภา การอยู่เหนือกฎหมายของนายทุนสามานย์และเหล่าสมุนอันธพาล การทุจริตในการบริหารของรัฐบาล การสังหารหมู่ประชาชน การขยายการเหลื่อมล้ำทั้งรายได้ โอกาส และอำนาจระหว่างผู้คนในสังคม และการทำลายคุณธรรมที่ดีงามของสังคมไทย
สิ่งเหล่านี้คือสิ่งประชาชนจำนวนมากต้องการปฏิรูปและเปลี่ยนแปลงเพื่อให้มีการเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม มีรัฐบาลและรัฐสภาที่มีวิทัศน์ มีความสามารถ มีการตัดสินใจที่ยืนอยู่บนประโยชน์ของประชาชนทั้งชาติ เคารพหลักสิทธิมนุษยชน ยึดมั่นในความยุติธรรม ขยายโอกาสในการเข้าถึงการบริการสาธารณะที่มีคุณภาพ
ประชาชนต้องการความมั่นคงและปลอดภัยในชีวิต สามารถใช้ชีวิตอย่างปราศจากความหวาดกลัวจากการถูกทำร้ายจากอำนาจรัฐเถื่อนและมวลชนอันธพาลของรัฐบาล รวมทั้งสามารถพัฒนาปัญญาได้อย่างเสรีรู้จักจำแนกว่าอะไรคือยาพิษทางปัญญาที่บรรดานักวิชาการพ่อมดหมอผีทั้งหลายของระบอบทักษิณโฆษณาชวนเชื่อออกมา
นักวิชาการเสื้อแดงที่ล้าหลังทั้งหลายพยายามเหนี่ยวรั้งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ เพราะว่าพวกเขาบางส่วนถูกจองจำอยู่ในคุกมืดของมายาคติทางความเชื่อบางอย่าง และอีกบางส่วนถูกเย้ายวนด้วยลาภยศจากระบอบทักษิณ