xs
xsm
sm
md
lg

“สุรพล” ซัด “เพื่อแม้ว” เป็นปฏิปักษ์รัฐธรรมนูญ คิดร้่ายยึดอำนาจศาลก่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว.
อดีตอธิการฯ มธ.ชี้ “เพื่อไทย” ไม่ยอมรับศาล รธน. เท่ากับเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ แถมใช้เสียงข้างมากละเมิดอำนาจสภาเสียเอง ย้ำเสียบบัตรแทนกันผิดแรงถึงขั้นขัด รธน. จี้นายกฯ กราบบังคมทูลถอนร่าง จวกกลับพวกโวยวายศาลยึดอำนาจ เดินเกมยึดอำนาจศาลก่อน

วันนี้ (22 พ.ย.) ที่ห้องประชุม ศ.จิตติ ติงศภัทย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว มีผู้ที่เกี่ยวข้องแสดงความคิดเห็นหลายประการ จนอาจจะสร้างความสับสนให้แก่ประชาชนทั่วไปได้ ดังนั้น ตนตัดสินใจว่าจะมาชี้แจงในกรณีดังกล่าวตามเหตุและผล เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นดังกล่าว มีผู้ไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญว่าขัดกับมาตรา 68 และขอให้ยุบพรรคที่สมาชิกดำเนินการมติเห็นชอบ ซึ่งมีเหตุที่จะต้องพิจารณาอยู่ 3 ประการ คือ

1) เป็นที่ยอมรับว่ามาตรา 291 ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอำนาจของรัฐสภาโดยเฉพาะ ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอื่นใดไม่มีอำนาจตรวจสอบ ถือเป็นหลักการกฎหมายทั่วไป เพราะการเสนอร่างแก้ไขย่อมขัดกับรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

2) เหตุผลของคำร้องคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำขัดกับมาตรา 68 นั้น บทบัญญัตินี้มีความหมายกว้างขวางมาก เพราะให้ครอบคลุมถึงคณะบุคคล องค์กรทางการเมืองที่กระทำการดังกล่าว เพราะถ้าเป็นคนธรรมดากระทำการตามมาตรา 68 นั้น ก็มีบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายอาญามาตร 113 ซึ่งมีความผิดฐานเป็นกบฏ ต้องได้รับโทษตามมาตรา 116 อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีอำนาจตัดสินคดีดังกล่าวได้เลย ถ้าไม่มีมาตรา 68 ให้อำนาจเอาไว้ และการที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ประกาศไม่ยอมรับอำนาจ และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น ตรงนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทย ไม่ยอมปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และในส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ดำเนินกระบวนการมาทั้งหมดนั้นถือเป็นการใช้เสียงข้างมากละเมิดอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรในการออกกฎหมาย และแสดงความคิดเห็นต่อกฎหมายต่างๆ

3) คลิปที่ปรากฏภาพ ส.ส.คนหนึ่งเสียบบัตรลงคะแนนแทนนั้น ตนประหลาดใจว่าทำไมนักกฎหมายหลายคนเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ขนาดในบริษัทยังมีข้อบังคับเคร่งครัดในการทำงาน ว่ากรรมการผู้จัดการห้ามมอบอำนาจให้คนอื่น ซึ่งการกระทำดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่าสมาชิกรัฐสภาเป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทยย่อมที่จะไม่ตกอยู่ใต้อำนาจ อาณัติ หรือคำสั่งใดๆ อีกด้วย

ศ.ดร.สุรพล ระบุว่า ดังนั้น เมื่อมีผลวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว ก็ย่อมมีผลผูกพันทุกองค์กรตามมาตรา 216 ทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตกไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องคือนายกรัฐมนตรีที่จะต้องนำความกราบบังคมทูลถอนร่างนี้ออกมาเสีย เพราะในเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับรัฐสภาอีกต่อไปแล้ว ดังนั้น จึงอยากให้กลับไปดูการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เนื่องจากมีกระบวนการโดยมิชอบ

ส่วนการที่จะถอดถอนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้ง ส.ส.ที่เสนอร่าง ประธาน และรองประธานรัฐสภา จนถึงผู้ที่ลงมติเห็นชอบ ถือเป็นกระบวนการที่ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไปดำเนินการต่อไป ดังนั้น จึงอยากให้ลองตั้งคำถามว่า การที่คนออกมาโวยวายว่าศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจเพื่อยึดอำนาจรัฐบาลนั้น แต่ใน 2 เดือนที่ผ่านมา มีกระบวนการนิติบัญญัติที่มิชอบในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หากการรัฐประหารเป็นการยึดอำนาจรัฐโดยมิชอบแล้ว สภาเองก็กำลังจะยึดอำนาจศาลโดยมิชอบเช่นเดียวกัน โดยเปรียบเทียบว่า ตำรวจจับคนร้าย แต่คนร้ายปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิด ศาลยุติธรรมก็มีหน้าที่ตัดสินว่าบุคคลดังกล่าวกระทำความผิดหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญเองก็ไม่ได้ดำเนินการอะไร เป็นเพียงการระบุว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
กำลังโหลดความคิดเห็น