xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

SET ZERO สภาทาส

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์- หลังจากที่ลุ้นระทึกจน “ตัวเกร็ง” อยู่พักใหญ่ว่าจะยุบพรรคเพื่อไทยและตัดสิทธิทางการเมือง ส.ส.และ ส.ว. 312 คนที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขที่มาสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) หรือไม่ ในที่สุด เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา “ศาลรัฐธรรมนูญ” ก็ได้มีคำวินิจฉัยในคดีที่พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.ยื่นเรื่องเพื่อตีความออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แม้คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะระบุชัดว่า ผลของการกระทำนั้นไม่ถึงขั้น “ยุบพรรค” และ “ตัดสิทธิทางการเมือง” แต่คำวินิจฉัยที่ออกมาก็เรียกว่าแสบซี้ดเข้าไปถึงทรวงเลยทีเดียว เพราะนอกจากศาลจะได้สำแดงให้เห็นพฤติกรรมอันต่ำช้าของนักการเมืองในสภาออกมาเป็นขดๆ แล้ว ยังชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้เป็นไปแบบ “สภาผัวเมีย” นั้น ขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

รวมทั้งวินิจฉัยสั่งสอน “นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์” ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาฯ คนที่ 1และนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ รองประธานสภาฯ คนที่ 2 รวมกระทั่งถึง ส.ส.และส.ว.312 คนที่ร่วมลงชื่อแก้ไขที่มา ส.ว.ที่ทำทุเรศด้วยการตั้งโต๊ะแถลงข่าวประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ

กระนั้นก็ดี สิ่งที่สังคมจะต้องแสวงหาคำตอบกันต่อไปก็คือ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า รัฐสภากระทำการที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แต่มิได้มีบทลงโทษเอาไว้ จะมีหนทางไหนหรือวิธีการใดที่จะจัดการกับนักการเมืองที่ทุกวันนี้ฟอนเฟะไม่ต่างจาก “อีลำยอง” แห่งละครทองเนื้อเก้าได้อย่างไรบ้าง

4 ความผิดของสภาอีลำยอง

สำหรับประเด็นแรกที่ศาลวินิจฉัยก็คือ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภาที่ใช้ระหว่างพิจารณาร่วมกันของรัฐสภาเป็นฉบับเดียวกันกับที่มีการยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาหรือไม่

ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขมิใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทยและคณะยื่น แต่เป็นร่างที่จัดพิมพ์ขึ้นใหม่ และมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาที่เป็นหลักการสำคัญในมาตรา 116 (2) ที่ให้ ส.ว.ซึ่งสิ้นสุดวาระ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้พ้นระยะเวลา 2 ปี การกระทำดังกล่าวถือว่ามีเจตนาที่จะปกปิดข้อเท็จจริง ซึ่งเมื่อได้ข้อยุติว่าร่างที่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ไม่ใช่ร่างเดิมที่นายอุดมเดชเสนอ จึงเท่ากับว่าการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยขัดบทบัญญัติมาตรา 291 (1)

นั่นคือความผิดที่ 1 ของสภาอีลำยอง

ส่วนประเด็นที่ 2 คือ การตัดสิทธิการอภิปรายของผู้ที่ยื่นสงวนคำแปรญัตติถึง 51 คนทั้งที่ยังไม่มีการฟังการอภิปรายเลย

ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเอาไว้ว่า แม้ประธานรัฐสภาจะมีอำนาจในการสั่งให้ปิดการอภิปราย แต่ถือเป็นการใช้อำนาจไม่ชอบ และเอื้อประโยชน์ฝ่ายเสียงข้างมากอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่การนับวันแปรญัตติที่มีการสรุปให้ย้อนหลังไปถึงวันที่ 4 เม.ย. ส่งผลให้วันแปรญัตติตามข้อบังคับการประชุมที่กำหนดไว้ 15-20 วันนับแต่วันที่รับหลักการวาระที่ 1 เหลือเพียง 1 วัน ส่งผลให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 125 วรรค 1 และวรรค 2 ทั้งขัดต่อหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 ด้วย การกำหนดเวลาแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมจึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรค 2 และมาตรา 120 วรรค 1

นั่นคือความผิดที่ 2 ของสภาอีลำยอง

ส่วนประเด็นของการเสียบบัตรแสดงตนและลงคะแนนแทนกัน ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีประจักษ์พยานชัดเจน ทั้งผู้ที่เห็นเหตุการณ์ และวิดีทัศน์บันทึกการประชุมเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่ามีสมาชิกรัฐสภารายหนึ่ง คือ นายนริศร ทองธิราช ส.ส.สกลนคร พรรคเพื่อไทย ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์หลายใบเสียบในช่องลงคะแนนและแสดงตน ทั้งที่การใช้สิทธิลงคะแนนตามหลักกฎหมายและข้อบังคับการประชุมรัฐสภานั้นระบุว่า สมาชิก 1 คนสามารถลงคะแนนได้เพียง 1 เสียงเท่านั้น เมื่อพบว่ามีการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 122 และข้อบังคับการประชุม รวมไปถึงขัดต่อความซื่อสัตย์สุจริตของสมาชิกรัฐสภาที่ได้ปฏิญาณตนไว้เมื่อครั้งเข้ารับหน้าที่ ส่งผลให้การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นั่นคือความผิดที่ 3 ของสภาอีลำยอง

สำหรับการกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 หรือไม่ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญ ปี 50 กำหนดให้มี ส.ว.สรรหาที่มาจากหลากหลายวิชาการในสัดส่วนที่เท่ากับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีแม่แบบมาจากรัฐธรรมนูญ ปี 40 และได้นำข้อบกพร่องในเรื่องคุณสมบัติของผู้ลงสมัคร ส.ว.จากรัฐธรรมนูญ ปี 40 มากำหนดไว้ว่า ผู้ที่จะลงสมัครต้องไม่เป็นสามีภรรยาและบุตรของผู้ที่เป็น ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งหากพ้นจากตำแหน่ง ส.ว.แล้วต้องเว้นวรรคการลงสมัครรอบใหม่ไม่น้อยกว่า 2 ปี เท่ากับว่ารัฐธรรมนูญมีเจตนาให้องค์กรวุฒิสภาเป็นองค์กรที่เป็นอิสระ และกลั่นกรองตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวที่มีการแก้ไขคุณสมบัติผู้ลงสมัคร ส.ว.ให้ใกล้เคียงกับผู้ลงสมัคร ส.ส. เท่ากับเป็นการแก้ไขไปสู่จุดสูญสิ้น เป็นการนำพาชาติถอยหลังเข้าคลอง กลายเป็นสภาผัวเมีย นำไปสู่การผูกขาด กระทบต่อการปกครองประเทศ เปิดช่องให้ผู้ที่สามารถควบคุมกลไกดังกล่าวใช้วุฒิสภาให้ได้มาเพื่ออำนาจในการปกครอง อีกทั้งยังเป็นการทำลายการเป็นสภาถ่วงดุลของ ส.ว.ให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปควบคุมได้อย่างเบ็ดเสร็จ

หรือหมายความว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ให้เห็นว่า การแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้มีเฉพาะมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่สภาผัวเมียนั้นขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

นั่นหมายความว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเช่นนี้ก็มิอาจตีความเป็นอื่นได้ว่า การแก้ไขที่มาของ ส.ว.ให้เป็นไปแบบเลือกตั้งอย่างเดียว ไม่อาจดำเนินการได้ต่อไป

นั่นคือความผิดที่ 4 ของสภาอีลำยอง

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยโดยสรุปว่า เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหา และกระบวนการของการแก้ไข ที่พบว่ารวบรัดไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเสียงข้างมาก 6 ต่อ 3 ว่าการแก้ไขรับธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 122, มาตรา 125 วรรค 1 และ 2, มาตรา 126 วรรค 1, มาตรา 291 และมาตรา 3 วรรค 2 และมีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 เห็นว่าเนื้อหาการแก้ไขเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรค 1 แต่ทั้งนี้ยังไม่เข้าเงื่อนไขที่จะยุบพรรค จึงให้ยกคำร้องในส่วนของการยุบพรรคด้วยมติเสียงเดียวกัน

ย้ำกันอีกครั้งว่า แม้ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะไม่ได้ตัดสิทธิ์ ส.ส.และ ส.ว.ทั้ง 312 คน รวมถึงประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาก็ตาม แต่สิ่งที่ศาลได้อธิบายและแจกแจงให้เห็นชัดเสียยิ่งกว่าชัดว่า พฤติกรรมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการกระทำที่ “ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”

หรือพูดง่ายๆ คือสุมหัวกันปล้นอำนาจของประเทศไปอย่างหน้าด้านๆ เพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้องเป็นสำคัญ

แต่ที่เด็ดสะระตี่ไม่แพ้กันก็คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในช่วงแรกว่า มีอำนาจในการวินิจฉัยหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้มิอาจมองเป็นอื่นได้ว่า ศาลต้องการสั่งสอนให้เห็นว่า อย่าตะแบงและบิดเบือนข้อเท็จจริงอีกต่อไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่งประธานจ๊ะเอ๋-นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรและประธานรัฐสภา ประธานไวรัส-นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ตลอดรวมถึง ส.ส.และ ส.ว. 312 คน ซึ่งลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าวปฏิเสธอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ

ประเด็นนี้ ศาลวินิจฉัยสั่งสอนเอาไว้ว่า...

“การที่องค์กร หรือสถาบัน ในฐานะผู้ใช้อำนาจรัฐมักจะอ้างอยู่เสมอว่า ตนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่กลับนำแนวความคิดของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง มาปฏิบัติ หาใช่วิธีการปกครองแบบประชาธิปไตย ที่มีความมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยส่วนรวม ภายใต้หลักนิติธรรมไม่ เนื่องจากประชาธิปไตยมิได้หมายถึงเพียงการได้รับเลือกตั้ง หรือชนะการเลือกตั้งของฝ่ายการเมืองเท่านั้น เพราะเสียงส่วนใหญ่จากการเลือกตั้งมีความหมายเพียงสะท้อนถึงความต้องการของประชาชน ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้งเท่านั้น หาใช่เป็นเหตุให้ตัวแทนใช้อำนาจได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความถูกต้องและชอบธรรมตามหลักนิติธรรมแต่อย่างใด”

“ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้กำหนดให้มีศาลรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่สำคัญในการตรวจสอบและถ่วงดุลการใช้อำนาจ เพื่อให้เป็นไปตามหลักนิติธรรม ภายใต้หลักการควบคุมความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย อันเป็นปรัชญาของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในอันที่จะทำให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นรูปธรรม ควบคู่ไปกับการธำรงและรักษาไว้ซึ่งความเป็นสูงสุดของรัฐธรรมนูญ ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรค 5 ที่ว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ประกอบมาตรา 27 ที่ว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดเจนโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง”

ดังนั้น จงอย่าแปลกใจว่า ระดับแกนนำของพรรคเพื่อไทยจะดาหน้ากันออกมาก่นด่าศาลกันอย่างไม่ไว้หน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่กล่าวภายหลังคำตัดสินศาลรัฐธรรมนูญว่า “ไม่ขอรับคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเอาแค่คน 6-7 คนมาทำหน้าที่ตัดสินความถูกผิดของประเทศก็เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย”

**รอเวลาฌาปนกิจ 312 ศพ

เมื่อถึงตรงนี้ คำถามสำคัญจึงมาหยุดลงตรงที่ว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเอาไว้ชัดเจนว่า “การแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นการกระทำที่ให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิถีทางที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ” แต่มิได้มีบทลงโทษ สังคมจะสามารถดำเนินการกับ “อ้ายอี” ที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ได้ด้วยวิธีการอะไรบ้าง

ทั้งนี้ ถ้าหากย้อนกลับไปดูคำวินิจฉัยของศาล ก็จะพบว่า แม้ศาลจะไม่ได้ฟันธงเปรี้ยงลงไปแบบสุดซอย แต่ก็ได้อรรถาธิบายชี้ช่องเอาไว้ โดยประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ศาลเขียนเอาไว้ว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ ประกอบมาตรา 27 ที่ว่า สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้โดยชัดเจนโดยปริยาย หรือโดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมได้รับความคุ้มครองและผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และหน่วยงานของรัฐโดยตรงในการตรากฎหมาย การใช้บังคับกฎหมาย และการตีความกฎหมายทั้งปวง”

แปลไทยเป็นไทยก็คือ สามารถนำผลของคำวินิจฉัยในครั้งนี้ไปฟ้องร้องดำเนินคดีกับ 312 ส.ส.และ สว.ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงนักการเมืองที่สมคบกันกระทำความผิดในครั้งนี้

โดยจากการตรวจสอบและสรุปรวมความแล้วพบว่า มีการทำผิดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 6 มาตราด้วยกันประกอบด้วย

มาตรา 3 หลักนิติธรรม

มาตรา 122 สมาชิกรัฐสภาต้องทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวม ปราศจากความขัดกันแห่งผลประโยชน์

มาตรา 123 สิ่งที่ได้ปฏิญาณต่อที่ประชุมว่าจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต

มาตรา 125 การดำเนินกิจการของสภาต้องเป็นไปตามข้อบังคับการประชุม

มาตรา 126 สมาชิกคนหนึ่งย่อมมีเสียงหนึ่งในการออกเสียง

มาตรา 291 ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้มีผลกระทบต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

และมาตรา 68 การได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการที่ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ พฤติกรรมการทำความผิดแบ่งออกเป็น 4 ข้อคือ 1.เอกสารร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เสนอให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาเป็นคนละฉบับกับที่นายอุดมเดช รัตนเสถียรและคณะเป็นผู้เสนอ 2.ในการลงคะแนนมีการเสียบบัตรแทนกัน 3.การกำหนดวันแปรญัตติไม่เป็นไปตามข้อบังคับ และ 4. เนื้อหาเกี่ยวกับคุณสมบัติและที่มาของ ส.ว.ทำให้วุฒิสภาขาดความเป็นอิสระและมีสภาพไม่ต่างอะไรจาก “สภาผัวเมีย”

สำหรับผู้กระทำผิดสามารถแบ่งความผิดได้เป็น 4 ลุ่มคือ 1.เลขาธิการสภา มีความผิฐานใช้เอกสารปลอมและปลอมแปลงเอกสารราชการ ซึ่งเป็นโทษเดียวกันโดยรู้ว่าเป็นเอกสารปลอมแปลงถือว่ารู้เห็นเป็นใจร่วมกันปลอมแปลงเอกสารยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งแรกไม่มีมาตรา 116 วรรค 2 ต่อมาเมื่อมีการพิจารณาโดยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 265 ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 7 ปี

2.นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานรัฐสภา ทำผิดข้อบังคับการประชุมโดยเฉพาะนายนิคมได้ร่วมลงชื่อในร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงที่มา ส.ว.

3. ส.ส. และส.ว. 312 คนที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้

4.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่มีส่วนร่วมในการกดบัตรลงคะแนนและกระทำการมิบังควร ทูลเกล้าฯ ถวายร่างกฎหมายที่มีปัญหา

ด้วยเหตุดังกล่าว “ดาบ 2” หรือผลพวงที่จะเกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญนั้น องค์กรที่มีหน้าที่เข้ามารับไม้ต่ออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)” โดยป.ป.ช.สามารถดำเนินการได้ถึง 2 ช่องทางด้วยกัน

ช่องทางแรกคือ ถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลและมีมติว่า กระทำผิดจริง ก็สามารถยื่นเรื่องต่อวุฒิสภาเพื่อให้ดำเนินการถอดถอน 312 ส.ส. และ ส.ว.ให้พ้นจากตำแหน่งได้ โดยตามกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น การถอดถอน ส.ส.และ ส.ว.สมาชิกวุฒิสภาจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 เพื่อถอนถอนออกจากตำแหน่ง

ขณะที่ช่องทางที่สองนั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีผู้นำสำนวนคำวินิจฉัยคดีจากศาลรัฐธรรมนูญแล้วนำไปยื่นให้ ป.ป.ช.เพื่อทำการไต่สวนและชี้มูลความผิดทางอาญาด้วยหรือไม่ ถ้าชี้มูล เรื่องก็จะถูกส่งต่อไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในอีกทางหนึ่งคู่ขนานกันไป

แต่ก่อนที่จะไปถึงขั้นถอดถอนหรือยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพียงแค่ในเบื้องต้น ป.ป.ช. “ชี้มูลความผิด” สถานการณ์ทางการเมืองก็จะตกอยู่ในสภาพพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินในทันที เนื่องจากทั้ง ส.ส.และ ส.ว.ที่ถูกชี้มูลความผิดจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

นั่นหมายความว่า ส.ส.พรรคฝ่ายรัฐบาลที่ร่วมลงชื่อจะไม่สามารถทำหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เช่นเดียวกับ ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่สามารถทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาได้

ดุลอำนาจทางการเมืองในสภาจะเปลี่ยนมือในทันที เพราะเมื่อพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลแทบจะสูญพันธุ์ นั่นหมายถึงพรรคฝ่ายค้านซึ่งก็คือพรรคประชาธิปัตย์จะกลายเป็นเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรแทนที่

รัฐบาลจะไม่สามารถเสนอหรือแก้กฎหมายใดๆ ได้

และจะร้ายกาจไปกว่านั้น ถ้าหากบังเอิญอยู่ระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดตรงกันพอดี รัฐบาลก็จะล้มคว่ำกลางกระดาน แบบไม่มีทางออก

ขณะที่ถ้า ป.ป.ช.ยื่นถอดถอน 312 ส.ส. และ ส.ว.ต่อวุฒิสภา ภาวะเสียวสันหลังวูบก็จะเกิดขึ้นในทันที เพราะจากเดิมที่วุฒิสภาไม่เคยถอดถอนนักการเมืองใดๆ ได้สำเร็จ เนื่องจากไม่สามารถรวมเสียงได้มากถึง 3 ใน 5 จะบังเกิดผลให้เห็นในคราวนี้

และผลลัพธ์ถ้าหากเกิดการถอดถอนจริงก็คือ ต้องเว้นวรรคทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

หรือถ้าเลยเถิดไปถึงขั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำวินิจฉัยออกมาว่ามีความผิด นั่นก็เท่ากับว่า นอกจากจะต้องติดคุก ติดตะรางแล้ว ยังทำให้คุณสมบัติในการลงสมัครรับเลือกตั้งหมดสิ้นไปด้วย ซึ่งจะทำให้ ส.ส. และ ส.ว. 312 คนสูญหายไปจากสาระบบการเมืองไทยชนิดไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้นกันเลยทีเดียว

และแม้ว่า รัฐบาลยิ่งลักษณ์จะตัดไฟเสียแต่ต้นลมด้วยการชิงยุบสภา ก็ใช่ว่าจะแก้ปัญหาได้ง่ายๆ เพราะจะเป็นการสุ่มเสี่ยงเกินไปที่จะส่ง ส.ส.ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะวันดีคืนดีถ้า ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดออกมา ส.ส.ที่ได้รับเลือกตั้งเหล่านั้นก็จะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2556 ที่ผ่านมา คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดใหญ่ได้จัดประชุมและรับฟังรายงานจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับความคืบหน้ากรณีกล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และกรณีร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 270 ในกรณีที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ. … เกี่ยวกับที่มาของวุฒิสภาโดยมิชอบ

จากนั้นได้มีมติให้กรรมการ ป.ป.ช.ทั้งคณะเป็นองค์คณะไต่สวนข้อเท็จจริงทั้ง 5 คำร้อง ซึ่งแบ่งเป็นเรื่องกล่าวหาร้องเรียนขอให้ดำเนินคดีอาญา จำนวน 2 เรื่อง ดังนี้ 1.สมาชิกวุฒิสภา จำนวน 3 คน ได้กล่าวหา ส.ส.และ ส.ว. จำนวน 308 คน ร่วมกันลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับที่มา ส.ว.ว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือกระทำผิดต่อตำแหน่งที่ตามกฎหมายอื่น ทำให้ผู้กล่าวหาหรือประชาชนได้รับความเสียหาย และ2.ประชาชนกล่าวหาร้องเรียน กรณีมีสมาชิกรัฐสภาใช้บัตรประจำตัวของตนเสียบบัตรเข้าเครื่องลงคะแนนแทนสมาชิกรัฐสภาคนอื่นในการออกเสียงลงคะแนนโดยมิชอบ

ส่วนคำร้องขอให้ถอดถอนออกจากตำแหน่ง มีจำนวน 3 เรื่อง ดังนี้ 1.กรณีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภา ออกจากตำแหน่ง 2.กรณี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา และ3.กรณี ส.ว.ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ถอดถอนนายนิคม

ดังนั้น คงติดตามกันต่อไปด้วยใจระทึกว่า สุดท้ายจุดจบจะเป็นอย่างไร กลางซอยหรือสุดซอย แต่ไม่ว่าจะออกมาทางไหนบอกได้เลยว่า งานนี้ได้ SET ZERO สมใจนักโทษชายหนีคดีทักษิณ ชินวัตรเป็นแน่

แต่สุดท้ายและท้ายที่สุดจริงๆ ต้องบอกว่า ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน เพราะไม่แน่นักว่าจะเป็นไปตามสมการการเมืองข้างต้นหรือไม่

เนื่องจากผู้ที่จะฟันธงได้มีเพียงหนึ่งเดียวคือ ป.ป.ช.


นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา พร้อมรองทั้ง 2 คนตั้งโต๊ะแถลงข่าวไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
กลุ่ม ส.ส.และ ส.ว.ที่ร่วมลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมใจกันตั้งโต๊ะแถลงข่าวไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
กลุ่มคนเสื้อแดงที่ชุมนุมกันที่ราชมังคลากีฬาสถานเพื่อกดดันศาลรัฐธรรมนูญ
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ปริมาณผู้ร่วมชุมนุมที่ราชดำเนินได้เพิ่มจำนวนมากขึ้น
ป.ป.ช.แถลงข่าวตั้งอนุกรรมการไต่สวน 5 คำร้องถอดถอน “สมศักดิ์ – นิคม” และร้องอาญา ส.ส.-ส.ว. ลงชื่อเสนอร่างแก้ไขรธน.
กำลังโหลดความคิดเห็น