xs
xsm
sm
md
lg

นโยบายขายฝันแจก “แท็บเล็ต’56” ส่อแววเด็กฝันค้าง!!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายโครงการ 1 คอมพิวเตอร์แท็บเล็ตแบบพกพา ต่อ 1 นักเรียน เพื่อแจกให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มาตั้งแต่ปีการศึกษา 2555 ที่ผ่านมา โดยใช้วิธีการจัดซื้อระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือ จีทูจี
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ต่อเนื่องมาในปีการศึกษา 2556 โครงการดังกล่าวยังคงเดินหน้าต่อ คือซื้อแท็บเล็ตแจกให้กับนักเรียนระดับ ป.1 แต่ได้เพิ่มการจัดซื้อในระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ด้วย รวมจำนวนกว่า 1.6 ล้านเครื่อง วงเงิน 4,611 ล้านบาท ซึ่งการจัดซื้อเครื่องแท็บเล็ตในปีการศึกษา 2556 นี้ แต่เปลี่ยนรูปแบบการจัดซื้อใหม่จากเดิมแบบจีทูจี มาเป็นประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-ออกชัน ภายในประเทศโดยใช้งบประมาณจากหน่วยงานที่สถานศึกษาในกำกับ รวม 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา, สำนักงานการศึกษาเอกชน, สำนักงานการศึกษากรุงเทพมหานคร, สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ, กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน, กรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น และสำนักการศึกษาเมืองพัทยา มาจัดซื้อและมอบอำนาจให้ สพฐ.เป็นเจ้าภาพทำหน้าที่แทน

ที่ผ่านมา สพฐ.ได้กำหนดให้มีการประมูลอี-ออกชัน ออกเป็น 4 โซน โดยบริษัทที่ผ่านเข้าสู่ อี-ออกชัน และชนะการประมูลแต่ละโซน มีดังนี้ โซน 1 (ภาคกลางและภาคใต้) ป.1 จำนวน 431,105 เครื่อง มีผู้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติเอกสารต่างๆ แคตตาล็อก สเปก และการทดสอบตกหล่น (Drop Test) สามารถไปสู่กระบวนการอี-ออกชันได้ 3 ราย คือ บริษัท เซิ่นเจิ้น อิงถัง อินเทลลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด, บริษัท เซิ่นเจิ้น สโคป ไซแอนท์ฟิก ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด และบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ชนะการประมูล ได้แก่ บริษัท เซิ่นเจิ้น อิงถัง เสนอราคาต่ำสุดที่วงเงิน 842,000,000 บาท จากราคาเริ่มต้นประมูล 1,172,605,600 บาท ลดลงไป 330,605,600 บาท ประหยัดไปได้ 28.19% คิดเป็นราคาต่อเครื่อง 1,953.12 บาท
โซน 2 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ระดับ ป.1 จำนวน 373,637 เครื่อง ผ่านไปสู่กระบวนการอี-ออกชัน 4 ราย คือ บริษัท เซิ่นเจิ้น อิงถัง, บริษัท ไฮเออร์ อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด, บริษัท ไทยทรานสมิชชั่น อินดัสทรี จำกัด และบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่นฯ แต่ผู้ชนะคือ บริษัท เซิ่นเจิ้น อิงถัง เสนอราคาต่ำสุดที่ 786,000,000 บาท จากราคาเริ่มต้น 1,016,898,640 บาท ลดลงไป 230,299,640 บาท ประหยัดไปได้ 22.66% คิดเป็นราคาต่อเครื่อง 2,103.64 บาท
โซน 3 (ภาคกลางและภาคใต้) ม.1 จำนวน 426,683 เครื่อง ผ่านไปสู่กระบวนการอี-ออกชัน 2 ราย คือ บริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่นฯ และบริษัท เอสวีโอเอ จำกัด (มหาชน) ผู้ชนะคือ บริษัท สุพรีม เสนอราคาต่ำสุด 1,240,900,000 บาท จากราคาเริ่มต้น 1,245,914,360 บาท ลดลงไป 5,014,360 บาท ประหยัดไป 0.40% บาท คิดเป็นราคา 2,908.24 บาท
โซน 4 (ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ม.1 และครู จำนวน 402,889 เครื่อง ผ่านไปสู่กระบวนการอี-ออกชัน จำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บริษัท ไฮเออร์ อิเล็กทริกคอล แอพพลายแอนซ์ จำกัด, บริษัท ไทยทรานสมิชชั่น อินดัสทรี จำกัด, บริษัท จัสมิน เทเลคอมซิสเต็มส์ จำกัด (มหาชน) และกิจการร่วมค้า ไอไฟ โอเรียนท์ ไน วนลิดา ผู้ชนะ คือ บริษัท จัสมิน ชนะประมูลด้วยราคาต่ำสุด 873,866,241 บาท จากราคาเริ่มต้น 1,176,435,880 บาท เฉลี่ยราคา 2,169 ต่อเครื่อง ประหยัดไปได้ 25.72% หรือ 302,569,639 บาท
เวลานี้การดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ เฉพาะแค่ขั้นตอนการทดสอบการตกกระแทกจนถึงอี-ออกชัน ยาวนานมากว่า 50 วันแล้ว แม้จะติดขัดในโซน 4 บ้างในช่วงแรกว่ามีบริษัทผ่านกระบวนการไปสู่อี-ออกชันเพียงแห่งเดียว จึงนำไปสู่การเริ่มต้นใหม่ จนกระทั่งได้ผู้ชนะเป็น บ.จัสมิน แต่ยังไม่มีทีท่า สพฐ.จะสามารถทำสัญญากับบริษัทผู้ชนะการประมูลเพื่อซื้อแท็บเล็ตในแต่ละโซนได้ เพราะยังไม่ได้รับการอนุมัติจาก รมว.ศึกษาธิการ ให้ทำได้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ล่าสุดมีการเคลื่อนไหวสำคัญเหตุจาก นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา ต่อ 1 นักเรียน กล่าวว่า บอร์ดบริหารแท็บเล็ตให้ยกเลิกผลการอี-ออกชัน โซนที่ 3 (ภาคกลางและใต้) จำนวน 426,683 เครื่อง เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) มีความเห็นว่าการประมูลของโซน 3 อาจจะมีความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน และเป็นการสมยอมกัน และบอร์ดมองว่าน่าจะมีวิธีการได้แท็บเล็ตในราคาที่ต่ำกว่านี้ ซึ่งการยกเลิกนั้นเป็นอำนาจที่ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) จะต้องดำเนินการ พร้อมยอมรับว่าปีนี้แท็บเล็ตจะถึงมือเด็กช้าหรืออาจจะไม่ทันเทอม 2 ปีการศึกษา 2556 แน่นอน เพราะนอกจากต้องยกเลิกโซน 3 เพื่อไปเริ่มต้นกระบวนการใหม่แล้ว ยังให้มีการตรวจสอบอีกครั้งใน โซน 1, 2 และ 4 ที่ผ่านการอี-ออกชันไปก่อนหน้าเพื่อความรอบคอบด้วย

“ถ้าจะถึงมือเด็กช้าหรือไม่ทันก็ต้องยอม แต่ถ้าปล่อยผ่านทั้งที่มีการร้องเรียนมาทั้งในเรื่องราคาที่สูงเกินไป หรือข้อท้วงติงจาก สตง.และอื่นๆ ก็ต้องตรวจสอบให้ดี ซึ่งการจัดซื้อแท็บเล็ตมีปัญหามาตั้งแต่ครั้งแรกที่ซื้อแบบ จีทูจี มาครั้งนี้จัดประมูลอี-ออกชัน ก็ยังมีปัญหาอีกสะท้อนว่าการดำเนินการจัดซื้อมีปัญหามาแต่ต้น จึงควรแก้ไขให้เรียบร้อย เพื่อจะได้เป็นบรรทัดฐานในการทำงานครั้วต่อไปเพราะโครงการนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลกำหนดไว้ไม่ล้มแน่นอน”รมว.ศึกษาธิการ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีข้อสังเกตถึงการดำเนินต่างๆ ของ สพฐ.ตั้งแต่ขั้นตอนของการทดสอบการตกกระแทก (Drop Test) เครื่องแท็บเล็ตที่ไม่เป็นตามมาตรฐานสากล อาทิ มาตรฐาน ISTA (International Safe Transit Association) ที่กำหนดให้การทดสอบการตกกระแทกจะต้องทำโดยการหาความสูงที่จะทำการทดสอบเทียบกับน้ำหนักของสินค้า เป็นต้น ซึ่งตามมาตรฐานสากลมีอุปกรณ์ที่ใช้ทำเพื่อการทดสอบคุณภาพบรรจุภัณฑ์สำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเป็นการรับรองหรือรับประกันสินค้าว่าเมื่อผลิตออกไปจากโรงงานและขนส่งแล้วจะไม่มีรอยแตก ชำรุด สามารถใช้งานได้ตามปกติ

แต่ปรากฏว่าการทดสอบการตกกระแทกของ สพฐ.จะทดสอบการตกกระแทกทั้งหมด 5 ด้าน ด้วยวิธีการตั้งโต๊ะระยะความสูง 80 เซนติเมตรจากพื้น และใช้เชือกตรึงแล้วทำการปล่อยแท็บเล็ตให้ตก 5 ด้าน เพื่อดูว่ามีการแตกร้าว หรือตัวเครื่องบุบ หรือไม่ซึ่งหากมีกรณีใดกรณีหนึ่งเกิดขึ้นบริษัทจะไม่ผ่านการทดสอบทันที ซึ่งถือไม่ใช้วิธีการทดสอบตามมาตรฐานสากล นอกจากนั้นในการทดสอบตกกระแทก สพฐ.ก็ไม่อนุญาตให้ผู้เข้าร่วมประมูลเข้าไปดู ซึ่งอาจจะทำให้เกิดประเด็นในการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ร่วมประมูลบางรายได้ อีกทั้ง สพฐ.ได้มีการบันทึกวีดีโอระหว่างการทดสอบแต่ก็ไม่เผยแพร่ต่อสาธารณชน

ทั้งนี้ มีข้อสังเกตในประเด็นราคาการอี-ออกชัน ในโซน 3 ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของบอร์ดบริหารแท็บเล็ต ด้วยซึ่งมองว่า บ.สุพรีมฯ ที่ชนะการประมูลไปด้วยราคา 1,240,900,000 บาท จากราคาเริ่มต้น 1,245,914,360 บาท เท่ากับว่าลด 5,014,360 บาท คิดเป็น 0.40% บาท ราคา 2,908.24 บาทต่อเครื่องนั้น ยังเป็นราคาที่สูงเกินไปเมื่อเทียบกับโซน 1, 2 และ 4 ซึ่งที่เหมาะสมแล้วราคาในการจัดซื้อทั้ง 4 โซน ควรจะได้ราคาใกล้เคียงกัน โดยก่อนหน้านั้นบอร์ดบริหารแท็บเล็ต เมื่อครั้งที่ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ยังดำรงตำแหน่ง รมว.ศึกษาธิการ และเป็นประธานบอร์ดโดยตำแหน่งเคยมอบให้ สพฐ.ไปตั้งคณะกรรมการต่อรองราคาจากกรมบัญชีกลาง และสำนักงบประมาณเพื่อให้ได้ราคาที่เป็นประโยชน์ต่อราชการที่สุด

ขณะที่แหล่งข่าวจากคณะกรรมการบริหารนโยบาย 1 คอมพิวเตอร์พกพาต่อ 1 นักเรียน ให้ข้อมูลว่า ตามที่บอร์ดบริหารแท็บเล็ตมีมติให้ สพฐ.ยกเลิกผลอี-ออกชัน โซน 3 นั้น ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ เพราะต้องรออีก 7 หน่วยงานทำหนังสือมอบอำนาจมาให้ ส่วนการต่อรองราคากลางที่เคาะในแต่ละโซนลงอีกนั้นไม่สามารถทำได้แล้ว เนื่องจาก สพฐ.มีหนังสือสอบถามไปยังกรมบัญชีกลางตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และได้รับหนังสือตอบกลับมาแล้วว่าไม่สามารถต่อรองราคาได้ซึ่งมีระเบียบกำหนดไว้ชัดเจน และการต่อรองราคานั้น เลขาธิการ กพฐ.ก็ต้องทำหนังสือมอบอำนาจให้คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ ซึ่งถ้าไปทำการต่อรองราคาแล้วบริษัทไม่ลดราคาให้ สพฐ.ก็ไม่มีสิทธิที่จะยกเลิกไม่ทำการเซ็นสัญญาซื้อแท็บเล็ตกับบริษัทนั้นได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น เมื่อกรมบัญชีกลางมีหนังสือตอบกลับเช่นนี้ ก็เท่ากับว่าการต่อรองราคาจะไม่เกิดขึ้นแน่นอน

“ส่วนประเด็นที่มีข้อสังเกตในขั้นตอนการทดสอบการตกกระแทกที่ไม่เป็นตามมาตรฐานสากลนั้น ต้องย้อนถามว่ามาตรฐานสากลคืออะไร ต้องทำความเข้าใจว่าแท็บเล็ตที่จะนำมาใช้นั้นมีการทำประชาพิจารณ์ สอบถามบนเว็บไซต์ ถึงสเปก กติกา ร่างทีโออาร์ รวมถึงกระบวนการต่างๆ จนได้ข้อสรุปสเปกแท็บเล็ตที่เหมาะสมกับเด็กที่ต้องการ เพราะฉะนั้นการทดสอบการตกกระแทกจึงเน้นที่การใช้งานของเด็กเป็นหลัก โดยวัดจากโต๊ะเด็กถึงพื้นประมาณ 49 เซนติเมตร แต่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบก็ได้กำหนดให้สูงเผื่อในระดับ 80 ซม.และทำการทดสอบการตกกระแทก 5 ครั้ง เปิดให้ผู้ยื่นประมูลส่งตัวแทนเข้าร่วมบริษัทละ 2 คน และทำการ Drop Test ด้วยตนเองตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ที่จะส่งสัญญาณการเริ่มปล่อยเครื่อง ซึ่งหากพบว่ามีรอยแตก รอยบุบก็จะไม่ผ่านทันที หรือหากบริษัทนั้นผ่านการ Drop Test ตัวเครื่องแต่ไม่ผ่านในเงื่อนไขอื่นๆ ก็ถือว่าตก ไม่สามารถไปสู่กระบวนการอี-ออกชันได้ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีหลายบริษัทยื่นร้องอุทธรณ์การทดสอบเข้ามา” แหล่งข่าวชี้แจง

โครงการแจกแท็บเล็ต เป็นโครงการประชานิยมของรัฐบาลที่ใช้หาเสียงเรียกคะแนน เมื่อมาทำหน้าที่บริหารประเทศก็เร่งเดินหน้าซื้อแจกเด็ก ป.1 สำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่งแต่ก็สำเร็จแบบขลุกขลัก มีปัญหาปูดมาเป็นระลอก มาในปีนี้หยิบมาให้กระทรวงศึกษาธิการ รับหน้าจัดซื้อเองก็สะดุดตั้งแต่ก้าวแรก มีเรื่องฉาวออกมาไม่น้อยหน้า ที่แน่ๆ ในปีแรกเด็ก ป.1 ยังพอได้ทันใช้เรียนในเทอม 2 แต่คราวนี้เปิดเทอม 2 เด็กก็คงไม่ได้ใช้!!


กำลังโหลดความคิดเห็น