xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ผนึก ปชป.ยื่น 114 รายชื่อ ร้องศาลฯ รัฐบาลจัดงบฯ ให้องค์กรอิสระขัด รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.ว.จับมือ ส.ส.ปชป.ยื่น 114 รายชื่อประธานสภาฯ เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการจัดสรรงบประมาณฯ ให้องค์กรอิสระ ชี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (5 ก.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒสภา และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ รวม 114 คน ได้ยื่นเรื่องต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร รับแทนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาฯ เพื่อขอให้ส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรค 1 ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจากเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวในมาตรา 27 สำนักงานศาลยุติธรรม และสำนักงานศาลปกครอง และมาตรา 28 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 วรรค 8 และวรรค 9 ซึ่งบัญญัติว่า “รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ”

นายไพบูลย์กล่าวว่า รัฐบาลมิได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เพราะไม่จัดสรรงบประมาณให้เพียงพอโดยอิสระของหน่วยงานศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลปกครอง เพราะตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ต้องมีความเห็นร่วมกันกับกรรมาธิการฯ กับสำนักงานศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องเห็นพ้องต้องกันว่า “เพียงพอ”

โดยทางสำนักงานศาลยุติธรรมได้ขอแปรญัตติ ทำให้กรรมาธิการฯ มีการใช้ดุลพินิจเพียงฝ่ายเดียวตัดงบประมาณของสำนักงานศาลยุติธรรม และ ป.ป.ช. เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 วรรค 8 วรรค จึงยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานต่อไป และเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญได้รับการจัดสรรงบประมาณเพียงพอแล้วจึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียสามารถวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวได้

ทั้งนี้ โดยปกติร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะต้องมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2556 ถ้าประธานรัฐสภา รีบส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญก็คงพิจารณาโดยเร็ว ไม่น่าจะเกิดความล่าช้า แต่จะทำให้เกิดการตรวจสอบตามหลักนิติธรรม และหากศาลรัฐธรรมนูญเห็นพ้องตามคำร้องของสมาชิกรัฐสภาก็จะไม่ถึงขนาดทำให้ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ทั้งร่างตกไป แต่ต้องแก้ไข มาตรา 27 และ 28 ให้ถูกต้อง และขอตั้งข้อสังเกตว่าในการพิจารณาของกรรมาธิการฯที่จัดงบประมาณให้กับกระทรวงมหาดไทย ถึง 12,000 ล้านบาท กระทรวงการท่องเที่ยวฯ 4,500 ล้านบาท แต่กลับไม่ให้งบกับองค์กรอิสระอย่างเพียงพอ

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ในฐานะคณะทำงานกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การจัดงบอย่างไม่เพียงพอให้กับองค์กรอิสระเป็นการขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติเรื่องนี้ไว้ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารเข้ามาครอบงำองค์กรอิสระ จึงทำให้ ส.ส.และ ส.ว.เห็นว่าสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ เช่น สำนักงานศาลยุติธรรม ได้เสนอของบประมาณจำนวน 26,249,877,036 บาท แต่ ครม.ปรับลดจำนวน 11,659,058,836 บาท คงเหลืองบประมาณเข้าสู่การพิจารณาของสภาเพียงแค่ 14,590,818,200 บาท

โดยสำนักงานศาลยุติธรรมได้ขอแปรญัตติในชั้นกรรมาธิการ เพื่อขอเพิ่มงบประมาณให้เพียงพอต่อการบริหารงานในวงเงิน 4,133,837,515 บาท แต่กรรมาธิการฯ กลับไม่เชิญหน่วยงานดังกล่าวมาร่วมหารือ และใช้ดุลพินิจเพยงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้จัดสรรงบประมาณอย่างเพียงพอให้กับสำนักงานศาลยุติธรรม เช่นเดียวกับสำนักงานศาลปกครองที่เสนอของบประมาณ 2,937,639,600 บาท แต่ ครม.ปรับลดจำนวน 890,723,900 บาท คงเหลืองบประมาณที่เข้าสู่การพิจารณาของสภาในชั้นกรรมาธิการฯ เพียง 2,046,915,700 บาท โดยสำนักงานศาลปกครองได้ขอแปรญัตติเพื่อขอเพิ่มงบประมาณให้เพียงพอต่อการการบริหารงาน แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา ไม่ต่างจากกรณีสำนักงาน ป.ป.ช.ที่เสนอของบประมาณ 2,320,561,400 บาท แต่ถูกปรับลดทำให้ไม่มีงบเพียงพอต่อการบริหารองค์กรจึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้มีการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ มาตรา 27 และ 28 ต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น