xs
xsm
sm
md
lg

จุดตายรัฐบาล อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: พระบาท นามเมือง

ศาลรัฐธรรมนูญรับพิจารณาคำร้องสำคัญสองเรื่อง คือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ว่าถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 หรือไม่

กับเรื่องการที่ พ.ร.บ.งบประมาณ 2557 ตัดงบของศาลและองค์กรอิสระต่างๆ อันได้แก่ ศาลปกครอง ศาลยุติธรรม ป.ป.ช.ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคแปด ที่ว่า “รัฐต้องจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอกับการบริหารงานโดยอิสระของรัฐสภา ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ”

เป็นจุดตายน้ำตื้นของรัฐบาลทั้งสองจุด ที่มีที่มาเดียวกัน จากการใช้อำนาจโดยพลการและเหิมเกริม

กรณีการตัดงบศาลและองค์กรอิสระในเรื่องที่สองนั้น แม้ว่าเหมือนจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลทั่วไปน่าจะผ่านได้ง่าย คือ แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ต้องจัดสรรงบประมาณให้ศาลและองค์กรอิสระต่างๆ อย่างเพียงพอ แต่ก็ไม่ได้แปลว่า องค์กรอิสระหรือศาลจะของบเท่าไรก็ต้องให้ห้ามปฏิเสธ เพราะรัฐเองที่เป็นผู้มีหน้าที่หาและจ่ายเงิน ก็มีวินัยการเงินการคลังที่ต้องรักษา ดังนั้น หากเห็นว่างบประมาณสูงไปหรือมีการตั้งงบไว้แล้วไม่ใช้จ่ายจริง ก็ย่อมจะปรับลดงบประมาณได้ ที่ผ่านมาก็ได้ทราบว่า องค์กรอิสระต่างๆ ก็ถูกปรับงบประมาณกันมาทุกปีตามสัดส่วนและความจำเป็น เหมือนกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ

แต่ปัญหาของงบปีนี้อยู่ที่ว่า ในคราวนี้ รัฐบาลนี้ บรรดาลิ่วล้อหรือคนที่มีความเชื่อมโยงกับรัฐบาล เช่น ส.ส.ของรัฐบาลเอง หรือแม้แต่ชาวเสื้อแดงทั้งหลาย ได้ออกมากล่าวอย่างกระเหี้ยนกระหือรือว่า จะยุบศาลบ้าง จะเลิกองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลบ้าง การแสดงเจตนาเช่นนี้ไว้ล่วงหน้า เมื่อ “กรรม” มันชี้ และจาก พ.ร.บ. งบประมาณในส่วนของศาลและองค์กรอิสระที่มีการตัดลดงบประมาณไป จึงมีข้อสงสัยว่า นี่เป็นส่วนหนึ่งของการ “กลั่นแกล้ง” ศาลและองค์กรอิสระที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากันให้ทำงานได้ยากขึ้นหรือไม่

เรียกว่า “ท่าที” ของลูกน้องทำเอาลูกพี่ซวยไป

นี่ถ้า พ.ร.บ.งบประมาณถูกศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาว่าขัดรัฐธรรมนูญ จะถือว่า เป็นกรณี พ.ร.บ.งบถูกตีตก ที่รัฐบาลจะต้องลาออกหรือไม่ กรณีนี้ไม่เคยมีตัวอย่างในระบบการเมืองไทย ก็คงจะต้องดูกันต่อไป

ส่วนเรื่องของการแก้รัฐธรรมนูญให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งซึ่งเห็นเค้าลางกันมาล่วงหน้าสักพักหนึ่งแล้ว ก็ถูกฟ้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญตามคาด แต่กระนั้น คนในสภาฯ ฝ่ายรัฐบาลก็โหวตแย้งคำสั่งรับคำร้องของศาล จนกระทั่งรัฐธรรมนูญผ่านวาระสามออกมาจนได้

ก็ต้องวัดใจนายหญิงนายกฯ อีกนั่นแหละว่า จะนำเอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไข ที่ “ติดตรวน” จากศาลรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ให้ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ ส.ว.เลือกตั้งนี้ มีอยู่สองเรื่องใหญ่ นั่นคือ “เนื้อหา” และ “กระบวนการ”

เรื่องเนื้อหานี้ใครที่เคยติดตามมาก่อนก็คงจะรู้ว่า นี่เป็นการนำเอาระบบสภาฯ ผัวเมีย ที่เคยเป็นปัญหาในรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ โดยการที่เลิกบทกำหนดห้ามว่า ส.ว.ต้องไม่เป็นผัว เป็นเมีย เป็นลูก เป็นพ่อเป็นแม่ กับ ส.ส.หรือรัฐมนตรี

เนื่องจากวุฒิสภาหรือสภาสูง มีอำนาจในการให้ความเห็นชอบผู้เข้ามาดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครองสูงสุด และองค์กรอิสระต่างๆ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นสภาฯ ตรวจสอบสภาผู้แทนราษฎรหรือสภาฯ ล่างอีกที ดังนั้น สมาชิกทั้งสองสภาฯ นี้จึงควรที่จะเป็นคนละกลุ่มกัน เพื่อให้การตรวจสอบเป็นไปได้

ปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ทำให้เกิดการรัฐประหาร ก็คือช่วงท้ายๆ ที่สภาฯ นี้กลายเป็นสภาฯ ผัวเมีย ผัวเป็น ส.ส. หรือรัฐมนตรี ส่งเมียลง ส.ว.เพื่อให้เลือกองค์กรอิสระมาตรวจสอบผัวอีกที – มันจะมีที่ไหน ในที่สุดก็ได้ ก.ก.ต.แบบที่จัดการเลือกตั้งเป็นโมฆะ เสียเปล่าไปทั้งแผ่นดิน เพราะไปใช้ระบบหันคูหาออก ให้ดูกันเห็นๆ ว่าใครกาให้ใคร

นอกจากนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ นอกจากล้างบาง ส.ว.จากการสรรหา ที่เป็นก้างขวางคอรัฐบาลตลอดมาแล้ว ก็ยังเปิดทางให้ ส.ว.เลือกตั้งในอาณัติ ที่จะพ้นวาระปีหน้า สามารถไปเลือกตั้งกลับมาได้อีกสมัย ไม่ต้องเว้นวรรคห้าปี เพื่อให้แน่ใจว่า “เสียงไม่แตก”เนื้อหาที่เอาประโยชน์กันน่าเกลียดข้างต้นนั้นยังไม่พอ กระบวนการในการ “ลากถู” ให้การแก้รัฐธรรมนูญนี้ผ่านออกมา ก็น่าชังไม่แพ้กัน

หนักๆ ที่เป็นจุดตายในศาล คือ “คลิปเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน” ที่เห็นได้ชัด ว่า ส.ส.ในอาณัติของรัฐบาล ส่งบัตรให้เพื่อนกดแทนกันเสียอย่างนั้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่า บัตรที่ว่านั้นบัตรของใครเสียด้วย และที่เห็นนั้น เป็นเพียงการกระทำของคนคนเดียว หรือมีทำกันอีกแยกกันเป็นกลุ่ม

รัฐธรรมนูญมาตรา 122 กำหนดให้ “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยโดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ มอบหมาย หรือความครอบงำใด ๆ”

ทว่าสิ่งที่ ส.ส.ได้กระทำให้เห็นในคลิป นี้ไม่ต่างจากพนักงานบริษัท ที่ทำงานให้กับเจ้าของทุน ตัวไม่อยู่ ก็ฝาก “เสียง” มาให้เพื่อนใช้แทนได้ เพราะในที่สุดจะเท่ากับเป็นการใช้อำนาจแทนนาย ตามประสาลูกจ้างที่ดี

ที่เป็นเช่นนี้ เพราะความย่ามใจว่ามีเสียงข้างมาก และมีกองกำลังส่วนตัวคือคนเสื้อแดงหนุนหลัง จะทำอย่างไรน่าเกลียดแค่ไหนก็ได้ มี ส.ส.ในมือ เท่ากับมีเสียงตามที่ต้องการ แค่เอาบัตรเสียบเข้าไปกดปุ่มก็จบ ราวกับโรงงานผลิตกฎหมาย

แต่ถ้าเปรียบเรื่องนี้เป็น “บริษัท” การกดบัตรแทนกัน หรืออาจเทียบเท่าเป็นการตอกบัตร หรือลงเวลาทำงานแทนเพื่อน เป็นความผิดร้ายแรงของทุกองค์กร จับได้ไล่ออก ทั้งคนกดให้ และคนขอให้กด หรือถ้าเป็นของราชการ ก็โดนวินัยฐานประพฤติชั่ว

แล้วนี่เป็นเรื่องระดับชาติ ระดับประเทศ ในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของแผ่นดิน แล้วจะมีผลอย่างไร

บรรดาอาจารย์นักกฎหมายที่ชอบร้องแรกแหกกระเชอ อ้าง “ทฤษฎีผลไม้พิษ” หากที่มาเป็นพิษ ผลลัพธ์ต้องเป็นพิษไปเสียทั้งหมดด้วย ดังนั้น สิ่งใดโยงใยไปถึงรัฐประหารได้ สิ่งนั้นต้องไม่ชอบ จะคิดจะเห็นกรณีนี้ว่าอย่างไร รัฐธรรมนูญจากการรัฐประหารไม่ชอบ แล้วรัฐธรรมนูญจากการกดบัตรแทนกันนี่ชอบไหม?

ชอบไม่ชอบ ก็รอลุ้นกับศาลรัฐธรรมนูญก็แล้วกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น