“พงศ์เทพ” เตรียมหารือเวทีปรองดองย่อยเร็วๆ นี้ ส่วนเวทีใหญ่อาจเป็นต้นเดือนหน้า ขณะเดียวกันขู่ศาล รธน.ตีความร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ 57 ขัด รธน.มาตราใด จะทำให้หน่วยงานตามมาตรานั้นไม่มีงบฯ ใช้ รวมทั้งศาลฯด้วย ส่วนการแถลงผลงานรัฐบาล รอสภาฯ บรรจุวาระเข้าสู่ที่ประชุม
นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ความคืบหน้าเวทีสภาปฏิรูปประเทศว่า ขณะนี้มีการเสนอคณะทำงานย่อยคือการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมเข้ามาแล้ว ฝ่ายเลขาฯ รวบรวมและกำลังดูว่าในด้านไหนที่เป็นด้านย่อยลงไปอีกเช่น เศรษฐกิจ หรือสังคม จะมีด้านย่อยหลายด้าน ก็ดูว่ามีผู้รอบรู้มีประสบการณ์เพียงพอหรือยัง เมื่อมีการนัดประชุมคณะทำงานย่อยแล้ว จะมีการเชิญใครเพิ่มเติมหรือไม่ก็จะได้เตรียมชื่อเสนอที่ประชุม ซึ่งน่าจะประชุม 3 ส่วนภายในเดือนนี้ ส่วนการประชุมชุดใหญ่น่าจะเป็นต้นเดือน ต.ค.
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะผู้ประสานงานเวทีปฏิรูปได้รายงานการเดินสายพูดคุยหรือไม่ นายพงศ์เทพกล่าวว่า นายบรรหาร กำลังเดินสายและทราบว่าจะไปพบพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนตนกับนายวราเทพ รัตนากร รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ รมช.เกษตรฯ จะนัดพบนายบรรหารเกี่ยวกับการนัดประชุมกับ 3 กลุ่มย่อย
ส่วนที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ที่ยังมองเวทีปฏิรูปเป็นการเล่นเกมทางการเมือง นายพงศ์เทพกล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้เล่นเกมการเมือง รัฐบาลมองอนาคตประเทศ อยากเชิญชวนทุกฝ่ายทุกกลุ่มมาร่วมหากมาร่วมจะเป็นประโยชน์ที่สุด แต่หากไม่สะดวกใจเข้าร่วมก็ไม่เป็นไร ตนเชื่อว่าบางกลุ่มอาจมีคนไม่สะดวกใจมาร่วม แต่มีคนในกลุ่มนั้นเข้ามาร่วมอยู่
นายพงศ์เทพยังกล่าวถึงกรณีที่ ส.ส. และ ส.ว.บางส่วนจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ตีความร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2557 ขัดรัฐธรรมนูญว่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรีเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภาฯ รายการที่เสนอไปของศาลและองค์กรอิสระ กรรมาธิการก็ไม่ไปตัดรายการ ดูแต่เพียงว่ารายการที่เสนอมานั้นอะไรที่กำหนดเงินมากเกินไป เช่น ซื้อรถ 1 คัน ถ้าราคากลาง 1 ล้านบาท ถ้ากำหนด 1 ล้าน 1 แสนบาท เขาก็ตัดลงให้เท่าราคากลาง ทุกหน่วยงานทำเหมือนกันหมด เท่าที่ตนทราบเรื่องรายการไม่ได้ตัด ตอนที่หน่วยงานต่างๆ เสนอเพิ่มเติมเข้ามาในชั้นกรรมาธิการ ก็มีหน่วยงานเสนอเข้าไปจำนวนมาก แต่งบประมาณที่ตัดไว้ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ไม่สามารถที่จะให้ทุกหน่วยงานที่เสนอมาได้หมด ตามรัฐธรรมนูญ ศาลท่านก็มีสิทธิ์ แล้ว องค์กรอิสระก็มีสิทธิ์แล้วในการเสนอขอแปรญัตติเพิ่มเติมเข้าไปที่คณะกรรมาธิการงบประมาณ เขาก็รับแล้ว แต่ไม่มีเงินให้ได้ เวลาศาลตัดสินก็ไม่มีทางตัดสินเป็นอย่างอื่นได้ จะตัดสินว่ามาตรานั้นมาตรานี้ไม่เพียงพอ ก็จะถือว่ามาตรานั้นไม่มีเลย ยิ่งจะไม่มีเงินใช้ ตนไม่คิดว่าจะเป็นประเด็นที่จะเป็นปัญหาว่ามาตรานั้นมาตรานี้จะขัดรัฐธรรมนูญ ถ้าขัดรัฐธรรมนูญหมายความว่ามาตรานั้นใช้ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าจะเพิ่มให้ได้อย่างที่ผู้ร้องจะมายื่น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การระบุว่าขัดมาตรา 27 และ 28 นายพงศ์เทพกล่าวว่า เขาไม่ได้อ้างมาตรา 27 และ 28 แต่เขาอ้างการตัดงบประมาณให้เพียงพอ แต่ถ้าคุณบอกว่าขัดรัฐธรรมนูญเท่ากับมาตรานั้นใช้ไม่ได้ กลายเป็นว่าศาลและองค์กรอิสระในมาตรานั้นไม่มีเงินใช้ ถ้าศาลพิจารณาไม่ทันวันที่ 1 ต.ค.ก็ต้องใช้งบประมาณปีที่แล้ว จะมีผลกระทบคือทำให้โครงการต่างๆ ที่ควรจะเริ่มได้ เงินที่ควรจะลงไปยังภาคประชาชน ภาคสังคม ภาคธุรกิจต่างๆ ก็อาจจะล่าช้าไป งบลงทุนต่างๆ ต้องเสียเวลารอ ก็น่าเสียดายถ้าเป็นอย่างนั้น เพราะประชาชนควรได้ใช้โครงการต่างๆ เร็วขึ้นก็อาจใช้ช้าลง หากการพิจารณาคดีล่าช้า ตนยืนยันว่างบฯ 57ได้ใช้แน่ แต่กระบวนนี้อาจถ่วงเวลาทำให้ได้ใช้ล่าช้าไป
นายพงศ์เทพยังกล่าวถึงกรณีการแถลงผลงานรัฐบาลว่า มีการเสนอเรื่องเข้าไปยังรัฐสภานานแล้ว เป็นเรื่องที่สภาจะบรรจุวาระ รัฐบาลพร้อมเสมอที่จะเข้าไปแถลงผลงาน แต่ถ้าดูรัฐบาลชุดก่อนๆ หลังจากทำผลงานเสร็จเสนอเข้าไป ก็ใช้เวลาพอสมควรก่อนแถลงไปดูได้เลย ไม่ได้มีความแตกต่างกัน ยืนยันว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เหมือนกฎหมายต่างๆ ที่เสนอเข้าไปบางครั้งก็รอคิวนาน
ส่วนที่ฝ่ายค้านมองว่า รัฐบาลเร่งแก้รัฐธรรมนูญมากว่าแก้การศึกษาและปากท้อง ครองชีพนั้นมองว่าทุกอย่างต้องแก้พร้อมๆ กัน ไม่ได้เร่งแก้อะไรเป็นเรื่องสภาพิจารณากันเอง ไม่ใช่รัฐบาลเสนอเข้าไป และการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ใช้เวลา 10 กว่าวันแล้ว คงไม่ใช่การเร่งรัดหลายท่านอาจมองว่าเราเสียเวลามากไปหรือเปล่า ถ้าอภิปรายเนื้อหาตรงๆ คงใช้เวลากระชับกว่านั้นได้