ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ประเดิมการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม ให้ผู้ทุจริตคอร์รัปชั่นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาของ “นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน
พบว่ามีมติคณะรัฐมนตรีตัวหนึ่งที่น่าสนใจ โดยนายอภิสิทธิ์ ได้ฟ้องประชาชนว่า ไม่ใช่กฎหมายฉบับเดียวที่รัฐบาลพยายามจะออกเพื่อนิรโทษกรรมให้คนของตัวเอง
เป็นมติ ครม.เมื่อ 23 เม.ย. 2556 เรื่องเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ (รสก.)
มีชื่อเต็ม ๆว่า ร่างพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... โดยคณะรัฐมนตรี ได้มติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมจากร่างพระราชบัญญัติที่สำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
โดยให้ กค. ศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองที่จำเป็นเพื่อรองรับการประกาศใช้ควบคู่กับร่างพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ในระหว่างการตรวจพิจารณาของ สคก. โดยให้สามารถแต่งตั้งคณะทำงานต่าง ๆ หรือว่าจ้างที่ปรึกษาขึ้นเพื่อดำเนินการดังกล่าว และแจ้งให้ กค. ดำเนินการต่อไป
ขณะที่ร่างฉบับนี้มีสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้กรรมการรัฐวิสาหกิจต้องไม่เป็นกรรมการ หรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการ หรือมีส่วนได้ส่วนเสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุนหรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เว้นแต่เป็นประธานกรรมการ กรรมการ หรือผู้บริหารโดยการมอบหมายของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้น
2. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมีอำนาจออกประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาการมีประโยชน์ได้เสียของกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ
3. แก้ไขเพิ่มเติมลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับการต้องโทษจำคุกของผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจ
4. กำหนดให้ผู้บริหารต้องไม่เป็นหรือภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันได้รับแต่งตั้ง ไม่เคยเป็นกรรมการหรือผู้บริหารหรือผู้มีอำนาจในการจัดการหรือมีส่วนได้เสียในนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้รับสัมปทาน ผู้ร่วมทุนหรือมีประโยชน์ได้เสียเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น เว้นแต่เป็นประธานกรรมการ หรือกรรมการในนิติบุคคลดังกล่าวโดยการมอบหมายของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้น
5. กำหนดให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจอาจใช้ดุลพินิจในการรับผู้มีลักษณะต้องห้ามเกี่ยวกับการต้องโทษจำคุกตามมาตรา 9 (5) เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจได้
6. กำหนดยกเว้นการดำเนินกระบวนการสรรหาผู้บริหาร และแต่งตั้งกรรมการที่มาจากบุคคลในบัญชีรายชื่อ สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีเหตุผลจำเป็นพิเศษที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนดโดยให้การได้มาและการจ้างผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่ได้รับยกเว้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศกำหนด
7. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรารักษาการ โดยกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้รักษาตามพระราชบัญญัติ
อ่านดูก็ไม่มีอะไรเป็นที่น่าสังเกต แต่นายอภิสิทธิ์ ได้ตั้งข้อสังเกตว่า มติครม.ดังกล่าว เป็นการนำพวกพ้องไปทำงานแล้วเอื้อประโยชน์กัน และที่นายกฯ ทำคือแก้กฎหมายพนักงานรัฐวิสาหกิจ
มีข้อสังเกตว่า 1.เวลาที่มีการระบุปัญหาเกี่ยวกับส่วนได้เสีย กลับไปแก้ว่า รมว.คลัง มีอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าอะไรมีส่วนได้เสียได้บ้าง จะยึดมาเป็นอำนาจรัฐมนตรีเลยหรือว่า ส่วนได้ส่วนเสียคืออะไร 2.คุณสมบัติของ ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ก็มีการแก้กฎหมายให้คนที่ศาลลงโทษตัดสินจำคุกแต่รอลงอาญาไว้ ก็มาเป็นได้อย่างนั้นหรือ รัฐบาลนี้หาคนมาไม่ได้แล้วหรือ เปิดช่องไว้เพื่ออะไร มหัศจรรย์ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการยกเว้นให้เข้าทำงานรัฐวิสาหกิจได้ ไม่เชื่อว่ากฤษฎีกาให้ผ่าน
“ แต่ที่ท่านเห็นชอบเป็นอย่างดี คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจจะต้องมีกรรมการสรรหา ก็กำลังไปแก้ว่าถ้ามีเหตุผลพิเศษ รมว.คลังก็มีคำสั่งพิเศษไม่ให้เป็นไปตามบทบัญญัตินี้ เห็นหรือยังว่าไม่สามารถไว้วางใจได้ ครม.ปล่อยผ่านไปได้อย่างไร”
ส่วน “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม” ชี้แจงเรื่องนี้ว่า ถ้าจำได้เมื่อ 16 ส.ค.2553 หลักการนี้ได้มีการแก้ไขตาม ครม.สมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ผ่านกฤษฎีกาและรอเป็น พ.ร.บ. แต่ตกไป เพราะมีการเลือกตั้งใหม่ จากนั้น รัฐบาลนี้ได้มาดำเนินการต่อ และเหตุที่ดึงมาเพราะได้รับเรื่องร้องเรียนจากสหพันธ์รัฐวิสาหกิจไทย และสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมีลักษณะต้องห้าม เพราะข้อกำหนดที่เข้มงวดมากไป แตกต่างจากข้าราชการพลเรือน ซึ่งไม่มีความเสมอภาค และทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ก็ร้องขอให้รัฐบาลให้โอกาสผู้ต้องโทษจำคุกเปิดโอกาสให้มาทำงานในหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น รัฐบาลชุดนี้จึงนำเรื่องมาพิจารณาต่อ
ขณะที่ “นายอภิสิทธิ์”แย้งว่า นายกฯพูดเท็จ กฎหมายที่ตนเสนอปี 2553 จะตรงกับ ครม.ชุดนี้ เพียงมาตราเดียว คือการเปลี่ยนแปลงลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะอนุญาตให้คนที่ถูกรอลงอาญามาเป็นได้แต่ไม่อนุญาตให้คนที่พ้นโทษมาเป็นเจ้าหน้าที่ได้ รัฐบาลที่แล้วไม่เคยเสนอกฎหมาย ในข้อที่
1.ให้ รัฐมนตรีกระทรวงการคลังมากำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่าอะไรคือการมีส่วนได้เสียกับกิจการทางรัฐวิสาหกิจ 2. ไม่เคยกำหนดลักษณะต้องห้ามของคนที่จะมาทำงานในรัฐวิสาหกิจ 3.ไม่เคยเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยกเว้นคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามได้ และ 4.ไม่เคยมีการเสนอให้มีการยกเว้นให้มีกรรมการการสรรหา หรือใช้บัญชีผู้ทรงคุณวุฒิมาเป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมีเอกสารที่ระบุไว้ในปี 2554 ที่ตนได้เสนอต่อรัฐสภา นี่คือข้อเท็จจริงที่ทำให้ตนเสียหาย
ต่อมา “นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง” ยอมรับว่า เป็นความพยายามผลักดันของตน ภายใต้ความรับผิดชอบของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
แต่สิ่งที่นายอภิสิทธิ์หยิบยกขึ้นมาอภิปรายนั้นไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงทุกอย่างในการเสนอให้มีการแก้ไขคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นการนำเสนอของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลโดยมีตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จึงสานต่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว
“รู้สึกเห็นใจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เนื่องจากการเสนอให้มีการแก้ไขคุณสมบัติมาตรฐานของกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นการเสนอโดยรัฐวิสาหกิจในหลายองค์กร ประเด็นที่หยิบยกโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) เรื่องความเท่าเทียมกันเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และการกำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รักษาการ เป็นไปตามข้อกำหนดตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่ตนมีความไม่สบายใจ ที่ผ่านมาได้มีการประสานงานร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อทำการแก้ไข แต่ได้ถูกตัดรายละเอียดในบางส่วน เหลือเพียงหน้าที่รักษาการตามกฎหมายเท่านั้น ส่วนคุณสมบัติบาตรฐาน ให้ดำเนินการให้สอดคล้องกับสิทธิ์ที่พึงมีพึงได้”
นี้คือการตอบโต้ของนักการเมืองในเรื่องร่างกฎหมายที่ยังค้างอยู่ในขั้นของกฤษฎีกา
แต่หากย้อนกลับไปดูมติครม.เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2553 ได้มีมติอนุมัติให้แก้ไข พ.ร.บ. คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามมาตรา 9 (5) กล่าวคือ จาก " ไม่เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก ไม่ว่าจะจำคุกจริงหรือไม่ เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ หรือพ้นโทษ หรือพ้นระยะเวลาการรอการลงโทษ หรือรอกำหนดโทษแล้วแต่กรณีเกินห้าปี " เป็น " ไม่เคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ " (แก้ไขกลับเหมือนเดิม) เพื่อให้คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจกับข้าราชการพลเรือนอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน
ร่างนี้ มีสาระสำคัญคือ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 ตรี (5), มาตรา 9 (5)) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา
โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมตามความเห็นของคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้บริหารและพนักงานรัฐวิสาหกิจกับข้าราชการพลเรือนให้อยู่บนมาตรฐานเดียวกัน จึงเห็นควรเพียง “ไม่เคยต้องรับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะกระทำความผิดทางอาญา เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิดที่ได้กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ”
ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2553 เลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้แก้ไขเพิ่มเติมตามความเห็นของคณะรัฐมนตรี แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา จนต่อมาร่างดังกล่าวก็ยังค้างในสภาผู้แทนราษฎร
แต่ร่างฉบับดังกล่าวก็ตกไป เพราะมีการเลือกตั้งใหม่ เมื่อปี 2554 จน กระทรวงการคลัง ได้นำร่างฉบับนี้ เสนอครม. อีกครั้ง เมื่อ 23 เม.ย.56 และยังอยู่ในขั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ดังนั้น หากร่างฉบับนี้ประกาศใช้จริงไม่รู้ว่าจะมี เด็กใครต่อใครคง พรึ๊บ!!! ตามที่มีข้อสังเกต ว่า เป็นการแก้กฎหมายให้คนที่ศาลลงโทษตัดสินจำคุกแต่รอลงอาญาไว้มาทำให้งานพวกพ้อง เข้ามาอยู่เป็นบอร์ดหรือคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจแบบเท่ห์ๆ