ส.ส.เพื่อไทย ชี้ประธานรัฐสภาให้สิทธิ์ผู้แปรญัตติ 57 คนอภิปรายเพื่อบรรยากาศที่ดี วิปรัฐเผยศุกร์-เสาร์-จันทร์ เตรียมถกร่างงบปี 57 วาระ 2 ที่ค้างต่อ
วันนี้ (22 ส.ค.) นายวิชาญ มีนชัยนันท์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคเพื่อไทย แถลงถึงมติที่มีการตกลงกันให้ผู้แปรญัตติทั้ง 57 คน ได้อภิปรายร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ว่า ผลการประชุมเมื่อวานนี้ระหว่าง 3 ฝ่ายไม่ได้เป็นมติระหว่างวิปทั้ง 3 ฝ่ายแต่อย่างใด เป็นเพียงผลจากการประสานงานระหว่าง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และ นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อหาทางออกยุติเหตุวุ่นวายในที่ประชุม ในห้องประชุมวิปฝ่ายค้าน ซึ่งการที่นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ยอมให้สิทธิ์ผู้แปรญัตติอภิปราย เพียงเพื่อต้องการให้ประนีประนอมกันเพื่อบรรยากาศที่ดีขึ้นเท่านั้น
ขณะที่ นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล เปิดเผยถึงกรอบเวลาการประชุมสภาฯ โดยในวันพรุ่งนี้จะเป็นการประชุมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 57 วาระ 2 ต่อจากที่ค้างอยู่จนถึงวันเสาร์ โดยเว้นวันอาทิตย์ และจะต่อในวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายในการพิจารณา ตามกรอบเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 105 วัน และจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ต่อในวาระ 2 ตั้งแต่วันอังคารจนถึงวันศุกร์หน้า ส่วนการพิจารณากฎหมายฉบับอื่น เช่น ร่าง พ.ร.บ.กู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม 2 ล้านล้านบาท ยังไม่มีการพิจารณาว่าจะนำขึ้นพิจารณาในช่วงเวลาใด ส่วนการแถลงผลงานของรัฐบาลครบรอบ 1 ปี คาดว่าจะมีการบรรจุวาระได้ในเดือนกันยายนนี้ ไม่ต้องห่วงว่ารัฐบาลจะไม่ได้แถลงผลงาน แต่ในขณะนี้ควรให้เสร็จเป็นเรื่องๆ ไปก่อน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2557 วงเงิน 2,525,000 ล้านบาท ในวาระ 2 ซึ่งเริ่มขึ้นในเวลา 10.00 น.หลังจากประธานสั่งพักการประชุมลงในช่วงเช้าของวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยพิจารณาสิ้นสุดลงที่มาตรา 17 งบประมาณของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งภาพรวมกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ยังคงไม่เห็นด้วยกับการจัดสรรงบประมาณที่ไม่ครอบคลุม โดยเฉพาะงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ และงบประมาณในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ เนื่องจากนโยบายของรัฐบาลยังขาดเอกภาพ และไม่สามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง
ขณะที่กรรมาธิการเสียงข้างมาก ยังคงยืนยันว่าได้จัดสรรงบให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเป็นธรรม ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ สอดคล้องกับรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่ง และเหมาะสมกับภาวะการเงินการคลังของประเทศ อย่างไรก็ตาม ในวันนี้จะเริ่มพิจารณาต่อที่มาตรา 18 งบประมาณของกระทรวงยุติธรรม วงเงิน 19,843,391,200 บาท ซึ่งเสนอปรับลดรวมทั้งสิ้น 245,026,300 ล้านบาท