xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ชูธงปฏิรูปพลังงาน เลิกกองทุนน้ำมัน หยุดขึ้นราคาก๊าซฯ ลดราคาเบนซิน10บ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กรรมสิทธิ์ในสัมปทานขุดเจาะ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ปฎิรูปประเทศไทย หัวใจคือปฏิรูประบบพลังงาน หากไม่ปฏิรูประบบพลังงานคนไทยไม่มีวันหายจน …. จะหลอกพี่น้องคนไทยไปเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.ทำไม ถ้าประชาธิปไตย “มันกินไม่ได้” ….. ร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทยด้วยการปฏิรูประบบพลังงาน เพื่อปากท้องพี่น้องคนไทยทั้ง 65 ล้านคน …. นโยบายเร่งด่วน ยกเลิกกองทุนน้ำมัน หยุดการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม ลดราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ 5 - 10 บาท/ลิตร ทันที

นั่นเป็นข้อเรียกร้องและแคมเปญรณรงค์ปฏิรูปประเทศไทยที่มีหัวใจอยู่ที่การปฏิรูประบบพลังงาน ปัญหาสำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยทุกคน ทุกหย่อมหญ้า ไม่ว่าจะสีไหน ภาคไหน อยู่ในเมืองหรือบ้านนอกก็ล้วนแต่ได้รับผลกระทบทั้งสิ้น

เป็นเรื่องที่ไม่มีใครปฏิเสธว่า ต้นทุนพลังงานทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นเพราะทุกสิ่งอย่างล้วนแต่บวกต้นทุนค่าพลังงานรวมอยู่ด้วยทั้งสิ้น แต่ทว่าเรื่องสำคัญเช่นนี้ประชาชนกลับมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและตรวจสอบน้อยมากๆ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาจนถึงบัดนี้ ระบบการบริหารจัดการพลังงานของไทย ตกอยู่ในมือของกลุ่มบุคคลเพียงแค่หยิบมือที่สวมหมวกหลายใบเล่นหลายบท ทั้งกำหนดนโยบายและเข้าไปมีส่วนได้เสียกับการดำเนินธุรกิจพลังงานเสียเองด้วย

จวบจนกระทั่งวุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล ที่มีนางสาวรสนา โตสิตระกูล เป็นประธาน เมื่อเดือนพ.ค. 2551 ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสภาในการเข้ามาศึกษาและตรวจสอบระบบพลังงานของประเทศอย่างจริงจังเป็นครั้งแรก และต้องถือว่ารายงานการศึกษาเรื่อง “ธรรมาภิบาลในระบบพลังงานของประเทศ ภาคที่หนึ่ง และ ภาคที่สอง” ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกอุของคณะกรรมาธิการฯ ชุดดังกล่าวโดยที่ประชุมวุฒิภามีมติเห็นชอบ เป็นรายงานการศึกษาชิ้นสำคัญที่จุดกระแสการรณรงค์ให้มีการปฏิรูประบบพลังงานของประเทศมาอย่างต่อเนื่องในระยะสี่ห้าปีที่ผ่านมานี้

คำถามต่อบทบาทของข้าราชการระดับสูงผู้กำหนดนโยบายที่ถ่างขาควบหลายตำแหน่งทั้งหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนด้านพลังงาน

คำถามต่อองค์กรซ่อนเงื่อนอย่าง ปตท. รัฐวิสาหกิจพลังงานของชาติในคราบของบริษัทมหาชนในตลาดหลักทรัพย์

คำถามต่อนักการเมืองที่ปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนยิ่งกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

คำถามต่อนักวิชาการด้านพลังงานที่ผลิตวาทกรรมรับใช้นักการเมืองและบริษัทพลังงานมากกว่าการให้ความรู้แก่สังคม

คำถามถึงราคาน้ำมันและก๊าซฯที่ต้องอิงตลาดโลกทั้งที่ผลิตในประเทศ

คำถามถึงกองทุนน้ำมัน

คำถามถึงระบบสัมปทานปิโตรเลียมที่ได้ผลตอบแทนต่ำ ฯลฯ เหล่านี้เกิดขึ้นท่ามกลางความสงสัยในผลกำไรมหาศาลนับหมื่นนับแสนล้านในแต่ละปีของกลุ่มธุรกิจพลังงาน

ขณะที่คำถามเหล่านั้นไม่มีคำตอบที่น่าพอใจและให้ความกระจ่างใดๆ แก่ประชาชนผู้ถูกขูดรีดภายใต้ระบบที่ออกแบบมาเพื่อกำไรสูงสุดของบริษัทและผ่องถ่ายมาเป็นค่าตอบแทนผู้กำหนดนโยบายและออกแบบระบบที่บิดเบี้ยวนี้

นี่จึงเป็นเหตุผลที่จะต้องมีการปฏิรูประบบพลังงานของประเทศ และถือเป็นภารกิจสำคัญในการปฏิรูปประเทศไทย ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการปฏิรูปตำรวจและปราบคอร์รับชั่น

ดังนั้น การชุมนุมของมวลมหาประชาชน จึงไม่รีรอที่จะทวงถามและกดดันให้มีการปฏิรูประบบพลังงานในทุกด้าน โดยกรอบการปฏิรูปพลังงานเบื้องต้น ที่ “สภาปฏิรูปพลังงาน” เสนอมีทั้งหมด 9 ข้อ คือ

1.หยุดให้สัมปทานปิโตรเลียม ครั้งที่ 21

2.ให้มีการปฏิรูปราคาก๊าซฯและน้ำมันทุกชนิดให้สะท้อนต้นทุนจริง แทนการอ้างอิงราคาก๊าซ น้ำมัน ตามราคาตลาดโลก

3.ให้ยกเลิกมติครม.ที่ปรับขึ้นราคาก๊าซฯ โดยหยุดขึ้นราคาก๊าซฯ และลดราคาน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอลล์ลงทุนที่ 5-10 บาท/ลิตร

4.จัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีสัดส่วนของภาคประชาชนกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการทั้งหมดเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการปฏิรูปพลังงานของประเทศในทุกด้านให้เป็นธรรม และแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมให้สัดส่วนสัมปทานมากกว่า 80% ให้ประชาชนในพื้นที่ร่วมตรวจสอบปริมาณการขุดเจาะ การบริหารจัดการ แบะการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 85,67,66(4) และ 78

5.หยุดเอาเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยให้ปตท.และโรงกลั่นเนื่องจากเป็นต้นทุนเทียมและเป็นการค้ากำไรเกินควร

6.ยกเลิกพ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 และแก้ไข พ.ศ. 2550 ฉบับ 5, 6 ที่อนุญาตให้ข้าราชการกระทรวงพลังงานไปเป็นบอร์ดหรือผู้บริหาร ปตท. และบริษัทลูก

7.ยกเลิกการผูกขาดซื้อ ขาย ก๊าซ น้ำมัน โดยบริษัท ปตท.

8.ยกเลิกการผูกขาดขายไฟฟ้าโดย กฟผ.

9.สร้างกองทุนสวัสดิการประชาชนจากปิโตรเลียม เพื่อให้การศึกษาเยาวชนถึงปริญญาตรีฟรีสวัสดิการแก่คนยากจน แก้ไขปัญหาหนี้สินนอกระบบ

ภายใต้กรอบการปฏิรูปพลังงานข้างต้น คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กองทัพประชาชนฯ และตัวแทนจากสภาปฏิรูปพลังงาน ได้ออกแถลงการณ์และยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อกระทรวงพลังงานเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. ที่ผ่านมา ให้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงานแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีสัดส่วนของภาคประชาชนกึ่งหนึ่งของจำนวนคณะกรรมการทั้งหมด เพื่อจัดทำนโยบายและแผนการปฏิรูปพลังงานของประเทศไทยในทุกด้านให้เป็นธรรม

นอกจากนั้น ยังขอให้ลดราคาน้ำมันเบนซินลง 10 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ 5 บาทต่อลิตร ขอให้รัฐบาลหยุดการขึ้นราคาและน้ำมัน ขอให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม.ที่ให้อ้างอิงราคาก๊าซและน้ำมันตามราคาตลาดโลกโดยเปลี่ยนมาใช้ราคาที่สะท้อนต้นทุนจริง และมีกรรมการสามฝ่ายเป็นผู้พิจารณาราคาเหมือนค่าโดยสารรถยนต์ และขอให้หยุดเลือกปฏิบัติโดยให้ภาคปิโตเคมีจ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ในอัตราเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นอีก 12 บาทต่อกก. และให้แก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฯลฯ

ขณะเดียวกัน ยังมีข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบพลังงานของประเทศไทยที่แชร์กันในเครือข่ายรณรงค์ปฏิรูปพลังงานผ่านหัวหอกคนสำคัญ อาทิ หม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา และนักวิชาการอิสระ, อิฐบูรณ์ อ้นวงศา จากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อีกด้วย โดยมีข้อเสนอ คือ

1. ยกเลิกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากเป็นการจัดเก็บเงินจากประชาชนและใช้จ่ายเงินที่ไม่ผ่านการตรวจสอบของระบบรัฐสภา มีการใช้ผิดวัตถุประสงค์ และไม่มีความจำเป็นแล้วในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงมีความเป็นธรรมต่อประชาชนมากขึ้น

2. ยกเลิก พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 และออกกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่เปลี่ยนระบบการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต

2.1 ในกฎหมายปิโตรเลียมฉบับใหม่ให้มีการจัดตั้งบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติขึ้น เป็นองค์กรของรัฐจะนำมาขายหรือกระจายหุ้นเปลี่ยนแปลงเป็นเอกชนไม่ได้ ให้มีอำนาจหน้าที่ในการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแทนกระทรวงพลังงาน (ไม่ใช่ ปตท. เพราะถูกแปรรูปเป็นเอกชนไปแล้ว)

2.2 ให้รัฐโดยบริษัทปิโตรเลียมแห่งชาติเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมทั้งหมดของประเทศทั้งใต้ดินและที่ขุดขึ้นมาได้ รวมทั้งเป็นเจ้าของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและโรงแยกก๊าซธรรมชาติในส่วนที่เคยเป็นของรัฐแล้วถูก ปตท. ถือครองแทน

2.3 เอกชนที่ได้สิทธิเข้าดำเนินการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมอยู่ในฐานะผู้รับจ้างมิใช่ผู้รับสัมปทาน จะได้รับค่าตอบแทนจากรัฐเป็นปิโตรเลียมที่ผลิตได้ ในสัดส่วนที่เหมาะสมเป็นธรรมภายใต้การควบคุมของรัฐ

3. ให้พัฒนากฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงทางอ้อม โดยคุมสัดส่วนการถือครองหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ ปตท. และบริษัทในเครือ ไม่ให้เกิน 30%

4. แก้ไข พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ พ.ศ.2535 ให้มีสัดส่วนของนักวิชาการที่มาจากการสรรหาของประชาชน และตัวแทนประชาชนเกินกึ่งหนึ่ง เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศมากขึ้น

5. ให้ออกกฎหมายพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ที่มีหลักการสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานหมุนเวียนทุกรูปแบบ สามารถขายเข้าระบบไฟฟ้าได้ก่อนพลังงานกลุ่มฟอสซิล โดยไม่มีการจำกัดปริมาณ เป็นสัญญาระยะยาว เพื่อปรับทิศทางการใช้พลังงานหลักของประเทศเป็นพลังงานหมุนเวียนในท้ายที่สุด

อย่างไรก็ตาม ประเด็นร้อนเร่งด่วนในเวลานี้คือ การให้สัมปทานน้ำมันที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการ ซึ่งนางสาวรสนา โตสิตระกูล ส.ว.กรุงเทพฯ ได้ออกแถลงการณ์ปรามให้กระทรวงพลังงาน “หยุดลักไก่ให้สัมปทานน้ำมันช่วงวิกฤติของบ้านเมือง” โดยแฉว่า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงานอาศัยช่วงชุลมุนทางการเมืองของประชาชนเตรียมเสนอบอร์ดปิโตรเลียมให้เปิดสัมปทานรอบที่ 21 ในช่วงขึ้นปีใหม่ 2557 โดยไม่ยอมปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยส่วนแบ่งผลผลิตเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรมก่อนจะเปิดสัมปทานรอบใหม่

ระบบสัมปทานปิโตรเลียมที่ประเทศใช้อยู่ตามกฎหมายปิโตรเลียม พ.ศ 2514 มีการแก้ไขส่วนแบ่งรายได้ในปี 2532 เพียงครั้งเดียวโดยเปลี่ยนแปลงค่าภาคหลวงจาก 12.5% เป็นการเก็บแบบขั้นบันได 5-15% ซึ่งในขณะนั้นราคาน้ำมันดิบมีราคาประมาณ 18 เหรียญต่อบาร์เรล แต่ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบมีราคา 100-120 เหรียญต่อบาร์เรล แต่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติยังยืนยันว่าระบบที่ใช้อยู่เป็นส่วนแบ่งที่เหมาะสมแล้ว ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา ทั้งพม่า กัมพูชา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ล้วนเปลี่ยนมาใช้ระบบการแบ่งปันผลผลิต (Production หรือ Profit Sharing) แทนระบบสัมปทาน (Concession) ทั้ง 2 ระบบต่างกันที่เรื่อง “กรรมสิทธิ์” ปิโตรเลียมว่าเป็นของรัฐหรือเอกชน

1) ระบบสัมปทาน กรรมสิทธิ์เป็นของเอกชน เมื่อเอกชนรายใดได้รับสัมปทานปิโตรเลียมจากรัฐบาล กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมที่ขุดได้ จะตกเป็นของเอกชนทั้งหมด และเอกชนจ่ายผลตอบแทนให้รัฐบาลเป็นส่วนน้อย เมื่อเอกชนเป็นเจ้าของผลผลิตปิโตรเลียม ตามกฎหมายปิโตรเลียม 2514 จึงสามารถส่งออกปิโตรเลียมที่ตนเองขุดได้ในประเทศไทยเท่าไหร่ก็ได้ และเวลาขายให้คนไทยก็ขายในราคาเท่ากับนำเข้าจากต่างประเทศ

2) ระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ เอกชนเป็นเจ้าของเฉพาะส่วนแบ่งที่ได้รับ เอกชนหักค่าใช้จ่ายในการขุดเจาะแล้ว ส่วนที่เหลือคือกำไรที่ต้องนำมาแบ่งกัน และรัฐบาลทุกประเทศจะได้ส่วนแบ่งมากกว่าเอกชน อินโดนีเซีย จะได้ส่วนแบ่งที่รวมภาษีแล้ว 85% ในส่วนผลผลิตที่หักค่าใช้จ่ายการขุดเจาะแล้ว และเอกชนได้ส่วนแบ่ง 15% และในส่วนแบ่งปิโตรเลียม 15% นั้น เอกชนต้องขายคืนให้รัฐจำนวน 25% ในราคาลด 25% จากราคาตลาดโลก พม่าได้ค่าภาคหลวง10% และหลังหักค่าใช้จ่ายแล้วเอาส่วนแบ่งกำไรอีก 50-80% และภาษีอีก 30% ส่วนกัมพูชา ได้ค่าภาคหลวง 12.5% และได้ส่วนแบ่งกำไรอีก 40-60% และภาษีอีก 30% ส่วนประเทศไทยได้ค่าภาคหลวง 5-15% และภาษีเงินได้ 50% ไม่มีส่วนแบ่งผลผลิตหรือกำไร ได้ผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษอีกเล็กน้อย

ระบบของประเทศอินโดนีเซียเป็นต้นแบบการจัดการส่วนแบ่งรายได้จากทรัพยากรปิโตรเลียมที่ประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ประเทศไทยนำไปใช้ ยกเว้นประเทศไทยยังคงยืนหยัดจะใช้ระบบเดิมที่ใช้มาเป็นเวลา 42 ปี ซึ่งเป็นระบบของยุคล่าอาณานิคม ที่เจ้าอาณานิคมได้ทรัพยากรทั้งหมดไปเป็นกรรมสิทธิ และจ่ายเงินตอบแทนเพียงเล็กน้อยให้ประเทศเจ้าของทรัพยากร

ระบบแบ่งปันผลผลิต กรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมเป็นของประเทศและประชาชน ถ้ารัฐบาลขายประชาชนในราคาถูก ประชาชนได้ประโยชน์ ระบบเศรษฐกิจมีศักยภาพในการแข่งขัน แต่ถ้ารัฐบาลขายราคาสูง รัฐบาลจะได้รายได้เพื่อเป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ โดยไม่ต้องกู้ หรือกู้น้อยลง ไม่เป็นภาระกับประชาชนแต่ระบบสัมปทานของไทย เอกชนได้กำไรสูง ประชาชนต้องใช้ราคาก๊าซและน้ำมันแพง โดยรัฐได้ส่วนแบ่งรายได้ที่ไม่เป็นธรรม แต่กระทรวงพลังงานยืนหยัดไม่ยอมเปลี่ยนแปลงระบบเพื่อให้ประเทศ และประชาชนได้ประโยชน์จากส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่เป็นทรัพยากรของประเทศก่อนที่จะเปิดสัมปทานรอบใหม่ รอบที่ 21 และยังจะอาศัยช่วงประชาชนชุลมุนเปิดสัมปทานภายในปลายปี 2556 ต่อช่วงต้นปี 2557

ส.ว.รสนา ได้เรียกร้องให้กระทรวงพลังงานหยุดการดำเนินการใดๆ จนกว่าจะมีการปฏิรูประบบการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่คัดค้านการเปิดสัมปทานรอบ 21 ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ที่ทำให้กระทรวงพลังงานต้องเลื่อนการเปิดสัมปทานรอบ 21 ออกไปจากที่กำหนดไว้เดิมในเดือนมิถุนายน 2554 และให้หยุดฉ้อฉลใช้วิกฤตของบ้านเมืองเป็นโอกาสในการดำเนินการเพื่อประโยชน์ของเอกชนมากกว่าประเทศชาติและประชาชน บัดนี้ประชาชนจำนวนมหาศาลได้ตื่นตัวขึ้นมาปกป้องผลประโยชน์ปิโตรเลียมของพวกเขา และเฝ้าจับตากลุ่มธุรกิจการเมือง กับข้าราชการที่ฉ้อฉลไม่ให้ฉวยโอกาสปล้นชิงทรัพยากรของประชาชนอีกต่อไป

พอเจอไม้นี้เข้า กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ออกมาชี้แจงโต้ตอบแถลงการณ์ของ ส.ว.รสนา โดยยืนยันเตรียมเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 แม้จะอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการณ์ เพราะถือเป็นไปตามแผนงานปกติ คาดว่าจะออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนเข้ายื่นขอสัมปทานช่วงมิถุนายน 2557 และการให้สิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม จะใช้ระบบสัมปทานต่อไปไม่เปลี่ยนแปลง แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้เปลี่ยนเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตก็ตาม โดยอ้างว่าจะเป็นระบบสัมปทานหรือระบบแบ่งปันผลผลิตกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมไม่ได้มีความแตกต่างกัน และอธิบายเป็นคุ้งเป็นแควว่า ระบบผลตอบแทนที่ได้รับจากการให้สัมปทานนั้นดีเลิศอยู่แล้ว

ช่างเป็นท่าทียืนหยัดหนักแน่นในการรักษาผลประโยชน์ของบริษัทเอกชนผู้รับสัมปทานเสียยิ่งกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน โดยไม่นำพาว่าประเทศอื่นทั่วโลกแม้แต่เพื่อนบ้านที่ไทยอวดตัวว่าเหนือกว่าอย่างกัมพูชา พม่า ก็ยังชาญฉลาดและมีสติปัญญามากกว่าไทยในการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติที่ประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ


รายได้บริษัทปิโตรนาส ปตท.
เหตุผลที่ต้องปฏิรูปพลังงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น