xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อีก3ปมปัญหาที่ต้องตีความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เหมือนเป็นการเล่นแง่ ระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับรัฐบาล เรื่องการจัดการเลือกตั้ง 28 เขตที่เหลือในพื้นที่ภาคใต้ ที่ยังไม่มีผู้สมัคร เพราะถูกปิดล้อม ขัดขวาง จากประชาชนในพื้นที่ ในวันที่มีการเปิดรับสมัคร ช่วงก่อนเลือกตั้งใหญ่ 2 ก.พ.

ทางฝ่ายกกต. เห็นว่าการจัดการเลือกตั้ง 28 เขตที่เหลือดังกล่าว รัฐบาลจะต้องออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ กกต.จึงจะสามารถดำเนินการเปิดรับสมัคร และกำหนดวันเลือกตั้งได้ เพราะการกำหนดวันรับสมัคร และวันเลือกตั้งตาม พ.ร.ฎ.เดิมนั้นได้ผ่านไปแล้ว หาก กกต.ไปกำหนดวันรับสมัคร และวันเลือกตั้งขึ้นมาใหม่เอง โดยไม่มีพ.ร.ฎ.ฉบับใหม่มารองรับ ก็เกรงว่าจะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่ว่า วันเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ จึงเสี่ยงกับการถูกร้องว่า

การเลือกตั้งเป็นโมฆะ และมีการฟ้องร้องเอาผิดกกต. ทั้งแพ่งและอาญาตามมา

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเห็นว่า ขณะนี้การเลือกตั้งตามพ.ร.ฎ.ที่มีอยู่เดิม ยังไม่แล้วเสร็จ จึงเป็นอำนาจของ กกต. ในการออกประกาศกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้ง วันรับสมัครเลือกตั้งเพิ่มเติมได้ หากรัฐบาลออกพ.ร.ฎ.ใหม่ ก็จะเป็นการออกพ.ร.ฎ.เลือกตั้งซ้อนกัน 2 ฉบับ มีวันเลือกตั้ง 2 วัน จะถูกร้องว่าเป็นโมฆะ และทำให้รัฐบาลพังได้ เพราะกระทำการขัดรัฐธรรมนูญ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทางออกที่ฝ่ายกกต.มองไว้คือ ต้องยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด ว่าอำนาจในการจัดการเลือกตั้ง 28 เขตที่เหลือนี้ อยู่ที่ใคร กกต.ดำเนินการได้เลย หรือต้องให้รัฐบาลออก พ.ร.ฎ.ฉบับใหม่ก่อน

แต่การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณา วินิจฉัยประเด็นปัญหาใดนั้น จะต้องเป็นเรื่องความขัดแย้งของสององค์กรที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่เรื่องยังไม่เกิด แต่ไปขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน เหมือนเป็นการขอคำปรึกษาก่อนดำเนินการนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับพิจารณา
กกต.จึงส่งเรื่องให้รัฐบาลยืนยันความเห็นของฝ่ายรัฐบาลโดยออกเป็น มติครม.ว่าจะไม่ออกพ.ร.ฎ.ใหม่ เพราะ กกต.มีอำนาจที่จะดำเนินการเลือกตั้งต่อไปได้อยู่แล้ว ไม่ใช่แค่บอกว่าเป็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่แจ้งไป

เมื่อรัฐบาลนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมครม.ก็มีการหารือเครียด โดยบรรดารัฐมนตรีเห็นว่า เรื่องนี้เป็นหลุมพรางของกกต. ที่ขุดล่อให้รัฐบาลตกลงไป เพราะกกต.ต้องการให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นโมฆะ เนื่องจากเป็นการเลือกตั้งที่มีอุปสรรค มีปัญหาข้อกฎหมายมากมาย

ที่สำคัญคือ รัฐบาลมองว่า กกต. รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นพวกฝ่ายตรงข้ามที่จ้องจะโค่นล้มรัฐบาล ขืนไปเดินตามเกม จะเกมตามไปด้วย จึงไม่ยอมออกเป็นมติครม. ว่าเห็นชอบ แค่บอกว่า ครม.รับทราบในเรื่องที่กกต.เสนอมาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ครม.จะบอกแค่ว่า รับทราบ แต่กกต.ก็ถือว่าเป็นหลักฐานที่บอกถึงความขัดแย้งของสององค์กรได้แล้ว และเตรียมที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ แถมยังพ่วงไปอีก 3 ประเด็นปัญหา ที่เป็นเสมือนปมปัญหาที่แก้ไม่ออกของการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ

1 . กรณี กกต.ออกประกาศ การกำหนดวันลงคะแนนเลือกตั้ง ในหน่วยเลือกตั้ง หรือ ใน 28 เขตเลือกตั้งใหม่ที่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยอาศัย มาตรา 78 ของพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส. และการได้มาซึ่งส.ว. จะถือว่าทำให้มีการวันเลือกตั้ง 2 วัน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่กำหนดให้วันเลือกตั้ง ต้องกำหนดเป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักรหรือไม่

2. กรณีที่ มาตรา102 ของ พ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.และการได้มาซึ่งส.ว. กำหนดให้บัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด ต้องนำมานับรวมในวันเลือกตั้ง และในกรณีที่บัตรลงคะแนนเลือกตั้ง ส่งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งนั้นหลังจากที่เริ่มนับคะแนนล้ว ให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย กรณีนี้ในข้อเท็จจริง เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ได้มีการนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งแล้ว ดังนั้นจะถือว่าบัตรลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจังหวัด ที่ยังไม่ได้เอามานับ เนื่องจากมีการ

ปิดล้อมบางหน่วยเลือกตั้งในวันเลือกตั้ง รวมทั้งส่วนหนึ่งที่ยังไม่ได้ลงคะแนน เช่น ในหลายจังหวัดภาคใต้เป็นต้น จะเป็นบัตรเสียหรือไม่ และหากเปิดนับและนำมารวมกับคะแนนที่ได้นับไว้แล้ว จะทำให้คะแนนทั้งหมดเสียไปหรือไม่

3 . กรณีรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 วรรคท้าย กำหนดว่า กรณีมีเหตุการณ์ใดๆ ทำให้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งใด มีส.ส.ไม่ถึง 500 แต่มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของจำนวนส.ส.ทั้งหมด กกต.ต้องจัดการเลือกตั้งให้มีส.ส. ครบตามจำนวนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้งนั้น ตรงนี้เพื่อให้สามารถมี ส.ส.ได้ร้อยละ 95 และสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้ กกต.จะสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 236 ออกประกาศหลักเกณฑ์

ให้มีการรวมคะแนนเท่าที่มีอยู่ และประกาศผลคะแนนตาม มาตรา 91 และ มาตรา 92 ของพ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. เพื่อให้สามารถประกาศผลการเลือกตั้งส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อได้ โดยไม่ต้องรอผลคะแนนครบทุกหน่วยเลือกตั้งได้หรือไม่

3 ปมปัญหาที่ว่านี้ เห็นได้ชัดเจนว่า ข้อกฎหมาย กับแนวทางการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริงนั้น ขัดแย้งกัน บางข้อไม่สามารถทำได้ บางข้อเป็นไปได้ยาก เพราะข้อจำกัดเรื่องเงื่อนเวลา ซึ่ง กกต.ยื่นตีความก็เพื่อให้เกิดแนวทางที่จะสามารถปฏิบัติได้ โดยเป้าหมายอยู่ที่ ทำอย่างไรให้สามารถมี ส.ส.ได้ครบตามจำนวนที่เปิดประชุมสภาได้

จากนี้ไปก็ต้องมารอลุ้นว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัย ประเด็นปลีกย่อยนี้ หรือจะเห็นว่าเป็นปัญหาข้อขัดแย้ง นอกเหนือจากเงื่อนไขความขัดแย้งระหว่างองค์กร

ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าข้อหนึ่งข้อใดในจำนวนนี้ ไม่สามารถทำได้ การเลือกตั้งย่อมต้องเป็นโมฆะไปโดยปริยาย

และเป็นคำตอบว่า ทำไมรัฐบาล พยายามขัดขวางทุกวิถีทางไม่ให้ปัญหาการเลือกตั้งไปถึงมือศาลรัฐธรรมนูญ


กำลังโหลดความคิดเห็น