ASTVผู้จัดการ - ส.ว.รวมกลุ่มได้ 70 คน ตั้งกลุ่ม ส.ว.คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม ออกแถลงการณ์ประกาศคว่ำ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม แจง 3 เหตุผล ลั่นจะร่วมมือกับประชาชนทุกภาคส่วนเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายฉบับนี้จนถึงที่สุด
ช่วงบ่ายวันนี้ (4 พ.ย.) จากกระแสการต่อต้านร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่กำลังขึ้นสู่ชั้นการพิจารณาของวุฒิสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสมาชิกวุฒิสภาส่วนหนึ่งซึ่งเป็นการรวมกลุ่มระหว่าง กลุ่ม 40 ส.ว. และ ส.ว.เลือกตั้งสายภาคกลางและภาคใต้ประมาณ 70 คน โดยตั้งเป็นกลุ่มชื่อ “กลุ่ม ส.ว.คัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม” ได้ออกแถลงการณ์ถึงพี่น้องประชาชนชาวไทยระบุว่า
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ที่มีเนื้อหาให้นิรโทษกรรมแก่บรรดาการกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลหรือประชาชนที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมือง ความขัดแย้งทางการเมือง หรือที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำความผิด โดยคณะบุคคลหรือองค์กรที่จัดตั้งขึ้นภายหลังการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้ง องค์กรหรือหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวสืบเนื่องต่อมา ที่เกิดขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2547-2548 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ไม่ว่าผู้กระทำจะได้กระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ การบัญญัติดังกล่าวข้างต้นไม่เพียงแต่เป็นการยกเว้นความผิดและโทษให้แก่การกระทำในทางการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการกระทำในลักษณะการทุจริตคอร์รัปชั่น
กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม มีความเห็นร่วมกันว่า
1. ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฉบับนี้เป็นการสร้างมาตรฐานที่ไม่ถูกต้องตามหลักนิติธรรม นิติรัฐ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งเป็นการกระทบสิทธิในชีวิตของบุคคลอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เมื่อบุคคลถูกฆ่าตาย ถูกวางเพลิง เผาทรัพย์ ถูกปล้นทรัพย์ รัฐจำเป็นต้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกกระทำ รัฐไม่มีอำนาจไปยกเว้น
2. กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ ฉวยโอกาสนิรโทษกรรมความผิดฐานทุจริตโกงกินต่อบ้านเมือง ซึ่งไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของโลกและของไทยมาก่อนว่าจะมียุคใดสมัยใดที่รัฐสภาออกกฎหมายล้างผิดให้คนทุจริตอันจะเป็นบรรทัดฐานที่เลวร้ายของสังคม
3. กฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ มีผลให้ลบล้างคำพิพากษาของศาลยุติธรรมในคดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หากฝ่ายนิติบัญญัติผ่านร่าง พ.ร.บ.ในลักษณะนี้ เท่ากับว่าจงใจเข้าไปก้าวก่ายอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลการวินิจฉัยคดีของฝ่ายตุลาการ เท่ากับยอมรับให้ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารสมคบร่วมกันรวบอำนาจการวินิจฉัยคดีของตุลาการมาอยู่ในมือของเสียงข้างมาก ซึ่งไม่ชอบด้วยหลักของการถ่วงดุลแห่งอำนาจทั้งสาม
หากว่าวุฒิสภาในฐานะที่เป็นองค์กรกลั่นกรองตรวจสอบกฎหมาย ขืนปล่อยให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาไป ก็จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมให้เกิดขึ้นในประเทศไทย ทั้งจะก่อให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกในสังคมอย่างรุนแรง และทำให้ผู้กระทำผิดไม่เคารพยำเกรงต่อกฎหมาย เหิมเกริมต่อการกระทำที่เลวร้าย จึงร่วมกันคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับนี้ โดยจะทำการโหวตคว่ำกฎหมายฉบับนี้ในที่ประชุมวุฒิสภา ทั้งจะร่วมมือกับพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้านกฎหมายฉบับนี้ต่อไปให้ถึงที่สุด
กลุ่มสมาชิกวุฒิสภาคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรม
4 พฤศจิกายน 2556
4 พฤศจิกายน 2556