xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ยื่นยุบพรรคเพื่อไทย ไม่รับอำนาจศาลรธน.เจตนาล้มล้างฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (26พ.ย.) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้พิจารณาสั่งยุบพรรคเพื่อไทย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 จากกรณีที่ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และสมาชิกพรรคได้ กระทำการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในการวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภานั้น ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
นายไพบูลย์ กล่าวว่า การปฏิเสธอำนาจองค์กรตุลาการครั้งนี้ ถือเป็นการปฏิเสธโครงสร้างระบบการปกครอง อีกทั้งการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพิกเฉยไม่ยอมขอพระราชทาน ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคืนกลับมา จึงสอดคล้องกับการกระทำของพรรคเพื่อไทย ที่ก่อนหน้านั้น ประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลเช่นกัน ถือเป็นล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 68 ละเมิดหลักการ มาตรา 4 ของพ.ร.บ.พรรคการเมือง จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ สั่งให้พรรคเพื่อไทย นายจารุพงศ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลิกการกระทำ ที่เป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งยุบพรรคเพื่อไทยด้วย

**"ส.ว.สมชาย"ยื่นเอกสารมัดแก๊งแก้รธน.

วันเดียวกันนี้ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เข้ายื่นขอเพิ่มเติมคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ มาตรา 237 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับไว้พิจารณาแล้ว โดยนายสมชาย ระบุว่า มีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น เป็นกรณีที่หลังการพิจารณารับหลักการ วาระ 1 ของที่ประชุมรัฐสภา ในวันที่ 3 เม.ย. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมขณะนั้น กลับใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการรวบรัด กำหนดระยะเวลายื่นคำแปรญัตติ และเมื่อถูกท้วงติงว่าการประชุมในวาระหนึ่ง ขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับการประชุม นายสมศักดิ์ จึงยอมเรียกประชุมใหม่เพื่อขอกำหนดวันแปรญัญติ โดยเรียกประชุมวันที่ 18 เม.ย ซึ่งในวันดังกล่าว ที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก กำหนดวันยื่นคำแปรญัตติ 15 วัน ซึ่งนายสมศักดิ์ ก็ใช้อำนาจ วินิจฉัยสั่งการว่า 15 วัน ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รับหลักการในวาระที่ 1 คือ ให้นับย้อนไปตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย.เท่ากับว่าเหลือกำหนดวันแปรญัตติเพียงวันเดียวหากนับจากวันที่ที่ประชุมมีมติ
การกระทำดังกล่าวของนายสมศักดิ์ กับสมาชิกรัฐสภา 312 คน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะ และพฤติกรรมของนายสมศักดิ์กับพวก ส่อว่า จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้ตนเองได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และการกระทำดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว ในคำวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของส.ว. ว่า เป็นการกระทำที่ไม่ชอบ และนายสมศักดิ์ กับพวกไม่สามารถกระทำได้
"ประเด็นนี้เป็นไปตามบรรทัดฐานเดียวกัน ในการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ สมาชิกวุฒิสภาด้วย จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้การแก้ไข ม. 68 ตกไป"
ทั้งนี้ นายสมชาย ยังได้เรียกร้อง ให้ ประธานรัฐสภา ยุติการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณา ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อลงมติใน วาระ3 ตามที่ จะมีการเรียกประชุมสมาชิกรัฐ สภาในวันที่ 28 พ.ย. นี้ หลังจากที่สมาชิกรัฐสภา 312 คน รวมทั้งพรรคเพื่อไทยได้ปฏิเสธ ไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในการวินิจฉัย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาของ ส.ว. เมื่อวันที่20 พ.ย. ที่ผ่านมา
นายสมชาย กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ครั้งนี้ จะทำให้เป็นการล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และจะมีการตั้ง ส.ส.ร. ขึ้นมาร่างฉบับใหม่ อีกครั้ง ซึ่งการแก้ มาตรา 291 นั้น จะต้องมีการทำประชามติก่อน และการโหวตวาระ 3 ถือเป็นการกระทำผิดซ้ำ ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองแล้วร้ายมากยิ่งขึ้น โดยขอเสนอทางออก ให้รัฐบาลยุบสภา เลือกตั้งใหม่ พร้อมมองว่าการออกมาอารยะขัดขืนของกลุ่มผู้ชุมนุมในครั้งนี้ สามารถกระทำได้ เพราะรัฐบาลได้ปฏิเสธอำนาจศาลไปแล้ว อย่างไรก็ตามขอฝ่ายเจ้าหน้าที่ อย่างใช้ความรุนแรงกับกลุ่มผู้ชุมนุม
วันเดียวกันนี้ กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ซึ่งได้ชุมนุมอยู่ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มาตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย. ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาส.ว. ก็ได้ยื่นหนังสือขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คน ที่เป็นเสียงข้างมาก วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาส.ว. ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ลาออก เนื่องจากเห็นว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษา เพราะคำร้องกรณีดังกล่าวต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด และคำวินิจฉัยที่ออกมา คำก็อ้างหลักนิติธรรม ที่เลื่อนลอย อีกทั้งนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ตุลาการใหม่ ก็ไม่ได้เป็นตุลาการในองค์คณะที่รับคำร้องนี้ จึงย่อมไม่สามารถร่วมวินิจฉัยชี้ขาคดีได้ และ นายจรัล ภักดีธนากุล นายนุรักษ์ มาประณีต นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ก็เคยเป็น กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 ดังนั้นการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ สถาปนาอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีขึ้นมา ซึ่งความร้ายแรงดังกล่าวส่งผลให้คำวินิจฉัยที่ออกมาเสียไปและไม่มีผลใด ๆ ทางกฎหมาย

** ป.ป.ช ตั้งทีมรวบรวมข้อมูลถอดถอน 310 ส.ส.-ส.ว.

นายสรรเสริญ พลเจียก รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เกี่ยวกับการพิจารณา กรณีผู้ร้องขอให้ถอดถอนสมาชิกรัฐสภาทั้ง 310 คน ออกจากตำแหน่ง ที่กระทำผิดต่อหน้าที่ราชการ กรณีเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาส.ว. ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้รวมคำร้องเอาผิดคดีอาญาและถอดถอน ทั้ง 5 คำร้อง พิจารณาเป็นเรื่องเดียวกัน โดยตั้งคณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง 3 คน คือ นายวิชา มหาคุณ นายใจเด็ด พรไชยา และนายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช. เป็นผูัรับผิดชอบสำนวน
โดยที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้เจ้าหน้าที่จากสำนักเลขาธิการป.ป.ช. รวบรวมพยานหลักฐาน และติดตามขอเอกสารคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการพิจารณาไต่สวน โดยยืนยันว่า ป.ป.ช. ไม่มีความกดดันในการทำงาน ท่ามกลางสถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง ที่มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับศาลรัฐธรรมนูญ เพราะมีหลักในการพิจารณา จะไม่นำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาพิจารณาทั้งหมด แต่จะดูพฤติกรรมของตัวบุคคล โดยไม่จำเป็นระบุความผิดผู้ถูกร้องเหมือนกันทั้งหมด
ทั้งนี้หลังรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นจะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกกล่าวหามาชี้แจง ซึ่งขั้นตอนการทำงานต้องใช้ระยะเวลา แต่คณะกรรมการป.ป.ช. จะพยายามพิจารณาให้เร็ว เพราะอยู่ในความสนใจของสังคม
กำลังโหลดความคิดเห็น