xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ศึกชิงชาวนา จุดจบทักษิณ อวสานจำนำข้าว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวนายังคงรวมตัวกันปิดถนนเพื่อทวงเงินจากโครงการรับจำนำข้าวในหลายจังหวัด
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-โครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท นโยบาย “ทักษิณคิด เพื่อไทยทำ” ที่เปิดฉากด้วยสุขนาฏกรรม เพื่อไทยกวาดคะแนนเสียง ชาวนาฝันหวานหวังร่ำรวย สุดท้ายกลายเป็นโศกนาฏกรรมในตอนอวสาน รัฐบาลดิ้นพล่านเสี่ยงคุกหาเงินจ่ายหนี้ ชาวนาผูกคอตาย ม็อบทวงเงินจำนำข้าวกอดคอกันร้องห่มร้องไห้กลางถนน แกนนำถูกข่มขู่ ลูกเมียหวาดผวาแก๊งแดงถ่อยใช้อิทธิพลเถื่อนคุกคามจะทำร้าย อีกทั้งพวก “เจ้านาย” ยังกดดันบีบให้สลายม็อบ ผิดกับบรรดาชาวนามีเส้นอย่างเชียงใหม่ที่ได้เงินกันไปเกือบหมดแล้ว

คำสัญญาลมๆ แล้งๆ ไม่รู้ครั้งที่เท่าไหร่ว่า รัฐบาลจะหาเงินมาจ่ายหนี้ให้กับชาวนาภายในสิ้นเดือนม.ค. 2557 ขอให้อดใจรออีกครั้ง ทำให้ชาวนายอมสลายม็อบ ส่วนกลุ่มที่ขัดขืนไม่ยอมก็ใช้อำนาจข่มขู่กดดันจนต้องเลิกเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม คราวนี้มีการส่งสัญญาณจากม็อบชาวนาออกมาแล้วว่า รอบนี้ถ้าถูกหลอกอีกจะยกขบวนเข้ากรุงเทพฯ เข้าล็อก นายสุเทพ เทือกสุบรรณา แกนนำกลุ่มกปปส. ที่เชิญชวนพี่น้องชาวนาให้เข้าร่วมชุมนุมกดดันไล่รัฐบาลตั้งแต่กลางเดือนม.ค. 2557 ที่รัฐบาลเบี้ยวหนี้มาแล้ว

ขณะที่ทางฝ่ายรัฐบาลก็นกรู้ จึงเตรียมการล่วงหน้าหาทางสยบม็อบ ทั้งการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ บล็อกกลุ่มชาวนาไม่ให้เคลื่อนขบวนเข้ากรุงเทพฯ และปริมณฑล อีกทางหนึ่งก็ดิ้นรนหาเงินมาจ่ายหนี้จำนำข้าวที่ติดค้างชาวนาอยู่แสนกว่าล้านบาทให้ได้

โครงการจำนำข้าวจึงกลายเป็นชนวนศึกชิงชาวนา เพราะทั้งฝ่าย กปปส.กับรัฐบาล ที่ยันกันอยู่ตอนนี้ ยังไม่รู้ผลแพ้ชนะเด็ดขาด แต่ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถดึงม็อบชาวนาเข้ามาเป็นพวกได้ จะกลายเป็นเงื่อนไขให้อีกฝ่ายเพลี่ยงพล้ำทันที โดยเฉพาะฟากรัฐบาลที่ยังหวังกินบุญเก่าอยู่ได้ด้วย คะแนนนิยมจากนโยบายประชานิยมอย่างเช่นโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งงานนี้ถ้าเคลียร์ปัญหาไม่ได้ เดินหน้าต่อไม่ได้ อนาคตของพรรคเพื่อไทยก็จบเห่ รัฐบาลรักษาการนางสาวยิ่งลักษณ์ ก็จบเห่ เพราะไม่แน่ว่าจะยังมีใครเชื่อน้ำยา เลือกกลับมามีอำนาจได้อีกหรือไม่

ฝันหวานของชาวนาที่หวังว่าจะร่ำรวยจากโครงการรับจำนำข้าวตันละ 15,000 บาท จะมีชาวนาคนไหนที่คิดว่ามันจะกลายเป็นฝันร้ายนำมาซึ่งความทุกข์แสนสาหัสในชีวิตจริง จนกระทั่งมีชาวนาอย่างน้อย 3 คนแล้วที่ต้องสังเวยชีวิตให้กับโครงการนี้

ชาวนารายแรกที่จบชีวิตลง เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2557 คือ นายเฉลิม จันทร์แดง ชาวนา ต.ป่ามะคาบ อ.เมือง จ.พิจิตร เสียชีวิตจากความเครียดที่ไม่ได้รับเงินจำนำข้าว

รายที่สอง ชื่อนายทองมา ไกยสวน อายุ 60 ปี ชาวบ้าน หมู่ 3บ้านโนนสั้น ต.โนนรัง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด ผูกคอตายเพราะก่อนหน้านี้ไปกู้เงินธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) กว่า4 แสนบาทเพื่อซื้อรถตู้ให้ลูกเขยขับรับ-ส่งนักเรียนในหมู่บ้าน ซึ่งในเดือนก.พ.นี้ ครบกำหนดจ่ายคืนธนาคาร 1 แสนบาท แต่ผู้ตายยังหาเงินได้ไม่ครบ อีกทั้งเงินจากโครงการรับจำนำข้าวกว่า 1แสนบาท ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้เงินทำให้นายทองมา เกิดความเครียดจนผูกคอตาย

รายที่สาม นายเมือง พันธุชาติ อายุ 46 ปี ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 21 บ้านอาวอยพัฒนา ต.โสน อ.ขุขันธ์ จ.ศรีสะเกษ มีอาการเครียดที่นำข้าวไปจำนำ 6 ตัน นานกว่า 2 เดือนแล้วยังไม่ได้รับเงิน และยังมีลูกบ้านเข้ามาร้องทุกข์ว่ายังไม่ได้รับเงินจำนำข้าว ขณะที่เจ้าหนี้ที่นายเมืองไปยืมเงินนอกระบบจำนวน 100,000 บาท และหนี้เงินกู้ ธ.ก.ส.อีกจำนวน 100,000 บาท เพื่อนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าว และใช้จ่ายภายในครอบครัวทวงถามหนี้ทุกวัน ทำให้นายเมืองผูกคอตายหนีปัญหา

ชาวนาหัวหน้าครอบครัวที่เครียดจนคิดสั้นฆ่าตัวตายทิ้งปัญหาไว้ให้กับคนอยู่ข้างหลังดิ้นรนแก้ปัญหาต่อไป เช่นเดียวกันกับครอบครัวชาวนาที่ออกมาชุมนุมทวงเงินค่าจำนำข้าวที่อยู่อย่างลำบากแสนเข็ญ หนำซ้ำยังถูกข่มขู่คุกคามไม่ไห้ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องอีกด้วย โดยกลุ่มที่ถูกคุกคาม เป็นชาวนาชาวพิษณุโลกที่ปักหลักชุมนุมกลางสี่แยกอินโดจีน เมื่อวันที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา

เรื่องเลวร้ายที่เกิดขึ้น ทำให้ลูกผู้ชายอย่างนายชาตรี อ่ำพูล แกนนำกลุ่มชาวนาพิษณุโลก หลั่งน้ำตาร้องไห้หลังได้รับแจ้งจากภรรยาว่า คนในครอบครัวถูกข่มขู่ทำร้าย จากกลุ่มคนเสื้อแดงหากยังดื้อนำชาวนาเรียกร้องอยู่ ขณะเดียวกันผู้นำท้องถิ่นที่ได้รับคำสั่งจากข้าราชการระดับสูงก็ยังเข้าไปบีบกดดันให้เลิกเป็นแกนนำสลายม็อบ กังวลห่วงครอบครัวก็ห่วง ครั้นจะหยุดการเรียกร้องก็ไม่ได้เพราะพี่น้องชาวนาทุกคนต่างเดือดร้อน ทำให้บรรยากาศการชุมนุมโศกเศร้า ชาวนาหลายคนที่ต่างประสบปัญหาต่างพากันร้องไห้ ระบายความทุกข์ที่ถึงขั้นไม่มีเงินให้ลูกไปโรงเรียน และไม่มีเงินซื้ออาหารกินในครอบครัว เพราะนำข้าวเข้าโครงการจำนำทั้งหมด

แกนนำชาวนาอย่างนายชาตรี และแกนนำชาวนาในหลายจังหวัดภาคเหนืออาจหวั่นกลัวแรงกดดันและอิทธิพลเถื่อนของแก๊งถ่อย แต่สำหรับนายกิตติศักดิ์ รัตนะวราหะ ประธานเครือข่ายชาวนาภาคเหนือ ประกาศกร้าวชัดเจนว่า ไม่กลัวคำข่มขู่ทำร้ายของนักเลงที่ไม่เห็นใจคนเดือดร้อน และจะไม่หยุดเรียกร้องจนกว่าจะได้เงินที่ถูกโกงค่าข้าวคืนมา และการเลือกตั้งครั้งนี้ ชาวนาในเครือข่ายภาคเหนือ ยังจะสั่งสอนรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยด้วย โดยคาดว่า ไม่ต่ำกว่า 80% จะไม่ออกไปเลือกตั้ง หรือไปใช้สิทธิ์แต่อาจทำบัตรเสียหรือโหวตโน

“ไม่ต้องเอาเงินมาซื้อเสียงของพวกเรา ชาวนาอย่างพวกเราไม่ได้โง่และตกเป็นเหยื่อของคนคดโกงอีกแล้ว” ประธานเครือข่ายชาวนาภาคเหนือ ย้ำชัดและนัดหมายว่า หลังการเลือกตั้ง ชาวนาภาคเหนือและภาคกลางและอาจเป็นทั่วประเทศจะชุมนุมใหญ่อีกครั้ง และเตรียมตัวบุกกรุงเทพฯ อย่างแน่นอนหากยังไม่ได้รับเงินค่าข้าว ซึ่งหากคำนวณแล้วมีชาวนาไม่ต่ำกว่า 2 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศที่เดือดร้อนจากโครงการนี้

เมื่อความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสของชาวนาทั่วประเทศ กำลังจะแปรเป็นพลังโค่นรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย สิ้นศรัทธาต่อนช.ทักษิณแห่งดูไบ ที่กล่าววาจาสามหาวว่าชาวนาจะอยู่ดีกินดีเพราะโครงการรับจำนำข้าว นางสาวยิ่งลักษณ์ ยิ่งลักษณ์ รักษาการนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม น้องสาวผู้ว่านอนสอนง่าย และนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รักษาการรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง จึงเสี่ยงทำผิดรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 181 (3) ที่กำหนดชัดว่า การปฏิบัติหน้าที่ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และรัฐมนตรีจะทำหน้าที่เท่าที่จำเป็นภายใต้เงื่อนไขที่ว่าไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงาน หรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อครม.ชัดต่อไป

หลักฐานเรื่องนี้ปรากฏในเอกสารหนังสือแจ้งเวียนทุกสาขาทั่วประเทศของ ธ.ก.ส. ลงนามโดยนายสมศักดิ์ กังธีระวัฒน์ รองผู้จัดการ และโฆษก ธ.ก.ส. ลงนามวันที่ 27 ม.ค. 2557 โดยระบุว่า จากการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติไม่รับพิจารณาเรื่องการกู้เงินจำนวน 130,000 ล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก 2556/57 โดยขอให้รัฐบาลใช้ดุลยพินิจและเป็นผู้ตัดสินใจเองนั้น รัฐบาลได้มีการทบทวนพร้อมหารือในข้อกฎหมายกับกฤษฎีกาแล้วเห็นว่า สามารถดำเนินการได้ จึงมีมติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จัดหาเงินกู้จำนวน 130,000 ล้านบาท มาใช้ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งกระทรวงการคลังมีแผนการจัดหาเงินกู้มาใช้ในโครงการสัปดาห์ละ 20,000 ล้านบาท จนครบตามจำนวน เมื่อธนาคาร (ธ.ก.ส.) ได้รับเงินกู้ดังกล่าวรวมกับเงินการระบายข้าวที่กระทรวงพาณิชย์ส่งมาชำระคืน ธนาคารจะเร่งดำเนินการจ่ายเงินดังกล่าวให้เกษตรกรทันที โดยคาดว่าจะดำเนินการได้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือนมี.ค. 2557

เมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายของรัฐบาลให้ความเห็นว่า รัฐบาลรักษาการสามารถกู้เงิน 130,000ล้านบาทเพื่อใช้ในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิต2556/2557 ได้ เพราะเป็นโครงการต่อเนื่องก่อนจะยุบสภา นายกิตติรัตน์ ก็ดำเนินการเตรียมเรื่องขอกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดยเรื่องนี้ นายสุวิช โรจนวานิช ทีปรึกษาสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ยืนยันว่า สบน.เตรียมเปิดวงเงินกู้จากสถาบันการเงินในประเทศ ซึ่งเป็นการกู้ระยะสั้นคราวละ 20,000 - 30,000 ล้านบาท เมื่อได้เงินในจำนวนที่เพียงพอก็จะแปลงเป็นหนี้ระยะยาวโดยออกเป็นพันธบัตรของ ธ.ก.ส. โดยมีกระทรวงการคลัง ค้ำประกันเงินกู้เต็มจำนวน

เรื่องใหญ่ขนาดนี้ ทำไมถึงงุบงิบทำกัน ทำไมรักษาการรัฐบาลไม่แถลงข่าว ไม่เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณชนได้รับรู้กันทั่วไป ที่สำคัญ อย่าลืมว่า ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่สุ่มเสี่ยงหมิ่นเหม่ผิดรัฐธรรมนูญฯ เช่นนี้ มีปัญหาแน่ เพราะจะต้องมีคนนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อให้ศาลพิจารณาตัดสินชี้ขาดว่า การเดินหน้ากู้เงิน 130,000 ล้านบาท ที่ว่านั้น รักษาการรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ กระทำการผิดรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 181 (3) หรือไม่ ความเห็นของกฤษฎีกาไม่ถือเป็นที่สิ้นสุด มีแต่คำตัดสินของศาลเท่านั้นที่ถือเป็นที่สุดและทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม

แน่นอน พรรคประชาธิปัตย์ ย่อมไม่พลาดงานใหญ่นี้ นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี โฆษกครม.เงาพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาท้ารัฐบาลให้นำความเห็นคณะกรรมการกฤฎีกามาเปิดเผย และยังฝากเตือนไปยังข้าราชการกระทรวงการคลัง โดยเฉพาะนางจุฬารัตน์ สุธีทร ผอ.บริหารหนี้สาธารณะ ซึ่งเรียนวิทยาลัยตลาดทุนรุ่นที่ 12 รุ่นเดียวกับนางสาวยิ่งลักษณ์ ก่อนจะได้ดำรงตำแหน่ง ผอ.บริหารหนี้สาธารณะ ว่าหากนางจุฬารัตน์ “มีวันนี้เพราะน้องให้” ให้ระวังว่าเวลากำลังจะหมดลงแล้ว ถ้ากู้เงินจะถูกดำเนินคดีทางกฎหมายเพราะขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 ส่วนธนาคารที่จะปล่อยกู้ก็ขอเตือนว่าทำผิดกฎหมายเช่นกัน ถ้าตัดสินใจทำเช่นนี้จะติดคุกกันหลายคน

พลพรรคประชาธิปัตย์ ยังขย่มซ้ำว่าหากรัฐบาลจะกู้จริงก็ยังไม่ตอบโจทย์เนื่องจากต้องการเงินถึง 1.8แสนล้านในการจ่ายเงินให้ชาวนา แต่รัฐบาลกำลังจะขอกู้คราวละ2 หมื่นล้านต่อสัปดาห์ งวดแรกได้เดือนมีนาคมหลังเลือกตั้ง ถือว่าเป็นการตกเขียวชาวนา คือ ไม่จ่ายเงินก่อนการเลือกตั้ง ต้องรอหลังเลือกตั้งจึงจะได้เงิน นอกจากนี้ ยังมีการยัดไส้นำเงินกู้ครั้งนี้เข้าไปใส่ใน พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ดังนั้นคนที่จะถูกดำเนินคดีคือ นายกิตติรัตน์ และข้าราชการที่ยอมทำตามคำสั่ง

เรื่องนี้ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ร่อนจดหมายเปิดผนึกเตือนข้าราชการกระทรวงการคลังเกี่ยวกับเงินกู้รับจำนำข้าวเช่นกัน โดยระบุถึงความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่แจ้งผลการพิจารณาเรื่องโครงการจำนำข้าวมาที่รัฐบาลว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล ไม่ถือเป็นโครงการใหม่ เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 2556/ 2557 ได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2556 ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2556 อีกทั้งในช่วงที่ผ่านมามีเกษตรกรได้เข้าร่วมในโครงการดังกล่าวของรัฐบาล ดังนั้นถือเป็นหนี้ผูกพันที่รัฐบาลต้องหาแหล่งเงินมาบริหารหนี้ที่เกิดจากโครงการดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกาจึงมีความเห็นว่า โครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 2556/ 2557 ไม่ขัดเงื่อนไขมาตรา 181 (3) สามารถดำเนินการได้นั้น

นายธีระชัย แย้งว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาน่าจะยังมิได้คำนึงอย่างครบถ้วนและรอบคอบในประเด็นต่อไปนี้ 1.การโอนวงเงินกู้ที่มีไว้เพื่อรองรับร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน คมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... น่าจะไม่ถูกต้อง โดยวงเงินกู้ 1.3 แสนล้านบาท ที่โอนจากโครงการคมนาคม ไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าวแทนนั้น เป็นส่วนหนึ่งของวงเงินที่เตรียมไว้รองรับการก่อหนี้ตามร่าง พ.ร.บ. ข้างต้น จึงเป็นวงเงินอนาคต ดังนั้น การโอนวงเงินอนาคต มาใช้ในปัจจุบัน ทั้งที่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวยังไม่มีผลใช้บังคับจึงน่าจะไม่ถูกต้อง

2.การโอนวงเงินกู้จากโครงการคมนาคมไปใช้ในโครงการรับจำนำข้าว น่าจะมีผลเป็นการรอนสิทธิครม.ชุดต่อไป

3.การโอนวงเงินกู้ดังกล่าว น่าจะผิดวัตถุประสงค์ในการกำหนดวงเงินรับจำนำข้าวเป็นวงเงินหมุนเวียนที่ต้องการลดความเสี่ยงข้าวเสื่อมสภาพและป้องปรามการทุจริต

4.การที่คณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะฯ มีมติโอนวงเงิน และให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ดังกล่าวนั้น เป็นมติที่เกิดขึ้นภายหลังการยุบสภา จึงน่าจะเข้าบทบัญญัติของมาตรา 181 (3) ด้วยถึงแม้โครงการรับจำนำข้าวเปลือกฤดูกาลผลิตปี 2556/ 2557 จะได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2556 ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่นายกรัฐมนตรีประกาศยุบสภา แต่ครม.มิได้อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ การค้ำประกันหนี้ปรากฏภายหลังในมติของคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะฯ ที่เกิดขึ้นภายหลังการยุบสภา

5.การโอนวงเงินและขั้นตอนการอนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันดังกล่าวไม่เป็นไปตามขั้นตอนปกติที่เคยใช้เดิม จึงอาจจะมีเจตนาฝ่าฝืนมาตรา 181 (4) เนื่องจากการชำระเงินให้แก่เกษตรกรที่ค้าง จะทำให้เกิดผลดีแก่พรรคการเมืองที่ร่วมรัฐบาลเป็นอย่างมาก โดยจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เกี่ยวข้องจะมีหลายล้านคนทั้งตัวเกษตรกรเอง และบุคคลในครอบครัว รวมไปถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องในขบวนการรับจำนำข้าวด้วยดังนั้น ผู้ดำเนินการจึงต้องระมัดระวัง มิให้เข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา 181 (4) แต่กรณีนี้มีการดำเนินการที่ไม่ค่อยจะปกติอย่างน้อยสามเรื่อง คือ

หนึ่ง การโอนวงเงินที่เป็นส่วนหนึ่งของร่าง พ.ร.บ. กู้เงินสองล้านล้านบาท ในระหว่างการเลือกตั้ง โดยไม่รอผลการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเสียก่อน เป็นการดำเนินการที่รีบร้อน อาจจะมีเจตนาแอบแฝงเพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้ง

สอง การโอนวงเงินจากโครงการลงทุนเพื่อสร้างทรัพย์สินวัตถุถาวรให้แก่ประเทศ เป็นโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งเป็นการใช้สิ้นเปลืองและมีโอกาสจะขาดทุน การโอนวงเงินข้ามประเภทเช่นนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ทำกันเป็นปกติ และเมื่อมีการเร่งดำเนินการในช่วงที่มีการเลือกตั้ง จึงอาจจะมีเจตนาแอบแฝงเพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้ง

สาม การอนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันหนี้ แทนที่จะเสนอให้ครม.พิจารณาตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเช่นเดิม กลับไปดำเนินการอย่างไม่เปิดเผยผ่านคณะกรรมการบริหารหนี้สาธารณะฯ และเป็นการมีมติในช่วงที่มีการเลือกตั้ง จึงอาจจะมีเจตนาแอบแฝงเพื่อให้มีผลต่อการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม กลับมีหมูไม่กลัวน้ำร้อน กล้าเซ็นเงินกู้เจ้าปัญหานี้ โดยนายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ม้าอาสาตายแทนนายกิตติรัตน์และนางสาวยิ่งลักษณ์ ลงนามในหนังสือชี้ชวนให้สถาบันการเงินเข้าร่วมปล่อยกู้ให้ ธ.ก.ส. มีกระทรวงการคลังค้ำประกันตามที่ สบน. เสนอมาตั้งแต่วันที่ 28 ม.ค. 2557 เพื่อใช้ในโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลวงเงิน 1.3 แสนล้านบาท โดย สบน. จะเปิดให้สถาบันการเงินเสนอวงเงินกู้เข้ามาในวันที่ 30 ม.ค. 2557ก้อนแรกจำนวน 2 หมื่นล้านบาท

การดันทุรังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหาจำนำข้าว กลายเป็นการผูกปมปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีก และหากมีการฟ้องร้อง ศาลมีคำสั่งศาลออกมา นางสาวยิ่งลักษณ์และนายกิตติรัตน์ ต้องเป็นผู้รับผิดชอบกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นเต็มๆ รวมทั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับธนาคารที่ปล่อยกู้ ความเชื่อมั่นต่อธนาคารของผู้ฝากเงินจะสร้างความแตกตื่นแห่ถอนเงินกันให้กลายเป็นวิกฤตลุกลาม แต่เชื่อได้เลยว่า งานนี้ธนาคารโดยเฉพาะแบงก์รัฐถูกบีบคอเอาเงินไปโป๊ะหนี้ชาวนาแน่ๆ เหตุนี้ พนักงานธนาคารออมสินจึงรีบออกมาประท้วงไม่ให้บอร์ดของแบงก์ปล่อยกู้

นายกิตติรัตน์ ก็รู้สถานการณ์ดี และยอมรับว่า การกู้เงินรับจำนำข้าวจากธนาคารครั้งนี้อาจกู้ได้ยาก เนื่องจากธนาคารบางแห่งปฏิเสธปล่อยกู้ให้รัฐบาล โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทย และธนาคารออมสิน เพราะมีผู้ชุมนุมประท้วงไปกดดัน ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งกังวลก็ว่า การปล่อยกู้จะไม่ถูกต้อง และไม่แน่ใจว่าการดำเนินการของรัฐบาลขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่

ในขณะเดียวกัน กกต.ก็ปัดเรื่องเงินกู้จำนำข้าวออกพ้นตัวเป็นรอบที่สอง คราวนี้ นายสุเทพ พรหมวาศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวว่า กกต. เห็นว่าไม่มีอำนาจในการพิจารณาประเด็นที่ ธ.ก.ส. ขอหารือว่า สามารถใช้เงินทุนสำรองจ่ายวงเงินไม่เกิน 5.5 หมื่นล้านบาท ในการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวปี 2556/57 ได้หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องระหว่าง ธ.ก.ส. กับกระทรวงการคลัง และเกษตรกร และไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 181 (1) (2) และ (4) ไม่ต่างไปจากการขอหารือกู้เงิน 1.3แสนล้าน รอบแรกของรัฐบาลที่ กกต.ชิ่งหนีโดยชี้ว่าไม่อยู่ในอำนาจเช่นกัน

ส่วนเม็ดเงินที่จะมาจากความสามารถในการขายข้าวของกระทรวงพาณิชย์นั้น เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ผ่านมา นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เพิ่งโม้ว่า ได้ขายข้าวสารในสต็อกรัฐบาลให้ผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศเข้าม จำนวน 7 ราย รวมปริมาณ 8 แสนตัน โดยกำหนดส่งมอบและชำระเงินภายใน 2 เดือน เพื่อนำเงินส่งคืนกระทรวงการคลังนำไปใช้จ่ายค่าข้าวให้กับเกษตรกรต่อไป แต่อ้ำๆ อึ้งๆ ไม่สามารถเปิดเผยราคาขายได้

การดิ้นรนหาเงินมาโป๊ะหนี้จำนวนข้าวให้กับชาวนาร่วมสองแสนล้านบาท เป็นปัญหาใหญ่ที่จะทำให้พรรคเพื่อไทยสูญพันธุ์ได้ง่ายๆ เป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง โปรดอย่าลืมว่า โครงการจำนำข้าว มีคดีอยู่ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีการตั้งคณะกรรมการชุดใหญ่เพื่อดำเนินการไต่สวนถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ออกจากตำแหน่งจากกรณีกล่าวหาว่าดำเนินนโยบายจำนำข้าวที่ไม่ถูกต้อง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติ โดยรวมเข้ากับกรณีที่ก่อนหน้านี้ ป.ป.ช.มีมติดำเนินการไต่สวนในกรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งการดำเนินโครงการรับจำนำข้าว อันเป็นมูลความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญาหรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น เพื่อไต่สวนในคราวเดียวกัน

ถึงแม้ ป.ป.ช.จะขึ้นชื่อว่าช้าเป็นเต่าล้านปี แต่ไม่แน่ว่าถ้าหากเกิดปาฏิหาริย์ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดโดยไม่ชักช้า นางสาวยิ่งลักษณ์ ก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่โดยทันที แล้วทีนี้ทั้งปัญหาเงินกู้ที่ส่อเค้าว่าผิดกฎหมาย ทั้งหนี้สินชาวนาที่ยังเคลียร์ไม่ได้ นางสาวยิ่งลักษณ์และ นช.ทักษิณ ผู้เป็นพี่ชาย จะทิ้งมรดกบาปนี้ให้กับชาวนารับเคราะห์กรรมกันไป

อวสานโครงการจำนำข้าวที่พังคามือรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ พร้อมกับมรดกบาปที่ส่งมอบต่อรัฐบาลชุดต่อไปไม่ว่าพรรคไหนจะเข้ามีอำนาจก็ตามต้องชำระสะสาง นั่นคือ หนี้สินก้อนมหึมา 7- 8 แสนล้านบาท ที่ใช้จ่ายในโครงการรับจำนำข้าวในช่วง 2ฤดูกาลที่ผ่านมา กับกองข้าวเน่า - ข้าวดีในสต็อกที่ปะปนกันมั่วไปหมดอีก 10 กว่าล้านตัน

ส่วนชาวนาที่ตื่นขึ้นมาก็ต้องเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่าข้าวไทยในตลาดโลกที่ถูกรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ทำปู้ยี้ปู้ยำจนฉิบหายทั้งอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกนั้น ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าจะฟื้นคืน ทั้งชื่อเสียงคุณภาพข้าวที่เสียไป เพราะส่วนใหญ่มีแต่ข้าวคุณภาพต่ำที่เข้าร่วมโครงการจำนำและส่งออก ทั้งต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้นช่วงรับจำนำข้าว ทั้งข้าวที่ยังคงค้างสต็อกรอระบายอีกจำนวนมาก กว่าจะขายหมดก็ต้องใช้เวลา ราคาข้าวจะตกต่ำลงมากและยาวนาน

จะมีก็แต่ เจ๊ ด. พรรคพวกบริวาร วงศ์วานว่านเครือของนช.ทักษิณ ที่อิ่มหมีพลีมัน แต่อย่าลืมเป็นอันขาดว่า เวรกรรมกำลังไล่ล่า จุดจบของชาวนา ย่อมหมายถึง จุดจบของแก๊งทักษิณ เหมือนกัน



พนักงานธนาคารออมสินรวมตัวกันแต่งชุดดำเพื่อประท้วงและไม่เห็นด้วยกับบอร์ดของธนาคารที่จะพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล

กำลังโหลดความคิดเห็น