xs
xsm
sm
md
lg

กกต.วางงบหาเสียง ส.ว.1-5 ล้าน พร้อมจัดชุดสืบสวน คาด 4 มี.ค.คำร้องเขตปัญหาถึงศาล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศการเลือกตั้ง(แฟ้มภาพ)
รองเลขาฯ กกต.แจง กกต.มีมติเห็นชอบการกำหนดค่าใช้จ่ายหาเสียง ส.ว.30 มี.ค. รับสมัคร 4-8 มี.ค. ยึดตามแบบ ส.ส.ไม่เกิน 4 เขตไม่เกิน 1 ล้าน 5-9 เขตไม่เกิน 2 ล้าน 10-14 เขตไม่เกิน 3 ล้าน 15 จว.ขึ้นไม่เกิน 4 ล้าน กทม.ไม่เกิน 5 ล้าน พร้อมจัดเวทีกลาง ส่งข้อมูลแนะนำผู้สมัคร และจัดชุดสืบสวนกันโกง มีชุดป้องปราม หาข่าว เคลื่อนที่เร็ว และชุดติดตาม คาด 4 มี.ค.คำร้องถึงศาล รธน.ปมเขตเลือกตั้งปัญหา

วันนี้ (27 ก.พ.) นายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งด้านกิจการพรรคการเมือง แถลงว่า ที่ประชุม กกต.มีมติเห็นชอบการกำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ว. ที่คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 30 มี.ค. เปิดรับสมัครระหว่างวันที่ 4-8 มี.ค. โดยให้ยึดแนวทางการใช้เขตเลือกตั้ง ส.ส.ในแต่ละจังหวัดเป็นตัวกำหนดค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ว. แบ่งเป็นจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 1-4 เขต ผู้สมัครจะใช้จ่ายเงินสำหรับการหาเสียงได้ไม่เกิน 1 ล้านบาท มีจำนวน 47 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ กำแพงเพชร จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ชุมพร ตรัง ตราด ตาก นครนายก นครพนม นราธิวาส น่าน บึงกาฬ ประจวบคีรีขัน ปราจีนบุรี ปัตตานี พะเยา พังงา พัทลุง พิจิต เพชรบุรี แพร่ ภูเก็ต มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ยะลา ระนอง ระยอง ลพบุรี ลำบาง ลำพูน เลย สตูล สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระแก้ว สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อำนาจเจริญ อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

ส่วนจังหวัดที่มี 5-9 เขตเลือกตั้ง ผู้สมัครจะใช้ค่าใช้จ่ายได้ไม่เกิน 2 ล้านบาท มีจำนวน 25 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี กาฬสิน ชลบุรี ชัยภูมิ เชียงราย นครปฐม นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นนทบุรี บุรีรัมย์ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา พิษณุโลก เพชรบูรณ์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ราชบุรี ศรีสะเกษ สกุลนคร สงขลา สมุทรปราการ สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี สุรินทร์ และอุดรธานี

ขณะที่จังหวัดที่มี 10-14 เขตเลือกตั้ง ผู้สมัครใช้จ่ายเงินได้ไม่เกิน 3 ล้านบาท มีจำนวน 3 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น เชียงใหม่ อุบลราชธานี ส่วนขนาดจังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 15 เขตขึ้นไปยกเว้นกรุงเทพฯ มีจังหวัดเดียว คือ นครราชสีมา ผู้สมัครใช้จ่ายได้ไม่เกิน 4 ล้านบาท และกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนเขตเลือกตั้งถึง 33 เขต กกต. กำหนดให้ผู้สมัคร ส.ว. ใช้จ่ายเงินสำหรับหาเสียงได้ไม่เกิน 5 ล้านบาท

ทั้งนี้ การกำหนดดังกล่าว กกต.คำนึงถึงปัจจัยเกี่ยวกับค่าครองชีพ และน้ำมันเชื้อเพลง รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่ผู้สมัครจะให้ในการหาเสียง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนค่าครองชีพจากปี 50 กับปี 56 จะเห็นได้ว่าค่าแรงขั้นต่ำปี 50 อยู่ที่ 207 บาท ส่วนปี 56 ค่าแรงขั้นต่ำพุ่งสูงถึง 300 บาทต่อวัน แต่ที่ภาพรวมของกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายหาเสียงของผู้สมัคร ส.ว.ครั้งนี้ลดลงเนื่องจาก เดิมการเลือกตั้ง ส.ว.จะเป็นแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ หรือ แบบพวง แล้วนำมาคูณด้วย 1 ล้านบาทต่อเขตเลือกตั้ง เช่น กทม. ที่มีเขตเลือกตั้ง 12 เขต แต่ปัจจุบันมีเขตเลือกตั้งเพิ่มถึง 33 เขต หากคำนวณตามวิธีเดิมก็จะทำให้ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น รวมทั้งข้อมูลจากการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ผ่านมา ผู้สมัคร ส.ว.ที่มียอดการใช้จ่ายสูงสุด ก็ใช้ไปเพียง 3 ล้านบาทเศษเท่านั้น โดยเป็นผู้สมัคร ส.ว.กรุงเทพมหานคร ทั้งที่ในขณะนั้นกรุงเทพมหานคร กกต.กำหนดให้สามารถใช้จ่ายได้ 12 ล้าน ขณะเดียวกัน กกต.ก็เห็นว่าอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.นั้นแตกต่างจาก ส.ส. โดยจะเน้นการกลั่นกรองกฎหมาย การตรวจสอบการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้ง กกต. ก็ได้มีการรณงค์ประชาสัมพันธ์ให้ด้วย ทั้งการจัดเวทีกลางแนะนำตัวผู้สมัคร การจัดสรรเวลาออกอากาศแนะนำตัวผู้สมัคร และการจัดส่งข้อมูลผู้สมัครไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกครัวเรือน จึงเห็นว่าแนวทางดังกล่าวเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้สมัครทุกคนได้

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ด้านสืบสวนสอบสวนจัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เพื่อป้องกันการทุจริตเลือกตั้ง แบ่งเป็น 1. ชุดป้องปราม ที่จะส่งเป็นรายอำเภอ อำเภอละ 3 ชุด ชุดละ 3 คน ในการป้องปรามการทุจริตเลือกตั้ง 2. ชุดหาข่าวหรือชุดแหล่งข่าว ชุดละ 1 คน ซึ่งจะมีทุกตำบล เพื่อประสานหาข่าวและหาเบาะแสการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง เพื่อแจ้งมายังชุดที่ 3. ชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งจะประจำในแต่ละจังหวัด และ4.ชุดติดตาม เมื่อมีการร้องเรียนเข้ามาชุดนี้จะเป็นผู้ตรวจสอบและติดตามคำร้องให้ดำเนินการอย่างรวดเร็วโดย อย่างไรก็ตาม กกต.ได้เน้นย้ำให้สำนักงาน กกต.ไปปรับปรุงการดำเนินงาน โดยให้คำนึงถึงความเป็นกลางและเป็นธรรม ให้คุ้มค่ากับงบประมาณ พร้อมกำชับให้ตั้งใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างสุจริตและเที่ยงธรรม

นายธนิศร์ยังกล่าวกรณีที่ กกต.จะยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปัญหาใน 28 เขตเลือกตั้งในพื้นที่ภาคใต้ที่ไม่มีผู้สมัคร ซึ่งมีความเห็นที่ขัดกันระหว่างองค์กร คือ กกต. และรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 214 ว่าขณะนี้ฝ่ายกฎหมายของ กกต. ได้มีการดำเนินการยกร่างคำร้องเพื่อที่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างปรับปรุงถ้อยคำและตรวจสอบขั้นสุดท้าย ก่อนที่จะส่งให้ กกต.ทั้ง 5 คนได้ลงนามในคำร้อง คาดว่าภายในวันที่ 4 มี.ค.คำร้องน่าจะส่งถึงมือศาลรัฐธรรมนูญได้ อย่างไรก็ตาม หากในวันที่ 28 ก.พ. กกต.ทั้ง 5 คนได้ลงนามในคำร้องดังกล่าวครบ 5 คนก็จะดำเนินการได้ทันที แต่ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวต้องทำด้วยความรอบคอบ และต้องดูเรื่องเอกสารหลักฐานที่ต้องแนบไปกับคำร้องให้ครบถ้วนด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น