xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชนต้องการปฏิรูปพลังงาน แต่คำตอบคือความเงียบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปัญญาพลวัตร
โดย...พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต

การปฏิรูปพลังงานทั้งระบบโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจาก ประชาชนเป็นอย่างยิ่ง เพราะในสภาพปัจจุบันระบบกฎหมาย นโยบาย และการบริหารพลังงานของไทยนั้นมีลักษณะที่ล้าหลัง ไม่เป็นธรรม ผูกขาด ไร้ประสิทธิภาพ และสร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างรุนแรง ภายใต้เงื่อนไขที่เป็นอยู่ในขณะนี้ กลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างมหาศาล คือ กลุ่มทุนข้ามชาติ กลุ่มทุนผู้ถือหุ้นและกลุ่มผู้บริหาร ปตท.และบริษัทในเครือข่าย นักการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับ ปตท. ส่วนผู้ที่เสียประโยชน์คือประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยที่เป็นสามัญชนคนธรรมดาผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรและผู้บริโภคน้ำมันและก๊าซ

ภายใต้เงื่อนไขระบบสัมปทานแบบล้าหลังอันตกทอดจากยุคอาณานิคม ทำให้ประเทศไทยได้รับประโยชน์จากทรัพยากรน้ำมันและก๊าซที่เรามีเพียงน้อยนิด ส่วนบริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมันข้ามชาติ ทั้งหลายได้รับประโยชน์อย่างมหาศาล

หลักคิดของระบบสัมปทานคือ เมื่อบริษัทใดได้รับสัมปทานไปแล้ว จะเป็นเจ้าของทรัพยากรที่เขาพบทั้งหมด บริษัทใดขุดน้ำมันในแผ่นดินไทยได้ บริษัทนั้นก็เป็นเจ้าของน้ำมันนั้นไปเลย ส่วนประเทศเจ้าของน้ำมันจะได้รับค่าสัมปทานอันเป็นส่วนแบ่งเพียงน้อยนิด และไม่ได้เป็นเจ้าของน้ำมันที่ขุดได้แต่อย่างใด

ระบบที่ล้าหลังเช่นนี้แหละครับ ที่ประเทศต่างๆในโลกเขาเลิกใช้กันแล้ว แต่น่าอัศจรรย์คือ ประเทศไทยยังใช้อยู่ เช่นนี้ไม่เรียกว่าล้าหลัง ก็ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าอะไร

ระบบที่นานาประเทศนิยมใช้กันในปัจจุบันคือ ระบบแบ่งปันผลผลิตครับ อันเป็นการทำสัญญากันระหว่างประเทศเจ้าของทรัพยากร และบริษัทขุดเจาะน้ำมัน โดยปกติตัวเลขที่นิยมใช้กันอยู่คือ ประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรจะได้ร้อยละ 70 บ้าง หรือ ร้อยละ 80 บ้าง ส่วนผู้ขุดเจาะจะได้ร้อยละ 30 บ้าง หรือ 20 บ้าง แล้วแต่จะตกลงกันตามเงื่อนไขในรายละเอียด

ระบบแบ่งปันผลผลิตจะทำให้ประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมมากขึ้น แม้แต่ประเทศพม่าและกัมพูชาที่ดูเหมือนล้าหลังกว่าไทย แต่ผู้นำของเขาอาจฉลาดกว่าผู้นำไทย เขาก็เลยใช้ระบบนี้เช่นเดียวกันครับ

ปมปัญหาอีกประการหนึ่งที่มีการถกเถียงกันมากระหว่างฝ่ายนักการเมือง ข้าราชการและผู้บริหารที่ควบคุมอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ กับฝ่ายประชาชนและนักวิชาการอิสระคือข้อมูลเรื่องน้ำมัน

ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากระบบบริหารจัดการน้ำมันในปัจจุบันได้สร้างข้อมูลขึ้นมาชุดหนึ่งว่า น้ำมัน ในประเทศไทยมีน้อย และเป็นน้ำมันคุณภาพต่ำ ขณะที่ฝ่ายประชาชนโต้แย้งว่าน้ำมันในประเทศไทยมี มากและมีคุณภาพสูง

อันที่จริง หากต้องการหาข้อยุติในเรื่องนี้ไม่ยากเลยแม้แต่น้อย เพราะเป็นเรื่องเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ได้อย่างชัดเจน ดังนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพิสูจน์ทราบและประกาศให้สาธารณะชนรู้โดยเร่งด่วน

วิธีการหนึ่งที่จะพิสูจน์ความจริงในเรื่องนี้ได้ ในกรณีที่ประชาชนได้รับชัยชนะในการต่อสู้กับระบอบทักษิณ ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นภายในไม่ช้านี้คือ รัฐบาลใหม่จะต้องจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานแห่งชาติขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งมีองค์ประกอบที่สำคัญคือ ตัวแทนสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับพลังงานน้ำมัน ตัวแทนจากมหาวิทยาลัยที่มีการเรียนการสอนเรื่องปิโตรเลียม ตัวแทนนักวิชาการด้านสังคมศาสตร์สาขาต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งเช่น รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บริหารธุรกิจ สังคมวิทยา เป็นต้น ตัวแทนจากนักวิชาการอิสระภาคประชาชน และตัวแทนจากองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค และอาจมีตัวแทนภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นคณะกรรมการชุดนี้ด้วย

คณะกรรมการชุดนี้ทำอะไรบ้าง เรื่องแรกเลย ต้องแสวงหาและประมวลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติทั้งหมดในประเทศไทย โดยให้ครอบคลุมประเด็นต่อไปนี้ จำนวนบ่อที่ผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันมีกี่แห่ง บนบกเท่าไร ในทะเลเท่าไร ผลิตน้ำมันดิบทั้งหมดได้วันละเท่าไร คุณภาพอยู่ในระดับใดบ้าง ในการสำรวจอาจเข้าไปดูในภาคสนามกันเลยก็ได้ โดยนำสื่อมวลชนไปด้วย หากไปทางทะเลก็ขอความร่วมมือกับกองทัพเรือ เป็นต้น

นอกจากจะสำรวจบ่อน้ำมันที่กำลังผลิตอยู่แล้ว ก็จะต้องศึกษาว่าใครเป็นเจ้าของบริษัทที่ผลิตน้ำมันดิบในไทยบ้าง เมื่อผลิตได้ส่งไปขายที่ไหนบ้าง ราคาเท่าไร ประเทศไทยได้ส่วนแบ่งจากบริษัทที่ขุดน้ำมันเท่าไร

จากนั้นก็ต้องสำรวจว่าในปัจจุบันและที่กำหนดไว้ในแผนสำหรับอนาคตว่าพื้นที่ที่อยู่ระหว่างการสำรวจเท่าไร ที่ไหนบ้าง มีบริษัทอะไรบ้างที่ได้รับการสัมปทานสำรวจไปแล้ว และประมาณการณ์น้ำมันและก๊าซที่คาดว่าจะพบในอนาคตมีเท่าไร

เมื่อสำรวจเรื่องราวเกี่ยวกับน้ำมันดิบแล้ว ก็จะต้องไปดูข้อมูลเกี่ยวกับน้ำมันสำเร็จรูป ดูว่าประเทศไทย มีโรงกลั่นน้ำมันกี่แห่ง ผลิตน้ำมันและก๊าซประเภทใดได้บ้าง แต่ละประเภทได้วันละเท่าไร เพียงพอต่อการใช้บริโภคภายในประเทศหรือไม่ เอาไปขายที่ไหนบ้าง ราคาเท่าไร ใครเป็นเจ้าของโรงกลั่นน้ำมันและได้รับสิทธิพิเศษอะไรบ้าง

ถัดมาก็คงต้องศึกษานโยบายของรัฐเกี่ยวกับ ปตท. ว่าให้สิทธิพิเศษแก่ ปตท. อะไรบ้าง รวมทั้งศึกษาโครงสร้างองค์การ การบริหาร และเครือข่ายของบริษัทในเครือบริษัทปตท. ทั้งหมด ว่ามีกี่บริษัท แต่ละบริษัททำอะไรบ้าง กลุ่มใดถือหุ้นบ้างในสัดส่วนเท่าไร ต้นทุนในการผลิตน้ำมันที่แท้จริงของ ปตท.ที่เรียกว่าเนื้อน้ำมันเป็นเท่าไร รายรับ-รายจ่ายแต่ละปีมีอะไรบ้าง และจำนวนเท่าไร เช่น เงินเดือน สวัสดิการ เบี้ยประชุม โบนัส เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่ ปตท.มักอ้างเสมอคือ การแบ่งกำไรให้แก่รัฐเป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นจึงจำเป็นต้องศึกษาว่าแท้จริงแล้วกำไรของ ปตท.แบ่งให้รัฐปีละเท่าไร ให้ผู้ถือหุ้นอื่นเท่าไร แนวโน้มที่ผ่านมามากขึ้นหรือน้อยลง เปรียบกับรัฐวิสาหกิจอื่นเช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตเป็นอย่างไร และเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทน้ำมันแห่งชาติของประเทศอื่นๆ เช่น ปิโตรนาส ของมาเลเซีย ทั้งในแง่ต้นทุนและราคาขายปลีกของน้ำมันสูงหรือต่ำกว่า ปตท.เท่าไร ประเด็นนี้จะเป็นตัววัดประสิทธิภาพในการบริหารของ ปตท. (แต่ข้อมูลเบื้องต้นที่เผยแพร่ในสาธารณะขณะนี้คือ ปตท. ได้กำไรน้อยกว่า บริษัทปิโตรนาสของมาเลเซีย ทั้งที่ ปิโตรนาส ขายน้ำมันราคาถูกกว่า ปตท. ซึ่งหมายความว่า ปตท. มีการบริหารที่ด้อยประสิทธิภาพกว่าปิโตรนาสมาก)

ที่สำคัญซึ่งไม่อาจละเลยได้อีกประการคือ การศึกษาบริษัทในเครือปตท. ว่ามีผู้บริหารเป็นใคร มีสัมพันธ์ทางธุรกิจกับ ปตท.อย่างไร รายรับ-รายจ่ายมีอะไรบ้าง กำไรที่ได้นำไปไหนบ้าง เพราะมีข่าวชวนให้น่าสงสัยอยู่บ่อยครั้งว่า บริษัทเหล่านี้อาจเป็นแหล่งผ่องถ่ายกำไรจาก ปตท.ไปยังกลุ่มทุนและนักการเมืองบางกลุ่มที่เกาะกินทรัพยากรของชาติอย่างอิ่มหมีพีมันอยู่ในขณะนี้

เมื่อคณะกรรมการชุดนี้ได้ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้านแล้ว ก็เสนอข้อเท็จจริงเหล่านี้ต่อสาธารณะเป็นระยะเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนผ่านฟรีทีวี ซึ่งกระบวนการศึกษาและให้ข้อมูลข่าวสารน่าจะใช้เวลาประมาณ 6-8 เดือน จากนั้นคณะกรรมการชุดนี้ก็เริ่มจัดกระบวนการระดมความคิดเห็นเพื่อการปฏิรูประบบพลังงานไทย โดยการจัดเสวนาและอภิปรายใช้กระบวนการมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง จัดเวทีให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นในทุกจังหวัด เพื่อเสนอแนวทางในการปฏิรูปพลังงานอย่างเป็นระบบ โดยกำหนดประเด็นหลักในการพูดคุย ดังนี้

ควรแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ว่าด้วยค่าสัมปทานหรือไม่ แก้อย่างไร เช่น ใช้ระบบสัมปทานแบบเดิมและเพิ่มอัตราค่าสัมปทาน หรือจะเปลี่ยนระบบสัมปทานไปสู่ระบบการแบ่งผลผลิต หากใช้ระบบนี้จะกำหนดสัดส่วนการแบ่งผลประโยชน์อย่างไรจึงจะเหมาะสม แต่ละระบบมีข้อดีและข้อเสียอย่างไร

ควรปรับราคาน้ำมันลงหรือไม่ หากปรับจะมีหลักเกณฑ์ในการกำหนดราคาอย่างไรที่มีความสมเหตุสมผล และเป็นธรรมแก่ประชาชน และใครบ้างที่ควรมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายราคาน้ำมัน

ควรปรับสภาพความเป็นเจ้าของ ปตท.หรือไม่ หากปรับมีวิธีการอย่างไร แต่ละวิธีใครได้และใครเสียประโยชน์บ้าง มีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด และประเทศชาติและประชาชนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างไร

ควรให้มีการทบทวนสัญญาเดิมระหว่างประเทศไทยกับบริษัทน้ำมันข้ามชาติหรือไม่ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากกว่าปัจจุบัน

ควรยกเลิกกองทุนน้ำมันหรือไม่ เพราะเหตุใด

ควรปรับกฎหมาย นโยบาย และระเบียบเกี่ยวกับการสำรวจน้ำมัน การกลั่นน้ำมัน การขายน้ำมัน ในเรื่องใดบ้าง เพื่อให้มีความเป็นธรรม โปร่งใส และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ควรปรับโครงการองค์การและการบริหาร ปตท. เรื่องใดบ้างและอย่างไร เพื่อให้ ปตท. มีการบริหารที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับปิโตรนาส หรือ บริษัทน้ำมันระดับโลกอื่นๆ

ประเด็นเหล่านี้เป็นเพียงประเด็นตัวอย่างที่ผมนำเสนอเพื่อกระตุ้นให้เกิดการคิดต่อเพื่อช่วยกันหาแนวทางในการกำหนดกรอบคิดและขอบเขตของการปฏิรูปพลังงานของประเทศไทยอย่างเป็นระบบต่อไป

ผมคิดว่าเรื่องการปฏิรูปพลังงานทั้งระบบสามารถทำให้สำเร็จได้ภายในไม่เกิน 18 เดือน หลังจากที่มีรัฐบาลที่เป็นของประชาชน และมีผู้นำการปฏิรูปที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล มีจิตใจกล้าหาญมั่นคง และมีความซื่อตรงต่อผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

แต่หากโชคร้าย เราได้ผู้นำกำมะลอ เขาจะเงียบและไม่ยอมแตะต้องเรื่องนี้ครับ หรือถ้าต้องทำเพราะถูกประชาชนผลักดัน ก็ทำอย่างเสียไม่ได้ และไม่มีทางจะทำเรื่องนี้ได้สำเร็จครับ แม้ว่าจะมีภาพลักษณ์ภายนอกสวยงามเพียงใดก็ตาม


กำลังโหลดความคิดเห็น