ASTVผู้จัดการออนไลน์ - วงเสวนาช่วยชาวนา ไม่ขัด รธน.“นักวิชาการ” ตอกย้ำ “โครงการจำนำข้าว” ทำให้วินัยทางการคลังล้มเหลว รัฐไม่มีเงินจ่ายชาวนา “อัมมาร์” จวกน่าอับอาย รัฐเป็นหนี้ชาวนา 1.3 แสนล้าน เสนอเร่งแก้ไขช่องโหว่ทำลายวินัยการคลัง “อัจนา” ซัด เป็นโครงการที่ขาดสภาพคล่อง เกิดช่องทางทุจริต ขาดวินัยการคลังที่เสียลงนับตั้งแต่วันแรกที่มีการจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาด ยิ่งฝืนต่อก่อให้เกิดความเสียหาย ความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น นายกสมาคมโรงสีข้าวเชื่อรัฐไม่กล้าขายแบบจีทูจี ส่วนนักวิชาการ‘คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า’ ผ่าทางตันวิกฤตจำนำข้าว แนะรัฐบาลคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่าของที่จำนำ
วิกฤตของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กำลังจะเสื่อมศรัทธาอย่างต่อเนื่อง หลังคนใกล้ชิดรัฐบาลหลายคน ออกมากล่าวหาชาวนาตัวจริงที่ออกมาเรียกร้องเงินที่พวกเขาสมควรจะได้ จากโครงการรับจำนำข้าว ตันละ 15,000 บาท ที่กำลังจะล่มสลาย ว่า พวกเขาเป็นชาวนาปลอม และเพื่อหวังผลทางการเมืองเท่านั้น
วันนี้ (11 ก.พ.57) คณะกรรมาธิการการเงิน การคลังฯ วุฒิสภา ได้มีการเวทีเสวนาขึ้น ณ ห้องรับรอง 1-2 อาคาร 2 อาคารุฒิสภา ในเรื่อง “ช่วยชาวนาอย่างไร โดยไม่ขัดรัฐธรรมนูญและรักษาวินัยการเงินการคลัง” มี นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา เป็นผู้ดำเนินรายงาน ซึ่งถือเป็นเวทีหนึ่งที่นักวิชาการออกมาเสนอแนะกับรัฐบาล
การเสวนา ได้เชิญวิทยากรที่มีประสบการณ์ด้านนโยบายประชานิยม “โครงการรับจำนำข้าว” มาให้ข้อมูลโดยหวังว่ารัฐบาลจะตาสว่างบ้าง มีวิทยากรแสดงมาให้ข้อเสนอแนะ เช่น ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ, นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, ดร.อัจนา ไวความดี อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย, นายประสิทธิ์ บุญเฉย นายกสมาคมชาวนาไทย, นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา
เริ่มจาก นายอัมมาร ที่กล่าวว่า เมื่อวันนี้รัฐบาลเป็นหนี้ชาวนาจึงเป็นภาระผูกพันไปถึงรัฐบาลชุดต่อไป การดำเนินการในฐานะรัฐบาลรักษาการ สุ่มเสี่ยงที่จะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 181(3) แต่น่าจะจ่ายได้เฉพาะกรณีใบประทวนที่ออกก่อนยุบสภา วันที่ 9 ธ.ค.2556 หากมีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา คิดว่าอาจมีการอนุโลมได้ ถ้ารัฐบาลยอมรับความแพ้ว่าอั๊วไปกู้เงินมาเยอะแล้ว ไม่มีเงินจ่าย สามารถรีไฟแนนซ์ได้เฉพาะหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนยุบสภา แต่หนี้ที่เกิดหลังการยุบสภาก็ต้องไปหาทางออกอย่างอื่น ซึ่งตนก็ยังไม่ทราบ
ปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทำให้เกิดปัญหาใหญ่ 2 ส่วน รัฐบาลเป็นหนี้ชาวนามูลค่า 1.3 แสนล้านบาท และ โครงการดังกล่าวทำให้วินัยทางการคลังล้มเหลว ขณะนี้รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายชาวนา “เป็นเรื่องน่าอับอายขายหน้าต่อคนไทยด้วยกันเอง” แสดงให้เห็นว่าวินัยการเงินการคลังพังไปแล้ว
โดยโครงการดังกล่าวมีการทุจริตคอร์รัปชันตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเป็นช่องโหว่ขนาดใหญ่ที่มวลมหาประชาชนสามารถทะลุได้ มีการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร การกู้เงินเป็นแสนล้านบาท ต้องผ่านรัฐสภา ต้องให้รัฐสภามีส่วนรับรู้และอนุมัติก่อน อย่างน้อยต้องตึ๊งไว้กับรัฐสภาเป็นการสัญญาว่าจะทะลุกรอบที่เสนอไม่ได้ นอกจากนี้การไม่นำใบประทวนไปทำบัญชี จึงไม่มีทางรู้ว่าเงินหมด ถือว่ารัฐบาลจงใจไม่ให้เกิดข้อมูลเพื่อความโปร่งใส ทั้งเรื่องราคา และอันดับการขาย ซึ่งตัวเลขต่างๆ อยู่ในถ้ำที่มืดมิด ต้องเอาไฟฉายส่อง หากจะเอาไฟฉายติดตัวเข้าไปในถ้ำก็ต้องได้รับการอนุมัติจากเจ้าใหญ่นายโตก่อน หากไม่ยุบสภาก็คงขยายเพดานกู้ไปเรื่อยไม่จำกัด
ดังนั้น การใช้จ่ายของโครงการรับจำนำข้าวจึงไม่สามารถรับรู้ตัวเลขการใช้จ่ายว่า ใช้จ่ายเงินไปเท่าไหร่แล้ว จึงต้องแก้ไขช่องโหว่ ที่ทำลายวินัยการเงินการคลังอย่างรุนแรง และขอประณามว่า นโยบายประชานิยม ไม่ใช่ไม่ดีทั้งหมด แต่ต้องทำให้เป็นประชานิยมที่ต้องมีการคิด พร้อมชั่งน้ำหนักผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้น การใช้ประชานิยมแบบง่ายๆ ทำไม่ได้ เพราะทำไปแล้วอาจทำให้เกิดปัญหาในระยะยาวได้ ทั้งนี้ต้องหาวิธีการแก้ไขในระยะยาว โดยต้องแก้ไขการกู้เงินนอกงบประมาณ ที่เกินขอบข่าย พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี ซึ่งทำให้เกิดช่องโหว่กับระบอบวินัยทางการคลัง
ทางแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า จ่ายหนี้ชาวนา รัฐบาลต้องเร่งขายข้าวที่เข้าโครงการ ก่อนยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.56 ไม่ขัด รธน.181 เพราะเป็นโครงการต่อเนื่องอนุมัติไว้ก่อน แต่ในระยะยาวต้องปฏิรูปวินัยการเงินการคลัง นำกระบวนการใช้เงินนอกงบประมาณมาผ่านกระบวนการพิจารณาอนุมัติผ่านกระบวนการสภา แม้ประชานิยมจะทำได้แต่ต้องไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ด้วยการบอกว่าจะแจก ต้องพร้อมบอกถึงต้นทุน การที่ ป.ป.ช.ใช้เวลาตรวจสอบเรื่องนี้นาน ถือว่ามีจริยธรรมถ้าจะเล่นงานคดีอาญา ก็ต้องจับให้มั่นคั้นให้ตาย ซึ่งหัวใจการคอร์รัปชันจำนำข้าวคือช่วงขายข้าว รัฐบาลอ้างแต่การขายข้าวจีทูจี แล้วสงสัยหรือไม่ว่าข้าวที่เรากินวันนี้มาจากไหน สาวไปสาวมามันก็เล็ดลอดจากการคอร์รัปชน จีทูจีกับจีนจึงเป็นเรื่อง โกหก ต้องมีผู้รับผิดชอบที่นอกจากคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ก็คือกลุ่มการเมืองและระบบราชการ เมื่อทำผิดก็ต้องรับผิด ทำถูกจึงจะรับชอบ
ส่วน นายธีระชัย กล่าวว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการที่ใช้เงินมากที่สุด และ เกี่ยวข้องโดยตรงกับคนจำนวนมากที่สุด มีผลต่อเศรษฐกิจ ทั้งทางบวกและลบ ทางบวก คือ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ผลักเม็ดเงินลงไปสู่ประชาชน ช่วงปีแรกของโครงการทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเติบโต ส่วนทางลบ คือ โครงการรับจำนำข้าว ใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวที่ฉุดเศรษฐกิจให้ตกต่ำ และ เป็นโครงการที่สร้างความเดือดร้อนแสนสาหัสให้กับชาวนา การจะเข้าไปช่วยเหลือชาวนาต้องไม่สร้างปัญหากับชาวนา เพียงเพราะต้องการประชานิยม
โดยในปี 2554 กระทรวงการคลัง เสนอ ครม.ให้กำหนดวงเงินจำนำข้าว 5 แสนล้านบาท เป็นวงเงินหมุนเวียนเพื่อกระตุ้นให้ กระทรวงพาณิชย์เร่งขายข้าวป้องกันข้าวเสื่อมคุณภาพ แต่ที่ผ่านมา 2 ปี กระทรวงพาณิชย์ขายข้าวได้คิดเป็นมูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งทำให้ไม่มีเงินหมุนเวียนใช้ในโครงการรับจำนำข้าว จึงทำให้มีชาวนาที่ไม่ได้รับเงินกว่า 1 ล้านราย ทั้งนี้ กระทรวงการคลัง ได้รับทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจึงได้ทำหนังสือถึง ครม. เสนอวงเงินใหม่ 2.7 แสนล้านบาท และบางส่วนจะใช้จากการขายข้าว บางส่วนจะใช้จากเงินกู้ใหม่ หลังจากรัฐบาลประกาศยุบสภา 9 ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังยังไม่ได้เสนอ ครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 2.7 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้พยายามหาเงินเพื่อจะจ่ายเงินให้กับชาวนา โดยกระทรวงการคลังได้ประกาศการกู้เงินสัปดาห์ละ 2 หมื่นล้านบาท โดยเรียกให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆเข้ายื่นประมูล แต่ธนาคารพาณิชย์ไม่มีความมั่นใจว่ารัฐบาลมีอำนาจในการกู้เงินดังกล่าวหรือไม่ทำให้การประมูลล้มเหลว
อดีต รมว.คลัง ระบุว่า มีทางออกในการแก้ปัญหานี้ 3 ทาง คือ การเงิน การตลาด และการเมือง การแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการเงินทำได้ยาก แม้จะอ้างว่ากฤษฎีกาตีความว่าให้กู้เงินมาจ่ายหนี้ชาวนาได้ แต่ก็เป็นหนี้ที่ผูกพันไปถึงรัฐบาลต่อไป และยังเป็นการลิดรอนสิทธิของรัฐบาลใหม่ หากจะโยกวงเงินในกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านบาทเพื่อวางโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ จากกระทรวงคมนาคมมาแก้ปัญหานี้ และการกู้เงินยังมีความเสี่ยง เพราะธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ให้กู้ อาจตกเป็นผู้สนับสนุนการทำผิด ซึ่งรัฐบาลใหม่อาจฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ ดังนั้นรัฐบาลต้องลงนามพร้อมยอมรับความเสี่ยงทุกอย่างแทนข้าราชการที่รับผิดชอบ แต่ก็ยังยาก
การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า คือ รัฐบาลต้องระบายข้าวเดือนละ 2 ล้านตัน และไม่ใช่การขายข้าวแบบจีทูจี ปลอมๆ หรือขายข้าวแบบหน่อมแน้ม ครั้งละหมื่นตัน หรือ แสนตัน การขายข้าวแบบล็อตใหญ่ จะต้องมีการสำรวจแบบระเอียดหากข้าวเสื่อมคุณภาพก็ต้องยอมรับความจริง หากข้าวหายไปก็ต้องดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการขายข้าวแบบล็อตใหญ่จะทำให้ลดค่าดำเนินการลง ถ้าทำแบบนี้เชื่อว่าภายใน 6-8 เดือน จะมีเงินไปปลดหนี้ชาวนาได้ แต่อาจมีปัญหาเรื่องสต็อกว่ามีอยู่จริงหรือไม่
ส่วนข้อเสนอจะคืนข้าวชาวนาปริมาณ 1.5 เท่าที่รับจำนำเพื่อชดเชยให้ชาวนา ยังติดปัญหาว่าจะใช้ระเบียบใดมาปฏิบัติ หรือการขอให้โรงสีช่วยจ่าย 50% ในวงเงินใบประทวน แต่มีปัญหาว่ารัฐบาลจะเอาระเบียบการคลังใดมาเป็นแนวปฏิบัติ หรือจะใช้เทคนิคออกเป็นตราสารหนี้ จะเอาสต๊อกข้าวจากไหนมาเป็นหลักประกัน จะมีใครกล้าจะรับประกันว่าสต็อกข้าวมีอยู่ครบ ส่วนทางออกในแง่การเมือง คือ รัฐบาลต้องหาทางผลักดันให้การเลือกตั้งทั่วไป วันที่ 2 ก.พ.จบโดยเร็ว แต่คงยากเพราะต้องคุยกับ กปปส.ซึ่งวิธีนี้ใช้เวลานาน ดังนั้นวิธีการเร็วที่สุด คือ รัฐบาลรักษาการลาออก เพื่อให้มีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะไม่ติดข้อจำกัดในการกู้เงิน
ส่วน “นางอัจนา ไวความดี” ให้ความเห็นว่า การรับจำข้าวที่สูงกว่าราคาตลาด ถือเป็นทฤษฎีที่ผิด ซึ่งวันนี้เราได้เห็นถึงปัญหาของโครงการที่ขาดสภาพคล่อง เกิดช่องทางทุจริต และขาดวินัยการคลังที่เสียลงนับตั้งแต่วันแรกที่มีการจำนำข้าวในราคาที่สูงกว่าตลาด และเมื่อยิ่งฝืนต่อก่อให้เกิดความเสียหาย ความเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น
การนำใบประทวนไปจำนำอาจช่วยแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง แต่ได้ไม่มาก ส่วนวิธีการคืนข้าวให้ชาวนาปริมาณ 1.5 เท่าที่รับจำนำ ไม่แน่ใจอาจเป็นการสร้างภาระให้รัฐบาลใหม่ หรือตามกฎหมายจะทำได้หรือไม่ แต่อาจมีวิธีแก้ไขในระยะยาว คือ นโยบายประชานิยมทุกรูปแบบต้องทำให้ออกมาในรูปแบบของกฎหมายผ่านรัฐสภา แม้รัฐสภาจะยกมือผ่านให้รัฐบาล แต่ยังดีกว่าให้ฝ่ายบริหารอนุมัติวงเงินจำนวนมากที่อาจเกิดการขาดทุนได้
การดำเนินนโยบายช่วยเหลือชาวนาในโครงการรับจำนำข้าว หรือโครงการประชานิยมต่างๆ ควรจะมีกรอบการบริหารที่ชัดเจน จากการอนุมัติของฝ่ายบริหาร ควรเข้าสู่ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายนิติบัญญัติ เปลี่ยนรูปแบบการช่วยเหลือเงินอุดหนุน ดำเนินการให้อยู่ในรูปแบบของกฎหมายผ่านกระบวนการของสภา เพื่อให้สภารับทราบ แม้จะมีกระบวนการทางการเมืองหรือกลุ่มผลการเมืองเข้ามาเกี่ยว แต่มองว่า จะเกิดผลดีกว่าฝ่ายบริหารที่อนุมัติงบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการภาระหนี้ที่เกิดขึ้นได้ในอนาคต
ส่วน “นายไพบูลย์ นิติตะวัน” ให้ข้อเสนอแนะว่า รัฐบาลรักษาการชุดปัจจุบันมีข้อจำกัดในการหาเงินมาใช้หนี้ชาวนา ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 มีทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้ คือต้องไม่ใช่รัฐบาลชุดปัจจุบัน หากมีรัฐบาลคนกลางมาบริหารแทนจะไม่มีข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 181 เหมือนรัฐบาลรักษาการนี้ เข้ามาเมื่อไหร่ก็ออกมติช่วยเหลือชาวนาได้ทันที และสังคมยอมรับ และต้องหยุดระบบจำนำข้าว จากนั้นขายข้าวให้หมดเพื่อเอาเงินมาใช้หนี้
ทางออกที่รัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ คือ การลาออก หรือพ้นจากตำแหน่งโดยกฎหมาย ถ้ารอ ป.ป.ช.พิจารณาเรื่องจำนำข้าวอาจใช้เวลานาน และถึงชี้มูลความผิดไปแล้วก็แค่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งขณะนี้ความหวังอยู่ที่การชี้ขาดของ กกต.ว่าจะใหัใบแดงนายกรัฐมนตรีได้เร็วเพียงใด จากกรณีข้อร้องเรียนการทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ที่จะทำให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ ขาดคุณสมบัติทันที เพื่อให้มีการตั้งรัฐบาลที่มาจากคนกลาง เข้ามาแก้ไขปัญหาโครงการรับจำนำข้าวที่เกิดขึ้นขณะนี้ เนื่องจากรัฐบาลที่มาจากคนกลาง จะไม่มีข้อติดขัดในเรื่องของกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 เป็นรัฐบาลที่สังคมยอมรับ และจะไม่มีความยึดติดกับโครงการรับจำนำขัาว ทำให้สามารถเข้ามาแก้ปัญหา โดยการเร่งขายข้าวและหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาได้รวดเร็วขึ้น
รวมทั้งรัฐบาลที่มาจากคนกลาง จะสามารถเข้ามาดำเนินนโยบายใหม่ทันฤดูการผลิตที่จะมาถึง และในระยะยาวจะต้องมีการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ใหม่ การจำกัดจำนวนผลผลิตข้าว การกำหนดเป้าหมายในการช่วยเหลือเฉพาะชาวนารายเล็กเท่านั้น ซึ่งจะสามารถช่วยรักษาวินัยการเงินการคลังได้ ไม่ใช่ผลิตข้าวให้มากขึ้น แต่ต้องควบคุมปริมาณการผลิต เพื่อช่วยเหลือชาวนารายเล็กที่ยากจน ไม่ใช่ช่วยนักธุรกิจชาวนา
ด้าน นายนิพนธ์ วงษ์ตระหง่าน นายกกิตติมศักดิ์สมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า เชื่อว่ารัฐบาลคงไม่กล้าขายข้าวแบบจีทูจีแล้ว เพราะสต๊อกตลาดโลกล้นเกิน 100 ล้านตัน ที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศจะขายในตลาดโลก ตนจะรอดูว่าจะขายได้เท่าไหร่ เพราะรู้มาว่าร่างทีโออาร์กำหนดให้จ่ายเงินภายใน 180 วัน จึงเป็นปัญหาว่าระหว่างนั้นชาวนาจะเอาเงินมาจากไหน ได้คุยกับเจ้าของโรงสีเขาก็อยากรับซื้อ แต่เงื่อนไขในทีโออาร์บีบให้เขาต้องจ่ายเงินภายใน 30 วัน อาจเร็วไป เพราะโรงสีต้องนำข้าวเปลือกไปสีก่อนส่งขายยี่ปั๊ว ส่วนวิธีที่จะให้นำใบประทวนไปจำนำกับโรงสี ในวงเงิน 50% ยังเถียงกันว่าจะให้ในราคาตลาดที่ 8,000 บาท หรือราคารับจำนำที่ 15,000 บาท และทางโรงสีเขากังวลว่าอาจซ้ำรอยกรณีโรงสีสิริพินโย ที่ซื้อข้าวเหนียวในราคาทุนรัฐบาล แต่ครม.ไม่สามารถออกเป็นมติ ครม.ได้ ทำให้ถูกฟ้องร้อง 120 ล้านบาท หรือถึงทำได้ก็อาจเกิดปัญหาสภาพคล่องอีก
นายนิพนธ์ กล่าวต่อว่า เชื่อว่าข้าวที่นำมาจำนำ 80-90% ถูกสีเป็นข้าวสารแล้ว แต่สามารถคืนในรูปแบบข้าวสารได้ แต่มีปัญหาเรื่องคุณภาพข้าวอีก แถมเซอร์ไวเยอร์ยังมีส่วนรู้เห็นอีก ดังนั้นผู้ที่รู้ว่าข้าวคุณภาพมาจากโรงสีใด จึงมีแต่พรรคพวกใกล้ชิดนักการเมืองเท่านั้น จะเป็นไปได้หรือไม่ตามของเสนอของนายอัมมาร์ ว่าใบประทวนที่ออกก่อนวันที่ 9 ธ.ค.2556 ให้เปลี่ยนจากการจำนำ 15,000 บาท เป็นการชดเชยจากต้นทุนการผลิตที่ตันละ 2,100 บาท ซึ่งตนคิดว่าไม่ขัดกฎหมาย ไม่ขัดวินัยการเงินการคลัง และกำหนดช่วยชาวนาเฉพาะรอบก่อนการประกาศยุบสภา
‘นิด้า’แนะรัฐบาลคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่าของที่จำนำ
อีกด้าน วันเดียวกัน สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โดยคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ ได้ทำเอกสาร เสนอทางออกแก้วิกฤตชาวนาไม่ได้รับเงินค่าจำนำข้าวโดยให้รัฐบาลคืนข้าวให้ชาวนาคิดเป็นมูลค่า 1.5 เท่าของที่จำนำ ซึ่งแทบจะเป็นทางออกเดียวที่ทำได้ในตอนนี้ เนื่องจากรัฐบาลไม่สามารถกู้เงินมาจ่ายชาวนาและการระบายข้าวก็ทำได้อย่างล่าช้า
รศ.ดร.อดิศร์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตคณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ชี้แจงรายละเอียดข้อเสนอแก้วิกฤตความเดือดร้อนแสนสาหัสของชาวนาในขณะนี้ โดยการคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่านั้น หมายถึงการคืนข้าวในเชิงมูลค่า 1.5 เท่าของมูลค่าที่ชาวนาได้จำนำไว้ โดยข้อเสนอนี้ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 2 ประการ คือ ข้อหนึ่ง เป็นการช่วยเหลือชาวนาบนพื้นฐานเดียวกันกับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาล เพราะโครงการจำนำข้าวนั้น รัฐบาลรับจำนำในราคาที่สูงกว่าตลาดประมาณ 50 % เพราะฉะนั้น เพื่อให้ชาวนาได้รับผลตอบแทนประมาณเท่ากันกับชาวนาอื่นๆที่ได้รับเงินไปแล้ว การคืนข้าวให้ชาวนาก็ต้องคืนข้าวในมูลค่าเดิมตามที่ชาวนาเอามาจำนำไว้แล้วกับรัฐบาล โดยบวกเพิ่มข้าวไปอีกคิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้น 50% เมื่อชาวนาเอาข้าวทั้งหมดไปขายตามราคาตลาดปกติก็น่าจะได้เงินกลับมาประมาณใกล้เคียงกับชาวนาก่อนหน้านี้ที่เข้าร่วมโครงการแล้วรับเงินไปในราคาประมาณตันละ 12,000-13,000 บาท
หลักการที่สอง คือการคืนข้าวให้ชาวนาเป็นการเปลี่ยนสภาพความเป็นเจ้าของข้าว จากที่ปัจจุบันรัฐบาลเป็นเจ้าของข้าวแต่ฝากเก็บไว้ในโกดังของโรงสี กลายเป็นชาวนาเป็นเจ้าของข้าวเองแต่ก็ยังฝากเก็บไว้ในโกดังของโรงสีเช่นเดิม การกระทำเช่นนี้เป็นการพลิกผันที่สำคัญเพราะจะทำให้อำนาจการสั่งซื้อสั่งขายข้าวหลุดพ้นจากบริหารงานของรัฐบาลที่ล้มเหลวมาโดยตลอด แล้วกลับมาอยู่ภายใต้กลไกตลาดเช่นเดิมซึ่งจะสามารถระบายข้าวได้ดีกว่ารัฐบาลทำ
“การคืนข้าวให้ชาวนา 1.5 เท่า จึงแทบเป็นทางออกเดียวที่ทำได้ในขณะนี้ เพราะแนวทางอื่นนั้นเป็นการเดินเข้าสู่ทางตันทั้งสิ้น” รศ.ดร.อดิศร์ กล่าว โดยชี้แจงเพิ่มเติมว่า “การแก้ปัญหาไม่มีเงินจ่ายให้ชาวนาที่ผ่านมานั้นเน้นกลไกทางการเงินเป็นหลัก โดยพ่อมดทางการเงินทั้งหลายพยายามหาวิธีหาเงินมาจ่ายให้ชาวนาให้ได้ แต่การพลิกแพลงวิธีการทางการเงินล้วนประสบปัญหาทั้งสิ้น อาทิ ติดกรอบเพดานวงเงินกู้ 5 แสนล้านบาทเดิม ทำให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มอีกไม่ได้ ตลอดจนจากการเป็นรัฐบาลรักษาการไม่สามารถสร้างภาระหนี้ผูกพันเพิ่มเติมได้ และมีความไม่แน่นอนว่ารัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งจะยังคงดำเนินนโยบายจำนำข้าวอยู่ต่อหรือไม่”
จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้รัฐบาลขาดความน่าเชื่อถือและนำไปสู่ปัญหาการที่ไม่มีสถาบันการเงินใดประสงค์เข้าร่วมวิบากกรรมกับรัฐบาลชุดนี้ เพราะไม่แน่ใจว่าจะเกิดอะไรขึ้นใน 3-6 เดือนข้างหน้า เช่น หากสถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ให้ ธ.ก.ส.แล้ว สถาบันการเงินเหล่านี้จะได้เงินคืนหรือไม่ เพราะสัญญาเงินกู้นั้นอาจถูกศาลตีความเป็นโมฆะ เพราะเป็นการทำสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือการให้โรงสีรับจำนำใบประทวนในอัตราร้อยละ 50 แล้วรัฐบาลจะมาชำระเงินคืนให้ภายหลังก็เป็นเงื่อนไขที่ขาดความน่าเชื่อถือ เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะมีรัฐบาลใหม่ที่จะมาชำระหนี้ให้ แล้วดอกเบี้ยงวดต่อๆ ไปใครจะรับผิดชอบหากต้องรอไปนานเป็นปีๆ
“ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์แทบจะหมดหนทางจริงๆ ในการจ่ายเงินให้ชาวนา แต่ภายใต้ข้อจำกัดทางการเงินทั้งหลาย เราลืมไปแล้วหรือครับว่ารัฐบาลยังเหลือทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายที่รัฐบาลสามารถนำมาแปรสภาพให้เป็นทุนได้และสามารถนำเงินไปชำระให้ชาวนาได้นั่นคือข้าวในสต๊อกจำนวน 17 ล้านตันที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์รับจำนำจากชาวนาเอาไว้ตั้งแต่สองปีที่ผ่านมาและยังระบายไม่หมด” รศ.รศ.ดร.อดิศร์ กล่าว
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในช่วงสองปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากลไกของรัฐไม่สามารถระบายข้าวได้เร็วพอ การขายข้าวโดยกลไกของกระทรวงพาณิชย์ระบายข้าวได้ไม่กี่แสนตันต่อเดือน ซึ่งต้องใช้เวลาถึงสามปีกว่าจะขายข้าวได้หมด และการขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐก็ไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นกลไกของรัฐในการแปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุนคงจะไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น รัฐบาลควรวางมือจากการเป็นผู้ขายข้าวได้แล้ว และปล่อยให้กลไกตลาดทำหน้าที่ระบายข้าวแทน แต่ก่อนที่กลไกตลาดจะทำหน้าที่ระบายข้าวได้นั้น สถานะความเป็นเจ้าของข้าวจะต้องเปลี่ยนจากข้าวของรัฐบาลมาเป็นข้าวของชาวนาก่อน เพื่อให้โรงสีสามารถซื้อข้าวจากชาวนาได้โดยตรง” รศ.ดร.อดิศร์ กล่าว
การคืนข้าวให้ชาวนา เป็นเพียงแค่เปลี่ยนความเป็นเจ้าของข้าวจากรัฐบาลมาเป็นชาวนา ไม่ได้หมายความว่าให้โรงสีขนข้าวออกมาจากโกดังเป็นกระสอบๆแล้วมาคืนให้ชาวนา ประเด็นที่สำคัญคือถ้าชาวนานำข้าวไปจำนำไว้ 10 ตัน ก็จะได้ข้าว 10 ตันเดิมคืนและบวกอีก 5 ตันที่รัฐบาลจะเพิ่มเติมให้รวมทั้งสิ้นเป็น 15 ตันที่รัฐบาลคืนทั้งหมด หลังจากนั้นชาวนาก็สามารถขายข้าวให้โรงสีได้ในราคาตลาดปกติ เช่น ขายข้าวเปลือกให้โรงสีประมาณตันละ 8,000-9,000 บาท หลังจากนั้นโรงสีก็สามารถขายข้าวให้ผู้ส่งออกข้าวได้ต่อไป ซึ่งท้ายที่สุดแล้วชาวนาก็จะได้ราคาขายทั้งหมดใกล้เคียงกับมูลค่าที่เคยจำนำไว้
การคืนข้าวให้ชาวนาเป็นการระบายข้าวที่เร็วที่สุด ทำให้สต๊อกข้าวของรัฐบาลลดลงอย่างเร็ว จึงเป็นการตัดโอกาสในการทุจริตเวียนข้าว ลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการจ้างโรงสีเก็บข้าว ทำให้คุณภาพข้าวไม่แย่ลงไปมากกว่านี้ และการคืนข้าวให้ชาวนาเป็นการใช้ทรัพย์สินชิ้นสุดท้ายที่รัฐบาลยังมีอยู่ ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ต้องไปติดกับดักของกลไกทางการเงินต่างๆ ไม่เป็นการสร้างภาระผูกพันไปยังรัฐบาลในอนาคต และไม่เป็นการผลักภาระให้สถาบันการเงินหรือผู้ฝากเงิน
รศ.ดร.อดิศร์ กล่าวอ้างว่าการคืนข้าวให้ชาวนาจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะปรับกลไกตลาดในการค้าขายข้าวสู่ภาวะปกติและนำไปสู่การส่งออกข่าวอย่างแท้จริง และท้ายที่สุดจะเป็นการล้างสต็อคข้าวของรัฐบาลและปิดฉากโครงการจำนำข้าวอย่างสิ้นเชิง
นี้คือแค่ 2 เวที ที่นักวิชาการออกมาเสนอแนะรัฐบาล เพื่อผ่าทางตันวิกฤตจำนำข้าว แทนการที่รัฐบาลจะพยายามกู้เงินเพื่อปกปิดความล้มเหลวของตัวเอง และสร้างหนี้ให้กับประชาชนในอนาคต