xs
xsm
sm
md
lg

30วันเปิดสภาไม่ได้ทำวุ่น "มาร์ค"จี้"นายกฯ-กกต."ร่วมรับผิดชอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (27ก.พ.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แสดงความเป็นห่วงกรณีใกล้ครบวันเลือกตั้ง 30วัน ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 127กำหนดให้มีการเปิดประชุมสภาครั้งแรก แต่กระบวนการจัดการเลือกตั้งยังมีปัญหาได้ส.ส.ไม่ครบร้อยละ 95 ว่า เป็นการตอกย้ำว่ากระบวนการขณะนี้ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ ตนจึงเรียกร้องมาโดยตลอดว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. ซึ่งเป็นผู้รักษาการ ตามพระราชกฤษฎีกายุบสภา จะต้องหาข้อยุติร่วมกัน แต่เข้าใจได้ยากว่า ทำไมรัฐบาลจึงปล่อยให้เวลายืดเยื้อจนเกือบจะครบ 30วัน หลังวันเลือกตั้ง โดยที่บุคคลทั้งสองไม่สามารถพบกันเพื่อหาข้อยุติในการตัดสินใจเดินหน้าเกี่ยวกับกระบวนการเลือกตั้ง
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า หากครบ 30วันแล้ว ไม่สามารถเปิดประชุมสภาได้ ก็ต้องมีปัญหาข้อกฎหมายตามมา คนที่ต้องรับผิดชอบคือ นายกฯ และประธานกตต. และต้องมีคำตอบว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร ตนยังไม่แน่ใจว่า กกต. จะสามารถส่งเรื่องนี้ไปถามศาลรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ และยังไม่ทราบประเด็นที่จะถาม ว่าเป็นอย่างไร
"ที่แปลกคือนายกฯ รักษาการตามพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่รับผิดชอบอะไรเลยในการแก้ปัญหานี้ ทั้งที่ควรได้ข้อยุติด้วยการคุยกันตั้งแต่ 3 ก.พ.แล้ว แต่ประวิงเวลามาเรื่อย ด้วยเหตุผลอะไร มองไม่ออก แต่ไม่ได้แก้ปัญหาอะไรให้บ้านเมือง ดูเหมือนนายกฯ มีเจตนาประวิงเวลาให้สถานการณ์ยืดเยื้อ และมีปัญหา ทำให้แก้ปัญหายาก"
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มักพูดว่า ถึงเวลาที่จะต้องมาคุยกันนั้น คู่แรกที่ต้องคุยกันคือนายกฯ กับประธานกกต. เพราะถ้ายังไม่มีคำตอบเกี่ยวกับกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ก็ยากที่จะเดินหน้าอนาคตทางการเมืองของประเทศ เพราะในประเด็นข้อกฎหมาย ช่องทางที่จะยื่นศาลรัฐธรรมนูญได้ค่อน
ข้างแคบ มีแค่ผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และต้องดูว่า เข้าเงื่อนไขทำผิดตาม มาตรา 68 หรือไม่ แต่ก็จะไม่ตรง เพราะเรื่องอำนาจหน้าที่ ศาลจะชี้เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรตามรัฐธรรมนูญเท่านั้น ขณะนี้ตนไม่คิดว่าเมื่อเปิดสภาไม่ได้ ใครจะต้องรับโทษอย่างไร แต่คิดถึงผลที่ตามมามากกว่า เพราะสภาพปัจจุบันทำลายโอกาสของประเทศ ซ้ำเติมปัญหาทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และความขัดแย้ง ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น
"น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้อยู่เพื่อรักษาประชาธิปไตย เพราะถ้าต้องการรักษา ต้องรับผิดชอบในการแก้ปัญหาเรื่องการเลือกตั้ง และต้องเป็นตัวอย่างที่ดียอมรับกระบวนการตรวจสอบ ให้ความสำคัญกับป.ป.ช. โดยไม่ปล่อยให้ผู้สนับสนุนตนเองออกมากดดันป.ป.ช. นอกจากนี้สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้สนับสนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ พูดถึงขั้นแบ่งแยกดินแดน พาดพิงสถาบันกษัตริย์ พูดถึงการใช้ความรุนแรง ไม่ใช่การสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย แต่ทำให้ประชาธิปไตยอ่่อนแอลง น.ส .ยิ่งลักษณ์จะปฏิเสธไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ เพราะไม่ได้ห้ามปรามกับกลุ่มที่ไปกดดันป.ป.ช. และถามว่า ในฐานะนายกฯ มีมาตรการอะไรที่จะดูแลป.ป.ช.ให้ทำงานได้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

**จี้ปธ.กกต.เร่งเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก

รายงานจากรัฐสภาแจ้งว่า นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ทำหนังสือด่วนที่สุด ถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ลงวันที่ 27 ก.พ. 57 เพื่อขอให้มีการเปิดประชุมรัฐสภาครั้งแรก ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 โดยให้เหตุผลว่า นายไพโรจน์ ตันบรรจง อดีต ส.ส.ได้รับเลือกตั้งจากประเทศสมาชิกสหภาพรัฐสภา (เป็นองค์กรรัฐสภาระหว่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสมาชิกทั่วโลกจำนวน 163 ประเทศ) ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริหาร สหภาพรัฐสภา ถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญมากในบทบาทขององค์กรรัฐสภาระหว่างประเทศ ที่ ส.ส.ของไทยได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว และได้รับการยกย่องจากนานาประเทศในเวทีของรัฐสภาระหว่างประเทศ โดยในวันที่ 12-20 มี.ค. 57 จะมีการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 130 และการประชุมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส แต่ประเทศไทยไม่สมารถส่ง ส.ส.เข้าร่วมประชุมดังกล่าวได้ เนื่องจากตามธรรมนูญ และข้อบังคับของสหภาพรัฐสภา กำหนดว่า สมาชิกรัฐสภาจะต้องถูกมอบหมายในฐานะผู้แทนโดยสมาชิกสหภาพรัฐสภา
แต่ขณะนี้ กกต.ยังไม่ได้ประกาศผลการเลือกตั้งส.ส.ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 ที่ผ่านมา ประกอบตามรัฐธรรมนูญมาตรา 127 วรรคแรก บัญญัติว่าภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้งส.ส.ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภา เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาได้มาประชุมกันครั้งแรก ดังนั้นเพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของส.ส.ประเทศไทยในการดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา จำเป็นจะต้องดำเนินการให้มีประชุมรัฐสภาครั้งแรกตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด จึงขอให้ พิจารณาดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป

**กกต.ยันไม่ย้ายที่สัมมนาเข้ากรุง

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน เสนอให้ กกต.เปลี่ยนสถานที่จัดสัมมนาเพื่อหาทางออกการเลือกตั้งใน 28 เขตเลือกตั้ง จาก อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา มาที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อป้องกันปัญหาถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่ ว่า ยืนยันว่ากกต.จะไม่เปลี่ยนแปลงสถานที่จัดงานสัมมนาตามข้อเสนอ เนื่องจากทาง กกต.อยากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องที่ทำหนังสือเชิญไปนั้นได้ลงพื้นที่ ไปรับฟังปัญหาที่เกิดขึ้นจริง โดยเฉพาะ 4 พรรคการเมืองใหญ่ ที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง เพราะจะได้รับทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งด้วย อีกทั้งผลจากการหารือทั้งหมดกกต.จะได้ตัดสินใจว่า จะมีจังหวัดใดในภาคใต้สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในลำดับต่อไป เพราะเท่าที่ประเมินจากสถานการณ์ คาดว่าน่าจะมี 3 จังหวัด ที่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ส่วนมาตรการรักษาความปลอดภัย ขอให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงของบ้านเมือง ที่จะต้องดูแลและควบคุมสถานการณ์
ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ผอ.ศรส. ได้เสนอให้มาจัดที่กรุงเทพฯ เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย แต่นายสมชัย ก็ยังไม่ยอม ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล่วว่าในพื้นที่ภาคใต้ มีกระบวนการขัดขวางการเลือกตั้งอยู่ ถ้ากกต.ยังยืนยันที่จะไปจัดที่นั่น ทางพรรคเพื่อไทยก็ยืนยันว่า จะไม่ไปร่วม การสัมมนาที่กรุงทพฯ ก็สามารถแก้ปัญหาการเลือกตั้งใน 28 เขตได้ เหมือนกัน การดึงดันไปที่นั่น มีนัยอะไรพิเศษหรือไม่ หรือ เพื่อต้องการให้มีมวลชนมาปิดล้อมสถานที่สัมมนา ทำให้เกิดภาพความรุนแรง และเข้าแผนบันได 4 ขั้น ที่ต้องการยื้อการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ ตอนนี้เหลือเวลาอีกเพียง 3 วันจะต้องมีการเปิดสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 127 อยากเตือนไปยังนายสมชัย และกกต.อีก 4 คน หากเปิดสภาฯไม่ได้แล้วมีคนไปร้องศาลให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.ทั้ง 5 คนจะต้องรับผิดชอบ อย่าโยนภาระไปให้ผู้อื่น

**คาดยื่นตีความเลือกตั้ง28เขต 4มี.ค.

นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการ กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวถึง กรณีที่ กกต.จะยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาใน 28 เขตเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัคร ซึ่งมีความเห็นที่ขัดกันระหว่างองค์กร คือ กกต. และ รัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 214 ว่า ขณะนี้ ฝ่ายกฎหมายของ กกต. ได้มีการดำเนินการยกร่างคำร้องเพื่อที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงถ้อยคำ และตรวจสอบขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะส่งให้ กกต. ทั้ง 5 คน ได้ลงนามในคำร้อง คาดว่า ภายในวันที่ 4 มี.ค. คำร้องน่าจะส่งถึงมือศาลรัฐธรรมนูญได้
อย่างไรก็ตาม หากในวันที่ 28 ก.พ. กกต. ทั้ง 5 คนได้ลงนามในคำร้องดังกล่าวครบ 5 คน ก็จะดำเนินการได้ทันที แต่ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวต้องทำด้วยความรอบคอบ และต้องดูเรื่องเอกสารหลักฐานที่ต้องแนบไปกับคำร้องให้ครบถ้วนด้วย

**หาเสียงเลือกตั้งส.ว.งบไม่เกิน1-5ล.

นายธนิศร์ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุม กกต. มีมติเห็นชอบการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งส.ว. ที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 30 มี.ค. เปิดรับสมัคร ระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค. โดยให้ยึดแนวทางการใช้เขตเลือกตั้ง ส.ส. ในแต่จังหวัดเป็นตัวกำหนดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ว. แบ่งเป็นจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 1-4 เขต ผู้สมัครจะใช้จ่ายเงินสำหรับการหาเสียงได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 47 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กำแพงเพชร จันทร์บุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชุมพร ตรัง ตราด ตาก นครนายก นพพนม นราธิวาส น่าน บึงกาฬ ประจวบคีรีขัน ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา พังงา พัทลุง พิจิต เพชรบุรี แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ระนอง ระยอง ลพบุรี ลำบาง ลำพูน เลย สตูล สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย หนองคาย หนองบัวลำพู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
ส่วนจังหวัดที่มี 5-9 เขตเลือกตั้ง ผู้สมัครจะใช้ค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 2 ล้านบาท มีจำนวน 25 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสิน ชลบุรี ชัยภูมิ เชียงราย นครปฐม นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี บุรีรัมย์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิศนุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคราม ร้อยเอ็ด ราชบุรี ศรีสะเกษ สกุลนคร สงขลา สมุทรปราการ สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ และอุดรธานี
ขณะที่จังหวัดที่มี 10-14 เขตเลือกตั้ง ผู้สมัครใช้จ่ายเงินได้ไม่เกิน 3 ล้านบาท มีจำนวน 3 จังหวัดได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี
ส่วนขนาดจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 15 เขตขึ้นไป ยกเว้น กรุงเทพฯ มีจังหวัดเดียวคือ นครราชสีมา ผู้สมัครใช้จ่ายได้ไม่เกิน 4 ล้านบาท และกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนเขตเลือกตั้งถึง 33 เขต กกต. กำหนดให้ผู้สมัครส.ว. ใช้จ่ายเงินสำหรับหาเสียงได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท
ทั้งนี้การกำหนดดังกล่าว กกต.คำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับค่าครองชีพ และน้ำมันเชื้อเพลง รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้สมัครจะให้ในการหาเสียง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนค่าครองชีพจากปี 50 กับปี 56 จะเห็นได้ว่า ค่าแรงขั้นต่ำปี 50 อยู่ที่ 207 บาท ส่วนปี 56 ค่าแรงขั้นต่ำพุ่งสูงถึง 300 บาทต่อวัน แต่ที่ภาพรวมของกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายหาเสียงของผู้สมัครส.ว.ครั้งนี้ ลดลงเนื่องจาก เดิมการเลือกตั้งส.ว. จะเป็นแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ หรือ แบบพวง แล้วนำมาคูณด้วย 1
ล้านบาทต่อเขตเลือกตั้ง เช่น กทม. ที่มีเขตเลือกตั้ง 12 เขต แต่ปัจจุบันมีเขตุเลือกตั้งเพิ่มถึง 33 เขต หากคำนวณตามวิธีเดิมก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมทั้งข้อมูลจากการเลือกตั้ง ส.ว. ที่ผ่านมา ผู้สมัคร ส.ว. ที่มียอดการใช้จ่ายสูงสุด ก็ใช้ไปเพียง 3 ล้านบาทเศษเท่านั้น โดยเป็นผู้สมัครส.ว.กรุงเทพมหานคร ทั้งที่ในขณะนั้นกรุงเทพมหานครกกต.กำหนดให้สามารถใช้จ่ายได้ 12 ล้าน
ขณะเดียวกันกกต.ก็เห็นว่า อำนาจหน้าที่ของ ส.ว.นั้น แตกต่างจากส.ส. โดยจะเน้นการกลั่นกรองกฎหมาย การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้งกกต. ก็ได้มีการรณงค์ประชาสัมพันธ์ให้ด้วย ทั้งการจัดเวทีกลางแนะนำตัวผู้สมัคร การจัดสรรเวลาออกอากาศแนะนำตัวผู้สมัคร และการจัดส่งข้อมูลผู้สมัครไปยังผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกครัวเรือน จึงเห็นว่าแนวทางดังกล่าวเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้สมัครทุกคนได้
นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ด้านสืบสวนสอบสวนจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ เพื่อป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง แบ่งเป็น
1. ชุดป้องปราม ที่จะส่งเป็นรายอำเภอ อำเภอละ 3 ชุด ชุด ละ 3 คน ในการป้องปรามการทุจริตเลือกตั้ง
2.ชุดหาข่าวหรือชุดแหล่งข่าว ชุดละ 1 คน ซึ่งจะมีทุกตำบล เพื่อประสานหาข่าวและหาเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อแจ้งมายังชุดที่
3. คือชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งจะประจำในแต่ละจังหวัด
4.ชุดติดตาม เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามาชุดนี้จะเป็นผู้ตรวจสอบและติดตามคำร้องให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วโดย
อย่างไรก็ตามกกต.ได้เน้นย้ำให้สำนักงานกกต. ไปปรับปรุงการดำเนินงาน โดยให้คำนึงถึงความเป็นกลางและเป็นธรรม ให้คุ้มค่ากับงบประมาณ พร้อมกำชับให้ตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น