รมช.เกษตรฯ ยันไม่เปลี่ยนยึดหลักเดิมช่วยสวนยาง ไร่ละ 2,520 บาท อ้างเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกินร้อยละ 60 แย้มขยายเวลา เผยจ่ายบ้างพื้นที่แล้ว ลั่นไม่หักภาษี หักจริงมีความผิด เชิญหน่วยเกี่ยวข้องดูคำร้องศาล รธน. รับวินิจฉัยงบฯ 57 ยันไปแจง 2 ต.ค. ถก “โต้ง” ออกโรงอีกหรือไม่ มั่นใจไม่ขัด รธน. ปัดตัดลดงบ แค่ปรับลดเล็กน้อยตามปกติ อ้างเรียกแจงปรับลดงบแล้วแต่กรณี ยก รธน.เปิดช่อง ให้องค์กรอิสระ ยื่นตรง กมธ. ขอเพิ่มใหม่ไม่กำหนดให้ กมธ.ฟังทุกเรื่อง
วันนี้ (26 ก.ย.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้สัมภาษณ์ถึงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่มีการยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมว่า รัฐบาลจะยึดหลักการการช่วยเหลือที่มีข้อตกลงกับเสียงส่วนใหญ่ และมีมติของ ครม. ออกไปแล้ว ว่าจะช่วยเหลือโดยการให้เงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ไร่ละ 2,520 บาท และขณะนี้ก็มีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนแล้วเกินร้อยละ 60 แล้ว ซึ่งการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกรก็จะมีการตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งจะเร่งดำเนินการเพื่อให้การจ่ายเงินเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ส่วนข้อเรียกร้องใหม่นั้นยืนยันว่ารัฐบาลจะพูดคุยทำความเข้าใจกับเกษตรกรจนกว่าจะเป็นที่ยอมรับ และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมติใดใด เพราะมีการดำเนินการจ่ายเงินในกลุ่มแรกไปแล้ว ส่วนเกษตรกรที่ยังไม่ได้ลงทะเบียนนั้น เข้าใจว่าคงเป็นปัญหาเกี่ยวกับเอกสารสิทธิของเกษตรกรยังไม่มีความพร้อม หรืออยู่ระหว่างรอการตัดสินใจอยู่บ้าง และในวันที่ 30 ก.ย.จะมาดูตัวเลขอีกครั้งหนึ่งว่าจะมีผู้ที่ไม่มาขึ้นทะเบียนจำนวนเท่าไหร่และเพราะเหตุผลใด และอาจมีความเป็นไปได้ที่จะต้องขยายเวลาออกไปเพราะเราไม่เคยมีการลงทะเบียนช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางมาก่อน ที่แตกต่างกับการขึ้นทะเบียนข้าวหรือเรื่องอื่นที่มีการขึ้นทะเบียนมาก่อนหน้านี้
เมื่อถามว่าขณะนี้มีการจ่ายเงินให้กับเกษตรกรไปแล้วจำนวนกี่ราย นายวราเทพกล่าวว่า เมื่อมีการขึ้นทะเบียนแล้วก็ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้อง ซึ่งอาจจะใช้ระยะเวลาอยู่บ้าง แต่ก็มีบางพื้นที่ที่มีการจ่ายเงินไปแล้วจำนวนไม่มากนัก แต่หลังจากนี้การตรวจสอบจะรวดเร็วขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่มีความคุ้นเคยมากขึ้นและการเตรียมข้อมูลของเกษตรกรจะครบถ้วนมากขึ้น
เมื่อถามถึงกระแสข่าวเกี่ยวกับจำนวนเงินที่จ่ายให้แก่เกษตรกรมีการหักภาษีทำให้เกษตรกรได้รับเงินไม่ครบจำนวนไร่ละ 2,520 บาท นายวราเทพกล่าวว่า ไม่มีการหักภาษี เกษตรกรต้องได้รับเงินไร่ละ 2,520 บาท ไม่มีการหักค่าใช้จ่ายอะไร เมื่อถามต่อว่ามีการอ้างว่าต้องมีการหักภาษี นายวราเทพกล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายงานถึงเรื่องดังกล่าว แต่ถ้าหากมีการหักเงินของเกษตรกรจริงก็ถือว่ามีความผิด เพราะเราจ่ายเต็มจำนวน เกษตรกรต้องได้รับเต็ม
นายวราเทพกล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ว่าได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสำนักงบประมาณ คณะกรรมการกฤษฎีกา และ เลขาคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 มาดูคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญส่งมา เพื่อให้เราไปชี้แจงต่อศาล ซึ่งได้กำหนดให้ส่งเอกสารชี้แจงในวันที่ 1 ต.ค. และให้ตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงในวันที่ 2 ต.ค. โดยคิดว่าจะมีการส่งคำชี้แจงไปตามกำหนดเวลาดังกล่าว และจะไปชี้แจงในวันที่ 2 ต.ค.ด้วย ทั้งนี้ก็เตรียมที่จะหารือกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ ในฐานะประธาน กมธ.ว่านายกิตติรัตน์จะไปชี้แจงด้วยตัวเองหรือจะมอบหมายใครไป
“มั่นใจว่าจะสามารถอธิบายและชี้แจงให้ศาลรัฐธรรมนูญ เข้าใจได้ว่าไม่ได้มีการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด โดยเฉพาะ กรณีที่มีการพูดว่ารัฐบาล หรือ กมธ.ไปปรับลดหรือตัดงบประมาณนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าไม่ใช่เป็นการตัดลดงบประมาณ มีเพียงการปรับลดเล็กน้อย ที่ตรวจสอบแล้วคือราคาต่อหน่วย ของงบประมาณแต่ละรายการ เหมือนปกติของส่วนราชการต่างๆ จำนวนไม่มาก ส่วนที่บอกว่ามีการตัดงบประมาณไป อาจจะเป็นกรณีที่มีการของบประมาณเพิ่มเติมมา แล้วไม่ได้รับการพิจารณาจัดสรรให้ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่จะเพิ่มงบประมาณให้ตามที่ขอมาทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ ยืนยันว่าเรื่องนี้ทำด้วยวิธีปฏิบัติที่เป็นเหตุเป็นผลตามขั้นตอนของกฎหมาย” นายวราเทพกล่าว
เมื่อถามว่า หากศาลวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.งบประมาณปี 57 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไร นายวราเทพกล่าวว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร ตอนนี้เราก็ไม่ทราบขั้นตอน จนกว่าวันที่เราไปชี้แจงว่าศาลจะนัดหรือทำความเห็นอย่างไร ต้องรอฟังว่าหลังจากที่ยื่นคำชี้แจงไปแล้ว หรือวันที่ได้ให้คำชี้แจงด้วยตนเองไปแล้ว ศาลจะมีคำสั่งออกมาอย่างไรก่อน
เมื่อถามถึงขั้นตอนการปรับลดงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ ต้องเรียกหน่วยงานนั้นๆมาชี้แจงหรือไม่ นายวราเทพกล่าวว่า การปรับลดงบประมาณมีทั้งที่ต้องเรียกมาชี้แจง และไม่เรียกมาชี้แจง แล้วแต่กรณี หากเทียบเคียงงบประมาณการจัดซื้อบางรายการที่เหมือนกัน แต่มี 2 หน่วยงานเสนอราคาต่างกันก็จะยึดตามราคาที่ถูกต้อง สามารถปรับลดได้เลย แต่หากเป็นกรณีพิเศษต้องใช้อุปกรณ์ที่มีคุณสมบัตรพิเศษ ต่างจากของหน่วยงานอื่นๆ หากจะปรับลดก็ต้องเชิญมาชี้แจง แต่ส่วนใหญ่จะเชิญทุกหน่วยงานมาชี้แจงก่อนพิจารณาปรับลด แต่การเพิ่มงบประมาณไม่จำเป็นต้องเชิญทุกหน่วยงาน
นายวราเทพกล่าวต่อว่า การปรับลดงบประมาณแล้ว เงินจะไปที่ใดบ้างนั้น ถ้าเป็นหน่วยงานราชการทั่วไปต้องผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ก่อน กมธ.ไม่สามารถหยิบยกรายการหนึ่งรายการใดขึ้นมาได้เลย ก่อนหน้านี้เคยมีการไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าการแปรญัตติไม่ชอบ ซึ่งก็มีการพิจารณาว่า หากผ่าน ครม.แล้วถือว่าเป็นหลักที่ถูกต้อง กมธ.ไม่สามารถเสนอรายการด้วยตนเอง แต่สำหรับองค์อิสระ รัฐธรรมนูญเปิดช่องทางให้สามารถยื่นโดยตรงให้คณะ กมธ.ได้ และองค์กรอิสระก็ได้ยื่นโดยตรง แต่ก็ไม่ผูกพันว่าต้องจัดสรรตามที่ยื่นมา ทั้งนี้ หากมีการปรับลดหลังจากการพิจารณาผ่าน วาระ 1 แล้ว ก็ต้องเชิญมาชี้แจงทุกหน่วยงาน เพื่อให้อธิบายว่าจะนำงบประมาณไปทำอะไร แต่หากปรับลดแล้วมีการขอเพิ่มเข้ามาใหม่ ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมาชี้แจงด้วยตนเอง หรือ กมธ.ต้องรับฟังทุกเรื่องไป