“วราเทพ” เผยหลังแจงศาล ปม พ.ร.บ.งบฯ 57 ปัดตัดงบองค์กรอิสระ แค่ปรับลดน้อยมาก แจงพิจารณาเหมือนทุกปี แปรญัตติเพิ่มตามเหตุผล ยึดจากข้อมูล ไม่ได้เชิญมาแจง ชี้แจงอนุ กก.แล้ว ย้อนงบไม่พอไม่แย้งแต่ต้น ยันทำตาม รธน. รับรอศาลตัดสินก่อนทูลเกล้าฯ อ้างชะลอเพราะรธน.บัญญัติชัดเจน คนละกรณีแก้ที่มา ส.ว. ที่ รธน.บัญญัติว่ากระบวนการครบถ้วน ต้องทูลเกล้าฯ เผยใช้งบฯ 57 ช้าไม่กระทบรัฐบริหารงาน รองเลขาฯ ป.ป.ช. คาดศาลถกเสร็จแล้ว อยู่ที่ดุลพินิจ
วันนี้ (2 ต.ค.) คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เปิดโอกาสให้นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงบประมาณ สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจิตแห่งชาติ เข้าชี้แจงกรณี ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของ ส.ส.และส.ว. รวม 112 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2557 มาตรา 27 ในส่วนของสำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลปกครอง มาตรา 28 ในส่วนของสำนักงาน ป.ป.ช. ขัดหรือแย้ง หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคแปด วรรคเก้าหรือไม่ การชี้แจงใช้เวลาร่วม 3 ชั่วโมง
นายวราเทพเปิดเผยว่า ได้ชี้ให้ศาลฯเห็นถึงการเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนในคำร้อง ที่ผู้ร้องระบุในทำนองว่ามีการไปตัดลดงบประมาณขององค์กรอิสระ แต่ยืนยันว่าการพิจารณาของ กมธ.ไม่ได้เป็นการตัดงบ เพียงแต่ปรับลดเท่านั้น ซึ่งทั้ง 3 หน่วยงาน ประกอบด้วย สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และ ป.ป.ช. ทาง กมธ.ได้มีการรับลดงบประมาณน้อยมาก เช่น กรณีของสำนักงานศาลยุติธรรม ทาง กมธ.ปรับลดเพียง 10 ล้านบาทเศษในส่วนของที่ดินและสิ่งก่อสร้างจากวงเงินทั้งหมด 1 พันกว่าล้านบาท ของ ป.ป.ช.ก็ได้มีการปรับลดงบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์เพียง 4 ล้านบาทเศษจาก 1 พันกว่าล้านบาท ส่วนของศาลปกครองก็ไม่ได้มีการปรับลดงบประมาณแต่อย่างใด จึงขอยืนยันว่าไม่ได้เป็นการตัดงบประมาณตามที่ปรากฏเป็นข่าวเลย
นายวราเทพกล่าวอีกว่า การพิจารณาของกมธ.เป็นการพิจารณาเหมือนกันทุกปี ซึ่งมีทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลร่วมกันพิจารณาตามข้อเสนอของสำนักงบประมาณและ กมธ.ที่พิจารณาร่วมกันว่าการปรับลดงบประมาณครั้งนี้เป็นเพราะเหตุใด ส่วนประเด็นที่มีการแปรญัตติเพิ่มเติมและไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณนั้นและมีการไปจัดสรรให้หน่วยงานอื่นเพิ่มเติมก็ยืนยันว่าบางหน่วยงานก็ไม่ได้รับงบประมาณเช่นกัน เพราะเราต้องดูเหตุผล ความจำเป็นและการใช้จ่ายงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน
“ในชั้นของการแปรญัตติเพิ่มนั้นไม่ได้เปิดโอกาสให้หน่วยงานใดมาชี้แจง เป็นการพิจารณาจากข้อมูลเอกสารที่ทางหน่วยงานและองค์กรอิสระเสนอมาเหมือนเช่นทุกปี แต่ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ชี้แจงในชั้น กมธ.ชุดใหญ่เพื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว พร้อมกับเชิญเจ้าหน้าที่จากศาลปกครอง ศาลยุติธรรมและ ป.ป.ช.มาชี้แจง และยังได้ไปชี้แจงในชั้นอนุกรรมการฯ ทั้ง 3 คณะแล้ว ดังนั้น การที่คำร้องระบุว่าไม่เปิดโอกาสให้มาชี้แจงนั้นเป็นการพูดในข้อเท็จจริงหลังจากการพิจารณาในชั้นอนุกรรมการเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงเป็นที่น่าสังเกตว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนี้เพราะหากว่างบประมาณของทั้ง 3 หน่วยงานไม่เพียงพอเหตุใดจึงไม่มีการโต้แย้งตั้งแต่ต้น จึงขอย้ำว่า กมธ.ได้จัดสรรงบประมาณตามหลักการภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญทุกประการ” นายวราเทพกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้คงต้องรอหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดกฎหมายรัฐบาลก็จะนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งการชะลอทูลเกล้าฯ นี้เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเกี่ยวกับขั้นตอนการตราพระราชบัญญัติไว้อย่างชัดเจน เป็นคนละกรณีกับการที่รัฐบาลนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ เพราะเรื่องดังกล่าวรัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเมื่อกระบวนการฝ่ายนิติบัญญัติได้ดำเนินการมาครบถ้วนถูกต้องแล้ว ฝ่ายบริหารในฐานะนายกรัฐมนตรีก็ต้องนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด ไม่สามารถปฏิบัติเป็นอื่นได้
เมื่อถามว่า การพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะมีผลกระทบต่อการใช้งบประมาณของรัฐบาลหรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า รัฐบาลได้แจ้งแนวปฏิบัติไปยังหน่วยราชการต่างๆ ว่า ในวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาซึ่งตามปกติแล้วก็ต้องใช้งบประมาณของปี 57 แต่เมื่อเรื่องยังอยู่ในการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญก็ให้ใช้งบประมาณของปี 56 ไปพลางก่อน โดยใช้ไม่เกินร้อยละ 50 ของงบประมาณปี 56 เฉพาะค่าดำเนินการและเงินเดือนค่าใช้จ่ายบุคลากร ส่วนการดำเนินการตามโครงการใหม่ยังไม่สามารถคงต้องรอจนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัย ซึ่งความล่าช้าในการบังคับใช้ พ.ร.บ.งบประมาณ 57 ขณะนี้ยังไม่ถือว่าเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานของรัฐ
ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก รองเลขาธิการ ป.ป.ช.กล่าวว่า ศาลได้มีการซักถามว่างบประมาณในส่วนของ ป.ป.ช.ได้รับการจัดสรรให้เพียงพอหรือไม่ และประโยชน์ที่ได้รับจากการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งหลังชี้แจงศาลไม่ได้เรียกเอกสารหรือนัดชี้แจงเพิ่มเติม ส่วนตัวคิดว่ากระบวนการเสร็จสิ้นแล้ว จากนี้ก็เป็นดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญในการวินิจฉัย