“ส.ว.สมชาย” ยื่นศาล รธน.เพิ่มเติมคำร้องแก้ไข ม.68 และ 237 ระบุ “ค้อนปลอม” กับพวกรวบรัดวันแปรญัตติซ้ำร้อยแก้ไข รธน.ที่มา ส.ว. หวังศาลใช้มาตรฐานเดียวกันฟัน ด้าน กวป.เครือข่ายแดง ยื่นหนังสือบี้ 6 ตุลาการฯ ลาออก
ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ วันนี้ (26 พ.ย.) นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เข้ายื่นขอเพิ่มเติมคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และมาตรา 237 เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ก่อนหน้านี้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับไว้พิจารณาแล้ว โดยนายสมชาย ระบุว่ามีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น เป็นกรณีที่หลังการพิจารณารับหลักการวาระ 1 ของที่ประชุมรัฐสภาในวันที่ 3 เม.ย. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมขณะนั้น กลับใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการรวบรัดกำหนดระยะเวลายื่นคำแปรญัตติ และเมื่อถูกท้วงติงว่า การประชุมในวาระหนึ่งขัดต่อกฎหมายและข้อบังคับการประชุม นายสมศักดิ์ จึงยอมเรียกประชุมใหม่เพื่อขอกำหนดวันแปรญัญติ โดยเรียกประชุมวันที่ 18 เม.ย. ซึ่งในวันดังกล่าวที่ประชุมร่วมรัฐสภาเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากกำหนดวันยื่นคำแปรญัตติ 15 วัน ซึ่งนายสมศักดิ์ก็ใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งการว่า 15 วันให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้รับหลักการในวาระที่ 1 คือให้นับย้อนไปตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. เท่ากับว่าเหลือกำหนดวันแปรญัตติเพียงวันเดียวหากนับจากวันที่ที่ประชุมมีมติ
การกระทำดังกล่าวของนายสมศักดิ์ กับสมาชิกรัฐสภา 312 คน จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะและพฤติกรรมของนายสมศักดิ์กับพวก ส่อว่าจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้ตนเองได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิธีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ และการกระทำดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วในคำวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบและนายสมศักดิ์กับพวกไม่สามารถกระทำได้ ประเด็นนี้เป็นไปตามบรรทัดฐานเดียวกัน ในการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาด้วย จึงขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาให้การแก้ไข มาตรา 68 ครั้งนั้นตกไป
ทั้งนี้ นายสมชายยังได้เรียกร้องให้ประธานรัฐสภายุติการประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อลงมติในวาระ 3 ตามที่จะมีการเรียกประชุมสมาชิกรัฐสภาในวันที่ 28 พ.ย.นี้ หลังจากที่สมาชิกรัฐสภา 312 คน รวมทั้งพรรคเพื่อไทยได้ปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ในการวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาของ ส.ว. เมื่อวันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา
นายสมชายกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ครั้งนี้จะทำให้เป็นการล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และจะมีการตั้ง ส.ส.ร.ขึ้นมาร่างฉบับใหม่ อีกครั้ง ซึ่งการแก้มาตรา 291 นั้นจะต้องมีการทำประชามติก่อน และการโหวตวาระ 3 ถือเป็นการกระทำผิดซ้ำ ทำให้สถานการณ์บ้านเมืองแล้วร้ายมายิ่งขึ้น โดยขอเสนอทางออกให้รัฐสภาเลือกตั้งใหม่ พร้อมมองว่าการออกมาอารยะขัดขืนครั้งนี้นั้น สามารถกระทำได้ เพราะรัฐบาลได้ปฏิเสธอำนาจศาลไปแล้ว อย่างไรก็ตามขอฝ่ายเจ้าหน้าที่อย่างใช้ความรุนแรงต่อกลุ่มผู้ชุมนุม
วันเดียวกัน กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งได้ชุมนุมอยู่ที่หน้าสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มาตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.ที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว. ก็ได้ยื่นหนังสือขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 6 คนที่เป็นเสียงข้างมากวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ลาออก เนื่องจากเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษา เพราะคำร้องกรณีดังกล่าวต้องยื่นผ่านอัยการสูงสุด และคำวินิจฉัยที่ออกมาก็อ้างหลักนิติธรรมที่เลื่อนลอย
อีกทั้งนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ตุลาการใหม่ก็ไม่ได้เป็นตุลาการในองค์คณะที่รับคำร้องนี้ จึงย่อมไม่สามารถร่วมวินิจฉัยชี้ขาดคดีได้ และนายจรัญ ภักดีธนากุล นายนุรักษ์ มาประณีต นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ก็เคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 50 ดังนั้นการใช้อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นการจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ สถาปนาอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีขึ้นมา ซึ่งความร้ายแรงดังกล่าวส่งผลให้คำวินิจฉัยที่ออกมาเสียไปและไม่มีผลใดๆ ทางกฎหมาย