xs
xsm
sm
md
lg

ประชานิยมผสมทุจริต : พิษร้ายทำลายชาวนา

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในที่สุดโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ภายใต้การนำของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นักวิชาการทั้งในฐานะปัจเจก และที่รวมกันเป็นองค์กรทางวิชาการ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐกิจได้แสดงความคิดเห็นท้วงติง ด้วยความหวั่นวิตกว่าโครงการนี้จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีปัญหา และทำให้ชาวนาเดือดร้อนได้กลายเป็นความจริง เมื่อชาวนาได้นำข้าวเปลือกไปเข้าโครงการรับจำนำข้าวกับโรงสี และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณการเกษตร โดยรับใบประทวนมาถือไว้เป็นหลักฐาน แต่เมื่อนำใบประทวนไปขึ้นเงินปรากฏว่าไม่ได้เงิน ทั้งที่เวลาได้ล่วงเลยมานานหลายเดือนแล้ว นับจากวันที่นำข้าวไปจำนำ และได้มีการทวงถามแล้วหลายครั้ง ทั้งๆ ทุกครั้งที่ไปทวงถามคำตอบเดียวที่ได้รับก็คือ ยังไม่มีเงินมาจ่ายให้ และแถมมีการเลื่อนวันนัดจ่ายเป็นวันโน้นวันนี้ ครั้งแล้วครั้งเล่าจนกระทั่งถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2556 รัฐบาลได้ประกาศยุบสภา ทำให้ความหวังที่จะได้เงินค่าข้าวของชาวนายิ่งริบหรี่ลงไปอีก ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในความเป็นจริง ก่อนยุบสภารัฐบาลก็ไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวเปลือกชาวนา เนื่องจากโครงการนี้ขาดทุน และใช้เงินเกินกว่าวงเงินที่ตั้งไว้ จึงทำให้โครงการรับขาดสภาพคล่อง

ส่วนสาเหตุที่ทำให้โครงการรับจำนำข้าวขาดทุนพอจะอนุมานได้ดังนี้

1.1 โครงการรับจำนำข้าวมิได้ดำเนินการตามนัยแห่งความหมายของธุรกิจรับจำนำ ดังที่คนทั่วไปเข้าใจคือ การรับจำนำสิ่งของมีค่าจากผู้ที่นำมาจำนำ โดยที่ราคาต่ำกว่าราคาซื้อขายในตลาดในขณะนั้น โดยมีการกำหนดระยะเวลาที่จะต้องไถ่คืน และต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่ตกลงกันไว้ แต่จะต้องไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และถ้าไม่มีไถ่คืนเมื่อครบกำหนดเวลา ทางโรงรับจำนำก็จะนำสิ่งของที่รับจำนำไว้ออกขายเพื่อเอาทุนคืน พร้อมด้วยกำไรไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยที่ควรจะได้รับ เพื่อทำให้ธุรกิจอยู่รอด

แต่โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล มิได้เป็นไปตามนัยแห่งชื่อของโครงการ กล่าวคือ มีการรับจำนำในราคาสูงกว่าตลาด และชาวนาก็มิได้มาไถ่คืน จึงมิใช่เป็นการรับจำนำ แต่เป็นการซื้อขายโดยที่ชาวนาเป็นผู้ขาย และรัฐบาลเป็นผู้ซื้อ และที่ไม่ใช้คำว่าซื้อข้าวจากชาวนาก็เพื่อเลี่ยงกฎหมายที่ห้ามมิให้รัฐค้าขายแข่งกับเอกชนนั่นเอง

1.2 เมื่อเป็นการซื้อขาย รัฐบาลก็ควรจะเร่งขายออกไปเพื่อนำเงินมาใช้หมุนเวียนในโครงการ แต่รัฐบาลกลับเก็บข้าวไว้นานเป็นเหตุให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ทั้งจากการแปรรูปจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และการบริหารจัดการซึ่งมีทั้งค่าเช่าโกดัง และดอกเบี้ย ที่สำคัญยิ่งกว่านี้ การเก็บข้าวไว้นานทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพ และจะต้องขายในราคาแพงจึงทำให้ขายได้ยาก

2. หลังยุบสภารัฐบาลอยู่ในฐานะรักษาการมีข้อจำกัดในการบริหารงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการก่อหนี้ ซึ่งมีผลผูกพันถึงรัฐบาลชุดต่อไปไม่สามารถทำได้ เนื่องจากขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3) ทำให้การหาเงินด้วยการก่อหนี้ทำไม่ได้ จึงเหลืออยู่ทางเดียวคือ การนำข้าวที่เก็บไว้ขายออกไป

แต่ทางออกนี้ดูเหมือนจะมีปัญหา และก่อให้เกิดข้อกังขาว่า ทำไมรัฐบาลไม่รีบทำ หรือว่าข้าวในโกดังที่มีอยู่ไม่มากพอที่จะขาย และใช้หนี้ชาวนาหนึ่งแสนกว่าล้านบาทได้ หรือมีมากพอจะขาย แต่ราคาที่จะขายได้ไม่สูงพอจะทำให้ขาดทุนที่ขายอยู่แล้วเพิ่มขึ้นอีก หรือข้อกังขาที่กำลังรอคำตอบคือ ข้าวมีอยู่จริงตามที่บอกไว้หรือไม่ และถ้ามีจะยังคงมีคุณภาพพอที่จะขายได้หรือไม่ และประการสุดท้าย จะขายได้เมื่อไหร่และในระหว่างนี้ชาวนาจะฆ่าตัวตายเพิ่มขึ้นอีกกี่คน

อีกประการหนึ่ง การขายข้าวออกไปในระยะเวลาสั้นๆ และเต็มไปด้วยข้อจำกัดเช่นนี้ รัฐบาลยังจะมีอำนาจต่อรองกับผู้ซื้อมากน้อยแค่ไหน

จากปัจจัย 2 ประการดังกล่าวแล้วข้างต้น จะเห็นได้ว่าทางออกของรัฐบาลในเรื่องการจ่ายเงินให้แก่ชาวนาทำได้ยาก และในขณะเดียวกัน การแก้ตัวโดยการโยนความผิดให้แก่คนอื่นๆ ดังที่เคยทำมาแล้วในหลายๆ กรณีที่ผ่านมาคงทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โยนให้ กปปส.นั้นคงทำได้ในระดับที่จำกัด ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. ความเดือดร้อนของชาวนาอันเกิดจากการที่รัฐบาลไม่จ่ายเงินค่าข้าวเปลือกในโครงการรับจำนำได้เกิดขึ้นก่อนที่ กปปส.จะชุมนุมกัน และที่สำคัญก่อนยุบสภารัฐบาลก็ไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่ชาวนามาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งการยุบสภาก็เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลเอง

2. โครงการรับจำนำข้าว เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ ดังนั้น การเตรียมการเพื่อจะแก้ปัญหาจะต้องมีอยู่ในการวางแผนดำเนินการว่า ถ้ามีการขาดทุนจะหาเงินจากที่ไหนมาจ่าย และใช้เวลามากน้อยเท่าใด

3. นอกจากขาดทุนจากการซื้อแพงขายถูก และโครงการรับจำนำข้าวยังมีการรั่วไหลแทบทุกขั้นตอน ดังที่ปรากฏเป็นข่าวอยู่ในขณะนี้ และที่ยิ่งกว่านี้ได้มีผู้รู้หลายท่านเตือนแล้วบอกแล้ว แต่ทำไมจึงไม่ได้มีการแก้ไขป้องกัน

เมื่อโครงการรับจำนำข้าวขาดทุน และชาวนาเดือดร้อนจะมีทางใดแก้ไขป้องกันปัญหาความเดือดร้อนของชาวนาได้บ้าง

ทางเดียวที่แก้ไขและป้องกันปัญหานี้ก็คือ ผู้ที่มีหน้าที่ความรับผิดชอบในการแก้ปัญหา จะด้วยยอมรับก่อนว่าปัญหาเรื่องราคาพืชผลทางด้านการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เป็นต้น จะมีลักษณะคล้ายคลึงกันใน 2 ประการคือ

1. ต้นทุนการผลิตสูง

2. ราคาขายต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปีที่ผลผลิตล้นตลาด

สำหรับชาวนาปัญหาที่ควรจะได้รับการแก้ไขก่อนอื่นคือ ต้นทุนในการทำนาซึ่งเกิดจากปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้

1. ชาวนาในปัจจุบันมีอยู่ไม่น้อยที่ไม่มีนาเป็นของตนเอง หรือมีอยู่แต่ไม่เพียงพอที่จะปลูกข้าวขายให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ดังนั้น จึงต้องเช่าที่นาจากนายทุน และค่าเช่านาในยุคที่ราคาข้าวแพงจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลก็แพงขึ้นด้วย

2. ชาวนาในปัจจุบันใช้ปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืช และทั้งปุ๋ย และยาราคาแพงขึ้นด้วย

3. ชาวนาในปัจจุบันส่วนใหญ่จะซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าว เนื่องจากชาวนาไม่เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อการเพาะปลูกเช่นในอดีต

4. การทำนาโดยเฉพาะอย่างยิ่ง นาปรังจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากการต้องสูบน้ำเข้านา และในปีใดแล้งจัดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำก็เพิ่มขึ้น เพราะต้องเสียค่าน้ำมันหรือกระแสไฟฟ้าในการสูบน้ำเข้านา

5. ดอกเบี้ยอันเกิดจากการกู้ยืมมาลงทุนซื้อปัจจัยการผลิต รวมไปถึงการจ้างแรงงาน และเครื่องจักรในการไถหว่านปักดำไปจนถึงการเก็บเกี่ยว ล้วนแล้วแต่ต้องจ้างทั้งสิ้น เพราะในยุคนี้แรงงานด้วยขอความร่วมมือจากการลงแขกได้หมดไปจากสังคมไทยแล้ว

ต้นทุน 5 ประการนี้ คือต้นทุนที่ชาวนาในยุคปัจจุบันต้องแบกรับ ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่

ดังนั้น ราคาขายข้าวถ้าจะให้ชาวนามีกำไรในทำนองเดียวกันกับธุรกิจอื่น ก็จะต้องขายในราคาทุนบวกกำไรควรจะได้รับ

แต่ชาวนาไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ ตรงกันข้าม ข้าวเป็นผลผลิตทางด้านเกษตรประเภทเดียวที่สวนทางกับผลผลิตชนิดอื่นคือ เมื่อเป็นข้าวเปลือกต้องถามผู้ซื้อคือโรงสีจะรับซื้อในราคาตันหรือเกวียนละเท่าไหร่ แต่พอโรงสีนำข้าวเปลือกไปแปรรูปเป็นข้าวสารแล้ว และชาวนาไปขอซื้อจะต้องถามว่าจะขายในราคากิโลหรือถังหรือกระสอบละเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่เป็นข้าวของตนเองแท้ๆ

ส่วนประเด็นที่ว่าจะช่วยชาวนาอย่างไรนั้น แบ่งออกเป็น 2 ประเด็นคือ

1. ช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อให้ชาวนาได้เงินค่าข้าวที่ไปจำนำไว้ ที่ทำได้มีอยู่ 2 ทาง คือหนึ่งกดดันให้รัฐบาลหาเงินมาจ่ายจะด้วยการฟ้องร้องหรือใช้มวลชนกดดันก็แล้วแต่ และสองคือไล่รัฐบาลออกไปเพื่อเปิดทางให้รัฐบาลใหม่เข้ามาแก้ไขให้

2. ช่วยแก้ปัญหาระยะยาวหรือแก้ปัญหาให้ถาวรจะต้องจัดการให้ชาวนารวมกลุ่มกันในรูปแบบของสหกรณ์ชาวนา เพื่อลดต้นทุนการผลิต และสร้างอำนาจต่อรองในด้านการขาย

ส่วนรายละเอียดในการดำเนินงานนั้น จะต้องกำหนดขึ้นตามความเหมาะสมของแต่ละปีใน 3 ประเด็นหลักคือ

1. ควบคุมการผลิตมิให้มีปริมาณล้นตลาด โดยยึดการบริโภคภายในประเทศ และความต้องการในตลาดโลกรวมกัน

2. ลดต้นทุนโดยผลิตและควบคุมคุณภาพข้าว โดยการเลือกพันธุ์ข้าวและการใช้ปัจจัยการผลิตเช่นปุ๋ย เป็นต้น ให้เหมาะสม

3. เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวจะต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการขาย โดยยึดประโยชน์ของกลุ่มเป็นหลัก

ทั้งนี้จะต้องไม่ให้บุคคลอื่นที่มิใช่ชาวนาเข้ามาแทรกแซงในกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักการเมืองเป็นผู้ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด มิฉะนั้นแล้วทุกอย่างจะล้มเหลว.
กำลังโหลดความคิดเห็น