นักวิชาการและรักษาการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เชื่อวิกฤตรับจำนำข้าวมีทางออก แนะ 8 วิธี ช่วยชาวนาไม่ต้องตาย เพราะนโยบาย “ทักษิณ คิด-ยิ่งลักษณ์ ทำ” ด้าน ดร.นิพนธ์ จากทีดีอาร์ไอชี้ ให้ชาวนานำใบประทวนไปกู้สถาบันการเงินดีที่สุดเพราะใบประทวนมีค่าเท่ากับตั๋วสัญญาใช้เงิน ขณะที่ ดร.ณรงค์มองว่าปัญหาอยู่ที่เครดิตรัฐบาลที่ต่ำมาก อาจไม่สำเร็จ ธนาคารปล่อยกู้เมื่อไร ประชาชนมีโอกาสแห่ถอนเงินเรียบภายใน 3 วัน พร้อมเสนอทางออกเดียว ต้องแก้การเมืองด้วยการเสียสละ ยอมให้มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่มาแก้ปัญหาเท่านั้น
นโยบายรับจำนำข้าว ที่ “ทักษิณ คิด-ยิ่งลักษณ์ ทำ-แต่ชาวนาตาย”กำลังจะกลายเป็นจุดสำคัญที่ทำให้รักษาการรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และตระกูลชินวัตร ต้องพบจุดจบในเร็ววันนี้ ทั้งที่นโยบายนี้ กลุ่มผู้หลักผู้ใหญ่ของรัฐบาล แม้กระทั่งนักวิชาการสายเศรษฐกิจของพรรคอย่าง ดร.โกร่ง-วีรพงษ์ รามางกูร ก็เคยคัดค้าน, หม่อมอุ๋ย-ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกฯ อดีตรมว.คลัง, ศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศธร อดีตประธานสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ไม่ว่าคณาจารย์จากรั้วนิด้า ธรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ จำนวน 146 คน ที่เรียงหน้ากันมาคัดค้าน
ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึงคณะรัฐมนตรีรัฐบาลยิ่งลักษณ์นอกจากจะไม่เคยฟังแล้ว ยังออกมา “ลับฝีปาก” โต้กลับตลอด
นักวิชาการก็เอือม คนชั้นกลางในเมืองก็เอือม เพราะเงินที่ต้องเสียหายไปกับการจำนำข้าว ทั้งการขาดทุน และการทุจริตรั่วไหลทุกกระบวนการ ก็เป็นเงินภาษีของคนไทยทั้งสิ้น
ส่วนชาวนาเองนั้น ตั้งแต่เปิดโครงการมา แทนที่จะได้รับเงินเต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็ปรากฏว่าถูกบีบจากทั้งโรงสีที่หักค่าความชื้นสารพัด ได้เงินมาก็ไม่เท่ากับราคาที่รัฐบาลจำนำ วนเวียนอยู่อย่างนี้จนสุดท้ายรัฐบาลมาถึงทางตัน เงินที่เอามาผลาญใช้กับโครงการประชานิยมนี้เริ่มร่อยหรอ ขณะเดียวกันกลไกตลาดก็พังยับเยิน จากความลึกลับซับซ้อนของผลประโยชน์ที่อยู่เบื้องหลังโครงการจำนำข้าว ตั้งแต่ระดับโรงสีที่ส่วนหนึ่งเป็นหัวคะแนน บริษัทขายข้าวถุงที่ซื้อข้าวจากรัฐไปในราคาถูกแสนถูก และยังไปถึงบริษัทผู้ส่งออกข้าวที่มีคอนเนกชันแน่นปึ้กกับรัฐบาล
จากที่ได้เงินไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็เลยไม่ได้เงินเลย และ น.พ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ ที่ตามเรื่องนี้มาตลอด ก็โชว์หลักฐานให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ให้เงินจำนำกับชาวนาตั้งแต่ก่อนยุบสภาฯ 9 ธันวาคม 2556
ล่าสุด กลุ่มเกษตรกรชาวนาจึงต้องเดินทางมาปักหลักพักค้างชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาโครงการรับจำนำข้าวอยู่ที่หน้ากระทรวงพาณิชย์เพื่อกดดันรัฐบาล โดยเสนอข้อเรียกร้องกับรัฐบาล 6 ข้อ ได้แก่ 1. ขอให้ปลัดกระทรวงยุติธรรม ทวงถามเงินโครงการจำนำข้าวมาให้กับชาวนาภายใน 7 วัน 2. ขอให้ปลัดกระทรวงยุติธรรมตรวจสอบการทุจริตของโครงการจำนำข้าวอย่างโปร่งใส 3. ขอให้ตรวจสอบโครงการจำนำข้าวว่าเหลืออยู่ในสต๊อกเท่าใด ขาดหายไปหรือไม่ 4. ขอให้ดำเนินการให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีรับผิดชอบค่าเสียหายที่เกิดขึ้น 5. ขอให้ยึดทรัพย์นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวมาชดใช้ให้ชาวนา และ 6. ขอให้กระทรวงยุติธรรมดำเนินคดีให้มีการชดใช้เงินแก่ชาวนาทั้งดอกเบี้ยและเงินต้นที่เสียหายจากการจำนำข้าวแล้วไม่ได้เงิน
อีกทั้งการต่อสู้เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลรักษาการครั้งนี้ ชาวนาเอาจริง และยกระดับการเรียกร้องด้วยการปิดคลังข้าวทั่วประเทศแน่นอน!
วันนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ และนางสาวยิ่งลักษณ์ กำลังจะตกม้าตาย เพราะนโยบายรับจำนำข้าว หากไม่รีบหาทางออก!
8 ทางออกจำนำข้าว
สำหรับข้อมูลที่เปิดเผย ณ เวลานี้ พบว่า โครงการรับจำนำข้าว ในปีฤดูการผลิต 56/57 มีข้าวในสต๊อกอยู่ประมาณ 10-17 ล้านตัน ชาวนามีใบประทวนอยู่ทั้งสิ้น 7 ล้านตัน รวมเงินที่รัฐบาลยังติดชาวนาอยู่สูงถึง 1.3 แสนล้านบาท
ส่วนรัฐบาลจะหาเงินจากแหล่งใดมาชดใช้ให้ชาวนานั้น มีหลายวิธีที่ทางฝ่ายนักวิชาการกำลังเร่งเสนอทางออกช่วยรัฐบาล ประกอบกับวิธีที่รัฐบาลเองก็กำลังดิ้นหาวิธีหาเงินสุดตัว 9ประการ
วิธีที่ 1 รัฐบาลเร่งนำข้าวมาขายในท้องตลาดแบบยอมขาดทุน ขายต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อเอาเงินไปให้ชาวนาก่อน แต่ทว่าปัญหาของรัฐหากจะใช้วิธีนี้คือต้องมั่นใจว่าข้าวในโกดัง หรือโรงสีที่เก็บไว้ มีจำนวนเท่าไรกันแน่ที่แท้จริง เป็นสต๊อกลมหรือไม่
ดร.นิพนธ์ พัวพงศธร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า การรีบเอาข้าวมาขายในท้องตลาดทำได้ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็อาจขายข้าวได้ในระดับไม่กี่หมื่นล้านบาทเท่านั้น
ยังไงก็ไม่พอ
วิธีที่ 2 คือ เอาข้าวไปคืนชาวนา ซึ่งขณะนี้นักวิชาการจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เสนอมาว่า รัฐบาลควรคืนข้าวให้ชาวนา เอาข้าวกลับเข้าไปซื้อขายในท้องตลาด โดยคืนข้าวให้ชาวนาในมูลค่ามากกว่าเดิม 1.5 เท่า
“วิธีนี้เป็นวิธีที่ทำได้ มีสูตรคิดว่าการจะคืนเงินให้ชาวนาจะคิดอย่างไร เช่นชาวนาเอาข้าวเปลือกมาจำนำ แต่โรงสีสีเป็นข้าวสารแล้ว ก็ต้องหาวิธีว่าข้าวสาร 1 ตัน จะแปลงกลับไปให้ชาวนาเท่าไร โดยหลักการแล้วทำได้” ดร.นิพนธ์กล่าว
แต่โดยวิธีการทำจริงแล้ว ดร.นิพนธ์มองว่าจะมีปัญหาในทางปฏิบัติอย่างมาก เนื่องจาก หากชาวนาได้ข้าวคืนเป็นข้าวเปลือกแล้วเอาไปขายโรงสีอีกที จะได้ในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาดได้ ซึ่งเรื่องนี้มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
วิธีที่ 3 ดร.นิพนธ์มองว่า เป็นวิธีที่ดีที่สุด คือ การให้ชาวนาเอาใบประทวนไปกู้เงินกับ ธ.ก.ส.หรือสถาบันการเงิน โดยเกษตรกรก็ไม่ต้องถอดถอน เช่น เอาใบประทวนมาเป็นหลักประกัน แล้วให้เกษตรกรกู้ไป 70% ของวงเงินทั้งหมด พอรัฐบาลมีเงินแล้วก็โอนกลับให้สถาบันการเงินต่างๆ พร้อมดอกเบี้ย
วิธีที่ 4 ดร.นิพนธ์กล่าวว่า จะเป็นวิธีเล็กๆ ที่พอช่วยชาวนาได้ คือประชาชนต้องช่วยกันซื้อข้าวชาวนาคนละ 20 กว่ากิโลกรัมก็ได้ แต่ก็ช่วยได้ในจำนวนไม่มากนัก แต่ถ้าทำหลายวิธีผสมกันก็ช่วยชาวนาได้ระดับหนึ่ง ซึ่งขณะนี้อยากให้ทุกคนคิดว่าให้ช่วยกันและต้องช่วยชาวนาก่อน อย่าไปคิดว่าไม่อยากช่วยรัฐบาล เพราะถ้าจะเอาความผิดรัฐบาลควรเล่นงานไปที่เรื่องทุจริตจะดีกว่า
ใบประทวนมีค่า-ให้ชาวนาเอาไปขาย
“ไม่ง่ายนะ การที่รัฐบาลจะหาทางออกในเวลานี้ในเรื่องจำนำข้าว เพราะว่าบ้านเมืองต้องอยู่ในกฎเกณฑ์ กติกา ทุกวิธีที่มีการเสนอกันมา ทุกวิธีเกือบทำไม่ได้” ดร.ณรงค์ เพชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว
ทางออกที่เห็นว่าพอทำได้มากที่สุดในเวลานี้คือ ให้ชาวนาเอาใบประทวนไปขอกู้เงินกับสถาบันการเงิน หรือเอาไปขายให้ โดยยอมเสียส่วนต่างเช่น ราคาใบประทวนมีราคา 100 บาท ถ้าระยะเวลาที่มองว่าจะได้เงินคืนสั้นๆ ก็ยอมเสียไป 1 บาท ให้กับคนซื้อ หรือถ้าระยะเงินได้คืนยาว ก็ยอมเสีย 2 บาทให้คนอื่นไป
แต่ปัญหาอยู่ที่ว่า ใครจะซื้อ?
“รัฐบาลมีปัญหาเรื่องเครดิตอย่างมาก เพราะถ้ารัฐบาลมีเครดิตพอ ที่ผ่านมาจะมีคนไปรอซื้อใบประทวนแล้ว แสดงว่าไม่มีใครมั่นใจว่ารัฐบาลจะหาเงินมาคืนได้ยังไง”
ทั้งๆ ที่ใบประทวนมีค่าเท่ากับใบสัญญา หรือ ตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งมีมูลค่า
ปัญหาจึงอยู่ที่ความเชื่อมั่นต่อรัฐบาล ที่มีอยู่น้อยมาก
ประกอบกับปัญหาทางการเมือง ที่คนชั้นกลางตอนนี้กำลังต่อต้านอำนาจเผด็จการของรัฐบาล คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มมีพลังในสังคม และมีโอกาสสูงที่จะแห่ไปถอนเงินกับธนาคาร
ตรงนี้ธนาคารต่างๆ กลัวมาก เหตุผลคือ เมื่อธนาคารได้เงินฝากมา 1 ก้อน ธนาคารจะนำเงินไปลงทุนต่อในตลาด หรือเอาไปปล่อยกู้มากถึง 80% เช่น เงินฝาก 100 บาท ธนาคารต่างๆ จะเอาไปปล่อยกู้ 80 บาท อีก 10 บาทต้องส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย ดังนั้นธนาคารจะเหลือเงินเก็บไว้แค่ 10 บาท
ดังนั้น หากชนชั้นกลางในเมืองแห่กันไปถอนเงินภายใน 3 วัน ธนาคารต่างๆ จะไม่มีเงินสดที่จะให้กลับคืนประชาชน และจะเป็นปัญหาใหญ่ของธนาคารต่างๆ ด้วย
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมธนาคารต่างๆ จึงระมัดระวังมากที่จะปล่อยกู้ให้รัฐบาล แม้กระทั่งธนาคารของรัฐ ไม่ว่ารัฐบาลจะใช้วิธีบีบแล้วบีบอีกยังไง ตรงนี้ธนาคารต่างๆ ก็ต้องระมัดระวังตัวอย่างมาก
แก้ปัญหาด้วยการเมือง-ยอมเสียสละตั้งรัฐบาลใหม่
ดังนั้นวิธีที่ 5 คือการแก้ปัญหาทางการเมือง ซึ่งเป็นทางออกเดียวของรัฐบาลในสายตา ดร.ณรงค์ ในเรื่องการแก้วิกฤตจำนำข้าว
ดร.นิพนธ์กล่าวว่า ตอนนี้รัฐบาลจะมาหยิ่งไม่ได้แล้ว จะต้องคิดหาวิธีหาทางออกร่วมกันทางการเมือง โดยต้องยอมให้มีการฟอร์มรัฐบาลใหม่ อย่ายื้ออำนาจไว้ เมื่อมีรัฐบาลใหม่ถึงริเริ่มการกู้ได้
ถ้าไม่ยอม ก็มองไม่เห็นทางออก เพราะตอนนี้ต้องยอมรับว่า แม้จะผ่านการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 57 แต่ก็ไม่มีแนวโน้มที่รัฐบาลจะตั้งได้ หากไม่แก้ปัญหาทางการเมือง เป็นการเสียสละร่วมกัน
วิธีที่ 6 คือ ออกพันธบัตรรัฐบาล ให้หน่วยงานรัฐเข้ามาซื้อลงทุน ได้แก่ กองทุนประกันสังคม, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ฯลฯ วิธีนี้ หน่วยงานของรัฐต่างๆ ก็มีความเสี่ยงกับการไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากสมาชิกของกองทุนด้วยเช่นกัน
วิธีที่ 7 รัฐบาลมีความพยายามที่จะเอาเงินลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 2.2 ล้านล้านมาชดเชยให้ชาวนา โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงการกู้ยืมเงินโดยการปรับลดวงเงินกู้และค้ำประกันหนี้ของรัฐวิสาหกิจบางแห่งลง และนำเงินกู้มาเพิ่มให้ ธ.ก.ส.เพื่อใช้จ่ายเงินในโครงการจำนำข้าว แต่วิธีนี้กลับถูกเตือนจาก คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ชี้ว่าเรื่องนี้อาจมีผลกระทบต่อความรับผิดชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากมีการวินิจฉัยชี้ขาดโดยองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ต่อไปว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดบทบัญญัติรัฐธรรมนูญอันอาจมีผลทำให้เกิดความรับผิดชอบในทางกฎหมายและในทางการเมืองตามมาได้
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทำให้ข้าราชการที่ต้องปฏิบัติการให้กับรัฐบาลก็ตื่นกลัวว่าจะมีความผิดไปด้วย
ประเด็นนี้ ดร.ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์เฟซบุ๊ก แนะนำข้าราชการประจำกระทรวงการคลังป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้มีความผิด จากกรณีการกู้เงินของรัฐบาลรักษาการ เพื่อนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว โดยระบุว่า การทำบันทึกทักท้วงการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท ของ น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เพื่อเสนอต่อ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทบทวนก่อนเซ็นอนุมัติเปิดประมูลพันธบัตร ที่ออกโดย สบน. เป็นมาตรการคุ้มครองข้าราชการประจำไม่ให้มีความผิด หากการกู้เงินของคลังขัดต่อกฎหมาย
นอกจากนี้ยังเสนอให้ข้าราชการประจำของกระทรวงการคลังที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท เตรียมตอบคำถามใน 5 ประเด็น ที่อาจถูกตรวจสอบ หากพบว่าการกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท ขัดต่อกฎหมาย ตามมาตรา 181 (4) ซึ่งประกอบด้วย
1. เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 57 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เบิกความต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีร่างกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท โดยร่วมกันยืนยันว่า โครงการตามกฎหมายดังกล่าว ล้วนเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง และการกู้ยืมตามกฎหมายดังกล่าวเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เหตุใดเมื่อเกิดปัญหาการจ่ายเงินจำนำข้าวให้ชาวนา จึงกลับเปลี่ยนโยกวงเงินจากโครงการเหล่านี้ ไปใช้ในโครงการจำนำข้าวแทน ในช่วงที่มีการเลือกตั้ง
2. นายกิตติรัตน์ เสนอร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นเอง ในขณะที่ศาลรัฐธรรมนูญยังพิจารณาร่างกฎหมายไม่แล้วเสร็จ แทนที่จะรอผลการพิจารณาเสียก่อน แสดงให้เห็นว่า นายกิตติรัตน์ไม่เห็นความสำคัญของร่างกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทแล้ว
3. การโยกเงินลงทุนจากโครงการคมนาคม ในลักษณะซึ่งคล้ายเป็นงบลงทุน ที่เป็นการสร้างทรัพย์สินวัตถุถาวรให้แก่ประเทศ และจะมีผลประโยชน์ยืนยาวไปหลายชั่วคน เปลี่ยนไปใช้เป็นงบลงทุนในโครงการที่มีผลขาดทุน ลักษณะคล้ายกับการใช้งบประจำ เป็นการโยกข้ามประเภทที่ไม่เกิดขึ้นในกรณีปกติ แต่เหตุใดจึงมีการรีบเร่งดำเนินการในช่วงที่มีการเลือกตั้ง
4. มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ปี 2554 กำหนดวงเงิน 5 แสนล้าน สำหรับโครงการรับจำนำข้าว โดยเป็นวงเงินหมุนเวียน มีวัตถุประสงค์เพื่อบังคับให้มีการเร่งขายข้าว ป้องกันการเสื่อมสภาพ และช่วยป้องกันการทุจริตแบบขายผ่านคอขวด แต่การกู้ยืม 1.3 แสนล้านบาท โดยไม่เน้นให้มีการขายข้าวก่อน เป็นการดำเนินการที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เดิม เหตุใดจึงเปลี่ยนวัตถุประสงค์ และเหตุใดจึงมีการรีบเร่งดำเนินการในช่วงที่มีการเลือกตั้ง
5. การเสนอให้ ครม.อนุมัติค้ำประกันเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ในปี 2554 ทำอย่างเปิดเผย ตรงไปตรงมา โดยกระทรวงการคลังเสนอเรื่องเข้า ครม. แต่เหตุใดการขอกู้เงิน 1.3 แสนล้านบาท ในครั้งนี้ จึงเปลี่ยนแปลงวิธีการไปใช้ช่องทางผ่านคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะ (คณะกรรมการ สบน.) ซึ่งเป็นแนวทางที่ไม่เปิดเผย และมีการรีบเร่งดำเนินการในช่วงที่มีการเลือกตั้ง
ทั้งนี้ หากข้าราชการประจำกระทรวงการคลังหาคำตอบตามสมมติฐาน 5 ข้อ ที่ตั้งไว้ข้างต้นไม่ได้ หรือไม่ครบ ควรพิจารณาทำบันทึกอีกฉบับหนึ่ง เพื่อแจ้งให้กับรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ ว่ามีประเด็นเพิ่มเติมที่แตกต่างไปจากเดิม หากมีการฟ้องร้อง อาจเข้าข่ายมีความตั้งใจฝ่าฝืน มาตรา 181 (4) ได้ และควรเสนอให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ทบทวนหรือใช้อำนาจสั่งการยืนยันอีกครั้ง ในเรื่องของมาตรา 181 (4) ซึ่งจะสามารถคุ้มครองข้าราชการประจำของกระทรวงการคลังให้พ้นความผิดได้ หรือหากเน้นแนะนำให้ใช้วิธีเร่งขายข้าว ก็จะปลอดภัยแก่ข้าราชการ และยังจะปลอดภัยต่อรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังด้วย
เป็นเรื่องที่บ่งบอกได้อย่างดีว่า รัฐบาลจะทำอะไรง่ายๆ หรือจะใช้อำนาจบีบข้าราชการให้ทำอย่างที่ตัวเองต้องการโดยไม่คิดถึงความถูกผิดไม่ได้
ข้าราชการต้องมีกลไกในการป้องกันตนเอง หาไม่แล้ว ก็จะซ้ำรอยคดีหวยบนดิน ที่นักการเมืองรอด แต่ข้าราชการต้องรับผิดแทน
เอาใบประทวนไปกู้โรงสี
สำหรับวิธีที่ 8 คือวิธีที่จะให้ชาวนาเอาใบประทวนไปกู้กับโรงสี โดยให้โรงสีจ่ายเงินให้ชาวนา 50% ก่อน แล้วรัฐบาลจะใช้งบกลางจำนวน 1,200 ล้านบาท มาคืนให้ พร้อมชดเชยดอกเบี้ยไม่เกิน 9% เรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่รัฐบาลได้สอบถามไปที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วยแต่ยังไม่ได้ข้อสรุป
ว่าไปแล้ว ทางออกที่ดีที่สุดของรัฐบาลเวลานี้ แท้จริงแล้วคงเหลือทางเดียวเท่านั้น คือเปิดโอกาสให้คนเก่งๆ เข้ามาเป็นรัฐบาล แล้วหาทางออกให้ประเทศชาติ
ส่วนรวมต้องมาก่อนส่วนตัว
เพราะเรื่องของจำนำข้าวเป็นเรื่องใหญ่ กระทบต่อชีวิตของคนจำนวนมาก ทู่ซี้ไปไม่มีประโยชน์ ประเทศชาติมีแต่ความเสียหายหนักขึ้น!