xs
xsm
sm
md
lg

แนะ"ปู"ลาออกตั้งรัฐบาลใหม่ เลี่ยงข้อจำกัดกู้เงินจ่ายชาวนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 11 ก.พ.) ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการเงินการคลังการธนาคารและสถาบันการเงิน วุฒิสภา ได้จัดเสวนา “ช่วยชาวนาอย่างไร โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และรักษาวินัยการเงิน การคลัง” โดยนายอัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ในเมื่อวันนี้รัฐบาลเป็นหนี้ชาวนา จึงเป็นภาระผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดต่อไป การดำเนินการในฐานะรัฐบาลรักษาการ สุ่มเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(3) แต่น่าจะจ่ายได้เฉพาะกรณีใบประทวนที่ออกก่อนยุบสภา วันที่ 9 ธ.ค. 56 หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา คิดว่าอาจมีการอนุโลมได้ ถ้ารัฐบาลยอมรับความพ่ายแพ้ว่า อั๊วไปกู้เงินมาเยอะแล้ว ไม่มีเงินจ่าย สามารถรีไฟแนนซ์ได้เฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนยุบสภา แต่หนี้ที่เกิดหลังการยุบสภา ก็ต้องไปหาทางออกอย่างอื่น ซึ่งตนก็ยังไม่ทราบ การที่รัฐบาลไม่มีสภาพคล่องต้องกลายเป็นหนี้ชาวนาถึง 1.3 แสนล้านบาท เป็นความอับอายขายหน้า แสดงให้เห็นว่า วินัยการเงินการคลังพังไปแล้ว
นายอัมมาร์ กล่าวว่า การกู้เงินเป็นแสนล้านบาท ต้องผ่านรัฐสภา ต้องให้รัฐสภามีส่วนรับรู้ และอนุมัติก่อน อย่างน้อยต้องตึ๊งไว้กับรัฐสภา เป็นการสัญญาว่า จะทะลุกรอบที่เสนอไม่ได้ นอกจากนี้การไม่นำใบประทวนไปทำบัญชี จึงไม่มีทางรู้ว่าเงินหมด ถือว่ารัฐบาลจงใจไม่ให้เกิดข้อมูลเพื่อความโปร่งใส ทั้งเรื่องราคา และอันดับการขาย หากไม่ยุบสภาก็คงขยายเพดานกู้ไปเรื่อย ไม่จำกัด
ดังนั้นช่วงการปฏิรูป จึงอยากให้แก้ไขช่องโหว่นี้ที่ทำลายวินัยการเงินการคลังอย่างรุนแรง แม้ประชานิยมจะทำได้ แต่ต้องไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ด้วยการบอกว่าจะแจก ต้องพร้อมบอกถึงต้นทุน
ส่วนการที่ป.ป.ช.ใช้เวลาตรวจสอบเรื่องนี้นาน ถือว่ามีจริยธรรม ถ้าจะเล่นงานคดีอาญาก็ต้องจับให้มั่น คั้นให้ตาย ซึ่งหัวใจการคอร์รัปชันจำนำข้าวคือ ช่วงขายข้าว รัฐบาลอ้างแต่การขายข้าวจีทูจี แล้วสงสัยหรือไม่ว่า ข้าวที่เรากินวันนี้มาจากไหน สาวไปสาวมา มันก็เล็ดลอดจากการคอร์รัปชัน จีทูจีกับจีน จึงเป็นเรื่องโกหก ต้องมีผู้รับผิดชอบที่นอกจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก็คือ กลุ่มการเมืองและระบบราชการ เมื่อทำผิดก็ต้องรับผิด ทำถูกจึงจะรับชอบ

**"ปู"ลาออก-ตั้งรัฐบาลใหม่ จะกู้ได้เร็ว

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีต รมว.คลัง กล่าวว่า มีทางออกในการแก้ปัญหานี้ 3 ทาง คือ การเงิน การตลาด และการเมือง การแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการเงินทำได้ยาก แม้จะอ้างว่ากฤษฎีกาตีความว่า ให้กู้เงินมาจ่ายหนี้ชาวนาได้ แต่ก็เป็นหนี้ที่ผูกพันไปถึงรัฐบาลต่อไป และยังเป็นการลิดรอนสิทธิของรัฐบาลใหม่ หากจะโยกวงเงินในกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท เพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จากกระทรวงคมนาคม มาแก้ปัญหานี้ และการกู้เงินยังมีความเสี่ยง เพราะธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ให้กู้ อาจตกเป็นผู้สนับสนุนการทำผิด ซึ่งรัฐบาลใหม่อาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้
ดังนั้นรัฐบาลต้องลงนามพร้อมยอมรับความเสี่ยงทุกอย่างแทนข้าราชการที่รับผิดชอบ แต่ก็ยังยาก ดังนั้นแนวทางปลอดภัยที่สุด คือ การขายข้าว แต่ไม่ใช่แบบจีทูจี ต้องเปิดประมูลล็อตใหญ่ 2 ล้านตัน ต่อเดือน ถ้าทำแบบนี้เชื่อว่าภายใน 6-8 เดือน จะมีเงินไปปลดหนี้ชาวนาได้ แต่อาจมีปัญหาเรื่องสต็อก ว่ามีอยู่จริงหรือไม่
นายธีระชัย กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอจะคืนข้าวชาวนา ปริมาณ 1.5 เท่า ที่รับจำนำเพื่อชดเชยให้ชาวนา ยังติดปัญหาว่าจะใช้ระเบียบใดมาปฏิบัติ หรือการขอให้โรงสีช่วยจ่าย 50% ในวงเงินใบประทวน แต่มีปัญหาว่า รัฐบาลจะเอาระเบียบการคลังใดมาเป็นแนวปฏิบัติ หรือจะใช้เทคนิคออกเป็นตราสารหนี้ จะเอาสต็อกข้าวจากไหนมาเป็นหลักประกัน จะมีใครกล้าจะรับประกันว่า สต็อกข้าวมีอยู่ครบ
ส่วนทางออกในแง่การเมือง คือ รัฐบาลต้องหาทางผลักดันให้การเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 2 ก.พ. จบโดยเร็ว แต่คงยาก เพราะต้องคุยกับ กปปส. ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลานาน ดังนั้นวิธีการเร็วที่สุด คือ รัฐบาลรักษาการลาออก เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะไม่ติดข้อจำกัดในการกู้เงิน

**ขายข้าวยาก สต๊อกตลาดโลกล้น

นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่กล้าขายข้าวแบบจีทูจีแล้ว เพราะสต๊อกตลาดโลกล้นเกิน 100 ล้านตัน ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศจะขายในตลาดโลก ตนจะรอดูว่าจะขายได้เท่าไร เพราะรู้มาว่าร่างทีโออาร์กำหนดให้จ่ายเงินภายใน 180 วัน จึงเป็นปัญหาว่า ระหว่างนั้นชาวนาจะเอาเงินมาจากไหน ได้คุยกับเจ้าของโรงสี เขาก็อยากรับซื้อ แต่เงื่อนไขในทีโออาร์ บีบให้เขาต้องจ่ายเงินภายใน 30 วัน อาจเร็วไป เพราะโรงสีต้องนำข้าวเปลือกไปสีก่อนส่งขายยี่ปั๊ว
ส่วนวิธีที่จะให้นำใบประทวนไปจำนำกับโรงสี ในวงเงิน 50% ยังเถียงกันว่า จะให้ในราคาตลาดที่ 8,000 บาท หรือราคารับจำนำที่ 15,000 บาท และทางโรงสีเขากังวลว่า อาจซ้ำรอยกรณีโรงสีสิริภิญโญ ที่ซื้อข้าวเหนียวในราคาทุนรัฐบาล แต่ ครม.ไม่สามารถออกเป็นมติครม.ได้ ทำให้ถูกฟ้องร้อง 120 ล้านบาท หรือถึงทำได้ ก็อาจเกิดปัญหาสภาพคล่องอีก
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า เชื่อว่าข้าวที่นำมาจำนำ 80-90% ถูกสีเป็นข้าวสารแล้ว แต่สามารถคืนในรูปแบบข้าวสารได้ แต่มีปัญหาเรื่องคุณภาพข้าวอีก แถมเซอร์ไวเยอร์ ยังมีส่วนรู้เห็นอีก ดังนั้นผู้ที่รู้ว่าข้าวคุณภาพมาจากโรงสีใด จึงมีแต่พรรคพวกใกล้ชิดนักการเมืองเท่านั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ ตามข้อเสนอของนายอัมมาร์ ว่าใบประทวนที่ออกก่อนวันที่ 9 ธ.ค.56 ให้เปลี่ยนจากการจำนำ 15,000 บาท เป็นการชดเชยจากต้นทุนการผลิตที่ตันละ 2,100 บาท ซึ่งตนคิดว่า ไม่ขัดกฎหมาย ไม่ขัดวินัยการเงินการคลัง และกำหนดช่วยชาวนาเฉพาะรอบก่อนการประกาศยุบสภา

** ต่อไปนี้ประชานิยมต้องผ่านรัฐสภา

นางอัจนา ไวความดี อดีตรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการเงินฯ กล่าวว่า ปัญหาตอนนี้คือรัฐบาลขาดสภาพคล่อง และยากที่จะขายข้าวได้ในเวลาอันสั้น การนำใบประทวนไปจำนำ อาจช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ได้ไม่มาก ส่วนวิธีการคืนข้าวให้ชาวนาปริมาณ 1.5 เท่าที่รับจำนำ ไม่แน่ใจอาจเป็นการสร้างภาระให้รัฐบาลใหม่ หรือตามกฎหมายจะทำได้หรือไม่ แต่อาจมีวิธีแก้ไขในระยะยาว คือ นโยบายประชานิยมทุกรูปแบบ ต้องทำให้ออกมาในรูปแบบของกฎหมาย ผ่านรัฐสภา แม้รัฐสภาจะยกมือผ่านให้รัฐบาล แต่ยังดีกว่าให้ฝ่ายบริหารอนุมัติวงเงินจำนวนมากที่อาจเกิดการขาดทุนได้
นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า มีทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ คือ ต้องไม่ใช่รัฐบาลชุดปัจจุบัน หากมีรัฐบาลคนกลางมาบริหารแทน จะไม่มีข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เหมือนรัฐบาลรักษาการนี้ เข้ามาเมื่อไร ก็ออกมติช่วยเหลือชาวนาได้ทันที และสังคมยอมรับ และต้องหยุดระบบจำนำข้าว จากนั้นขายข้าวให้หมด เพื่อเอาเงินมาใช้หนี้ โดยช่องทางที่รัฐบาลรักษาการจะพ้นไปมี 2 ช่องทาง คือ 1. ลาออก 2. พ้นไปโดยกฎหมาย คือ องค์กรอิสระที่ตรวจ สอบอยู่ถ้ารอ ป.ป.ช. พิจารณาเรื่องจำนำข้าวอาจใช้เวลานาน และถึงชี้มูลความผิดไปแล้วก็แค่หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่มันมีเรื่องร้องทุจริตเลือกตั้งของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีอยู่ที่ กกต. ถ้ากกต. จะกระชับเวลาการตรวจสอบให้เร็วขึ้น แล้วให้ใบแดง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งรวมไปถึงครม.ทั้งคณะด้วย เพื่อเปิดทางรัฐบาลคนกลางเข้าสู่กลไกได้ อาจมีการเยียวยาจ่ายเงินชดเชยให้ชาวนา ส่วนระยะยาวต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์การมอง ไม่ใช่ผลิตข้าวให้มากขึ้น แต่ต้องควบคุมปริมาณการผลิต เพื่อช่วยเหลือชาวนารายเล็กที่ยากจน ไม่ใช่ช่วยนักธุรกิจชาวนา
นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้เดินหน้ามองแต่ฟ้า ไม่มองที่เท้าจนตกหลุมตกท่อ แล้วก็โทษคนโน้นคนนี้ ไม่ใช่ว่าเราไม่ทักท้วงโครงการนี้ เราทักท้วงแล้ว แต่รัฐบาลยืนยันมั่นใจว่าทำได้ ที่เรามาชุมนุมยืนยันว่า ไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง และกลุ่มชาวนาที่มาชุมนุมวันนี้ต้องการให้ยกเลิกโครงการไปเลย วันใดที่มีการปฏิรูป ตนจะนำแผนปฏิรูปชาวนาที่ยกร่างไว้หมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ด้านชลประทาน การคัดคุณภาพข้าว การตลาด โรงสี ทุกด้านที่เป็นประโยชน์ของชาวนาเราคิดไว้หมดแล้ว ต่างจากรัฐบาลที่ไม่มีอะไรเลย ล่าสุดได้รับแจ้งว่าเริ่มมีการทยอยขนข้าวออกจากโรงสีทั้งวันทั้งคืน อย่างที่โรงสี จ.สระบุรี แห่งหนึ่งมีข้าวอยู่ 10ล้านกระสอบ ขนกันตลอดวัน พอถามไปก็บอกว่าเป็นโครงการจีทูจี ถามไปยังรัฐบาลก็ตอบไม่ได้ ดังนั้นใน 1-2 วันนี้ ตนจะพาพี่น้องชาวนาไปเปิดโกดังเพื่อตรวจสอบดูว่ามีข้าวในสต็อกเท่าไหร่ คุณภาพเป็นอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น