“สุรนันทน์” โต้ประธานวิปรัฐบาล ยัน “นายกฯ ปู” ไม่ได้แถลงท้าทายผู้ชุมนุม อ้าง “ยิ่งลักษณ์” ยึดมั่นระบอบรัฐสภา โยนวุฒิฯตัดสินใจจะเอาอย่างไรกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เรียกร้องอย่าไล่รัฐบาล เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประธานคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมผ่ายค้าน แถลงตอบโต้การแถลงถึงประเด็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าเป็นการท้าทายกลุ่มผู้ชุมนุมว่า ถือเป็นการตีความที่ผิด เพราะสิ่งที่นายกฯ พูดนั้นมีความชัดเจนว่ายังยึดมั่นในระบอบรัฐสภา เมื่อสภาผู้แทนราษฎรผ่านกฎหมายฉบับนี้ไปแล้วก็เข้าสู่กระบวนการของวุฒิสภา ซึ่งก็ยังมีอีกหลายขั้นตอน อีกทั้งนายกฯยังพูดถึงความสำคัญของการนิรโทษกรรม ซึ่งอาจจะมองได้หลายมุม แต่มุมหนึ่งหากเกิดนิรโทษกรรมได้จริง และทุกฝ่ายให้อภัยกันได้ก็เป็นสิ่งที่ดี ในเมื่อยังเกิดความขัดแย้งกันอยู่ นายกฯ จึงออกมาพูดให้เกิดความชัดเจนว่า รัฐบาลไม่เคยแทรกแซงฝ่ายนิติบัญญัติ แม้กระทั่งในชั้นสภาผู้แทนราษฎร โดยในขั้นตอนต่อไปขอให้ ส.ว.ทุกคนพิจารณาอย่างเป็นธรรม และไม่ว่าวุฒิสภาตัดสินอย่างไร ทั้งการยับยั้งหรือให้มีการแก้ไข นายกฯก็เชื่อว่า ส.ส.ที่มีมติรับกฎหมายไปแล้วนั้นจะยอมรับได้ ด้วยสปิริตของการปรองดอง ส.ส.จะนำสิ่งที่ ส.ว.มีมติรับต่อไป
“ฝ่ายค้านพยายามบิดเบือนคำพูดของนายกฯ ก็เห็นอยู่ว่านายกฯ ไม่ได้ท้าทายผู้ชุมนุม แต่ประธานวิปฝ่ายค้านก็หยิบยกขึ้นมาพูดว่า เป็นเรื่องท้าทาย ทั้งที่ท่านนายกฯ อยากให้เกิดความชัดเจนว่าเรายังเคารพในระบอบรัฐสภา การที่นายกฯออกมานั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นการท้าทายผู้ชมุนุม และยังยอมรับที่จะฟังความเห็นที่แตกต่าง เพราะเป็นรัฐบาลของประชาชนคนไทยทุกคน รัฐบาลยืนยันว่าจะเป็นไปตามครรลองของระบบรัฐสภา”
นายสุรนันทน์กล่าวอีกว่า ในส่วนของผู้ชุมนุมนั้น เมื่อกระบวนการยังอยู่ในระบบรัฐสภา การออกมาคัดค้านหรือประท้วง ถือว่าทุกคนได้ยิน รัฐบาลก็รับฟัง แต่อยากให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่มากันมากระมัดระวังความสงบเรียบร้อย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดูแลให้ดีที่สุด จึงหวังว่าแกนนำพรรคฝ่ายค้านที่เป็นผู้นำการชุมนุมอยู่ ต้องดูแลให้เกิดความสงบเรียบร้อยด้วย การขู่ที่จะยกระดับนั้น ส่วนตัวมองว่าไม่มีความจำเป็น เพราะต้องให้รัฐสภาเป็นผู้ตัดสิน และต้องเชื่อในวิจารณญาณของ ส.ว.แต่ละคน
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากวุฒิสภาไม่รับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอร่างใหม่ขึ้นมา นายสุรนันทน์กล่าวว่า ถือเป็นอิสระของวุฒิสภา หากจุดใดที่มีรายละเอียดที่แตกย่อยออกไป ทำให้เกิดการตีความที่แตกต่างกัน หรือถูกบิดเบือนได้ ก็เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาที่จะแก้ไขให้ชัดเจน ซึ่งรัฐบาลไม่ได้ต้องการเร่งให้วุฒิสภา แต่หากทำให้เกิดความกระจ่างชัดโดยเร็วได้ ก็จะทำให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไป ไม่ติดอยู่ในวังวนของความขัดแย้งในตอนนี้
“เราหวังว่าในเมื่อรัฐบาลเองฟังเสียงผู้ชุมนุม เพราะฉะนั้นก็หวังว่าทางผู้ชุมนุมจะให้โอกาสนายกฯ และเข้าใจเจตนารมณ์ที่ดีของนายกฯ รวมทั้งนำเรื่องนี้ไปช่วยกันคิด ที่นายกฯ ระบุว่า ให้ทุกฝ่ายช่วยกันหยุดคิดหยุดกระทำที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งหรือความรุนแรง ประทเศชาติต้องเดินหน้าด้วยความปรองดอง”
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กลุ่มผู้ต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมได้หยิบยกเรื่องล้างผิดการทุจริตคอร์รัปชั่นขึ้นมาโจมตี เลขาฯนายกฯกล่าวตอบว่า รัฐบาลพร้อมในการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะการสนับสนุนสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนมาตลอดในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน อย่างไรก็ตาม นายกฯ ก็พูดเองว่าเป็นคนละเรื่องกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แต่หากวุฒิสภาเห็นชอบในหลักการ และแก้ไขในส่วนที่การตีความแตกต่างกัน ก็สามารถทำได้
เมื่อถามย้ำว่ายังไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลต้องการให้ถอยหรือเดินหน้าร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายสุรนันทน์กล่าวว่า ถือเป็นกระบวนการของในทางนิติบัญญัติ ไม่อยากให้มีการตีความใดๆ ออกมา เพราะเรื่องนี้อยู่ที่วุฒิสภา
ผู้สื่อข่าวตั้งข้อสังเกตว่า เหตุใดฝ่ายรัฐบาลจึงพยายามออกมาพูดถึงกระบวนการล้มรัฐบาล เลขาธิการนายกฯ กล่าวว่า หากเราคุยกันเรื่องนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นหลักการที่มีในหลายประเทศ หากเราสามารถให้อภัยกันได้ และเดินหน้าต่อไปได้ก็เป็นสิ่งที่ดี อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ให้กันบนเวทีปราศรัยต่างๆ ซึ่งมีการบิดเบือนข้อเท็จจริง โดยการที่ไม่ได้ค้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมอย่างเดียว แต่จะยกระดับเพื่อล้มรัฐบาล
“วันนี้อย่ามาล้มรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยเลย ในลักษณะที่ใช้ผู้ชุมนุมมากดดัน หากเป็นการมีกระบวนการทางประชาธิปไทยก็ทำได้เต็มที่ แต่ถ้ามาตั้งเวทีเพื่อล้มรัฐบาล ก็คงไม่ใช้ประชาธิปไตย”