ครม.รับทราบความเห็นกฤษฎีกา ปม กกต.ขอออก พ.ร.ฎ.เลือกตั้งใหม่ รมต.เรียงหน้าไม่ให้ออกเป็นมติ ครม.หวั่นเป็นหลุมพรางเปิดช่องยื่นศาล รธน.ตีความได้ ด้านนายกฯ ย้ำ “เฉลิม” ดู ศรส.ดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ แต่ไม่ขัดคำสั่งศาลแพ่ง พร้อมสั่งประเมินภาพรวมการแก้ไขสถานการณ์การชุมนุม สั่งจังหวัดเชิญชาวนาที่ได้รับผลกระทบโครงการรับจำนำข้าวประชุมเชิงปฎิบัติการ ย้ำช่วยเข้าถึงแหล่งเงินทุนรัฐ บอกไม่อยากเห็นฆ่าตัวตายซ้ำอีก
วันนี้ (25 ก.พ.) ร.ท.หญิง สุณิสา เลิศภควัต รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบกลางสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 20 ล้านบาท ให้แก่สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม สำหรับเป็นค่าใช่จ่ายในการสนับสนุนการจัดการเลือกตั้งทั่วไปสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดค่าใช้จ่ายแบ่งเป็น 1.ค่าตอบแทนการปฏิบัติงานนอกเวลาราชการในส่วนของกำลังพลของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จำนวน 17,000 นาย ประมาณ 17 ล้านบาท 2.ค่าน้ำมัน ยานพาหนะ 2 ล้านบาท และ 3.ค่าวัสดุ อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็น จำนวน 320,000 บาท หลังจากนี้จะขอความเห็นชอบไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 181
ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวด้วยว่า ครม.ได้รับทราบหนังสือที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ส่งไปถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่ประธาน กกต.เคยแสดงความคิดเห็นเสนอให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้งทั่วไป โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ความเห็นผ่านนายพงศ์เทพ เป็นหนังสือเรื่องการดำเนินการเลือกตั้งกรณีผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ใน 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่สามารถสมัครได้ มีสาระสำคัญในหนังสือ คือ การนำความกราบบังคมทูลฯเพื่อขอให้ทรงตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้นไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากรัฐธรรมนูญไม่บัญญัติให้กระทำได้ เพราะการทูลเกล้าฯ เสนอพระมหากษัตริย์เพื่อให้ใช้พระราชอำนาจตราพระราชกฤษฎีกา ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย และการเลือกตั้งใน 28 เขตนั้น ยังอยู่ในกระบวนการเลือกตั้งที่ยังไม่แล้วเสร็จ ถือเป็นอำนาจของกกต.ที่สามารถดำเนินการจัดการเลือกตั้งต่อไปได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าที่ประชุม ครม.ใช้เวลากว่า 1 ชม.ในการพิจารณากรณีที่ กกต.ส่งหนังสือกลับมายัง ครม.เพื่อขอให้มีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอย่างชัดเจน ต่อความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าควรให้เป็นแค่เรื่องแจ้งเพื่อทราบต่อที่ประชุม และรับทราบไว้เท่านั้น โดยไม่ต้องเป็นมติ ครม.เพราะเกรงว่าจะเป็นการวางหลุมพรางให้เกิดความขัดแย้งระหว่าง กกต.และ ครม.เพื่อเปิดช่องให้สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ทั้งนี้ นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งข้อสังเกตว่าเหตุใด กกต.จึงใช้ภาษาที่บิดเบือนข้อเท็จจริง เช่น การเลือกตั้งในพื้นที่ 28 เขต ไม่มีผู้สมัครทั้งที่จริงมีผู้สมัคร แต่ถูกขัดขวาง และ กกต.ก็ไม่สามารถดูแลจัดการการเลือกตั้งได้
ขณะที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ได้หารือต่อกฤษฎีกาว่าเรื่องดังกล่าวเข้าข่ายมติ ครม.ได้หรือไม่ และถ้ามีสถานะว่าเห็นชอบผลจะเป็นอย่างไร ซึ่งกฤษฎีกาชี้แจงว่า เรื่องการแสดงความเห็นชอบสามารถออกเป็นมติ ครม.ได้ แต่อาจจะถูกนำไปใช้เป็นประเด็นให้นำไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญต่อไป รวมถึง นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม และนายพีรพันธุ์ พาลุสุข รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ก็แสดงความเห็นพ้องว่าถ้าออกเป็นมติ ครม.แล้วระบุว่าเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เท่ากับเราไปดึงศาลรัฐธรมนูญมาร่วมให้ทำในสิ่งที่รัฐบาลไม่ต้องการทำ และไม่ถูกต้อง เช่น การออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่
ร.ท.หญิง สุณิสา กล่าวด้วยว่า ในที่ประชุม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้มอบนโยบายให้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะ ผอ.ศรส.เรื่องการใช้จ่ายงบประมาณของ ศรส.โดยให้ประเมินผลภาพรวมของการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศอย่างสูงสุด
ในส่วนของการนำกำลังพลมาสนับสนุนภารกิจของ ศรส.นายกฯได้มอบให้ ร.ต.อ.เฉลิม ประสานกับกระทรวงต่างๆ อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินจำนวนกำลังพลที่ส่งมาสนับสนุน หากกำลังพลส่วนใดไม่สามารถปฏิบัติงานได้จริงจะมีการส่งกลับหน่วย เพื่อใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าที่สุด ทั้งนี้ นายกฯยังได้ให้ความสำคัญในการประเมินภาพรวมการทำงาน การใช้อำนาจของ ศรส.และการบังคับใช้กฎหมาย หลังจากศาลแพ่งได้มีคำสั่งออกมาทำให้กระทบต่อการใช้อำนาจของ ศรส.นั้น นายกฯ ได้กำชับ ร.ต.อ.เฉลิม ว่าควรที่จะประเมินว่าเมื่อมีคำสั่งของศาลแพ่งในลักษณะเช่นนี้ ศรส.จะมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างไร เพื่อให้ ศรส.ดำเนินงานได้ตามวัตถุประสงค์
นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังได้ให้นโยบายแนวทางแก่รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ในการแก้ปัญหาให้ชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวด้วย โดยนายกฯ มอบหมายให้กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด และแก้ปัญหาให้ชาวนาในลักษณะของภาพรวมแต่ละจังหวัด โดยให้ทุกจังหวัดเชิญชาวนาที่ได้รับผลกระทบมาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการในรายละเอียดของปัญหา เพื่อดึงสภาพปัญหาที่แท้จริงมาพูดคุยกัน ทั้งนี้ นายกฯได้แสดงความเห็นใจต่อกรณีที่ชาวนามีปัญหาฆ่าตัวตาย และนายกฯไม่ต้องการให้ปัญหาลักษณะนี้เกิดขึ้น โดยเห็นว่าปัญหาของชาวนามีทางแก้ไข แต่ขอให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องใช้กลไกที่มีอยู่ในการช่วยแก้ปัญหาให้ชาวนา เนื่องจากบางส่วนชาวนาอาจมีปัญหาหนี้นอกระบบ นายกฯจึงให้ส่วนราชการใช้กลไกที่มีอยู่ทำให้ชาวนาเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ที่รัฐบาลมี เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนา