xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 30 ก.ย.-5 ต.ค.2556

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่ เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“ยิ่งลักษณ์” เมินเสียงทัดทาน ลงนามทูลเกล้าฯ ร่างแก้ รธน.ที่มา ส.ว.แล้ว ด้าน 40 ส.ว. ยื่นราชเลขาธิการระงับทูลเกล้าฯ ชี้ นายกฯ กระทำการไม่บังควร!
 (บน) นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา นำทีมแถลงยื่นหนังสือให้นายกฯ ระงับทูลเกล้าฯ  ร่างแก้ รธน.ที่มา ส.ว. เพราะไม่บังควร พร้อมยื่นถึงราชเลขาธิการด้วย (ล่าง) นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา แฉพิรุธร่างแก้ รธน.
ความคืบหน้ากรณีที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ก.ย. เดินหน้าลงมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ในวาระ 3 โดยไม่สนเสียงทักท้วงของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ว.สรรหา ที่เสนอให้ชะลอการโหวตวาระ 3 เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อนว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมีหลายประเด็นที่ส่อว่าขัด โดยเฉพาะกรณีที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทยเสียบบัตรลงคะแนนแทนกันในการลงมติวาระ 2 ทั้งนี้ ทันทีที่ผ่านวาระ 3 ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้ยื่นเรื่องต่อนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา เพื่อใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154 ให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือตราขึ้นโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งมาตรา 154 ระบุว่า หากมี ส.ส.หรือ ส.ว.เข้าชื่อเสนอเรื่องถึงศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะต้องระงับการทูลเกล้าฯร่างกฎหมายดังกล่าว เพื่อรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน

แต่ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่สนและพยายามเร่งทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว โดยนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกว่า นายกฯ ต้องทำตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วันหลังได้รับร่างกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาวาระ 3 จากประธานรัฐสภา พร้อมคาดว่าจะสามารถนำขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ในวันที่ 1 ต.ค.

นอกจากนี้ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้ประสานเสียงหนุน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องชะลอการทูลเกล้าฯ โดยอ้างว่า ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว.ไม่สามารถยื่นเรื่องต่อประธานรัฐสภาเพื่อใช้สิทธิตามมาตรา 154 ได้ เพราะมาตรา 154 ยื่นได้เฉพาะกรณีที่เป็นร่าง พ.ร.บ.เท่านั้น ไม่ใช่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ และว่า ศาลรัฐธรรมนูญเคยมีคำสั่งไม่รับคำร้องให้วินิจฉัยร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 154 มาแล้วในสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์

หลังพรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณว่านายกฯ จะไม่ชะลอการทูลเกล้าฯ แน่ กลุ่ม 40 ส.ว. นำโดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน และ พล.ร.อ.สุรศักดิ์ ศรีอรุณ ส.ว.สรรหา จึงได้ยื่นหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อขอให้ระงับการทูลเกล้าฯ ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย และว่า หากนายกฯ เร่งนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีปัญหาขึ้นทูลเกล้าฯ อาจเป็นการกระทำที่ไม่บังควร เพราะทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท นายกฯ อาจถูกกล่าวโทษว่าหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 167 ทั้งนี้ นอกจากจะยื่นหนังสือถึงนายกฯ แล้ว ทางกลุ่ม 40 ส.ว.ยังได้ยื่นหนังสือถึงราชเลขาธิการเพื่อระงับการทูลเกล้าฯ อีกทางหนึ่งด้วย

ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เตือนนายกฯ เช่นกันว่า การรีบทูลเกล้าฯ โดยไม่รอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จะกระทบต่อเบื้องพระยุคลบาท เพราะตามกฎหมาย รัฐบาลยังมีเวลา 20 วันในการทูลเกล้าฯ แต่หากนายกฯ รีบทูลเกล้าฯ แล้วพระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยใน 90 วันตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 151 กำหนด หรือหากไม่พระราชทานคืนมา รัฐสภาจะต้องนำร่างกฎหมายนั้นมาปรึกษากันใหม่ หากมีมติยืนยันตามเดิมด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ให้นายกฯ นำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ อีกครั้ง หากมิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยใน 30 วัน ให้นายกฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาบังคับใช้เป็นกฎหมายได้ ซึ่งกรณีนี้เกรงว่าจะกระทบต่อสถาบัน

ด้าน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่สนเสียงทักท้วงและคำเตือนของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว. เดินหน้าลงนามเพื่อทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. เมื่อวันที่ 1 ต.ค. โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยอมรับกับผู้สื่อข่าวว่า ได้ลงนามเพื่อทูลเกล้าฯ เรียบร้อยแล้ว โดยอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายเลขาฯ ครม. พร้อมยืนยัน ตนทำตามข้อกฎหมาย และได้ให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบข้อกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ในฐานะนายกฯ จึงมีหน้าที่นำเสนอตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถยึดหลักอื่นได้

ขณะที่นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เผยเมื่อวันที่ 3 ต.ค.ถึงความคืบหน้าการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารระหว่างสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีกับสำนักราชเลขาธิการ เพื่อดำเนินการในขั้นตอนนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังนายกฯ ลงนามเพื่อนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ 1 วัน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเมื่อวันที่ 2 ต.ค.ให้ยกคำร้องของ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา กับพวก ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งคุ้มครองชั่วคราวด้วยการให้นายกฯ ชะลอทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มีเหตุจำเป็นที่ศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวใดๆ ไปยังนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติรับคำร้องของนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้วินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.เป็นโมฆะ เนื่องจากมีการเสียบบัตรลงมติแทนกันของสมาชิกรัฐสภา ทั้งนี้ ศาลฯ ได้ให้นายพีระพันธุ์ทำสำเนาคำร้องส่งศาล 312 ชุด เพื่อส่งให้ผู้ถูกร้องและผู้เกี่ยวข้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้ตรวจพบความไม่ชอบมาพากลของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว. จึงได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ตรวจสอบเมื่อวันที่ 3 ต.ค. โดยระบุว่า สำเนาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำแจกให้กับสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2556 ไม่ได้มีการลงลายมือชื่อจริงจากสมาชิก 1 ใน 5 ของสมาชิกรัฐสภา ตามมาตรา 291 มีเพียงตัวพิมพ์ชื่อเท่านั้น นอกจากนี้เนื้อหาในมาตรา 115(9) และมาตรา 116 วรรคสอง ก็ไม่ตรงกับเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณาเมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีข้อความไม่ตรงกันประมาณ 5 จุด จึงถือว่าร่างดังกล่าวเป็นร่างปลอมหรือญัตติปลอมหรือไม่ ถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจผิดต่อกฎหมาย จึงขอให้คณะกรรมาธิการฯ เร่งตรวจสอบ ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการฯ ได้มีมติรับเรื่องดังกล่าว และให้อนุกรรมาธิการไปตรวจสอบรายละเอียด โดยจะเชิญเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วิปรัฐบาลและผู้เที่กี่ยวข้องเข้าชี้แจงต่อไป

2.ศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ 8 เสียง ชี้ ร่าง พ.ร.บ.งบฯ ปี’57 ไม่ขัด รธน. แต่แนะ ครั้งต่อไป กมธ.ควรให้องค์กรอิสระได้ชี้แจงความจำเป็นใช้งบ!

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลประชุมศาล รธน.มีมติเอกฉันท์ว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 57 ไม่ขัด รธน.(4 ต.ค.)
เมื่อวันที่ 4 ต.ค. คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ประชุมลงมติกรณีที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับคณะรวม 50 คน และคำร้องของนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) กับคณะรวม 62 คน ขอให้ศาลวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 วรรคหนึ่ง (1) ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคแปด และวรรคเก้า หรือไม่ เนื่องจากมีการปรับลดงบของสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) จนอาจไม่เพียงพอต่อการดำเนินงาน โดยศาลได้ให้ตัวแทนคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ สภาผู้แทนราษฎร ,ผู้แทนสำนักงบประมาณ ,สำนักงานศาลยุติธรรม ,ศาลปกครอง และ ป.ป.ช.เข้าชี้แจงเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ซึ่งนายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ชี้แจงโดยยืนยันว่า อาจมีความเข้าใจผิดคิดว่ามีการตัดงบองค์กรอิสระ ซึ่งไม่ใช่ เป็นเพียงการปรับลดงบประมาณลง และปรับลดน้อยมาก

ทั้งนี้ หลังเสร็จสิ้นการประชุม นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงว่า ที่ประชุมตุลาการฯ มีมติเอกฉันท์ 8 เสียง วินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2557 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคแปด และวรรคเก้า เนื่องจากมาตรา 168 วรรคเก้า บัญญัติเพียงว่า การพิจารณางบประมาณรายจ่ายของรัฐสภา ศาล และองค์กรอิสระตามวรรคแปด หากองค์กรนั้นเห็นว่างบประมาณรายจ่ายที่ได้รับจัดสรรให้ไม่เพียงพอ สามารถเสนอคำขอแปรญัตติต่อคณะกรรมาธิการได้โดยตรง ทั้งนี้เพื่อให้คณะกรรมาธิการซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติได้พิจารณาอย่างรอบคอบว่า การที่ฝ่ายบริหารปรับลดงบประมาณขององค์กรดังกล่าว เป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่และเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ของศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และกรรมการ ป.ป.ช.หรือไม่ โดยมิได้มีบทบังคับเด็ดขาดให้คณะกรรมาธิการต้องเรียกบุคคลใดมาแถลงข้อเท็จจริง หรือแสดงความเห็นในการแปรญัตติแต่อย่างใด

ประกอบกับคณะตุลาการฯ เห็นว่า สำนักงานศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และ ป.ป.ช. มีโอกาสชี้แจงแสดงเหตุผลการขอเพิ่มงบประมาณต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ ซึ่งตั้งโดยคณะกรรมาธิการวิสามัญ และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้รับรายงานของคณะอนุกรรมาธิการฯ และได้รับทราบถึงเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าวประกอบการพิจารณาแล้ว จึงไม่ปรากฏเหตุที่จะเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่เนื่องจากบทบัญญัติมาตรา 168 วรรคแปดมีวัตถุประสงค์ให้คณะกรรมาธิการฯ ให้ความเป็นธรรมแก่หน่วยงานดังกล่าวจึงควรที่จะให้หน่วยงานดังกล่าวได้แสดงเหตุผลและความจำเป็นต่อคณะกรรมาธิการได้โดยตรง

ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีครั้งต่อไป กรรมาธิการฯ จะต้องให้
ผู้แทนขององค์กรอิสระเข้าชี้แจงความจำเป็นในการของบประมาณขององค์กรตนเองใช่หรือไม่ และหากไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายพิมล กล่าวว่า เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น และว่า เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2557 ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็สามารถนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ได้ต่อไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยต่างออกมาขอบคุณศาลเป็นการใหญ่ โดยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรค บอกว่า ขอบคุณที่ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความรวดเร็ว และถือเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งประเทศ พร้อมติงพรรคประชาธิปัตย์และกลุ่ม 40 ส.ว.ที่ยื่นเรื่องนี้ต่อศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นการเล่นเกมการเมืองเพื่อหวังให้กระทบรัฐบาล

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า การที่ตนและคณะส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2557 เนื่องจากเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 168 วรรคแปด เรื่องการจัดสรรงบประมาณในส่วนขององค์กรอิสระนั้นน้อยเกินไป จึงยื่นคำร้องไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ขององค์กรอิสระโดยไม่ได้มีนัยใดๆ ทั้งสิ้น การที่ศาลตัดสินออกมาเช่นนี้ ก็ไม่ได้ติดใจอะไร และจะได้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

3.ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับจำคุก “สนธิ” 2 ปี คดีหมิ่นสถาบัน พูดซ้ำ “ดา ตอร์ปิโด” ด้าน “สุวัตร” ข้องใจ ศาลไม่ดูเจตนา ชี้เคยมีบรรทัดฐานศาลฎีกา มั่นใจชนะแน่!

นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 10 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 8 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากกรณีนำคำพูดของ น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปะกุล หรือ “ดา ตอร์ปิโด” ที่ปราศรัยหมิ่นสถาบัน มาปราศรัยซ้ำบนเวทีพันธมิตรฯ

คดีนี้ โจทก์ฟ้องสรุปว่า เมื่อวันที่ 20 ก.ค.2551 จำเลยได้ปราศรัยบนเวทีพันธมิตรฯ บริเวณสะพานมัฆวานรังสรรค์ ท่ามกลางประชาชนที่มาฟังจำนวนหลายคน มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และทางอินเตอร์เน็ตให้คนไทยและต่างชาติได้รับชมทั้งในและต่างประเทศ โดยจำเลยได้นำเอาคำปราศรัยของ น.ส.ดารณีที่พูดบนเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวง ซึ่งมีถ้อยคำหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์มาพูดซ้ำ อาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิด จึงขอให้ศาลลงโทษจำเลยตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 8 และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ทั้งนี้ ศาลชั้นต้นได้พิพากษายกฟ้องนายสนธิ เนื่องจากศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การพูดของจำเลยมีเจตนาเพื่อเรียกร้องให้ พล.ต.อ.พัชรวาท วงศ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ดำเนินคดี น.ส.ดารณี การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการขยายคำพูดของ น.ส.ดารณี ที่มีเจตนาโดยตรงเพื่อหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และพระราชินี การกระทำของจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ด้านอัยการ ในฐานะโจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์

ซึ่งศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่จำเลยอ้างว่าไม่มีเจตนา แต่กลับเอาคำพูดของ น.ส.ดารณีมาพูดซ้ำในที่สาธารณะ ทำให้คนไทยบางส่วนที่ไม่ทราบว่าเนื้อหาที่ น.ส.ดารณีพูดเป็นอย่างไร ก็ได้มาทราบจากที่จำเลยพูด ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ส่งผลกระทบต่อสถาบัน อันเป็นการกระทำที่ไม่ระมัดระวังเพียงพอ การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบของความผิดแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น จำเลยจึงมีความผิดฐานหมิ่นสถาบันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พิพากษากลับ ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่คำให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี

หลังฟังคำพิพากษา นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความ ได้ยื่นหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพของบริษัท วิริยะประกันภัย วงเงิน 5 แสนบาท เพื่อขอประกันตัว ซึ่งศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา

ด้านนายสนธิ กล่าวยอมรับว่า ได้นำคำพูดของ น.ส.ดารณีมาปราศรัยบนเวทีจริง แต่เป็นคำพูดเพียงบางส่วนเท่านั้น และเจตนาเพื่อต้องการให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดี น.ส.ดารณี อย่างไรก็ตามจะต่อสู้คดีนี้ในชั้นฎีกาต่อไป นายสนธิ ยังให้สัมภาษณ์เปิดใจในเวลาต่อมา โดยตั้งข้อสังเกตว่า ศาลชั้นต้นยกฟ้องตน เพราะตนและทนายนำสืบพยานให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า ตนไม่ได้มีเจตนากระทำผิด แต่ทำไมศาลอุทธรณ์จึงพิพากษาโดยไม่ดูที่เจตนา ทั้งที่ประมวลกฎหมายอาญา ต้องดูข้อเท็จจริงเรื่องเจตนาของผู้กระทำผิดเป็นหลัก “คำพิพากษาศาลอุทธรณ์มีเนื้อหาสาระในกระดาษไม่เกิน 1 หน้าครึ่งกระดาษ ท่านสั่งลงโทษจำคุกผมโดยใช้ดุลพินิจว่าผมนำคำพูดของ ดา ตอร์ปิโด มาพูดจริง ซึ่งยอมรับว่าจริง แต่เจตนาทำไมถึงไม่นำมาพูดถึงว่าผมนำคำพูดมาเพื่อเจตนาอะไร เพื่อการปกป้องสถาบันใช่หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ผมเชื่อว่าคนไทยทั้งชาติทราบดี อย่างไรก็ตาม ผมยังยืนยันที่จะทำหน้าที่ปกป้องสถาบันในฐานะคนไทยคนหนึ่งต่อไป ไม่รู้สึกหวั่นไหวใดๆ ยังเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลฎีกา เพราะประมวลกฎหมายอาญาต้องดูที่เจตนาในการกระทำความผิดเป็นหลัก”

นายสนธิ ยังแฉผ่านรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ทางเอเอสทีวีด้วยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้ มีนัยทางการเมือง มีกระบวนการที่จะเอาตนติดคุกให้ได้ เหมือนมีคำสั่งมาจากต่างประเทศ แล้ววิ่งไปที่เครือข่ายศาลของเขา และว่า แม้แต่ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นที่ยกฟ้องตน ก็ถูกกดดันจากอย่างหนักเพื่อเอาตนติดคุกให้ได้ แต่ท่านไม่ยอม นายสนธิ ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การนัดอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เร็วผิดปกติ เหมือนเป็นการวางยาวางเครือข่ายเอาไว้ เพราะหลังจากอัยการอุทธรณ์ได้แค่ 6 เดือน ศาลอุทธรณ์ก็ตัดสิน ซึ่งตนเคารพคำพิพากษา เพราะเคารพหลักนิติรัฐ แต่ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เป็นคำพิพากษาที่ดุลพินิจใช้ไม่ได้ เพราะไม่พิจารณาเรื่องเจตนาเลยแม้แต่นิดเดียว

นายสนธิ ยังประกาศด้วยว่า ตนไม่เคยกลัวติดคุก แล้วจะไม่หนีด้วย แต่จะเตือนผู้พิพากษาที่แกล้งตน รับงานเขามา ใครที่ทำกับตนแบบนี้ต้องมีอันเป็นไปทุกคน เพราะสิ่งที่ตนทำเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และหากถึงจุดสุดท้าย ตนต้องติดคุกด้วยคดีหมิ่นเบื้องสูง ก็จะติด จะไม่ขอพระราชทานอภัยโทษด้วย และหากการติดคุกของตนมีส่วนให้มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการยุติธรรมในวงการผู้พิพากษา มันก็คุ้ม “ไม่ต้องกังวล ผมไม่ท้อใจ ผมไม่รู้สึกอะไร ถ้าผมจะต้องเป็นอะไรไป เพราะผมต้องสู้ให้กับชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ก็ให้เป็นไป อย่างน้อยที่สุดผมก็ตายอย่างนอนตาหลับ เกิดมามันคุ้มค่าที่เป็นคนไทย เป็นมนุษย์ แล้วเป็นคนเอเอสทีวี แล้วก็เป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย"

ด้านนายสุวัตร อภัยภักดิ์ ทนายความพันธมิตรฯ เผยว่า ตนรับไม่ได้กับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และจะฎีกาภายใน 30 วัน พร้อมมั่นใจว่าศาลฎีกาจะเห็นเจตนาในการพูดที่แตกต่างกันระหว่างนายสนธิกับ น.ส.ดารณี ซึ่งเคยมีคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตแล้วว่า การนำคำพูดคนอื่นมาพูดต่อ จะมีความผิดก็ต่อเมื่อคนพูดทีหลังต้องมีเจตนาเดียวกับผู้พูดครั้งแรก แต่นี่ศาลอุทธรณ์ไม่พิจารณาถึงเจตนาของนายสนธิเลย ตนมั่นใจว่าศาลฎีกาจะยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และเห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้น

นายสุวัตร ยังย้ำด้วยว่า ศาลอุทธรณ์ไม่ดูเจตนาเลย บอกแต่ว่านายสนธิยอมรับว่าพูดจริง ทั้งที่สิ่งที่นายสนธิเอามาพูดยังไม่ถึง 1 ใน 5 ที่ดา ตอร์ปิโด พูดด้วยซ้ำ สรุปออกมาแค่ 3 ประโยค ทั้งที่ดา ตอร์ปิโด พูดตั้ง 3 วัน 3 ครั้ง ครั้งละเป็นชั่วโมง และเนื้อหาในการสรุปของนายสนธิก็ไม่มีข้อความใดที่เป็นความผิดมาตรา 112 เลย ส่วนที่ศาลอุทธรณ์บอกว่าการกระทำของนายสนธิไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอ นายสุวัตร แย้งว่า ศาลได้อ่านหรือยังว่าดา ตอร์ปิโด พูดอะไร แล้วนายสนธิสรุปแค่ 3 ประโยค แบบนี้ไม่ระมัดระวังอย่างเพียงพอหรือ และที่ศาลอุทธรณ์บอกว่านายสนธิไม่มีความจำเป็นต้องถ่ายทอดซ้ำ นายสุวัตร แย้งว่า ทั้งที่ดา ตอร์ปิโด พูด 3 วัน 3 คืนที่สนามหลวง ไม่มีใครลุกขึ้นมาปกป้องสถาบันเลย แบบนี้จำเป็นหรือยัง หรือใครจะหมิ่นประมาทในหลวงก็ได้ ไม่ต้องมีคนลุกขึ้นมาปกป้องใช่หรือไม่

4.“หมอเลี้ยบ-อดีตปลัดไอซีที” รอด ที่ประชุมวุฒิฯ มีมติไม่ถอดถอนออกจากตำแหน่ง หลังถูก ป.ป.ช.ชี้มูลกรณีแก้สัญญาดาวเทียมเอื้อชินคอร์ป!

(ซ้าย) นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที (ขวา) นายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที
เมื่อวันที่ 1 ต.ค. ที่ประชุมวุฒิสภาได้ดำเนินกระบวนการถอดถอน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) และนายไกรสร พรสุธี อดีตปลัดกระทรวงไอซีที ออกจากตำแหน่งตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญ หลังบุคคลทั้งสองถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157

ทั้งนี้ ป.ป.ช.ได้มีมติเมื่อวันที่ 16 ก.ค.ว่า การที่นายไกรสร และนายไชยยันต์ พึ่งเกียรติไพโรจน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักกิจการอวกาศแห่งชาติ เสนอความเห็นให้มีการอนุมัติแก้ไขสัญญาการดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ด้วยการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) หรือชินคอร์ป ที่ต้องถือในบริษัท ชินแซทเทลไลท์ จำกัด(มหาชน) หรือบริษัท ไทยคม จำกัด(มหาชน) ในปัจจุบัน จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เหลือไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด เป็นการกระทำที่มิชอบและเอื้อประโยชน์ต่อชินคอร์ป เพราะทำให้ชินคอร์ปในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทไทยคม ไม่ต้องระดมทุนหรือกู้ยืมเงินมาซื้อหุ้นเพื่อรักษาสัดส่วนหุ้นร้อยละ 51 ของตนเอง แต่กลับกระจายความเสี่ยงไปให้นักลงทุนรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ฯ นอกจากนี้การลดสัดส่วนการถือหุ้นลงร้อยละ 11 ย่อมส่งผลให้ชินคอร์ปได้รับทุนคืนจากการขายหุ้นดังกล่าวด้วย อีกทั้งการลดสัดส่วนการถือหุ้นยังส่งผลเป็นการลดทอนความมั่นคงและความมั่นใจในการดำเนินโครงการดาวเทียมของชินคอร์ป ในฐานะผู้ได้รับสัมปทานโดยตรงที่ต้องมีอำนาจควบคุมบริหารจัดการอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดได้

ส่วน นพ.สุรพงษ์ นั้น ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เนื่องจากได้อนุมัติแก้ไขสัญญาการลดสัดส่วนการถือหุ้นของชินคอร์ปดังกล่าว โดยไม่มีการเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก่อน ถือว่ามีมูลความผิดทางอาญา มาตรา 157 ป.ป.ช.จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้อง นพ.สุรพงษ์-นายไกรสร และนายไชยยันต์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยนายไกรสรและนายไชยยันต์ ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดทางวินัยร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ด้วย จึงมีมติส่งรายงานและความเห็นไปยังผู้บังคับบัญชาของผู้บุคคลทั้งสองเพื่อพิจารณาโทษทางวินัยต่อไป

สำหรับการลงมติว่าจะถอดถอน นพ.สุรพงษ์และนายไกรสรออกจากตำแหน่งหรือไม่ของที่ประชุมวุฒิสภานั้น ใช้วิธีลงคะแนนลับ ซึ่งการจะถอดถอนได้ต้องมีเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่หรือ 90 เสียง ปรากฏว่า ที่ประชุมมีมติถอดถอน นพ.สุรพงษ์ 71 เสียง ไม่ถอดถอน 59 เสียง และมีมติถอดถอนนายไกรสร 66 เสียง ไม่ถอดถอน 66 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง เมื่อเสียงถอดถอนไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด จึงถือว่าที่ประชุมวุฒิสภามีมติไม่ถอดถอนบุคคลทั้งสองออกจากตำแหน่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น