ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-วันก่อน 14 ม.ค.กลุ่มผู้ชุมุนม คปท.นำมวลมหาประชาชน ไปปิดสำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ขอร้องให้ ข้าราชการกว่า 500 คน หยุดภารกิจ 5 วัน ไม่ต้องามาทำงานให้รัฐบาลที่หมดความชอบธรรมไปแล้ว
ทำให้ เมกกะโปรเจกส์ หรือโครงการที่กำลังจะพิจารณาจากงบลงทุน ปี2557 ที่ค้างอยู่ในสภาพัฒน์ ก็หยุดไปโดยปริยายหลายโครงการ เป็นโครงการ จากจำนวน 27 หน่วยงาน ที่จะต้องเข้าบอร์ดสภาพัฒน์ เพื่อจัดลำดับความสำคัญของโครงการ หลังจากส่งหลับมาจากสำนักงบประมาณที่คิดเป็นจำนวนการของบลงทุนเบื้องต้นรวมทั้งสิ้น 1,053,248 ล้านบาท
ขณะที่เมื่อวันที่ 13 ม.ค. มีข่าว “ศาลรัฐธรรมนูญ ได้เลื่อนไต่สวนพยานคดีเงินกู้ 2 ล้านล้าน ไม่มีกำหนด หลังม็อบปิดศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ”
เรื่องมีอยู่ว่า นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ โฆษกศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ตามที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพยานผู้เชี่ยวชาญในคดีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของสมาชิกรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่างพ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ เข้าไต่สวนเพิ่มเติมในวันที่ 15 ม.ค.เวลา 10.00 น. นั้น
เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญได้มีหนังสือแจ้งไปยังพยานผู้เชี่ยวชาญรวม 4 รายประกอบด้วย นายทนง พิทยะ นายธีรชัย ภูวนาถนรานุบาล น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โดยคณะตุลาการฯขอเลื่อนการไต่สวนออกไปก่อน ซึ่งหลังเหตุการณ์การชุมนุมปิดล้อมศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ คลี่คลายลง คณะตุลาการฯจึงจะมีการประชุมและกำหนดวันไต่สวนใหม่แล้วจึงค่อยแจ้งให้พยานทราบอีกครั้ง
หากจำกันได้การไต่สวนเมื่อ 8 ม.ค.57 หลังจากมีคำพูดแทงใจดำตัว “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” รมว.คมนาคม ออกมาจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ฮืฮฮา! ทั้ง2 ฝ่าย ภายหลังจากที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนพยาน วันที่ 8 ม.ค. ในคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่า ร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ หรือ พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 169 วรรคหนึ่ง และมาตรา 170 หรือไม่
โดยระหว่างการไต่สวน นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ซักถามนายชัชชาติ ถึงความจำเป็นในการออก พ.ร.บ.กู้เงินฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งให้ความเห็นส่วนตัวแสดงความเป็นห่วงถึงการกู้เงิน อาจเป็นการสร้างภาระหนี้ให้กับลูกหลาน และยังเห็นว่ารถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับไทย และเป็นไปได้ควรทำให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน
ก็ต้องกลับมาดูว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะเรียกพยายานผ็เชี่ยวชาญทั้ง 4 ปากมาถามความเห็นเมื่อใด
แต่ที่แน่ ๆ โครงการกู้เงิน 2 ล้านล้านบาท แท้งไปอีกนาน
แต่กลับกัน ในส่วนภาคข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับโครงการ 2 ล้านล้านบาท อย่าง สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม กลับเห็นว่าการลงทุนมีความสำคัญกับการบริหารประเทศ ใครจะชัตดาวน์ จะปิดกรุงเทพ ก็ไม่เกี่ยวกัน มีข่าวว่า สนข. ตอนนี้ไม่รอคำพิพากษาศาลรัฐธรรมนูญแล้ว
โดยเฉพาะ “นายจุฬา สุขมานพ” ผู้อำนวยการสนข. ออกมาให้ข่าวต่อแผนงานในอนาคต รอบรัลรัฐบาลชุดใหม่ว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้เตรียมความพร้อมที่จะเดินหน้าโครงการก่อสร้างในแผนลงทุนภายใต้กรอบวงเงิน 2 ล้านล้านบาท โดยจะดึงโครงการที่มีความพร้อมเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ เพื่อเปิดประมูลก่อสร้างต่อไป จะไม่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่กำลังพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ... ว่าขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่
"กระทรวงก็เดินหน้าโครงการไปตามปกติ เพราะศาลดูเรื่องข้อกฎหมายเป็นหลัก ไม่ได้หมายความว่าโครงการจะหยุดชะงัก ตอนนี้โครงการจะไปต่อได้หรือไม่อยู่ที่ว่าจะมีรัฐบาลมาอนุมัติโครงการและหาแหล่งเงินมาดำเนินการ แต่ถ้าร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาทผ่านการพิจารณาก็นำเงินกู้ส่วนนี้มาดำเนินการต่อได้ ซึ่งประเมินว่าในปีนี้จะใช้เม็ดเงินลงทุนประมาณ 8 หมื่นล้านบาท"
สำหรับโครงการที่พร้อมส่วนใหญ่จะเป็นโครงการที่ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) สามารถเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติได้ทันที ใช้ทั้งเงินกู้และงบประมาณปี 2558 อาทิ โครงการถนนของกรมทางหลวง (ทล.) กับกรมทางหลวงชนบท (ทช.) เช่น ขยายถนน 4 ช่องจราจร บูรณะทาง สะพานข้ามทางรถไฟ เป็นต้น
นอกจากนี้มีโครงการรถไฟทางคู่ 5 สายทางที่รอการอนุมัติอีไอเอ วงเงินลงทุน 118,034 ล้านบาท อาทิ สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท สายนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน 165 กิโลเมตร 20,038 ล้านบาท ฯลฯ
โครงการรถไฟฟ้า 2 สายทาง มีสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) กับสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) โครงการมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา 196 กิโลเมตร เงินลงทุน 84,600 ล้านบาท เนื่องจากออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนอีก 2 สาย คือ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด ยังต้องรอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินก่อน จึงจะดำเนินการขออนุมัติโครงการได้
สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สายทาง วงเงินลงทุน 783,229 ล้านบาทนั้น จะเร่งศึกษาและทำอีไอเอในเฟสแรกให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ได้แก่
1.สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา
2.สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา คาดว่าปลายเดือนมกราคมนี้จะยื่นขออีไอเอได้
3.สายกรุงเทพฯ-หัวหิน เนื่องจากปรับตำแหน่งสถานีใหม่จำเป็นต้องรอจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่อีกครั้ง คาดว่าภายในเดือนมีนาคมนี้จะยื่นได้
4.สายกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กำลังศึกษารายละเอียดโครงการ
"ไฮสปีดเทรนจะเร่งอีไอเอให้จบปีนี้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเหมือนกันว่าจะช้าหรือเร็ว ยังตอบไม่ได้เพราะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ในอนาคตเมื่ออีไอเอผ่านก็เสนอ ครม.อนุมัติโครงการต่อไป คาดว่าโครงการนำร่องทำได้ก่อน คือ สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ในความเห็นของ สนข.น่าจะผลักดันโครงการนี้ต่อไป โดยใช้เงินกู้เหมือนรถไฟฟ้า แต่อยู่ที่นโยบายของรัฐบาลใหม่ด้วย"
ขณะเดียวกัน ก่อนหน้านี้ ก็มีกระแสข่าวว่า จะดันโครงการ 2 ล้านล้าน มาอยู่ในงบปกติ แต่ก็เงียบหายไป
มีแต่การเตรียมความพร้อมในทุกด้านไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนผ่านการศึกษาออกแบบ การรับรองผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ แนวทางการขออนุมัติเงินกู้และการจัดสรรเงินกู้อย่างไร แนวทางการติดตามโครงการและประเมินผลโครงการ กับสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะหรือ สบน. ก่อนเสนออนุมัติเงินกู้ตามแนวทางปฏิบัติราชการ
อย่างก็ตาม สนข. ยังได้จัดกลุ่มรองรับไว้แล้ว รวมวงเงิน 5.9 แสนล้านบาท โดยเป็นของหน่วยงานการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.)จำนวน 9 สัญญา วงเงินรวม 1.85 แสนล้านบาท ได้แก่รถไฟชานเมือง 5 สัญญาและรถไฟความเร็วสูง 4 สัญญา, โครงการในส่วนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้แก่รถไฟฟ้าในเมือง จำนวน 7 สัญญา วงเงิน 1.11 แสนล้านบาท ,โครงการของกรมทางหลวง 375 สัญญา วงเงิน 2.27 แสนล้านบาท โครงการของกรมทางหลวงชนบท 58 สัญญา วงเงิน 2.7 หมื่นล้านบาท โครงการของกรมการขนส่งทางบก 16 สัญญา วงเงิน 9.8 พันล้านบาท โครงการของกรมเจ้าท่า 5 สัญญา วงเงิน 2.8 หมื่นล้านบาท
สำหรับโครงการที่พร้อมประกวดราคาในปี 2557 จำแนกเป็น 10 กลุ่มโครงการขนาดใหญ่ ประกอบด้วย
กลุ่มที่ 1.โครงการรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง(งานโยธา) สายเหนือ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่(ช่วงแรกถึงพิษณุโลก) สายตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย(ช่วงแรกถึงนครราชสีมา) สายใต้ เส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์(ช่วงแรกถึงหัวหิน)
กลุ่มที่ 2.โครงการรถไฟทางคู่ 5 เส้นทางได้แก่ สายลพบุรี-ปากน้ำโพ สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สายนครปฐม-หัวหิน สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น และสายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร
กลุ่มที่ 3.โครงการก่อสร้างรถไฟสายใหม่ ได้แก่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ
กลุ่มที่ 4.โครงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้แก่ โครงการติดตั้งระบบโครงข่ายโทรคมนาคม ติดตั้งและปรับปรุงเครื่องกั้นเสมอระดับ
กลุ่มที่ 5.โครงการก่อสร้างทางราง ได้แก่ โครงการก่อสร้างโรงรถจักรแห่งใหม่ที่แก่งคอย
กลุ่มที่ 6.โครงการรถไฟฟ้า 8 เส้นทาง ได้แก่ สายสีแดงอ่อน ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน, ช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก, ตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง สายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง
กลุ่มที่ 7.โครงการก่อสร้างทางหลวงของกรมทางหลวง ได้แก่ การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ 6 สายทาง การเร่งรัดก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจรและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง 17 สายทาง การก่อสร้างสะพานข้ามทางรถไฟจำนวน 22 แห่ง และโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน) สายบางใหญ่-บ้านโป่ง-กาญจนบุรี และสายพัทยา-มาบตาพุด
กลุ่มที่ 8.โครงการก่อสร้างทางหลวงของกรมทางหลวงชนบท ได้แก่ โครงการสนับสนุนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ 1 โครงการ โครงการแก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ปริมณฑลและเมืองใหญ่ในภูมิภาค 1 โครงการ โครงการก่อสร้างสะพานและอุโมงค์ข้ามทางรถไฟ ระยะที่ 1 จำนวน 8 แห่ง โครงข่ายทางหลวงชนบทเพื่อการท่องเที่ยว ระยะที่ 1 จำนวน 12 โครงการ
กลุ่มที่ 9.โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ โครงการศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จ.เชียงราย ระยะที่ 1
และกลุ่มที่ 10. โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าในแม่น้ำป่าสัก ได้แก่ การศึกษาออกแบบรายละเอียด/ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เส้นทางเชื่อมแม่น้ำป่าสัก-แม่น้ำเจ้าพระยาออกสู่ทะเล และโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งพัง ระยะที่ 1
แต่ล่าสุด“ศาลรธน.เลื่อนไต่สวนพยานคดีเงินกู้ 2 ล้านล้าน ไม่มีกำหนด เรื่องนี้จึงต้องพับเอาไว้ก่อนนั้นเอง แต่ถ้าเอาให้ชัวร์ ปิดสภาพัฒน์ได้ ต่อไปคงจะต้องปิด สนข. อีกหน่วยงาน โครงการนี้ก็จะเดี้ยงไปโดยปริยาย