xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“เพื่อไทย” หลอน เลือกตั้งโมฆะ ยุบพรรค ตัดสิทธิ์ 5 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ความหวังจะใช้การเลือกตั้ง 2 ก.พ.ฟอกรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ให้กลับคืนสู่อำนาจโดยชอบธรรมด้วยการอ้างคะแนนเสียงของผู้มาใช้สิทธิ์เลือกพรรคเพื่อไทย ดังที่ “เหลิม จอมโว” คุยโม้ว่าเพื่อไทยชนะขาดคาดกวาดไม่ต่ำกว่า 280 ที่นั่ง นอกจากจะเป็นได้แค่ละครการเมืองลวงโลกผลาญเงินภาษีประชาชนเกือบ 4,000 ล้านบาท ไปเปล่าๆ แล้ว ยังกลายเป็นเงื่อนปมให้พรรคประชาธิปัตย์ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้วินิจฉัยการเลือกตั้งเป็นโมฆะ สั่งยุบพรรคเพื่อไทย และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 5 ปี พ่วงเข้าไปด้วย เข้าตำราหาเรื่องจนเจอดี

ไม่นับว่า คำข่มขู่จากปาก “เหลิม จอมกร่าง” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรมว.กระทรวงแรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบ (ครส.) ที่สั่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รีบจัดเลือกตั้งใหม่ภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นจะเรียกเจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งมาสอบและเอาผิดฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งถูกตอกหน้าหงายจากฝั่งกกต.ชนิดที่ว่าอย่ามาขู่ “กูไม่กลัวมึง” เพราะนี่เป็นองค์กรอิสระไม่ใช่ขี้ข้านักการเมืองทำนองนั้น ซ้ำยังเหน็บกลับด้วยว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่กกต. แต่อยู่ที่ฝ่ายการเมืองกับม็อบกปปส.ถ้าคุยกันไม่ได้ จัดเลือกตั้งจะกี่ครั้งกี่รอบก็มีปัญหาเหมือนเดิม เจอไม้นี้เข้าเป็ดเหลิมจึงเสียงอ่อน และดราม่าแบบละครตบจูบจับมือนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ให้สื่อมวลชนถ่ายภาพสุดแสนจะชื่นมื่น และขอให้นายสมชัย อยู่ทำหน้าที่ต่อไป

การชิงไหวชิงพริบกันระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่ระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยที่มีอนาคตของประเทศชาติเป็นเดิมพัน นาทีนี้ต้องบอกว่าเข้มข้นขึ้นตามลำดับ และสุดท้ายอาจจบแบบประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2549 ที่พรรคไทยรักไทย ของ “นช.ทักษิณ ณ ดูไบ” ถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรค 5 ปี โดยการเลือกตั้งครั้งนั้นพรรคประชาธิปัตย์ ก็บอยคอตหรือไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งเช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ที่ผ่านมา

อาการลนลานกลัวประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตามมาหลอกหลอนดังว่า ทำให้บรรดาทาสไข่แม้วทั้งหลายรีบออกมาโหวกเหวกโวยวาย และออกแถลงการณ์ใหญ่โตว่าพรรคเพื่อไทยกำลังจะถูกรังแกโดยใช้ขบวนการ “ตุลาการภิวัฒน์” เหมือนอดีตที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลังจากที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ อดีตส.ส.สงขลา ในฐานะหัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 เมื่อวันที่ 4 ก.พ. ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้การเลือกตั้งเลือกตั้ง 2 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นโมฆะ พร้อมขอให้สั่งยุบพรรคเพื่อไทย และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย 5 ปี

เหตุผลที่พรรคประชาธิปัตย์ ยกขึ้นมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจากการเลือกตั้งครั้งนี้ เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 ที่ระบุให้วันเลือกตั้งนั้นต้องกำหนดเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร อีกทั้งกฎหมายยังกำหนดให้คะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าต้องมาถึงหน่วยเลือกตั้งก่อนเวลา 15.00 น. ของวันเลือกตั้งคือวันที่ 2 ก.พ. แต่การที่กกต.กำหนดให้มีการเลือกตั้งล่วงหน้ารอบสองในวันที่ 23 ก.พ.จึงขัดรัฐธรรมนูญฯในเรื่องความเสมอภาค เสียสิทธิ์โดยเปล่าประโยชน์ เพราะจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขตจังหวัดอีก 2 ล้านคน จะไม่สามารถนำมานับรวมคะแนนได้ นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่อยู่นอกราชอาณาจักร ก็ไม่สามารถเลือกผู้แทนใน 28 เขต ที่ยังไม่มีผู้สมัครได้เช่นกัน

ที่ผ่านมา กกต. พยายามทำหนังสือถึงรัฐบาลหลายครั้งเพื่อเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ออกไป เพราะเห็นถึงปัญหาที่จะทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลก็ดึงดังจัดการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศ ถึงแม้ศาลรัฐธรรมนูญ จะวินิจฉัยการเลื่อนการเลือกตั้งสามารถทำได้โดยให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลไปตกลงกัน รัฐบาลก็ยังเดินหน้าจะจัดการเลือกตั้งทั้งที่รู้อยู่เต็มอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เพราะเลือกตั้งมาแล้วก็ไม่สามารถประกาศผลคะแนน และไม่สามารถประกาศส.ส.บัญชีรายชื่อทั้ง 125 คนได้ อีกทั้ง การที่ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.กระทรวงแรงงาน ออกมาประโคมข่าวว่าพรรคเพื่อไทยได้ส.ส.กี่คนนั้น ยิ่งเป็นการทำให้ประชาชนที่ยังไม่ไปใช้สิทธิเกิดความลังเล และส่งผลได้ผลเสียกับคะแนนที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย

"รัฐบาลตั้งใจประกาศ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพราะต้องการสกัดกั้นชาวนาที่จะมาชุมนุม และป้องกันสื่อมวลชน ไม่ให้เผยแพร่หรือเสนอข่าวด้านลบต่อรัฐบาล ซึ่งการประกาศดังกล่าว ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบที่เกิดจากพรรคการเมือง ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 237 ระบุว่า ถ้าเป็นการกระทำของพรรคการเมือง ให้ถือว่าเป็นการได้มาซึ่งอำนาจนอกวิธีที่กำหนดตามรัฐธรรมนูญซึ่งผลก็คือยุบพรรคการเมือง ดังนั้น หากศาลสั่งให้เลือกตั้งเป็นโมฆะคงต้องมีผู้รับผิดชอบแน่" หัวหน้าทีมกฎหมายของพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวอย่างเชื่อมั่น

ทันทีที่พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทางพรรคเพื่อไทย ก็ดิ้นเป็นใส้เดือนถูกขี้เถ้า ออกแถลงการณ์ตอบโต้ว่าการกล่าวอ้างของพรรคประชาธิปัตย์นั้นขาดความชอบธรรม ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นชอบด้วยกฎหมายทุกประการแล้ว ส่วนเขตที่มีปัญหายังเลือกตั้งไม่ได้ ก็เป็นหน้าที่ของ กกต.ที่จะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นตามที่มีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว

“นอกจากการขับเคลื่อนการเลือกตั้งให้เป็นโมฆะผ่านศาลรัฐธรรมนูญแล้วก็อาจจะใช้วิธีการฟ้องศาลปกครองดังที่เคยปฏิบัติมาเมื่อ พ.ศ. 2549 ดังที่รู้จักกันดีในชื่อว่า “ตุลาการภิวัฒน์” ซึ่งยิ่งเพิ่มความขัดแย้งมากขึ้น ทั้งไม่มีกฎหมายใดรองรับให้ทำเช่นนั้นได้” แถลงการณ์ ข้อ 8. ของพรรคเพื่อไทย ระบุ

นอกจากนั้น ยังใส่ไฟว่า ขณะนี้มีขบวนการทำลายประชาธิปไตยและปล้นสิทธิของประชาชน เป็นขบวนการภายใต้แนวคิดเผด็จการที่ร่วมมือกันหลายฝ่าย โดยมีจุดหมายเพื่อทำลายรัฐบาล ทำลายพรรคการเมืองที่ได้รับเสียงข้างมากและสถาปนาอำนาจของกลุ่มขบวนการดังกล่าว ผ่าน 2 แนวทาง คือการทำรัฐประหาร หรือไม่ก็ให้องค์กรอิสระที่ผู้ดำรงตำแหน่งส่วนใหญ่มีความโยงใยอย่างใกล้ชิดกับการรัฐประหาร เมื่อปี 2549 ทำลายพรรคเพื่อไทย ด้วยการขัดวางการทำงานทุกด้าน ทั้งการชี้มูลความผิดนำไปสู่การถอดถอนและขัดขวางการเลือกตั้งด้วย

หากพินิจพิจารณาเนื้อแท้ของแถลงการณ์ของพรรคเพื่อไทยอย่างถี่ถ้วนจะพบว่า ไม่มีอะไรมากไปกว่ากระดาษเปื้อนหมึก สร้างเรื่อง แก้ตัวน้ำขุ่นๆ ไปวันๆ ทั้งที่เห็นๆ กันอยู่ว่าการเลือกตั้งนั้นไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และกลุ่มที่เคลื่อนไหวก็หาใช่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง แต่เงื่อนไขคือต้องปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง

ส่วนการชี้มูลความผิดขององค์กรอิสระก็ผ่านกระบวนการไต่สวนสอบสวนหาข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน โดยคดีที่มีการฟ้องร้อง เช่น โครงการทุจริตจำนำข้าวที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนคดีเพื่อถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ใครๆ เขาก็รู้กันทั่วบ้านทั่วเมืองว่าโครงการนี้โกงกินกันมโหฬารขนาดไหน และป่านนี้ยังหาเงินมาใช้หนี้ชาวนาไม่ได้เดือดร้อนกันทั้งประเทศ ไม่ใช่เป็นเรื่องกลั่นแกล้งแสร้งว่าอย่างที่พรรคเพื่อไทยกินปูนร้องท้อง แต่งเรื่องรัฐประหาร อำนาจนอกรัฐธรรมนูญ สารพัดมากลบเกลื่อนแก้ตัวตามนิสัยถาวรของนักการเมืองพรรคนี้แต่อย่างใด

แต่ไม่ว่าทั้งสองพรรคใหญ่จะขับเคี่ยวฟาดฟันกันอย่างไรก็ตาม ในส่วนของการเลือกตั้งมาราธอนที่ยังหาจุดจบไม่ได้นั้น กกต.ก็ต้องรับหน้าที่จัดการเลือกตั้งกันต่อไป โดยทุกประเด็นที่ยังเป็นปัญหา ซึ่งยังค้างคาอยู่ 5 ส่วนสำคัญ คือ 1. ใน16 เขต มีผู้สมัครรายเดียว 2. ใน 28 เขต ไม่มีผู้สมัครเลย 3. การเลือกตั้งล่วงหน้าที่เสียไปวันที่ 26 ก.พ. 4.ใน 39 เขต ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ทั้งเขต และ 5. ใน 32 เขต เลือกได้เพียงแค่บางส่วน กกต. ได้ใคร่ครวญไตร่ตรองทั้งข้อกฎหมายและวิธีปฏิบัติเพื่อกกต.จะได้ไม่ตกเป็นผู้ต้องหาทำผิดกฎหมายเสียเอง โดยมีการประชุมของกกต.ในวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมของ กกต.ในวันดังกล่าว มีมติเพียงเรื่องเดียวคือ กรณีผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าในวันที่ 26 ม.ค. และวันเลือกตั้งที่ 2 ก.พ. โดย กกต.จะเป็นผู้แจ้งเหตุไปยังอธิบดีกรมการปกครองในฐานะ ผอ.ทะเบียนกลาง เพื่อที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในวันดังกล่าว ไม่ให้เกิดความวุ่นวายว่าประชาชนนับ 10 ล้านที่ไม่สามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งต้องไปแจ้งเหตุแห่งการไม่ไปใช้สิทธิ ส่วนปัญหาอื่นจะประชุมหารือกับคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกกต.อีกครั้งเพราะหากผลีผลามมีมติออกไปอาจถูกฟ้องให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ.เป็นโมฆะ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบรวมทั้งการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณี 28 เขตเลือกตั้งที่ไม่มีผู้สมัครด้วย

ท่ามกลางความโกลาหลวุ่นวายของบ้านเมืองภายหลังการเลือกตั้ง นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) วิเคราะห์ว่าการเลือกตั้งที่กลัดกระดุมเม็ดแรกผิดก็จะผิดไปเรื่อยๆ ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีปัญหามาก เช่น วันเลือกตั้งต้องเป็นวันเดียวกันทั่วประเทศ แต่ปรากฏว่ามี 28 เขต ที่ไม่มีการลงคะแนนเสียงครั้งแรก อีกทั้งการเลือกตั้งล่วงหน้า ก็ต้องทำล่วงหน้าไม่ใช่มาทำทีหลังการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเมื่อถึงตอนนั้นก็จะรู้แล้วว่าพรรคใดได้คะแนนมากน้อยแค่ไหนถือเป็นการชี้นำ ดังนั้นแนวโน้มอีก 6 เดือนก็ไม่สามารถเปิดสภาได้ รวมทั้งรัฐบาลรักษาการก็ไม่สามารถกระทำการใดๆ ภายใต้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 สถานการณ์เช่นนี้ อยากให้รัฐบาลและกปปส. ถอยกันคนละก้าวเพราะถ้ายังตรึงกันอย่างนี้ยากจะหลีกเลี่ยงการจลาจล

คณบดีคณะนิติศาสตร์ ยังอ่านแถลงการณ์ของนิด้าเป็นข้อเสนอ "ทางออกจากวิกฤตของประเทศ” ซึ่งวางอยู่บนหลักพื้นฐาน 4 ประการ คือ เคารพการเลือกตั้ง และผลการเลือกตั้งที่จะปรากฏผลออกมาในอนาคต หลีกเลี่ยงความขัดแย้งรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น สร้างกระบวนการในการปฏิรูปประเทศ และแก้วิกฤตปัญหาของชาวนา โดยช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่จะมีข้อเสนอเพื่อออกจากวิกฤตของประเทศ 4 ข้อ ดังนี้

1. เมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ วันที่ 2 ก.พ.57 ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว แม้จะยังไม่สำเร็จผลเรียบร้อย แต่เพื่อให้กระบวนการการปฏิรูปประเทศได้เริ่มต้น โดยไม่ต้องผูกพันกับผลของการเลือกตั้ง เห็นควรให้มี “รัฐบาลเพื่อการปฏิรูปประเทศ” เป็นรัฐบาลคนกลาง เข้ามาทำหน้าที่ในการปฏิรูปประเทศ

2. รัฐบาลเพื่อการปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี ที่สังคมยอมรับ และให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวง หรือบุคคลอื่นที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรี โดยมีภาระหน้าที่หลักสนับสนุนกระบวนการปฏิรูปประเทศ โดยมีกระบวนการในการเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี คือ ให้รองประธานวุฒิสภา (เนื่องจากประธานวุฒิสภาถูกกล่าวหาจากใช้อำนาจของประธานรัฐสภามิชอบ) เป็นผู้กราบบังคมทูล เสนอชื่อบุคคลสมควรดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อพระมหากษัตริย์ และเมื่อพระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งแล้ว ให้นายกรัฐมนตรี เสนอรายชื่อปลัดกระทรวงหรือบุคคลที่เหมาะสมเป็นรัฐมนตรีในกระทรวงนั้นๆ เพื่อรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินเพื่อการปฏิรูปประเทศต่อไป

3.แก้ไขปัญหาชาวนาเป็นการเร่งด่วน

4.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศ โดยกำหนดให้มีองค์กรในการปฏิรูปประเทศและกระบวนการในการปฏิรูปประเทศต่อไป โดยมีหลักการสำคัญดังนี้ คือ องค์กรในการดำเนินการปฏิรูปประเทศ แย่งออกเป็น สมัชชาประชาชนปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการกำกับการปฏิรูปประเทศไทย และคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ โดยระยะเวลาในการปฏิรูปประเทศ ใช้เวลาประมาณ 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอดังกล่าวดูท่ารักษาการรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ และพรรคเพื่อไทย คงจะไม่ได้ยินและไม่ได้ฟัง เพราะมัวสาละวนอยู่กับการไล่งับหางตัวเองจนไม่รู้ว่าทุกปัญหามีทางออก และทางออกจากเรื่องนี้พรรคเพื่อไทยก็คงต้องถูกยุบสังเวยวิกฤตการเลือกตั้งที่ดันทุรังจนเกิดปัญหาไม่สิ้นสุด

ล้อมกรอบ//

บันทึกเลือกตั้ง 2 ก.พ.57

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แถลงข้อมูลการเลือกตั้ง ส.ส.ในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.จำนวน 68 จังหวัด โดยไม่รวม 9 จังหวัดภาคใต้ คือ กระบี่ ชุมพร ตรัง พังงา พัทลุง ภูเก็ต ระนอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี ซึ่งไม่สามารถเปิดการลงคะแนนได้ว่า จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีจำนวน 43,024,786 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 20,530,359 คนคิดเป็น 47.72% แบ่งเป็น บัตรดี 14,645,812 ใบ คิดเป็น 71.34% บัตรเสีย 2,458,461 ใบ คิดเป็น 11.97% ผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือ โหวตโน 3,426,080 ใบ คิดเป็น 16.69%

โดย ภาคเหนือ 16 จังหวัด มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 8,526,095 คน มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 4,776,287 คน คิดเป็นร้อยละ 56.02 บัตรดี 2,997,639 บัตร คิดเป็นร้อยละ 62.76 บัตรเสีย 766,790 บัตร คิดเป็นร้อยละ 16.05 และผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,011,857 บัตร คิดเป็นร้อยละ 21.19 ขณะที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 16,290,384 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 9,009,572 คน คิดเป็นร้อยละ 55.31 บัตรดี 7,300,756 บัตร คิดเป็นร้อยละ 81.03 บัตรเสีย 847,954 บัตร คิดเป็นร้อยละ 9.41 และผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 860,862 บัตร คิดเป็นร้อยละ 19.72

ภาคกลาง 25 จังหวัด (ยกเว้น กทม.) ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 12,222,346 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 5,016,970 คน คิดเป็นร้อยละ 41.05 บัตรดี 3,192,765 บัตร คิดเป็นร้อยละ 63.64 บัตรเสีย 654,559 บัตร คิดเป็นร้อยละ 13.05 และผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 1,169,641 บัตร คิดเป็นร้อยละ 23.31

ภาคใต้ 6 จังหวัด ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 1,616,841 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 594,234 คน คิดเป็นร้อยละ 36.75 บัตรดี 378,831 บัตร คิดเป็นร้อยละ 63.75 บัตรเสีย 98,235 บัตร คิดเป็นร้อยละ 16.53 และผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 117,168 บัตร คิดเป็นร้อยละ 19.72 และ กรุงเทพมหานคร 6,671 หน่วย เปิดลงคะแนน 6,155 หน่วย ประกาศงดการลงคะแนน 516 หน่วย ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 4,369,120 คน ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 1,133,296 คน คิดเป็นร้อยละ 25.94 บัตรดี 775,821 บัตร คิดเป็นร้อยละ 68.46 บัตรเสีย 90,923 บัตร คิดเป็นร้อยละ 8.02 และผู้ไม่ประสงค์ลงคะแนน 266,552 บัตร คิดเป็นร้อยละ 23.52

สำหรับ จังหวัดที่มีผู้มาใช้สิทธิมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้ออกมาใช้สิทธิ 827,808 คน คิดเป็นร้อยละ 75.05 รองลงมาคือ ลำพูน ซึ่งเป็นอดีตแชมป์ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งในทุกครั้ง แต่ครั้งนี้กลับเสียแชมป์ให้กับเชียงใหม่ โดยลำพูนมีผู้มาใช้สิทธิ 241,209 คนคิดเป็นร้อยละ 73.39 และ จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผู้มาใช้สิทธิ 104,241 คิดเป็นร้อยละ 64.99

ขณะที่จังหวัดที่มีผู้ใช้สิทธิน้อยที่สุด คือ นครศรีธรรมราช ที่เปิดลงคะแนนใน 24 หน่วยมีผู้มาใช้สิทธิ 1,302 คน คิดเป็นร้อยละ8.78 รองลงมา คือ ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้มาใช้สิทธิ 55,818 คน คิดเป็นร้อยละ 20.05 สมุทรสงคราม มีผู้มาใช้สิทธิ 37,581 คิดเป็นร้อยละ 24.42 กรุงเทพมหานคร มีผู้มาใช้สิทธิ 1,133,296 คน คิดเป็นร้อยละ 25.94 และ ระยอง มีผู้มาใช้สิทธิ 118,900 คน คิดเป็นร้อยละ26.07

ด้านจังหวัดที่มีบัตรดีมากที่สุด คือ จ.นครพนม ร้อยละ 86.99 รองลงมา คือ ร้อยเอ็ด คิดเป็นร้อยละ 86.54 ยโสธร ร้อยละ 85.88 ในขณะที่ บัตรเสียมากที่สุด คือ จ.ตาก ร้อยละ 27.13 รองลงมา คือ ยะลา ร้อยละ 22.94 น่าน ร้อยละ 22.37 สำหรับ จังหวัดที่มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน หรือโหวตโนมากที่สุด คือ ระยอง 40.58% รองลงมาคือ สมุทรสงคราม 40.34% และตราด 35.74 นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าที่ จ.ฉะเชิงเทรา มีการฉีกบัตรลงคะแนน 2 ใบ จ.เชียงราย บัตรหาย 1 ใบ และ จ.นนทบุรี บัตรหาย 3 ใบ



กำลังโหลดความคิดเห็น