xs
xsm
sm
md
lg

กปปส.เบรกพลังงาน ลักไก่สัมปทานน้ำมั

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- กปปส. กองทัพประชาชน สภาปฏิรูปพลังงาน ยื่นหนังสือ “พงศ์เทพ-ก.พลังงาน”สกัดรัฐรักษาการ ให้สัมปทาน ครั้งที่ 21 จี้หยุดลักไก่ให้สัมปทานน้ำมันช่วงวิกฤติของบ้านเมือง ไม่ยอมปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยส่วนแบ่งผลผลิตเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมก่อนจะเปิดสัมปทานรอบใหม่ ก.พลังงานยันการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21ยังไม่ได้เดินหน้าใดๆ

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (16ธ.ค.) นพ.ระวี มาศฉมาดล กรรมการ กปปส. กองทัพประชาชนฯ และ ตัวแทนจากสภาปฏิรูปพลังงาน ได้เข้าพบตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน เพื่อสอบถามถึงขั้นตอนการเปิดสัมปทาน รอบที่ 21 พร้อมยื่นหนังสือคัดค้านการให้สัมปทาน ครั้งที่ 21 และการขึ้นค่าไฟฟ้า

โดยตอนหนึ่งในหนังสือแถลงการณ์ ได้เรียกร้อง ให้มีการตั้งสภาประชาชน ปฏิรูปประเทศไทย โดยประชาชนไม่ใช่นักการเมือง โดยให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน แก้ไข ขอให้ลดราคาน้ำมันเบนซินลง 10 บาทต่อลิตร และก๊าซโซฮอลล์ 5 บาทต่อลิตร ขอให้รัฐบาลหยุดการขึ้นราคาก๊าซและน้ำมัน ขอให้รัฐบาลยกเลิก มติ ครม. ที่ให้อ้างอิงราคาก๊าซ และน้ำมัน ให้ใช้ต้นทุนไทยและมีกรรมการสามฝ่าย ตั้งราคาเหมือนค่าโดยสารรถยนต์

นอกจากนั้นยังขอให้รัฐบาลหยุดเลือกปฏิบัติ โดยให้ภาคปิโตรเคมีจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในอัตราเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นอีก 12 บาท/กิโลกรัม ให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีสัดส่วนของภาคประชาชนกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด เพื่อจัดทำนโยบายและแผนการปฏิรูปพลังงานของประเทศไทยในทุกด้านให้เป็นธรรม ให้แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้สัดส่วนสัมปทานฯลฯ

ทั้งนี้ในเวลา 14.00 น. คณะได้เดินทางไปยื่นหนังสือต่อ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการ รองนายกรัฐมนตรี ที่ร.ร. พลาซ่าแอทธินี่ ขณะที่ตัวแทนสภาปฏิรูปพลังงาน เปิดเผยว่า ในเดือนธ.ค.นี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะรายงานความคืบหน้าในการเปิดให้ยื่นขอสัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21 ต่อที่ประชุมผู้บริหารระดับสูง ที่มีนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รักษาการ รมว.พลังงานเป็นประธาน โดยเฉพาะแผนการดำเนินงานที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ในรายละเอียดการดำเนินงานต่างๆ ซึ่งหากเป็นไปตามแผน จะมีการนำเสนอและขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการปิโตรเลียมภายใน ม.ค. 57 และออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสัมปทานฯ ได้ในเดือน มิ.ย.57

สำหรับแปลงสัมปทาน รอบที่ 21 จะมีทั้งหมด 27 แปลง แบ่งเป็นบนบก 22 แปลง ได้แก่ บริเวณภาคเหนือและภาคกลาง 6 แปลง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แปลง และแปลงในทะเล ที่บริเวณอ่าวไทยอีก 5 แปลง ซึ่งได้กำหนดปริมาณงานและเงินลงทุนขั้นต่ำดังนี้

ภาคเหนือและภาคกลาง และอ่าวไทย ปริมาณงาน ต้องเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม วางเงินประกันลงทุนขั้นต่ำ 3 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม เงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยสัมปทานครั้งนี้ยังคงค่า k (การคงสภาพทางธรณีวิทยา) และ srb (เงินผลประโยชน์ลดหย่อนพิเศษ) ในสัดส่วนที่เท่าเดิม แต่ให้ผู้ขอสัมปทานจะต้องเสนอโบนัสลงนาม(Signing Bonus) แปลงละ 1 ล้านเหรียญสหรัฐ และโบนัสการผลิต (Production Bonus) ซึ่งคิดจากปริมาณการผลิตสะสม

โดยขั้นตอนการดำเนินงานที่สำคัญ ก่อนที่จะออกประกาศเชิญชวนจะมีการสร้างความเข้าใจกับประชาชนในจังหวัดที่กำหนดจะเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ที่มีทั้งหมดประมาณ 32 จังหวัด โดยจะต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมจังหวัด เพื่อที่จะนำไปสู่กระบวนการให้ความรู้ ข้อมูลต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและยอมรับแก่ประชาชน โดยมีเป้าหมายหน่วยงานราชการจังหวัดละ 100 คน รวมไปถึงผู้นำ และสมาชิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ซึ่งคาดว่า ส่วนนี้จะใช้เวลาดำเนินการระหว่าง ม.ค.-เม.ย. 57 หลังจากสัมปทานปิโตรเลียม รอบ 21 ได้เลื่อนออกมา นับตั้งแต่กลางปี 55 ซึ่งรมว.พลังงานในช่วงนั้น ทั้ง นายพิชัย นริพทะพันธุ์, นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ไม่ได้อนุมัติ

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามแผนงานการออกประกาศเชิญ จะทำได้ช่วง พ.ค. 57 และขั้นตอนการยื่นขอสัมปทาน จะใช้เวลาประมาณ 5 เดือน หรือถึงต.ค. 57 หลังจากนั้นก็คงจะมีการพิจารณาคัดเลือกเสนอครม.ชุดใหม่ อนุมัติได้ราว ก.พ. 58 และออกสัมปทานปิโตรเลียมได้ มี.ค. 58 ซึ่งจะเห็นว่า กว่าจะมีการขุดเจาะสำรวจได้ จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1-2 ปี และหากพบว่าคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ ก็ต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยกว่า 1 ปี รวมแล้วก็ไม่น้อยกว่า 2-3 ปี หรือกว่าจะผลิตได้จริงก็ปี 2560 ซึ่งขณะนั้น ไทยก็มีความต้องการใช้พลังงานอย่างมาก ขณะที่การผลิตในประเทศเริ่มลดลง

*** จี้หยุดลักไก่สัมปทานน้ำมัน

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านั้น น.ส.รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ได้ออกแถลงการณ์ถึงกระทรวงพลังงาน เรื่อง "หยุดลักไก่ให้สัมปทานน้ำมันช่วงวิกฤติของบ้านเมือง" มีใจความว่า

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานอาศัยช่วงชุลมุนทางการเมืองของประชาชนเตรียมเสนอบอร์ดปิโตรเลียมให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 ในช่วงขึ้นปีใหม่ 2557 โดยไม่ยอมปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยส่วนแบ่งผลผลิต เพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมก่อนจะเปิดสัมปทานรอบใหม่

ระบบสัมปทานปิโตรเลียมที่ประเทศใช้อยู่ตามกฎหมายปิโตรเลียม พ.ศ 2514 มีการแก้ไขส่วนแบ่งรายได้ในปี 2532 เพียงครั้งเดียว โดยเปลี่ยนแปลงค่าภาคหลวงจาก 12.5 % เป็นการเก็บแบบขั้นบันได 5-15 % ซึ่งในขณะนั้นราคาน้ำมันดิบมีราคปาระมาณ 18 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบมีราคา 100-120 เหรียญต่อบาร์เรล แต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังยืนยันว่า ระบบที่ใช้อยู่เป็นส่วนแบ่งที่เหมาะสมแล้ว
ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ทั้งพม่า กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ล้วนเปลี่ยนมาใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต (Production หรือ Profit Sharing )แทนระบบสัมปทาน( Concession) ซึ่งทั้ง 2ระบบต่างกันที่เรื่อง "กรรมสิทธิ" ปิโตรเลียมว่า เป็นของรัฐ หรือเอกชน

1. ระบบสัมปทาน กรรมสิทธิ์เป็นของเอกชน เมื่อเอกชนรายใดได้รับสัมปทานปิโตรเลียมจากรัฐบาล กรรมสิทธิปิโตรเลียมที่ขุดได้ จะตกเป็นของเอกชนทั้งหมด และเอกชนจ่ายผลตอบแทนให้รัฐบาลเป็นส่วนน้อย เมื่อเอกชนเป็นเจ้าของผลผลิตปิโตรเลียม ตามกฎหมายปิโตรเลียม 2514 จึงสามารถส่งออกปิโตรเลียมที่ตนเองขุดได้ในประเทศไทยเท่าไร ก็ได้ และเวลาขายให้คนไทยก็ขายในราคาเท่ากับนำเข้าจากต่างประเทศ

2. ระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิปิโตรเลียมเป็นของรัฐ เอกชนเป็นเจ้าของเฉพาะส่วนแบ่งที่ได้รับเอกชนหักค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะแล้ว ส่วนที่เหลือคือกำไร ที่ต้องนำมาแบ่งกัน และรัฐบาลทุกประเทศจะได้ส่วนแบ่งมากกว่าเอกชน อินโดนีเซีย จะได้ส่วนแบ่งที่รวมภาษีแล้ว 85% ในส่วนผลผลิตที่หักค่าใช้จ่ายการขุดเจาะแล้ว และเอกชนได้ส่วนแบ่ง 15 % และในส่วนแบ่งปิโตรเลียม15 %นั้น เอกชนต้องขายคืนให้รัฐจำนวน 25%ในราคาลด 25% จากราคาตลาดโลก

พม่าได้ค่าภาคหลวง10% และหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเอาส่วนแบ่งกำไรอีก50-80% และภาษีอีก30%

กัมพูชา ได้ค่าภาคหลวง12.5% และได้ส่วนแบ่งกำไรอีก 40-60% และภาษีอีก 30%

ส่วนประเทศไทยได้ค่าภาคหลวง 5-15 % และภาษีเงินได้ 50 % ไม่มีส่วนแบ่งผลผลิตหรือกำไร ได้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอีกเล็กน้อย

" แต่กระทรวงพลังงานยืนหยัด ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อให้ประเทศ และประชาชนได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นทรัพยากรของประเทศก่อนที่จะเปิดสัมปทานรอบใหม่ รอบที่ 21 และยังจะอาศัยช่วงประชาชนชุลมุน เปิดสัมปทานภายในปลายปี 2556 ต่อช่วงต้นปี 2557 จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานหยุดการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีการปฏิรูประบบการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต"

***ก.พลังงานยันยังไม่ให้สัมปทาน

นายชวลิต พิชาลัย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยหลังการรับหนังสือคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ว่า ขณะนี้กระทรวงฯยังไม่ได้มีการพิจารณาเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม(รอบที่21) เนื่องจากแผนงานทั้งหมดจะต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ดังนั้นจำเป็นต้องรอนโยบายจากรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งให้ความเห็นชอบว่าจะเปิดหรือไม่อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น