xs
xsm
sm
md
lg

“ปุ้ม” แถระคายเบื้องพระยุคลบาทคิดไปเอง ป้อง “ปู” ยื่นทูลเกล้าฯ ชำเรา รธน.ตามหน้าที่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
เลขาฯ นายก ลากกฤษฎีกาแถลงข่าว ยันแก้ รธน. ที่มา ส.ว. ไม่ขัดมาตรา 154 แต่ใช้ช่องโหว่มาตรา 150-151 โดยอนุโลม ยันนายกฯ ทูลเกล้าฯ ไปตามหน้าที่ เหน็บถ้าอำนาจปวงชนชาวไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ก็เหนื่อยหน่อย ตะแบงอย่าเพิ่งไปพูดว่าจะก้าวล่วงพระราชอำนาจ-กระทบสถาบัน ทุกคนทำหน้าที่ของตนเอง อย่าเพิ่งไปคิด

วันนี้ (1 ต.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.40 น. นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ขณะนี้นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตรวจสอบจัดทำรายละเอียดเอกสารร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยเรื่องที่มาของ ส.ว. เรียบร้อยแล้ว และให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ลงนามทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนเลขาธิการ ครม.ประสานสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอนที่ระบุไว้ ทั้งนี้ ในการลงนามของนายกฯ ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้มีการบัญญัติไว้โดยเฉพาะ ในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามมาตรา 291 บัญญัติว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้กระทำได้ (7) เมื่อมีการลงมติได้เป็นไปตามดังกล่าวแล้ว ให้นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย และให้นำบทบัญญัติมาตรา 150 และ 151 มาบังคับใช้โดยอนุโลม นายกฯ จึงมีหน้าที่นำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 20 วัน

นายสุรนนันท์ กล่าวว่านอกจากนี้กฤษฎีกายังมีความเห็นด้วยว่า สำหรับกรณีที่ ส.ว. และ ส.ส. บางส่วนได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ตามมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญนั้น มิได้บัญญัติให้ระงับตามมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญและมิใช่ตามมาตรา 154 เพราะเกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาตรา 291 มิได้บัญญัติไว้ให้มาบังคับใช้ด้วยแต่ประการใด ทั้งนี้เป็นไปตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2554 ลงวันที่ 23 ก.พ. 2554 กรณีร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตามมาตรา 154 ว่ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีนั้น มาตรา 291 (7) ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับการตราพระราชบัญญัติเฉพาะมาตรา 150 และมาตรา 151 บังคับใช้โดยอนุโลม มิได้บัญญัติให้นำมาตรา 154 ซึ่งว่าเป็นบทบัญญัติว่าด้วยการควบคุมการตราพระราชบัญญัติไม่ให้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ โดยให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นคนวินิจฉัยมาบังคับใช้ เมื่อพิจารณาบทบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญแล้ว กรณีตามร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ มาตรา 154 วรรค 1 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับวินิจฉัยได้ ดังนั้นเมื่อคำวินิจฉัยเมื่อปี 54 เป็นบรรทัดฐาน ครั้งนี้จะเชื่อว่าเป็นไปตามคือใช้มาตรา 150 และ 151 โดยอนุโลม ทำให้เป็นความเห็นที่นายกฯได้พิจารณาลงนามนำขึ้นทูลเกล้าฯ

เมื่อถามว่า กรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2554 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก่อนที่จะมีการคำวินิจฉัย แต่ครั้งนี้กลับนำขึ้นทูลเกล้าฯ นายสุรนันทน์ กล่าวว่าสมัยนั้นก็มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นรายมาตรา เพราะว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่รับฟ้อง แต่ครั้งนี้ชัดเจนว่าเป็นส่วนที่ไม่เกี่ยวข้อง เพราะฉะนั้นส่วนนี้นำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ และนายกฯ ก็ไม่ได้มีทางเลือก เพราะเป็นกระบวนการของรัฐสภา ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน เมื่อถามว่าอย่างร่าง พ.ร.บ.งบประมาณงบรายจ่ายประจำปี 57 ซึ่งมีการร้องศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ นายสุรนันทน์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 57 มีบทบัญญัติชัดเจน แต่บทบัญญัติไม่ได้บอกเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต้องให้ชัด ถ้าอำนาจปวงชนชาวไทยไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ตนก็คิดว่าประเทศนี้ก็จะเหนื่อยหน่อย เราทำตามขั้นตอนกฎหมายดีกว่า จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไรค่อยมาว่ากันต่อ ทางกฎหมายไม่ได้มีข้อขัดแย้ง แต่ละคนมีหน้าที่ตนเองตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ การตีความสามารถตีความได้หลากหลาย แต่การตีความควรให้เดินหน้าไปได้ ไม่ควรถึงทางตัน

เมื่อถามว่า จะเป็นก้าวล่วงพระราชอำนาจหรือไม่ กระทบต่อสถาบันหรือไม่ เพราะเรื่องนี้ต้องไปค้างที่องค์มนตรี นายสุรนันทน์ กล่าวว่า อย่าเพิ่งไปพูด อันนี้เป็นขั้นตอนที่นายกฯ ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีใครต้องการให้กระทบต่อสถาบัน ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ทุกคนทำหน้าที่ของตนเอง อย่าเพิ่งไปคิด วันนี้ชัดเจนกฤษฎีกา ไม่มีการโยนปัญหาให้สถาบัน ตีความรัฐธรรมนูญตามลายลักษณ์อักษรให้ชัด คิดว่าทุกคนทำหน้าที่ตัวเองเท่านั้นเอง


กำลังโหลดความคิดเห็น