xs
xsm
sm
md
lg

รัฐพล่าน!ปัดปลอมร่างรธน.-เลขาครม.รับยังไม่ทูลเกล้าฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - เลขา ครม. ยันยังไม่ได้นำร่างแก้รธน.ที่มาสว.ขึ้นทูลเกล้าฯ ชี้ยังอยู่ระหว่างประสานงานกับสำนักราชเลขาธิการ “พงษ์เทพ”ปัดสอดไส้เนื้อหาเพิ่มเติม โดยที่รัฐสภาไม่รับทราบ ย้ำเป็นไม่ได้ เหตุกม.ทุกฉบับต้องผ่านความเห็นชอบจากสภา “คำนูณ”ยื่นกมธ.เพิ่มสอบปลอมแก้รธน. “สุรนันนท์” โบ้ยศาลรธน.ต้องมีทางออกให้นายกฯ ส่วนปชป.จวก “ค้อนปลอม”ถ่วงเวลา เพิ่งส่ง จม.ค้านชะลอทูลเกล้าฯให้ "นายกฯ"

วานนี้(3 ต.ค.56) นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) กล่าวถึงกรณีการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ว่า จนถึงขณะนี้ ก็ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนประสานงานของสำนักเลขาธิการครม.กับทางสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เพื่อนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าวขึ้นทูลเกล้า ซึ่งเคยบอกแล้วว่า ไม่ใช่แค่นายกรัฐมนตรีลงนาม แล้วสามารถนำขึ้นทูลเกล้า ได้เลย

ทั้งนี้ปกติ การประสานงานกับกับทางสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง เพื่อนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้า ต้องใช้เวลา บางครั้งใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ซึ่งทุกอย่างดำเนินการตามที่กำหนดไว้ ในรัฐธรรมนูญทั้งในมาตรา 150 และ 151 อยู่แล้ว

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า ตนไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. ขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยระบุว่า ผู้รับผิดชอบโดยตรง คือ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่จะดำเนินการตามขั้นตอน พร้อมย้ำด้วยว่า กระแสข่าวดังกล่าว เป็นเพียงแค่ข่าวลือ รวมถึง ได้ปฏิเสธกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า อาจมีการสอดไส้เนื้อหาเพิ่มเติม โดยที่รัฐสภาไม่รับทราบ ว่าเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะกฎหมายทุกฉบับต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบจากสภา

นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ศาลต้องทำตามหน้าที่ภายใต้อำนาจของกฎหมาย และการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ก็ทำตามกฎหมายรัฐธรรมนูญกำหนดเช่นกัน แต่หากภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่แตกต่างออกไป ศาลก็ต้องมีทางออกให้กับนายกฯด้วย เพราะนายกฯทำตามรัฐธรรมนูญ และในเมื่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ที่ดูทุกลายลักษณ์อักษรของรัฐธรรมนูญ รวมทั้ง ไม่จำเป็นที่นายกฯจะต้องลาออกหรือยุบสภาเพื่อแสดงความรับผิดชอบ เพราะไม่ได้มีข้อผิดพลาดอะไรในการบริหารราชการแผ่นดิน และสถานการณ์การเมืองยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ

**“ค้อนปลอมเพิ่งยื่นตีความแก้ที่มาสว.

นายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า เมื่อวันที่ 2ต.ค. นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ได้ลงนามส่งหนังสือถึงศาลรัฐธรรมนูญ ตามที่มีสมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154(1)ขอส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตราว่าด้วยที่มาของส.ว. ขัดหรือแย้ง หรือเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ แล้ว ส่วนเรื่องที่จะต้องส่งไปยังนายกฯ ให้รับทราบนั้น ตนมองว่าขณะนี้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้ส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้ว ดังนั้นเรื่องการใช้สิทธิ์ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 154(1) ของสมาชิกรัฐสภาคงไม่มีผลอะไร

ขณะที่นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่าสำหรับกระบวนการของวุฒิสภาที่มีสมาชิกรัฐสภายื่นเรื่องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา154(1) ต่อนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภาสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา นั้น คาดว่าจส่งเรื่องไปตามหน่วยงานที่กำหนดไว้ ภายในวันที่ 3ต.ค.นี้

**ปชป.จวกสมคบกันถ่วงคำร้อง40 ส.ว.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พร้อมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลคงสั่งยาก เพราะนายกฯ นำเรื่องนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ไปแล้ว ดังนั้นการจะไประงับในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว คงทำไม่ได้อยู่แล้ว แต่ศาลก็รวมคำร้อง โดยเรื่องหลัก ๆ จะมีอยู่ 4 เรื่องคือ 1.การแก้ไขครั้งนี้ ถือว่าเป็นกระบวนการที่มีการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในแง่ที่ว่าเป็นการเปลี่ยนดุลอำนาจของรัฐหรือไม่ 2. เป็นการเปลี่ยนรูปของรัฐหรือไม่ 3. มีการดำเนินการในลักษณะที่ได้มาซึ่งอำนาจโดยวิธีการที่ไม่ชอบหรือไม่ และ 4. เนื้อหา และกระบวนการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ส่วนกรณีที่นายสมศักดิ์ เพิ่งส่งเรื่องที่ฝ่ายค้านขอให้นายกฯ ระงับการทูลเกล้าฯ ตามมาตรา 154 ไปให้นายกฯ ถือว่าใช้เวลานานผิดปกติ เพราะฝ่ายค้านยื่นเรื่องไปตั้งแต่วันเสาร์ที่ 28 ก.ย.เหมือนกับเป็นการสกัดกั้นการใช้อำนาจ หรือใช้สิทธิ์ของ ส.ส. และ ส.ว. ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 154 หรือไม่.

นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ แถลงเรียกร้องพรรคเพื่อไทยให้หาตัวคนที่กดบัตรในคลิปให้รับผิดชอบ แต่ปรากฏว่า ผ่านมา 10 กว่าวันแล้ว ทางพรรคเพื่อไทยไม่มีปฏิกิริยาใดๆ ซึ่งในคลิปดังกล่าว ตนยืนยันว่ามี ส.ส.ที่ได้ไปรับบัตรจาก ส.ส.ที่ดำเนินการบัตรแทนกันคือ นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และ นายคมเดช ไชยศิวามงคล ส.ส.กาฬสินธุ์ พรรคเพื่อไทย ซึ่งถึงแม้ว่าบุคคลทั้งสองจะไม่ได้กดบัตรแทนกัน แต่ก็ทราบว่าได้ไปรับบัตรเพื่อไปกดลงคะแนน จาก ส.ส.ดังกล่าว ดังนั้น ตนขอให้ ส.ส. ทั้ง 2 คน เปิดเผยว่า บุคคลที่ได้ดำเนินการดังกล่าว คือ ส.ส.คนใด และขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะแกนนำพรรค ให้รับผิดชอบการกระทำดังกล่าวของลูกพรรค เนื่องจากว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

**ยื่นเรื่องเพิ่มเอกสารสอบปลอมหรือไม่

นายคำนูณ สิทธิสมาน สว.สรรหา ได้ยื่นเรื่องให้คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ที่มีนายสาย กังกะเวคิน ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะกรรมาธิการฯ เพื่อตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรื่องที่มาของ สว. เนื่องจากพบว่า สำเนาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทำแจกให้กับสมาชิกรัฐสภาเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2556 ซึ่งมีเลขรับ 20 /2556 ตรงกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริงที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร และคณะ ยื่นต่อประธานรัฐสภาโดยสำเนาที่ทำแจกก็มีเลขรับเดียวกัน นั้นหมายความว่า เอกสารทั้ง 2 ฉบับจะต้องมีเนื้อหาด้านในเหมือนกัน แต่เมื่อตนได้ตรวจสอบดูกลับพบว่า มีการเพิ่มเนื้อหา 2 จุด คือมาตรา 115(9) ที่ระบุไว้ว่า บุคคลที่มีคุณสมบัติลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ว.จะต้องไม่เป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น อันซึ่งไม่ใช่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือเคยเป็นแต่พ้นจากตำแหน่งดังกล่าวมาแล้ว แต่ฉบับสำเนากลับมีการเพิ่มเติมเนื้อหาให้ ส.ว.ได้รับข้อยกเว้นดังกล่าว ขณะเดียวกัน มาตรา 116 วรรคสอง ก็ได้มีการแทรกเนื้อหาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้ยกเว้น ส.ว.ที่สิ้นสุดยังไม่เกิน 2 ปี สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เท่ากับว่าเป็นการปลดล๊อคให้กับ ส.ว.ทั้งที่หลักการของการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญต้องการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งแต่กลับมีการให้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง โดยร่างดังกล่าวเป็นร่างปลอมหรือญัตติปลอมหรือไม่ ซึ่งในรัฐธรรมนูญไม่ได้มีข้อบัญญัติไว้ว่าให้รัฐสภาโหวตรับญัตติปลอม ซึ่งถือว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้อาจผิดต่อต่อข้อกฎหมาย จึงขอให้คณะกรรมาธิการฯเร่งดำเนินการตรวจสอบ

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กรรมาธิการ กล่าวว่า จากที่ได้พิจารณาเอกสารเบื้องต้นก็ได้พบข้อบกพร่องในเอกสารดังกล่าวเล็กๆน้อยๆจริง แต่บางจุดก็ได้มีการแก้ไขไปแล้ว แสดงว่าเอกสารฉบับนี้ได้ผ่านกระบวนการตรวจสอบจากสำนักเลขาฯแล้ว ซึ่งยังมีการพบจุดผิดปกติอีก 3 จุด แสดงว่าจุดดังกล่าวคงไม่ใช่ความบกพร่อง แต่น่าจะเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนว่าต้องการอะไร เพราะข้อความเหล่านั้นถือว่ามีผลต่อเนื้อหามากๆ หากจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ต้องมีการส่งหนังสือราชการแจ้งให้สมาชิกเพื่อขอเปลี่ยนแปลง เอกสารเหล่านี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายอาญา ในฐานะปลอมแปลงเอกสาร เพราะถือว่ามีผู้เสียหาย คือ สมาชิกรัฐสภา
โดยคณะกรรมาธิการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์รับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาตามอำนาจหน้าที่ โดยกรรมาธิการได้เสนอให้เชิญเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร วิปรัฐบาลและผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง

นายไพบูลย์ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เปิดเผยว่า ในการประชุมกมธ.นัดหน้า วันที่ 10 ต.ค ที่ประชุมได้เชิญ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือผู้แทน ชี้แจงกรณีที่ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญในมาตรา 154 (2)ว่าด้วยให้มีการชะลอการนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม กลุ่มมาตราที่ว่าด้วยที่มาส.ว.ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย

**อีเว้นเสื้อแดง แจ้งเอาผิด 40 สว.ถึงฎีกา

พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนและคณะทำงานด้านกฎหมาย ชมรมคนรักษ์ประชาธิปไตย และทนายความ จะเดินทางเข้ายื่นคำร้องต่อประธานศาลฎีกา ถนนรัชดาภิเษก เพื่อให้วินิจฉัยกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา กับพวก 50 คน และนายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ กับพวก 62 คน ยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2557 ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 168 วรรคแปด และ วรรคเก้า หรือไม่

เพราะเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยในเรื่องใดกล่าว และไม่สามารถกระทำการใดๆ ได้ เนื่องจากตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 บัญญัติว่า ศาลจะตั้งขึ้นได้ ก็โดยพระราชบัญญัติ แต่ไม่ปรากฏว่ามีพ.ร.บ.จัดตั้งศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และวิธีพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญนั้น ไม่มีพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 216 วรรคหก อีกทั้งมาตรา 300 วรรคห้า บัญญัติว่า ให้ศาลรัฐธรรมนูญออกข้อกำหนดว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นการวินิจฉัยหลังวันที่ 24 ต.ค.51 ย่อมเป็นโมฆะ ไม่ผูกพันองค์กรใด จึงอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 199 ขอให้คณะกรรมการซึ่งประธานศาลฎีกาเป็นประธานวินิจฉัยข้อโต้แย้งดังกล่าวยุติและเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายต่อไป

ที่กองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นายศุภวัส ทักษิณ หนึ่งในคณะทำงานฝ่ายกฎหมายของ กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่ม 40 ส.ว.กับพวก ในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่

อีกด้าน นายวัฒนา เซ่งไพเราะ โฆษกส่วนตัวประธานรัฐสภา ได้รับหนังสือให้ตรวจสอบจริยธรรมของ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และกลุ่ม 40 ส.ว.โดยกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า สภายุติธรรม และ กลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือ กวป.ที่เคยไปชุมนุมกดดันศาลรัฐธรรมนูญมาแล้ว

ที่ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ กลุ่มกวป. ได้ยุติการชุมนุม โดยอ้างว่า มีผู้ใหญ่ขอให้หยุด โดยบรรยากาศบริเวณโดยรอบศาลรัฐธรรมนูญ ยังคงมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแลความปลอดภัย เนื่องจากในวันที่ 4 ต.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดแถลงด้วยวาจาและลงมติในคำร้องที่ประธานรัฐสภาส่งความเห็นของส.ส.และ ส.ว. รวม 112 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น