ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-จากกระแสข่าวที่ถูกปล่อยมาเป็นระลอกว่า บ.เซิ่นเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด ที่ชนะการประมูลด้วยวิธีจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ออกชัน แท็บเล็ตระดับประถมศึกษาปีที่ 1 โซน 1 (ภาคกลางและภาคใต้) และ โซน 2 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ในโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ต่อ 1 นักเรียน ประจำปีการศึกษา 2556 จะยกธงขาวหลังเจรจาขอต่อรองกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ภายหลังครบระยะเวลาการส่งมอบของตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาและต้องเข้ากระบวนการปรับจำนวน 2.2 ล้านบาทต่อวันว่า ไม่ขอจ่ายค่าปรับจำนวนดังกล่าว ขอขยายเวลาการจัดส่งออกไปอีก 60 วันนับแต่วันครบกำหนดส่งของตามสัญญา และขอให้คณะกรรมการตรวจรับไปตรวจรับของที่จีน แต่ สพฐ.ปฏิเสธตามที่ร้องขอ ทั้งมีกระแสข่าวด้วยว่า บ.เซิ่นเจิ้น อิงถังฯ ขาดเสถียรภาพในการดำเนินการผลิต
ที่สุดเป็นที่แน่ชัดว่า บ.เซิ่นเจิ้น อิงถังฯ ได้ฉีกสัญญาซื้อขายและขายทรัพย์สินหอบข้าวของหนีกลับไปประเทศจีนแถมให้เหตุผลตบหน้ารัฐบาลเป็นการทิ้งทวน โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ ได้อออกมายอมรับว่า เมื่อวันที่ 30 ม.ค.ที่ผ่านมาบริษัทเซิ่นเจิ้น อิงถังฯ ได้ทำหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญาซื้อขายแท็บเล็ตโดยให้เหตุผลถึงความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองไทย ความเข้าใจต่อทีโออาร์ และสัญญาไม่ตรงกัน รวมถึงการติดต่อสื่อสารมีปัญหาอุปสรรคจนกระทั่งบริษัทส่งมอบของล่าช้าและถูกเรียกค่าปรับ ทั้งแจ้งอีกว่าเพื่อไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการแท็บเล็ตฯและเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียทางธุรกิจจึงขอยกเลิกสัญญาทั้งหมดที่ได้ลงนาม ส่วนการขอคืนหลักประกันตามสัญญาที่ทางบริษัทได้มอบไว้ขอสงวนสิทธิ์อุทธรณ์ตามกฎหมาย
ผลของการฉีกสัญญาซื้อขายส่งผลให้เด็กป. 1 โซน 1 (ภาคกลางและภาคใต้) จำนวน 431,105 เครื่อง มูลค่า 842 ล้านบาท และป. 1 โซน 2 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 373,637 เครื่อง เป็นเงิน 786 ล้านบาท รวมวงเงิน 1,628 ล้านบาท ชวดได้รับเครื่องแท็บเล็ตจากเดิมที่ล่าช้ามาจนเกือบครบปีการศึกษา 2556 เพราะ สพฐ.ต้องถอยหลังไปสู่จุดเริ่มต้นเพื่อเริ่มกระบวนการจัดซื้อใหม่อีกครั้งและคงจะได้แท็บเล็ตพร้อมกับเด็กป. 1 และม. 1 ในปีการศึกษา 2557
ทั้งนี้ ปัญหาการจัดซื้อแท็บเล็ตมีมากมายจนกลายเป็นดินพอกหางหมู แต่เวลานี้ไม่ใช่แค่โซน 1 และ 2 เท่านั้นที่ส่งเครื่องแท็บเล็ตไม่ได้และถูกปรับรายวันแต่ยังมีโซน 4 ระดับม. 1 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) จำนวน 402,889 เครื่อง ที่ บ.จัสมิน เทเลคอมซิสเต็มส์ จำกัด ชนะประมูลราคา 873,866,241 บาท ซึ่งก็อยู่ในกระบวนการปรับรายวัน ๆ ละ 1.5 ล้านบาทนับแต่วันครบกำหนดสัญญาการส่งมอบของวันที่ 24 ธ.ค.2556 ที่ผ่านมา ในกรณีทั้ง 2 บริษัทยังส่งของไม่ได้ภายใน 50 วันหรือปรับรายวันจนครบ 10% ของวงเงินงบประมาณการจัดซื้อตามระเบียบกรมของบัญชีกลาง สพฐ.สามารถยกเลิกสัญญาได้
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ สพฐ.ได้เปิดโอกาสให้ทั้ง บ.เซิ่นเจิ้น อิงถังฯ และบ.จัสมินฯ ส่งแผนการจัดส่งเครื่องมาให้ภายในวันที่ 6 ก.พ. ซึ่งก็คงเหลือเพียง บ.จัสมินฯ แห่งเดียวนั้นว่าจะส่งหนังสือยกเลิกสัญญาหรือแผนจัดส่งมา อย่างไรก็ตาม สพฐ.ค่อนข้างมั่นใจว่า บ.จัสมินฯจะไม่ยกเลิกสัญญาแน่นอนเนื่องจากเป็นบริษัทคนไทยและมีหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ อีกทั้งยังเป็นบริษัทเพียงแห่งเดียวที่สามารถจัดส่งแท็บเล็ตให้กับสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ จำนวนประมาณ 200 เครื่องได้เรียบร้อย
นอกจากนี้ เรื่องเก่าที่คาราคาซังอยู่ คือ โซน 3 ระดับ ม.1 (ภาคกลางและภาคใต้) จำนวน 426,683 เครื่อง ที่ บ.สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ชนะการประมูล 1,240,900,000 บาทได้ถูกยกเลิกสัญญามาแต่ช่วงปี 2556 และบริษัทได้อุทธรณ์ตามกระบวนการขั้นตอนของราชการตั้งแต่คณะกรรมการว่าด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (กวพ.อ.) จนถึงปัจจุบันที่เรื่องตกมาอยู่ในมือของ สพฐ.และคณะกรรมการบริหารนโยบายโครงการฯ ที่ต้องเป็นผู้ตัดสินว่าจะรับคำอุทธรณ์ของบ.สุพรีมฯ ให้ยกเลิกมติเพิกถอนประมูลหรือไม่อีกครั้งตามคำแนะนำของ กวพ.อ.
ความเสียหายที่เกิดขึ้นสามารถประเมินมูลค่าเม็ดเงินได้ แต่ผลกระทบที่ไปสู่นักเรียนที่เสียโอกาสในการใช้แท็บเล็ตในการเรียนนั้นเป็นเรื่องที่ประเมินมูลค่ายากยิ่งกว่า เพราะโครงการดังกล่าวเริ่มทำตั้งแต่ปี 2555 ที่ ศ.ดร.สุชาติ ธาดาธำรงเวช เป็น รมว.ศึกษาธิการ มาเริ่มคืบหน้าเห็นรูปร่างในปี 2556 สมัยที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา นั่งเก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ สานงานต่อและก็เกิดพบปัญหาผิดปกติในโซน 3 ก่อนจะเปลี่ยนตัว รมว.ศึกษาธิการ เป็น นายจาตุรนต์ มารับช่วงเก็บกวาดปัญหาจนกระทั่งมาอยู่ในช่วงรัฐบาลรักษาการ การแจกแท็บเล็ตยังทำไม่ได้ หลายงานก็ค้างเหมือนตกสุญญากาศ สะท้อนถึงความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลที่ไม่สามารถทำให้นโยบายซึ่งประกาศไว้เดินไปสู่ความสำเร็จ
ในเรื่องนี้ นายจาตุรนต์ ยอมรับว่า “แม้จะให้ สพฐ.ไปดูเรื่องการริบวงเงินค้ำประกัน 120 ล้านบาท รวมถึงการฟ้องร้อง บ.เซิ่นเจิ้น อิงถังฯ ในฐานะผู้ละทิ้งงานและเรียกร้องค่าเสียหายในส่วนต่าง ๆ ได้แต่คงไม่คุ้มกับความเสียหายที่เด็กไม่ได้ใช้แท็บเล็ต ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้เช่นจะยกเลิกก็ยกเลิกไม่ได้ เหมือนเขาวงกตตกหลุมดำแล้วหาทางออกไม่เจอ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพูดได้เต็มปากว่าโครงการนี้ไม่มีปัญหาทุจริต คอร์รัปชัน กรณีมีการทักท้วงก็หาทางตรวจสอบเพื่อให้หมดข้อสงสัย บางเรื่องที่เห็นว่าจะมีการทุจริตก็ระงับยับยั้ง ทำการตรวจสอบจนกระทั่งมีมติยกเลิกบางสัญญาไปแต่ก็ยังไม่เป็นผลเพราะมีข้อทักท้วงมาอีก เพราะฉะนั้น โดยรวมแล้วตลอดกระบวนการไม่มีการทุจริตและไม่มีข้อกล่าวหาเรื่องทุจริต แต่กลับพบปัญหาใหญ่คือความไม่สำเร็จในการจัดซื้อ เป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดจากความล่าช้า ซึ่งเรื่องนี้กระทบต่อรัฐบาลอยู่บ้างในแง่นโยบายที่ยังไม่เกิดผลสัมฤทธิ์แต่ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของนโยบาย แต่เกิดจากระบบการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพความล้มเหลวของการบริหารจัดการ ที่แม้ผมจะมาในช่วงหลังก็ต้องร่วมรับผิดชอบหาทางแก้ปัญหา”
ขณะที่แหล่งข่าวจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ความเห็นว่า ระเบียบทางราชการเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การดำเนินการจัดซื้อแท็บเล็ต ปีการศึกษา 2556 ครั้งนี้เกิดปัญหาเพิ่มพูนและเรื้อรังจนไม่สามารถดำเนินการจัดซื้อแท็บเล็ตได้สำเร็จ โดยเฉพาะระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีความล้าสมัยไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบันที่มีระบบหลากหลายขึ้น ขณะที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกที่มีการประมูลอี-ออกชันที่เปิดโอกาสให้บริษัทต่างประเทศมาร่วมได้ก็จะดำเนินการบนมาตรฐานที่เป็นยอมรับร่วมกันและมีความทันสมัย ฉะนั้นถึงเวลาน่าจะทบทวนและปรับปรุง
“ถ้าถามหาความรับผิดชอบก็ต้องเป็นคณะกรรมการบริหารนโยบายฯ เพราะเป็นผู้ที่กำหนดนโยบายว่าจะให้ดำเนินการจัดซื้อด้วยรูปแบบอี-ออกชัน แต่ไม่ได้หมายความระบบดังกล่าวไม่ดีหรือระบบการจัดซื้อแบบจีทูจีที่เคยทำในครั้งแรกดีกว่าเพราะมีข้อแตกต่างโดยครั้งแรกยังไม่มีการตั้งงบประมาณรัฐบาลอาศัยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นตัวกำกับซึ่งทำได้เพราะนับว่าเป็นการเริ่มต้นโครงการและควรทำครั้งเดียว แต่ถ้าใช้วิธีการเดิมในครั้งที่สองก็จะเป็นช่องให้พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นำมาเป็นเงื่อนไขในการโจมตี ตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมีการดำเนินการที่ไม่โปร่งใส เพราะมีการตั้งงบประมาณดำเนินการและระเบียบราชการที่ใช้กำกับการก็มี ดังนั้นก็เป็นการถูกต้องแล้วที่ต้องทำตามระเบียบราชการเพียงแต่เรามีปัญหาว่าระเบียบล้าสมัย”แหล่งข่าว ศธ.ระบุ
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 7 ก.พ.ในการประชุมคณะกรรมการบริหารฯ จะมีการพิจารณาข้อมูลที่ได้ให้โจทย์คณะกรรมการจัดซื้อและคณะกรรมการตรวจรับ ของสพฐ.ไปรวบรวม ประมวล และวิเคราะห์บทเรียนจากการดำเนินการที่ผ่านมาทุกด้านทั้งที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ การจัดส่ง สเปกของเครื่อง ประโยชน์ของการใช้งาน โดยเฉพาะให้ไปดูเงื่อนไขและหลักเกณฑ์ทีโออาร์ หลักเกณฑ์การประมูลและการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมประมูลซึ่งในกรณีที่เป็นบริษัทต่างประเทศจะต้องมีหลักเกณฑ์และคุณสมบัติเช่นไรบ้างทั้งที่สอดคล้องกับหลักสากลและสร้างความมั่นใจว่าได้ผู้ขายผู้ผลิตที่ทำงานได้จริง เพื่อคณะกรรมการบริหารนโยบายฯ ใช้เป็นข้อมูลสรุปแก้ปัญหาในทุกโซน
แน่นอนว่าในโซนที่ 1-2 ต้องมีการเปิดประมูลใหม่ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าข้อเสนอที่กระจายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.)จัดซื้อจะเป็นทางออกหนึ่งที่อาจถูกเลือกใช้ หรือใช้รูปแบบเดิมที่ 7 หน่วยงานมอบอำนาจ สพฐ.ดำเนินการแทนยกเว้นกรณีที่ให้แต่ละหน่วยงานดำเนินการเองคงต้องพิจารณาถี่ถ้วนเพราะที่สุดอาจถูกตั้งข้อสังเกตได้อีกหากการประมูลจัดซื้อราคาต่างกัน ส่วนโซน 3 แนวโน้มก็เป็นได้ทั้งสองทางว่าบอร์ดจะรับหรือไม่รับการอุทธรณ์ของให้ยกเลิกมติเพิกถอนประมูล โดยหากคงมติเดิมก็ต้องดำเนินการอี-ออกชันใหม่แต่ทางบริษัทก็จะดำเนินการฟ้องร้อง แต่หากรับการอุทธรณ์ บ.สุพรีมฯ ก็สามารถดำเนินการผลิตและจัดส่งมอบเครื่องแท็บเล็ต ม.1 โซน 3 ตามที่ชนะประมูลต่อไป