xs
xsm
sm
md
lg

กปปส.นำทีมบี้รัฐหยุดลักไก่ ให้สัมปทานน้ำมันครั้งที่ 21 ลั่นไม่ยอมให้ปล้นทรัพยากรอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กปปส.-กองทัพ ปชช.-สภาปฏิรูปพลังงาน ร่วมยื่น ก.พลังงาน ค้านรัฐให้สัมปทานครั้งที่ 21 และขึ้นค่าไฟ จี้ตั้งสภา ปชช. ปฏิรูปพลังงานทุกด้านให้เป็นธรรม ลดราคาน้ำมัน เตรียมยื่น “พงศ์เทพ” ต่อ จี้หยุดลักไก่ให้สัมปทานน้ำมันช่วงวิกฤตบ้านเมือง ไม่ยอมปรับปรุง กม.ว่าด้วยส่วนแบ่งผลผลิตแบบเพื่อนบ้านให้ได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมก่อนจะเปิดสัมปทานรอบใหม่ ชี้เป็นระบบยุคล่าอาณานิคม ลั่น ปชช.จับตาไม่ยอมให้ปล้นทรัพยากร ปชช.ต่อไป

วันนี้ (16 ธ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. นพ.ระวี มาศฉมาดล กรรมการ กปปส. กองทัพประชาชนฯ และตัวแทนจากสภาปฏิรูปพลังงาน ได้เข้าพบตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน เพื่อสอบถามถึงขั้นตอนการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 พร้อมยื่นหนังสือคัดค้านการให้สัมปทานครั้งที่ 21 และการขึ้นค่าไฟฟ้า

โดยตอนหนึ่งในหนังสือแถลงการณ์ได้เรียกร้องให้มีการตั้ง “สภาประชาชน” ปฏิรูปประเทศไทย โดยประชาชน ไม่ใช่นักการเมือง โดยให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน แก้ไข ขอให้ลดราคาน้ำมันเบนซินลง 10 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ถังละ 5 บาทต่อลิตร ขอให้รัฐบาลหยุดการขึ้นราคาและน้ำมัน ขอให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. ที่ให้อ้างอิงราคาก๊าซ และน้ำมันให้ใช้ต้นทุนไทย และมีกรรมการสามฝ่าย ตั้งราคาเหมือนค่าโดยสารรถยนต์ ขอให้รัฐบาลหยุดเลือกปฏิบัติโดยให้ภาคปิโตเคมีจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในอัตราเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นอีก 12 บาทต่อกิโลกรัม ให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานแห่งชาติขึ้น โดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีสัดส่วนของภาคประชาชนกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด เพื่อจัดทำนโยบายและแผนการปฏิรูปพลังงานของประเทศไทยในทุกด้านให้เป็นธรรม ให้แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้สัดส่วนสัมปทาน ฯลฯ ทั้งนี้ในเวลา 14.00 น.คณะได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี ที่ รร.พลาซ่า แอทธินี

ขณะที่ตัวแทนสภาปฏิรูปพลังงานเปิดเผยว่า ในเดือนธันวาคมนี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติจะรายงานความคืบหน้าในการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 ต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูงที่มีนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รักษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน โดยเฉพาะแผนการดำเนินงานที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ในรายละเอียดการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งหากเป็นไปตามแผนจะมีการนำเสนอและขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการปิโตรเลียมภายใน ม.ค. 2557 และออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสัมปทานฯ ได้ในเดือน มิ.ย. 2557

สำหรับแปลงสัมปทานรอบที่ 21 จะมีทั้งหมด 27 แปลง แบ่งเป็นบนบก 22 แปลง ได้แก่บริเวณภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แปลง และแปลงในทะเลที่บริเวณอ่าวไทยอีก 5 แปลง ซึ่งได้กำหนดปริมาณงานและเงินลงทุนขั้นต่ำดังนี้ ภาคเหนือและภาคกลาง และอ่าวไทย ปริมาณงาน ต้องเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม วางเงินประกันลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม เงิน 5 ล้านเหรียญ โดยสัมปทานครั้งนี้ยังคงค่า k (การคงสภาพทางธรณีวิทยา) และ srb (เงินผลประโยชน์ลดหย่อนพิเศษ) ในสัดส่วนที่เท่าเดิม แต่ให้ผู้ขอสัมปทานจะต้องเสนอโบนัสลงนาม (Signing Bonus) แปลงละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และโบนัสการผลิต (Production Bonus) ซึ่งคิดจากปริมาณการผลิตสะสม

โดยขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญก่อนที่จะออกประกาศเชิญชวนจะมีการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัดที่กำหนดจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ที่มีทั้งหมดประมาณ 32 จังหวัด โดยจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมจังหวัดเพื่อที่จะนำไปสู่กระบวนการให้ความรู้ ข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและยอมรับแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายหน่วยงานราชการจังหวัดละ 100 คน รวมไปถึงผู้นำและสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ซึ่งคาดว่าส่วนนี้จะใช้เวลาดำเนินการระหว่าง ม.ค.-เม.ย. 2557 หลังจากสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ได้เลื่อนออกมานับตั้งแต่กลางปี 2555 ซึ่งรัฐมนตรีพลังงานในช่วงนั้น ทั้งนายพิชัย นริพทะพันธุ์, นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ไม่ได้อนุมัติ

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนงานการออกประกาศเชิญจะทำได้ช่วง พ.ค. 57 และขั้นตอนการยื่นขอสัมปทานจะใช้เวลาประมาณ 5 เดือนหรือถึง ต.ค. 57 หลังจากนั้นก็คงจะมีการพิจารณาคัดเลือกเสนอ ครม.ชุดใหม่ อนุมัติได้ราว ก.พ. 2558 และออกสัมปทานปิโตรเลียมได้ มี.ค. 58 ซึ่งจะเห็นว่ากว่าจะมีการขุดเจาะสำรวจได้จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1-2 ปี และหากพบว่าคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 ปีรวมแล้วก็ไม่น้อยกว่า 2-3 ปี หรือกว่าจะผลิตได้จริงก็ปี 2560 ซึ่งขณะนั้นไทยก็มีความต้องการใช้พลังงานอย่างมากขณะที่การผลิตในประเทศเริ่มลดลง

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านั้น น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภากรุงเทพฯ ได้ออกแถลงการณ์ถึงกระทรวงพลังงาน เรื่อง “หยุดลักไก่ให้สัมปทานน้ำมันช่วงวิกฤติของบ้านเมือง”

มีใจความว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานอาศัยช่วงชุลมุนทางการเมืองของประชาชนเตรียมเสนอบอร์ดปิโตรเลียมให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 ในช่วงขึ้นปีใหม่ 2557 โดยไม่ยอมปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยส่วนแบ่งผลผลิตเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมก่อนจะเปิดสัมปทานรอบใหม่

ระบบสัมปทานปิโตรเลียมที่ประเทศใช้อยู่ตามกฎหมายปิโตรเลียม พ.ศ 2514 มีการแก้ไขส่วนแบ่งรายได้ในปี 2532 เพียงครั้งเดียวโดยเปลี่ยนแปลงค่าภาคหลวงจาก 12.5% เป็นการเก็บแบบขั้นบันได 5-15% ซึ่งในขณะนั้นราคาน้ำมันดิบมีราคประมาณ 18 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบมีราคา 100-120 เหรียญต่อบาร์เรล แต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังยืนยันว่าระบบที่ใช้อยู่เป็นส่วนแบ่งที่เหมาะสมแล้ว

ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ทั้งพม่า กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ล้วนเปลี่ยนมาใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต (Production หรือ Profit Sharing) แทนระบบสัมปทาน (Concession)

ทั้ง 2 ระบบต่างกันที่เรื่อง “กรรมสิทธิ์” ปิโตรเลียมว่าเป็นของรัฐ หรือเอกชน

1) ระบบสัมปทาน กรรมสิทธิ์เป็นของเอกชน เมื่อเอกชนรายใดได้รับสัมปทานปิโตรเลียมจากรัฐบาล กรรมสิทธิปิโตรเลียมที่ขุดได้ จะตกเป็นของเอกชนทั้งหมด และเอกชนจ่ายผลตอบแทนให้รัฐบาลเป็นส่วนน้อย เมื่อเอกชนเป็นเจ้าของผลผลิตปิโตรเลียม ตามกฎหมายปิโตรเลียม 2514 จึงสามารถส่งออกปิโตรเลียมที่ตนเองขุดได้ในประเทศไทยเท่าไหร่ก็ได้ และเวลาขายให้คนไทยก็ขายในราคาเท่ากับนำเข้าจากต่างประเทศ

2) ระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ เอกชนเป็นเจ้าของเฉพาะส่วนแบ่งที่ได้รับ เอกชนหักค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะแล้ว ส่วนที่เหลือคือกำไรที่ต้องนำมาแบ่งกัน และรัฐบาลทุกประเทศจะได้ส่วนแบ่งมากกว่าเอกชน อินโดนีเซียจะได้ส่วนแบ่งที่รวมภาษีแล้ว 85% ในส่วนผลผลิตที่หักค่าใช้จ่ายการขุดเจาะแล้ว และเอกชนได้ส่วนแบ่ง 15% และในส่วนแบ่งปิโตรเลียม 15% นั้น เอกชนต้องขายคืนให้รัฐจำนวน 25% ในราคาลด 25% จากราคาตลาดโลก พม่าได้ค่าภาคหลวง10% และหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเอาส่วนแบ่งกำไรอีก 50-80% และภาษีอีก 30% ส่วนกัมพูชา ได้ค่าภาคหลวง 12.5% และได้ส่วนแบ่งกำไรอีก 40-60% และภาษีอีก 30% ส่วนประเทศไทยได้ค่าภาคหลวง 5-15% และภาษีเงินได้ 50% ไม่มีส่วนแบ่งผลผลิตหรือกำไร ได้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอีกเล็กน้อย

ระบบของประเทศอินโดนีเซียเป็นต้นแบบการจัดการส่วนแบ่งรายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทยนำไปใช้ ยกเว้นประเทศไทยยังคงยืนหยัดจะใช้ระบบเดิมที่ใช้มาเป็นเวลา 42 ปี ซึ่งเป็นระบบของยุคล่าอาณานิคม ที่เจ้าอาณานิคมได้ทรัพยากรทั้งหมดไปเป็นกรรมสิทธิ และจ่ายเงินตอบแทนเพียงเล็กน้อยให้ประเทศเจ้าของทรัพยากร

ระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมเป็นของประเทศและประชาชน ถ้ารัฐบาลขายประชาชนในราคาถูก ประชาชนได้ประโยชน์ ระบบเศรษฐกิจมีศักยภาพในการแข่งขัน แต่ถ้ารัฐบาลขายราคาสูง รัฐบาลจะได้รายได้เพื่อเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องกู้ หรือกู้น้อยลง ไม่เป็นภาระกับประชาชนแต่ระบบสัมปทานของไทย เอกชนได้กำไรสูง ประชาชนต้องใช้ราคาก๊าซและน้ำมันแพง โดยรัฐได้ส่วนแบ่งรายได้ที่ไม่เป็นธรรม

แต่กระทรวงพลังงานยืนหยัดไม่ยอมเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อให้ประเทศ และประชาชนได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นทรัพยากรของประเทศก่อนที่จะเปิดสัมปทานรอบใหม่ รอบที่ 21 และยังจะอาศัยช่วงประชาชนชุลมุนเปิดสัมปทานภายในปลายปี 2556 ต่อช่วงต้นปี 2557

ขอเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานหยุดการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีการปฏิรูประบบการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่คัดค้านการเปิดสัมปทานรอบ 21 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้กระทรวงพลังงานต้องเลื่อนการเปิดสัมปทานรอบ 21 ออกไปจากที่กำหนดไว้เดิมในเดือนมิถุนายน 2554

หยุดฉ้อฉลใช้วิกฤตของบ้านเมืองเป็นโอกาสในการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเอกชนมากกว่าประเทศชาติและประชาชน บัดนี้ประชาชนจำนวนมหาศาลได้ตื่นตัวขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ปิโตรเลียมของพวกเขา และเฝ้าจับตากลุ่มธุรกิจการเมือง กับข้าราชการที่ฉ้อฉลไม่ให้ฉวยโอกาสปล้นชิงทรัพยากรของประชาชนอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น