9 ส.ส.ร.40 โอ่รัฐสภาแก้ รธน.ที่มา ส.ว.ไม่ขัดกฎหมาย ไม่ล้มล้างการปกครอง จี้ศาลเคารพฉบับเก่า ดักคออย่าวินิจฉัยสร้างปัญหาชาติจนเป็นมิคสัญญี พร้อมสั่ง “จรัญ-สุพจน์-นุรักษ์-ทวีเกียรติ” ถอนตัว
วันนี้ (18 พ.ย.) นายบุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 (ส.ส.ร.) เปิดเผยว่า ส.ส.ร.จำนวน 9 คน ประกอบด้วย พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.ร.เชียงใหม่, นายประชุม ทองมี ส.ส.ร.นครปฐม, นายวรพนจ์ วงศ์สง่า ส.ส.ร.สกลนคร, นายบุญเลิศ คชายุทธเดช ส.ส.ร.นนทบุรี, นายธงชาติ รัตนวิชา ส.ส.ร.นครศรีธรรมราช, นายสุทธินันท์ จันทระ ส.ส.ร.ชุมพร, นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ส.ส.ร.เพชรบูรณ์, ร.ต.อำนวย ไทยานนท์ ส.ส.ร.ประจวบคีรีขันธ์ และ นายวุฒิพงษ์ ฉายแสง ส.ส.ร.ฉะเชิงเทรา ได้มีการหารือกรณีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญรายมาตราของรัฐสภา ประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภาแล้ว มีความเห็นตรงกันว่าการแก้ไขดังกล่าวไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามหมวด 3 ของรัฐธรรมนูญ หากแต่เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 291 ไม่ถือเป็นการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการใช้อำนาจการปกครองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญ
นายบุญเลิศกล่าวว่า มาตรา 68 ในรัฐธรรมนูญปัจจุบัน คณะร่างได้นำข้อความจากมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญปี 40 มาใส่ไว้แทนทั้งหมด ดังนั้น การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องเคารพต่อเจตนารมณ์ของ ส.ส.ร.ปี 40 ด้วย ดังนั้นพวกตนจึงร่วมกันทำจดหมายเปิดผนึกเสนอความเห็นถึงคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ขอให้ใคร่ครวญไตร่ตรองอย่างรอบคอบ อย่าวินิจฉัยในสิ่งที่ขัดต่อเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติ และสร้างปัญหาวิกฤตให้กับบ้านเมืองจนกลายเป็นมิคสัญญีจากผลกระทบที่ตามมาจากคำวินิจฉัย
“หากผลออกมาชี้ว่าผิด ก็ต้องสั่งยุบพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลอีกหลายพรรค รวมไปถึงเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค 5 ปี ส่วน 312 ส.ส.ที่เห็นก็ต้องได้รับผลแห่งการกระทำ ซึ่งจะเกิดปัญหาการตีความทางกฎหมายและเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมือง จนอาจนำไปสู่ความปั่นป่วนวุ่นวายและบานปลายไปสู่มิคสัญญีก็ได้” นายบุญเลิศระบุ
นายบุญเลิศกล่าวว่า พวกตนจึงขอเรียกร้องให้ตุลาการ 3 ท่านประกอบ ด้วยนายจรัญ ภักดีธนากุล นายสุพจน์ ไข่มุกต์ และนายนุรักษ์ มาประณีต ถอนตัวออกจากการวินิจฉัยครั้งนี้ เนื่องจากมีส่วนได้เสียกับการพิจารณาวินิจฉัยแก้ไขรับธรรมนูญในมาตราดังกล่าว เนื่องจากเคยเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และ ส.ส.ร.ปี 50 รวมถึงนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญถือว่าไม่ได้ร่วมพิจารณาคำร้องในประเด็นนี้ตั้งแต่ต้น จึงควรถอนตัวจากการเข้าร่วมวินิจฉัยด้วย และหวังว่าการวินิจฉัยในวันที่ 20 พ.ย.นี้จะมีความชัดเจน ไม่สร้างความสับสน ให้ถูกตีความไปต่างๆ นานา และต้องมีความชอบธรรมและได้รับการยอมรับจากสังคม