xs
xsm
sm
md
lg

“ศุภชัย” ถกร่างคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยออก พ.ร.ก.เลือกตั้ง 28 เขตใต้จันทร์นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศุภชัย สมเจริญ (แฟ้มภาพ)
ประธาน กกต.เผย 3 เดือนที่ทำงานมาสิ่งยากที่สุด คือความเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาลเกี่ยวกับการออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ใน 28 เขตเลือกตั้งภาคใต้ เตรียมร่างคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยจันทร์ที่ 3 มี.ค.นี้


นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต.กล่าวในรายการ “กกต.พบประชาชน” ทางช่อง 11 ว่า จากการทำงานที่ผ่านมากว่า 3 เดือน เรื่องที่พบว่ายากคือปัญหา 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัคร กกต.มีความเห็นขัดแย้งกับรัฐบาลในเรื่องออก พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการเลือกตั้ง ว่าเป็นอำนาจขององค์กรใดในการออก พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ดังนั้นเมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กร ในวันจันทร์นี้ 3 มี.ค.กกต.จะพิจารณาร่างคำร้องที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้ง กกต.ไม่ได้ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ผู้มีส่วนได้เสียในการเลือกตั้งกล่าวหา แต่มีเหตุปัจจัยภายนอกที่ 28 เขตเลือกตั้งไม่ได้ เพราะมีผู้ชุมนุมมาขัดขวาง

อย่างไรก็ตาม กกต.ได้ให้ ผอ.เลือกตั้งประจำเขต ในแต่ละจังหวัดที่ถูกปิดล้อม ไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพียงแต่ไม่ได้เปิดเผยเพราะกลัวจะเป็นการเรียกแขก

นายศุภชัย กล่าวถึงการลงคะแนนเลือกตั้งใน 5 จังหวัด ในวันที่ 2 มี.ค.ว่า สำหรับวันที่ 2 มี.ค.จะเป็นการลงคะแนนเสียงที่เลื่อนมาจากวันที่ 26 ม.ค.และวันที่ 2 ก.พ.ที่ไม่สามารถจัดให้มีการลงคะแนนได้ ดังนั้นจึงขอให้เจ้าหน้าที่ประจำหน่วย กรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) รวมทั้ง ผอ.เลือกตั้งประจำเขต ช่วยกันตั้งใจทำงาน ถ้าทำงานด้วยความทุจริตโปร่งใส ก็จะได้รับความคุ้มครอง จะไม่ถูกฟ้องทั้งจากทางแพ่งและอาญา สำหรับประชาชนที่ยังไม่สามารถไปใช้สิทธิ ก็ควรที่จะไปใช้สิทธิ เพื่อเป็นการรักษาสิทธิของตนเองเอาไว้

ขณะที่ นายประวิช รัตนเพียร กกต.กล่าวว่า หน้าที่ของ กกต.ต้องดูกระบวนการจัดการเลือกตั้งทุกขั้นตอนให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม รวมทั้งเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องรักษาสิทธิขั้นพื้นฐาน อย่างเมื่อตอนเลือกตั้งปี 54 พบว่ามีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งกว่า 75 เปอร์เซนต์ แต่จากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีประชาชนมาใช้สิทธิเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ เพราะมีเหตุขัดขวาง กกต.จึงหวังให้มีการเจรจาเพื่อให้สถานการณ์คลี่คลายลง อย่างเช่นการลงคะแนนในวัน 2 มี.ค.นี้ ที่เป็นการลงคะแนนชดเชยการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 26 มี.ค.และวันที่ 2 ก.พ.ไม่ใช่อยู่ๆ กกต.จะจัดก็จัด แต่ กกต.มีความตรวจสอบความพร้อมและความเป็นไปได้ในการจัดเลือกตั้ง

ส่วนสาเหตุว่าทำไม กกต.ต้องถามรัฐบาลและศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องการออกพ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการเลือกตั้ง นายประวิช กล่าวว่า ทั้งหมดนี้อยู่ที่ พ.ร.ฎ.กำหนดให้มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ทุกอย่างต้องเดินไปตามกฎหมายด้วยความรอบคอบ กกต.พบว่าหลังจากวันที่ 2 ก.พ.ถ้าดำเนินการเลือกตั้งต่อ ก็ต้องมี พ.ร.ฎ.ใหม่ เพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งครบถ้วน จึงต้องขอความเห็นไปยังรัฐบาลเพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลฯ แต่รัฐบาลก็มีความเห็นตามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าไม่สามารถออก พ.ร.ฎ.ใหม่ได้ ในทางกฎหมายจึงเรียกว่าเป็นความขัดแย้ง จึงต้องส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 เรื่องการขัดแย้งระหว่างองค์กร ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตกลงมาอย่างไร กกต.จะได้ดำเนินการตามนั้น

ส่วนนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต.กล่าวว่าสำหรับการเลือกตั้งทดแทนในบางเขตที่ไม่สามารถเปิดให้ลงคะแนนได้ ในวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้แก่ จ.เพชรบุรี เขตเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วย อ.บ้านแหลม อ.หนองหญ้าปล้อง และ อ.บ้านลาด รวมทั้งสิ้น 74 หน่วยเลือกตั้ง จ.ระยอง เขตเลือกตั้งที่ 1 ต.ตะพง อ.เมืองระยอง รวมทั้งสิ้น 19 หน่วยเลือกตั้ง เขตเลือกตั้งที่ 3 ประกอบด้วย อ.บ้านค่าย และ อ.วังจันทร์ รวมทั้งสิ้น 5 หน่วยเลือกตั้ง และเขตเลือกตั้งที่ 4 ต.มาบตาพุด อ.เมืองระยอง รวมทั้งสิ้น 3 หน่วยเลือกตั้ง ส่วน จ.เพชรบูรณ์ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม เป็นการเลือกตั้งทดแทนนอกเขตเลือกตั้งจากการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกเขตเลือกตั้งไว้แล้วไม่ต้องลงทะเบียนใหม่ รวมถึงผู้ที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในเขตเลือกตั้งที่ยังไม่ได้ใช้สิทธิลงคะแนน ทั้งในวันที่ 26 ม.ค.และ 2 ก.พ.ก็สามารถไปใช้สิทธิได้ทันที

“สำหรับการที่หน่วยเลือกตั้งได้ประกาศการงดลงคะแนนเมื่อวันที่ 2 ก.พ.โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพ กกต.ก็ต้องจัดให้มีการลงคะแนนใหม่ แต่ต้องประเมินสถานการณ์ดูว่าคลี่คลายแล้วหรือไม่ อย่างกรุงเทพฯ ก็เห็นว่าสถานการณ์กำลังคลี่คลาย” นายภุชงค์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น