ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์-ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันก่อนถูกข้อครหา จากคนภายนอกและฝ่ายตรงข้าม หลังมีมติ ไฟเขียวแจกโบนัส ข้าราชการ-ลูกจ้าง สำนักงานอัยการสูงสุด 10 ล้านบาท เพราะก่อนหน้า วันเดียว เพิ่งจะมีข่าว อัยการสูงสุดสั่งฟ้อง-ไม่ฟ้อง นักการเมืองระดับบิ๊กในประเทศ
รัฐบาลถูกด่าไปก่อนแล้วว่าเป็นการเอาใจอัยการสูงสุดหรือไม่
มาดูชื่อวาระครม.วันนั้น เป็นวาระเพื่อพิจารณา ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลังในฐานะ ประธานกรรมการเสนอให้เบิกจ่ายเงินเหลือจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555
เป็นมติเดิมของคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 1 (ฝ่ายเศรษฐกิจ) ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2556 วันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน 2556
วาระเต็ม ๆชื่อว่า การจัดสรรเงินงบประมาณเหลือจ่ายเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลและสิ่งจูงใจสำหรับข้าราชการธุรการและลูกจ้างประจำของสำนักงานอัยการสูงสุด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555
คณะกรรมการกลั่นกรองฯ ส่งเรื่องไปยัง กระทรวงการคลัง (กค.) และพิจารณากลับมาแล้ว ให้ดำเนินการจัดสรรเพื่อจ่ายเป็นเงินรางวัลสำหรับข้าราชการธุรการและลูกจ้างประจำของสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดเสนอ
โดยให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ แนวทางและวิธีการ การจัดสรรเงินรางวัลสำหรับส่วนราชการสังกัดฝ่ายบริหาร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2556 (เรื่อง แนวทางการจัดสรรเงินรางวัลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 สำหรับส่วนราชการ จังหวัด และสถาบันอุดมศึกษา)
เรื่องนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ กพร. เสนอให้โบนัส แต่องค์กรอย่าง สักนักงานอัยการสูงสุดตกสำรวจ แต่ด้วยวิทยายุทธอะไรไม่ทราบ ออส. ได้โบนัสย้อนหลังปี 2555 เฉย แตกต่างกับองค์การอื่น ๆที่กำลังลุ้นว่า โบนัสปี 55 จะได้หรือไม่ อย่างลูกจ้างพนักงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในบรรดา อบจ. หรืออบต. ที่กำลังลุ้นกันอยู่
คนในรัฐบาล พยายามชี้แจงว่า เป็นโบนัสที่ให้กับ ข้าราชการธุรการและลูกจ้างประจำของสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) ประจำปีงบประมาณ 2555
เป็นการเสนอเพื่อเป็นของขวัญ กำลังใจ และเพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับข้าราชการกลุ่มที่มีผลกระทบสูงต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานราชการตามมติครม.เมื่อวันที่ 3 เม.ย.44 เรื่อง การปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานราชการ โดยยึดหลักการให้ข้าราชการธุรการและลูกจ้างประจำของอส.ได้รับความเสมอภาคในเรื่องบำเหน็จความชอบธรรมที่เป็นเงินรางวัล (เงินเพิ่มพิเศษ) เช่นเดียวกับข้าราชการพลเรือนและลูกจ้างประจำตามระเบียบกระทรวงการคลัง
ทั้งนี้ รูปแบบการจัดสรรเงินรางวัลให้อนุโลมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และรูปแบบการจัดสรรเงินรางวัลแบบเดียวกับข้าราชการพลเรือน ไม่ใช่ อัยการสูงสุดหรือ บอร์ด อสส. หรือผู้บริหาร ที่เป็นผู้สั่งคดีเกี่ยวกับการเมืองแน่!
ที่ประชุม ครม.วันเดียวกันรัฐบาล เลือกที่ตัดงบประมาณขององค์กรอิสระ ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบทุจริต อย่าง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่เสนอขอจ้างงานใหม่เบื้องต้น 785 อัตรา งบประมาณ 68.8 ล้านบาท ให้กับ ปปช.ทั่วประเทศ 76 จังหวัด ที่ขณะที่มีการจัดตั้ง และกำลังมีการสรรหา ปปช.จังหวัดกันอยู่
ครม.อ้างว่า เมื่อตรวจสอบพบว่า การจัดสรรในจังหวัดต่างๆ แม้จะมีภารกิจให้ครอบคลุม 76 จังหวัด แต่กระนั้นยังไม่ครบถ้วน จึงต้องมีการกลั่นกรองและมีมติว่า ให้ดำเนินการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2557 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายบุคลากรในการดำเนินงานของสำนักงานป.ป.ช.อีก 67 จังหวัดๆละ 5 อัตรา รวม 335 อัตรา งบประมาณ 20.1 ล้านบาท
และเพื่อให้ทุกจังหวัดของประเทศมีป.ป.ช.ครบถ้วนเสียก่อนและอนาคตจึงมาขยายอัตรากำลังและงบประมาณเพิ่มเติมอีกครั้ง
ขอ 66 ล้าน เอาไปก่อน 20 ล้าน!!
เรื่องขอเงินค่าตอบแทน ยังมีอีกเรื่อง ครม.ยังได้เห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอให้พิจารณาอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของ ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ
โดยอนุมัติเงินเดือนขั้นต่ำสุดและสูงสุดระหว่าง 100,000 - 250,000 บาท จากเดิมที่เสนอมา 100,000 - 300,000 บาท
ผู้อำนวยการสถาบันอนุญาโตตุลาการ ถือเป็นข้าราชการระดับสูงในกระทรวงยุติธรรม มีตำแหน่งเป็นกรรมการและเลขานุการของ บอร์ดอนุญาโตตุลาการ หน้าที่หลักๆก็คือ ออกข้อบังคับว่าด้วยการประนอมข้อพิพาทและอนุญาโตตุลาการ ของรัฐและเอกชน
ย้อนกลับไปดูมติครม.สัปดาห์ ก่อน รัฐบาลก็เพิ่มตัดค่าตอบแทนของ คณะกรรมการ ธุรกรรม และอนุกรรมการ ในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่มีหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในเรื่องเงิน ๆทอง ๆ ในตำแหน่งประธานกรรมการ จากเดิมที่ขอเดือนละ 115,000 บาท แต่ อนุมัติให้ เดือนละ 40,000 บาท หรือ กรรมการธุรกรรม จากเดิม ขอเดือนละ 100,000 บาท แต่ อนุมัติให้ เดือนละ 30,000 บาท
รวมถึงตัดงบเบี้ยการประชุม หรือหากไม่ได้เข้าประชุม ก็ให้งดจ่าย
นี้แค่ตัวอย่างการตัดงบประมาณของหน่วยงาน เชื่อว่ารัฐจะยังตัดค่าตอบแทนหรือเบี้ยประชุมขององค์กรที่ขอเข้ามาในช่วงนี้อีก
คงต่อเนื่องจากที่ องค์กรอิสระ ถูกตัดงบประมาณรายจ่ายปี 2557 เกือบครึ่ง จาก 23,355 ล้าน เหลือ 12,600 ล้าน
งบประมาณ 12,600 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่สำนักงบประมาณ กระทรวงการคลัง จัดสรรให้กับหน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ จากวงเงินที่ขอจัดสรรไปจำนวนทั้งสิ้น 23,355 ล้านบาท
หรือถูกปรับลดไป 10,771 ล้านบาท
หลายเดือนก่อน ภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย นำปัญหาของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องการดำเนินการประเมินลูกจ้างชั่วคราวเข้าสู่ตำแหน่งพนักงาน สธ.ออกระเบียบหลักเกณฑ์การจ้างพนักงานกระทรวงสาธารณสุขไปร้องเรียนผู้บริหารในกระทรวง
ในเรื่องการปรับเงินค่าประสบการณ์ ร้อยละ 5 ต่อทุกประสบการณ์ 2 ปี แต่ไม่เกิน 10 ปีที่เป็นผลดีกับลูกจ้างใหม่ แต่สำหรับลูกจ้างชั่วคราวที่มีอายุงานตั้งแต่ 10-30 ปี หรือมากกว่านั้น กลับถูกตัดเงินค่าประสบการณ์ทิ้ง ทั้งที่เงินเดือนที่พึงได้ก็ถูกตัดน้อยลงอยู่แล้ว ซึ่งไม่เป็นธรรม เรื่องนี้กำลังมีการแก้ปัญหาในองค์กรอยู่
ไม่รู้หน่วยงานอื่น โดนเหมือนกัน หรือไม่? แต่ถ้าผู้บริหาร มีวิทยายุทธ วิ่งเก่ง!ก็รอด