ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-เป็นอีกหนึ่งฉากทางการเมืองกับโมเดล “สภาปฏิรูปประเทศ”ที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรีรักษาการได้เดินหน้าเตรียมจัดตั้งควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ผ่านการแถลงอย่างเป็นทางการของยิ่งลักษณ์เมื่อ 25 ธ.ค. 56 ที่ผ่านมา
การที่รัฐบาลรักษาการแซงทางโค้งหวังจะตั้งสภาปฏิรูปประเทศ ปาดหน้ากปปส.ใครๆก็รู้ว่าตระกูลชินวัตรหวังคลายกระแสกดดันจากสังคมคิดว่ามีข้อได้เปรียบมีอำนาจรัฐอยู่ในมือแม้จะเป็นรัฐบาลรักษาการ ก็สามารถทำให้สภาปฏิรูปเป็นจริงขึ้นมาได้แต่กปปส.ไม่มีอำนาจ จึงทำให้สภาประชาชนของกปปส.ยังทำได้แค่ขายไอเดียแต่ยังทำให้เกิดไม่ได้
ในทันทีกลุ่มประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข(กปปส.)สวนกลับแบบตีแสกหน้า ถมถุยใส่ว่าเป็นแค่การผายลมของยิ่งลักษณ์
เช่นกันกระแสความเห็นจากหลายภาคส่วนไม่ค่อยตอบรับกับการสร้างสภาปฏิรูปประเทศของยิ่งลักษณ์ เหตุผลที่ประชาชนไม่ตอบรับ ก็เพราะรู้ดีว่าที่ยิ่งลักษณ์ทำสภาปฏิรูปประเทศอย่างรีบเร่ง ก็เพื่อหวังให้ประชาชนเห็นว่า รัฐบาลรักษาการและพรรคเพื่อไทยจริงใจต่อการปฏิรูปประเทศที่กำลังเป็นกระแสหลักของสังคม
ทุกองค์กรต่างเห็นว่าหายนะประเทศเกิดแน่หากไม่ปฏิรูปผ่าตัดประเทศครั้งใหญ่มันก็เลยทำให้รัฐบาลเพื่อไทยต้องร่วมโดดเกาะกระแสปฏิรูปไปกับเขาด้วย เพื่อไม่ให้ตกขบวนแต่ใจจริงแล้ว ยิ่งลักษณ์และเพื่อไทย ก็ขอแค่อย่างเดียว
คือทำยังไงก็ได้ขอให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เกิดให้ได้ แล้วเรื่องจะปฏิรูปฯ ก็มาว่ากันหลัง 2 ก.พ. 57
เรา“ทีมข่าวการเมือง”ก็เชื่อว่าประชาชนทั้งหลาย ก็รู้ว่าอะไรเป็นอะไรดังนั้น ที่ยิ่งลักษณ์ออกมาสร้างภาพ ทำสภาปฏิรูปประเทศจึงไม่ค่อยมีเสียงขานรับเท่าที่ควร
ยิ่งหากไปดูข้อเสนอของยิ่งลักษณ์และคนในรัฐบาลเพื่อไทย ที่อ้างว่า สภาปฏิรูปประเทศจะเป็นสภาของประชาชนอย่างแท้จริง รัฐบาลรักษาการตอนนี้ไม่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่เข้าไปแทรกแซงและจะให้รัฐบาลชุดใหม่หลังเลือกตั้งที่ก็คือเพื่อไทยมาสานต่อสภาปฏิรูปประเทศต่อไปก็เป็นการยกเหตุผลอะไรมาอ้างที่จับต้องอะไรไม่ได้เป็นรูปธรรม
“ทีมข่าวการเมือง”ฟังการปราศรัยของทีมนักคิดเชิงยุทธศาสตร์ของกปปส.อย่าง”ศ.ดร. สมบัติธำรงธัญวงศ์”นักวิชาการและอดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือนิด้าแล้วก็ชอบใจ เพราะศ.ดร.ปอกเปลือกยิ่งลักษณ์ที่ทำเรื่องสภาปฏิรูปประเทศไว้แบบตรงๆว่าเป็นเพียงการสร้างเรื่องขึ้นมาเพื่อขอให้รัฐบาลได้ร่วมไปกับกระแสปฏิรูปของประชาชนเท่านั้นแต่หาได้มีความจริงใจแต่อย่างใดอีกทั้งหากดูความน่าจะเป็นทางการเมืองแล้ว หากหลังเลือกตั้ง เพื่อไทยมาเป็นรัฐบาลก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าจะตอบรับกับข้อเสนอของสภาปฏิรูปประเทศยิ่งหากข้อเสนอนั้นไม่ได้สร้างประโยชน์การเมืองให้กับระบอบทักษิณก็ยิ่งไม่มีทางจะได้รับการตอบรับ
แต่ที่ยิ่งลักษณ์ต้องทำก็เพื่อหวังเพียงให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ผ่านพ้นไปให้ได้ก่อน แล้วก็ค่อยไปว่ากันใหม่เปรียบเหมือนการซื้อเวลาทางการเมืองเท่านั้นเอง
การอธิบายเรื่องทำไมยิ่งลักษณ์ ต้องเสนอ สภาปฏิรูปประเทศด้วยคำปราศรัยการเมืองบนเวทีราชดำเนินที่เข้าใจกันง่ายๆ ของ”ศ.ดร.สมบัติ” ทาง”ทีมข่าวการเมือง”เห็นว่าน่าสนใจไม่น้อย ขอนำบางส่วนมาเผยแพร่
“ที่รัฐบาลตั้งสภาปฏิรูปประเทศขึ้นมา ก็เพื่อหวังจะให้เลือกตั้งกันไปให้ได้ อย่าคิดว่าคนทั้งแผ่นดินกินหญ้าเหมือนข้าทาสบริวาร ประชาชนไม่ได้กินหญ้าเลือกตั้งเสร็จมาเป็นรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภาฯ จากนั้นสภาปฏิรูปหากเสนออะไรหากเสนอแก้รัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็จะบอกให้สภาฯพิจารณา สภาผู้แทนราษฏรเป็นของใคร ก็เพื่อไทยมีเสียงข้างมาก เป็นสภาฯที่เคยกระทำชำเราประชาชนตอนรุ่งสาง
หากสภาปฏิรูปประเทศคิดดีเสนอหลักการดีเสนอไปที่สภาที่เพื่อไทยคุมเสียงข้างมาก ถ้าเสนอไปแล้วทำให้ระบอบทักษิณอ่อนแอลงมีหรือที่สภาเพื่อไทยจะเอาด้วยกับข้อเสนอของสภาปฏิรูปประเทศมันเป็นไปตามหลักที่ว่าชนชั้นใดบัญญัติกฎหมาย ก็จะบัญญัติกฎหมายเพื่อชนชั้นนั้นหากเพื่อไทยมีเสียงข้างมากในสภาฯ แล้วสภาปฏิรูปประเทศเสนออะไรมาที่กระทบผลประโยชน์แล้วจะได้แรงหนุนได้อย่างไร
เขาคิดว่าประชาชนกินหญ้าบอกให้เลือกตั้งกันไปก่อน ดูแล้วที่เสนอมาเป็นสภาปาหี่สภาปฏิรูปเสนอไปแล้วไม่รับฟัง ก็แท้งหมด ไม่มีทางได้เกิดประชาชนอย่าไปหลงเชื่อสภาปฏิรูป คือพยายามทำท่าให้ดูดีแต่เป็นแค่การผ่าตัดศัลยกรรมให้ดูดีแต่ของจริงเป็นโพรง
หากใครมาบอกให้เราเอาด้วยกับสภาปฏิรูปประเทศให้ตอบไปว่าไม่ได้กินหญ้า อย่ามาหลอก อย่าได้เชื่อ อย่าได้หลงกล มันปาหี่ชัดๆ มันไม่สามารถนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่ดีได้เพื่อไม่ให้การต่อสู้ของประชาชนเสียเปล่า การต่อสู้ครั้งนี้คงต้องยืดเยื้อยาวนาน ”
คำสั้นๆ “ไม่ได้กินหญ้า อย่ามาหลอก”ที่ศ.ดร.สมบัติแนะให้ประชาชนที่ออกมาสนับสนุนแนวทาง ปฏิรูปประเทศก่อนแล้วค่อยเลือกตั้งตอบไปว่าเวลามีคนมาถามทำไม มวลมหาประชาชนยังชุมนุมกันอยู่ได้ยิ่งลักษณ์ยุบสภาฯแล้ว ตั้งสภาปฏิรูปประเทศแล้ว ยังจะเอาอะไรอีก มันเห็นภาพได้ชัด
ก็เพราะข้อเท็จจริง-ความเป็นไปทางการเมืองในช่วงสองปีกว่าที่ยิ่งลักษณ์เป็นนายกฯและเพื่อไทยเป็นรัฐบาลหลายอย่างที่ปรากฏมันทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่น ยิ่งลักษณ์ อีกต่อไปแล้วเพราะอย่างตอนเข้ารับตำแหน่งนายกฯวันแรกก็ยืนยัน จะไม่ทำให้ประชาชนผิดหวังจะไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่ซึ่งประชาชนไว้วางใจพรรคเพื่อไทย
ไปทำอะไร“เพื่อคนๆเดียว”
แต่สุดท้ายทั้งยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยที่ได้เสียงไว้วางใจจากประชาชนมากที่สุดเกือบ 15 ล้านเสียง ก็ทรยศประชาชนด้วยการลักหลับออกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อช่วย“คนๆ เดียวคือพี่ชาย ทักษิณ ชินวัตร”
หรือก่อนหน้านี้ไม่นานที่ยิ่งลักษณ์ทำเรื่องสภาปฏิรูปฯที่ให้ บรรหาร ศิลปอาชา รับหน้าเสื่อ โดยเชิญผู้ใหญ่ในบ้านเมือง -ตัวแทนองค์กรต่างๆมาร่วมหารือบอกจะวางพิมพ์เขียวปฏิรูปประเทศแต่สุดท้าย ประชุมกันแค่ 1-2 ครั้งก็ไม่ทำอะไรต่อแถมรัฐบาลเพื่อไทยกลับไม่ฟังเสียงท้วงติงคนที่รัฐบาลเชิญมาร่วมแจมในกรรมการปฏิรูปฯของรัฐบาลชุดนั้นอย่าง พิชัย รัตตกุล-อุทัย พิมพ์ใจชนที่เสนอให้สภาฯเพื่อไทยถอนร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ออกไปตอนช่วงกระแสต่อต้านเริ่มแรงแต่เพื่อไทยไม่ฟังเสียงท้วงติง จนทำให้ทั้งสองคนถอนตัวออกจากกรรมการชุดดังกล่าว
ทั้งหมดมีบทเรียนมีสิ่งที่ประชาชนได้เห็นความจริงใจของยิ่งลักษณ์ในเรื่องการปฏิรูปประเทศแล้วว่ามีแต่ความลวงหลอก
“กูไม่ได้กินหญ้า อย่ามาหลอก”จึงเหมาะสมมากกับการจะบอกไปยังยิ่งลักษณ์-พรรคเพื่อไทยว่าสภาปฏิรูปประเทศ พวกคุณอยากจะทำเพื่อสร้างภาพก็ทำไป มีอำนาจก็ทำไป แต่ประชาชนเขาจับทางได้หมด ไม่ว่ายิ่งลักษณ์จะมาไม้ไหน
แม้ต่อให้ โมเดล สภาปฏิรูปประเทศ ที่ดูแล้วลำพังสมองยิ่งลักษณ์คิดเรื่องแบบนี้ไม่เป็นแน่นอน แต่น่าจะเป็นฝีมือของพวกกุนซือทั้งหลายในเพื่อไทยที่ชงเรื่องมาให้ซึ่งได้เสนอว่าให้ปิดจุดที่จะทำให้ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องตอบคำถามสื่อและประชาชนได้ว่าจะมีหลักประกันเรื่องที่ว่าหากสภาปฏิรูปประเทศเสนอรัฐบาลหลังเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 ที่ก็คือรัฐบาลเพื่อไทย แล้วรัฐบาลจะทำอย่างไร ด้วยการให้ ยิ่งลักษณ์ บอกกับประชาชนไปว่า
“เมื่อสภาปฏิรูปประเทศได้ดำเนินการในข้อใดเสร็จเรียบร้อยแล้วให้ทำรายงานเสนอนายกรัฐมนตรีและให้สภาปฏิรูปประเทศเปิดเผยรายงานดังกล่าวต่อสาธารณชนเพื่อที่จะได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องนำไปดำเนินการ”
ที่ก็คือพยายามจะบอกว่า หากข้อเสนอของสภาปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องที่ดีมีประโยชน์กระแสประชาชนที่ได้รับรู้ข้อเสนอนั้นพร้อมกับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมันก็จะเป็นเป็นฝ่ายสร้างแรงกดดันไปยังรัฐบาลเองว่าต้องเอาด้วยกับข้อเสนอสภาปฏิรูปประเทศ
กระนั้นของอย่างนี้มันก็ไม่ได้มีหลักประกันว่า นายกฯต้องรับข้อเสนอทุกเรื่องของสภาปฏิรูปประเทศก็ได้หากข้อเสนอนั้นไม่ทำให้รัฐบาลได้ประโยชน์ใดๆ
ยิ่งเรื่องข้อเสนอแบบนี้มันไม่ได้มีบทลงโทษทางกฎหมาย รัฐบาล-นายกฯก็พริ้วได้อยู่แล้วสามารถเด้งเชือกไปได้เรื่อยๆ
อย่างเช่นมาเสนอให้แก้กฎหมายเรื่องการถือครองที่ดินมีการเสนอให้จำกัดการถือครองที่ดินไม่ให้บุคคลใดหรือตระกูลใดตระกูลหนึ่งถือครองที่ดินโดยไม่ทำประโยชน์มากเกินไปเพื่อหวังลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
เสนอมาแบบนี้มันกระทบกันหมดโดยเฉพาะพวกนักการเมือง-ส.ส.ที่ส่วนใหญ่มีที่ดินเป็นสินทรัพย์หลัก นายกฯ-รัฐบาลก็เด้งเชือกได้ว่าการเสนอแก้กฎหมายแบบนี้มีผลกระทบกับคนจำนวนมาก เป็นเรื่องใหญ่ต้องศึกษาอย่างรอบคอบแล้วก็ซื้อเวลาตั้งกรรมการศึกษาผลดีผลเสียไปเรื่อย หรือไม่ก็โยนไปให้สภาฯ พิจารณาเสร็จแล้วทั้งรัฐบาลและสภาฯที่เป็นพวกเดียวกันก็ลอยตัว นั่งทับเรื่อง ไม่นานเรื่องก็เงียบหาย มันก็ไม่ได้มีผลอะไร
เจอแบบนี้แนวคิดสภาปฏิรูปประเทศ ก็โดน “แช่แข็ง”โดยปริยาย ถึงได้บอกว่า ยิ่งลักษณ์-เพื่อไทยที่ทำเรื่องสภาปฏิรูปประเทศ ก็หวังแค่ทำให้การเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เดินหน้าไปได้ ทำให้การเคลื่อนไหวของกปปส.ที่เสนอเรื่องปฏิรูปประเทศสภาประชาชน หมดความชอบธรรม เพราะรัฐบาลได้ทำแล้ว กปปส.จึงหมดข้อเรียกร้องให้กลับบ้านไป
ขอบอกว่าอย่าหวังเลยว่าประชาชนจะถูกหลอกง่ายๆ กับการเอาเรื่อง สภาปฏิรูปประเทศมาซื้อเวลาให้ระบอบทักษิณและตระกูลชินวัตร เพราะสู้มาขนาดนี้แล้ว จะมาโดนหลอกง่ายๆแบบนี้ ก็จบเห่กันพอดี