xs
xsm
sm
md
lg

“ปู”ผวาหมิ่นยังไม่ทูลเกล้าฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"ยิ่งลักษณ์"  ผวา หมิ่นเบื้องสูง ยังไม่ลงนามทูลเกล้าฯฯร่างแก้ไขรธน.ที่มาของ ส.ว. พร้อมเดินหน้าแก้ ม.190 ม.68 ม.237 ต่อ ตั้งเป้าเดือนพ.ย.ต้องเสร็จ ด้านกลุ่ม 40 ส.ว. ยื่นหนังสือถึงนายกฯ สำนักราชเลขาธิการ ให้ระงับการทูลเกล้าฯ "พงศ์เทพ" ยกข้อกฎหมายหากไม่ดำเนินการภายใน 20 วันถือว่าฝ่าฝืน ดักคอศาลรธน.อย่าสองมาตรฐาน ฟากปชป.ชี้นายกฯดันทุรังนำขึ้นทูลเกล้าฯ  ถือว่ามีเจตนากดดันศาลรธน.-ชนสถาบันฯ  “คำนูญ”แฉร่างฯ วิปรัฐมีพิรุธ สะพัดแชร์ว่อนเน็ต! ชายปริศนาบินดอดคุยกับ “แม้ว” ส่วน“บิ๊กแจ๊ส”ไม่สนกม. ขนคณะถ่ายรูปร่วมถึงมาเก๊า

    

นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ตนได้ลงนามในหนังสือนำส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่...พ.ศ... เพื่อส่งไปยัง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งได้ทำเรื่องส่งไปตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 56 เวลา 12.00 น.

    อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังไม่กล้าเซ็นชื่อลงนามในหนังสือนำส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่...พ.ศ... ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไปศึกษาดูในข้อกฎหมายให้เรียบร้อยก่อน โดยเฉพาะในประเด็น ที่ฝ่ายค้าน และ ส.ว.สรรหาได้คัดค้าน

ส.ว.ยื่นระงับนำร่างรธน.ทูลเกล้าฯ

    ในวันเดียวกัน นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ได้ยื่นหนังสือถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และสำนักราชเลขาธิการฯ เพื่อขอให้ระงับการดำเนินการนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ประเด็นที่มาส.ว. ขึ้นทูลเกล้าฯ ตามมาตรา 154 วรรคสอง จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยตามคำร้องที่มีผู้ยื่นเรื่องให้วินิจฉัยความถูกต้อง

    ทั้งนี้เห็นว่ามีความพยายามที่จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ด้วยความเร่งรีบผิดปกติ ซึ่งแสดงถึงเจตนาว่า จงใจไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ตามกระบวนการตรวจสอบร่างกฎหมายที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ  นอกจากนี้ไม่ควรอ้างว่า จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน ตามรัฐธรรมนูญ เพราะกรณีดังกล่าวใช้กับร่างกฎหมายที่ไม่มีการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบ ซึ่งแตกต่างจากครั้งนี้ ที่ควรระงับการทูลเกล้าฯไว้ก่อน จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย นอกจากนี้ หากมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกร้องว่า ปฏิบัติหน้าที่มิชอบตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 68

    ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ว่า เมื่อเวลา 14.00 น.วานนี้  น.ส.รสนา โตสิตระกูล  ส.ว.กทม. น.ส.สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ส.ว.เพชรบุรี นายสาย กังกเวคิน ส.ว.ระยอง เข้ายื่นคำร้อง นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของ ส.ว. เป็นโมฆะ ให้ตกไปทั้งหมด และวินิจฉัยให้การดำเนินการของผู้ถูกร้อง และผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้าข่ายเป็นการกระทำล้มล้างการปกครอง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 68  และระหว่างการพิจารณา ให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว สั่งให้นายกรัฐมนตรี ระงับการดำเนินการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไว้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัย

    น.ส.รสนา กล่าวว่า ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับที่มาของส.ว.ได้ผ่านการพิจารณาวาระ 3 แล้ว ทั้งประธานรัฐสภา และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี พูดไปในทางเดียวกันว่า จะต้องให้นายกรัฐมนตรี เร่งนำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ตนเห็นว่าตามกฎหมายแล้ว ขณะนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้รับวินิจฉัย จึงเห็นว่า เมื่อร่างแก้ไขดังกล่าวยังมีปัญหาประธานรัฐสภา ก็น่าที่จะชะลอการส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังนายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีก็ควรจะชะลอการนำร่างกฎหมายขึ้นทูลกล้าฯ เพื่อไม่ให้สถานการณ์เคลื่อนไปสู่การเผชิญหน้ากัน

    ขณะเดียวกัน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม นายคำนูณ สิทธิสมาน  นายสุรจิต ชิรเวทย์ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ในประเด็นเดียวกัน โดยขอให้ศาลมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรี ชะลอนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ด้วยเช่นกัน โดยเห็นว่า เป็นเรื่องที่มิบังควร เพราะร่างฯกฎหมายดังกล่าว ยังมีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ การทูลเกล้าฯ จะกลายเป็นการผลักปัญหาไปให้สถาบันฯ จึงไม่อยากให้นำสถาบันฯ มาอยู่บนพื้นฐานความขัดแย้งทางการเมือง   

    ขณะที่ นายวิรัตน์ กัลยาศิริ ส.ส.ปชป. ได้ส่งตัวแทนมายื่นเอกสารชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 310 ชุด ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้อง กรณีขอให้ นายนิคม ไวยรัชพานิช กับพวก 309 คน ที่เข้าชื่อเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญเพิ่มเติม ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 68   
 
"พงศ์เทพ"ดักคอศาลรธน.อย่า2มาตรฐาน
    ด้านนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายกรัฐมนตรี เตรียมทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. หลังผ่านการลงมติวาระ 3 ว่า ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เขียนไว้ว่า เมื่อผ่านการลงมติ  3 วาระแล้ว ให้นำบทบัญญัติ มาตรา150 และ 151 ของรัฐธรรมนูญมาใช้บังคับ โดยนายกฯ จะต้องนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน เขียนไว้แค่นี้  

    ส่วนมาตรา 154 ที่ให้ระงับการดำเนินการนั้น เป็นกรณี ร่าง พ.ร.บ.ไม่ใช่ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เนื่องจากหากเป็น ร่าง พ.ร.บ. พอเรื่องส่งมายังนายกฯ ถ้ามีส.ส.-ส.ว. เข้าชื่อ เพราะเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ขัดรัฐธรรมนูญ นายกฯ ต้องชะลอประกาศใช้ แต่เมื่อเป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาไม่ได้นำบทบัญญัติมาตรา 154 มาใช้บังคับ ฉะนั้น มีกรณีเดียวที่นายกฯ ต้องทำคือต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 20 วัน ไม่มีทางทำอย่างไร และไม่มีปัญหาอะไร

    “เรื่องนี้ศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยไว้ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลชุดนี้ว่า มาตรา 154 ที่มีการยื่นโต้แย้งกันอยู่ เขาไม่ใช้บังคับกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ตนไม่เชื่อว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะทำอะไรเกินกรอบอำนาจหน้าที่ของท่าน สิ่งที่สำคัญที่สุดขององค์กรตุลาการ สังคมก็เพ่งเล็งโดยเฉพาะกรณีที่ท่านทำอะไร ต้องยึดคำวินิจฉัยเดิมของท่าน ถ้าคำพิพากษาแกว่งไป แกว่งมา จะขาดความแน่นอน ความน่าเชื่อถือ สิ่งที่สังคมจับจ้องตลอดเวลาในขณะนี้คือ สิ่งที่เขาเรียกว่าสองมาตรฐาน เราก็เชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะระวังเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด”นายพงศ์เทพ กล่าว

เดินหน้าแก้รธน. ม190,ม.68,ม.237

    นายอุดมเดช รัตนเสถียร ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ในการประชุมวิปรัฐบาลสัปดาห์หน้า จะมีการหารือว่า จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เข้าที่ประชุมเมื่อไร ซึ่งตนคิดว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

    นายอำนวย คลังผา ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่าด้วยเรื่องสนธิสัญญา และมาตรา 68 ว่าด้วยการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ขณะนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเสร็จแล้ว และได้บรรจุไว้ในระเบียบวาระการประชุมเรียบร้อยแล้ว โดยรอวันที่จะนำขึ้นมาพิจารณา ส่วนมาตรา 237 ว่าด้วยการยุบพรรคการเมือง นั้นอยู่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญพิจาณา ยังไม่แล้วเสร็จ คาดว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่างดังกล่าว จะสามารถพิจาณาเสร็จภายในสมัยประชุมสามัญทั่วไปนี้ ราวปลายเดือน พ.ย.  หรือจะหยิบยกขึ้นมาพิจารณาได้ทันภายในสมัยประชุมนี้  
    
ขู่ฟัน“40ส.ว.- ฝ่ายค้าน”ขวางทูลเกล้าฯ
    นายพร้อมพงศ์  นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ ฝ่ายค้าน  และกลุ่ม 40 ส.ว.พยายามคัดค้านการทูลเกล้าฯ ร่างแก้ไขรธน.  ว่า นายกฯเป็นเหมือนบุรุษไปรษณีย์ ที่ต้องส่งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำเนินการภายใน 20 วัน  หากนายกฯ ไม่ดำเนินการ จะต้องมีผู้ร้องอีกว่า นายกฯละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ตนจะตรวจสอบว่า การกระทำของกลุ่ม 40ส.ว.และฝ่ายค้าน เป็นการกระทำที่ขัดต่อหน้าที่ของตัวเองหรือไม่ โดยจะรวบรวมข้อมูล หากเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม อาจจะมีการยื่นถอดถอน กับผู้ที่ดำเนินการด้วย

จวกรัฐเล่นเกมทูลเกล้าฯกดดันศาลรธน.
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มาส.ว.ว่า ขั้นตอนแรกคือ นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา ต้องตัดสินใจว่า เมื่อมีคำร้องให้ส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ จะแจ้งรัฐบาลให้ระงับการทูลเกล้าฯ หรือไม่ การอ้างว่าศาลฯ คงไม่รับ เป็นความเห็นนายสมศักดิ์ และเมื่อส่งเรื่องไปยัง น.ส.ยิ่งลักษณ์  ก็มีเวลาตามกรอบของรัฐธรรมนูญ และทราบอยู่แล้วว่า ศาลฯรับเรื่องนี้ไว้พิจารณา จึงไม่ทราบว่าเหตุใดรัฐบาลต้องประกาศว่า วันที่ 1 ต.ค. จะทูลเกล้าฯ และไม่รอแล้ว ทั้งที่ยังมีปัญหาอยู่ จะนำขึ้นทูลเกล้าฯทำไม ควรรอดูท่าทีว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีแนวโน้มพิจารณาอย่างไร และไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างการทูลเกล้าฯ ตนค่อนข้างเชื่อว่า ถ้าศาลพิจารณาไม่ทันอาจจะมีคำสั่งออกมา ทุกคนก็ทำหน้าที่ตัวเองสมบูรณ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่หากทูลเกล้าฯ แล้วเกิดปัญหาขั้นตอนที่จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย ต้องมีปัญหาอีกว่า ศาลฯตัดสินมาแล้ว จะปฏิบัติอย่างไร หากชัดว่าศาลฯพิจารณาไม่ทัน ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย อย่างนั้นมีเหตุผล ไม่มีใครว่าอยู่แล้ว

                ต่อข้อถามว่าหากวันที่ 1 ต.ค.นี้ นายกฯ จะนำความขึ้นกราบบังคมทูลแล้ว มองอย่างไร นายอภิสิทธิ์ ตอบว่า มองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นการกดดันว่าถ้าใช้วิธีนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้ว จะทำให้ศาลมีแรงกดดันมากขึ้น ถ้าตัดสินว่าไม่ชอบ ก็จะยุ่ง เพราะเรื่องทูลเกล้าฯแล้ว และคงเป็นความพยายามสร้างกระแสกดดัน ซึ่งไม่เหมาะสม ควรหลีกเลี่ยง ทั้งนี้เรื่องที่เกิดขึ้นเป็นการแสดงเจตนารมณ์อยู่แล้วว่า ไม่เคารพศาลรัฐธรรมนูญ เห็นได้จากการพูดหลายครั้ง มีลักษณะข่มขู่ศาล  

"ปู"ดันทุรังทูลเกล้าฯ เจตนาชนสถาบันฯ
    นายถาวร เสนเนียม รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องที่มิบังควร เพราะจะกระทบต่อเบื้องพระยุคลบาท อีกทั้งกรณีนี้ไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่เป็นวิกฤตของประเทศชาติ  รัฐบาลควรรอตามที่กฏหมายกำหนดคือ 20 วัน เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน แม้ร่าง พ.ร.บ.นี้จะผ่านการโหวตวาระ 3 แล้ว

    "กรณีนี้ ถือว่าเป็นการเดินหน้าชนสถาบันฯ อย่างแน่นอน ทั้งที่การตั้งศาลรัฐธรรมนูญขึ้นมา เพื่อให้วินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาความเห็นต่างในข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญโดยตรง จึงควรรอคำวินิจฉัยของศาลก่อน เพราะเป็นการออกแบบให้มีการถ่วงดุลการใช้อำนาจกันและกัน" นายถาวร กล่าว

'จรัญ'ไม่ขอวิจารณ์จะเป็นการชี้นำ
      ศ.(พิเศษ) จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงปัญหานี้ว่า ไม่ขอวิพากวิจารณ์  เป็นห่วงจะกระทบต่อการทำหน้าที่ในการพิจารณาคดีได้ และจะทำให้เกิดปัญหายุ่งเหยิงตามมา ในฐานะเป็นฝ่ายตุลาการจะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นใดๆออกไป ก่อนที่จะมีการพิจารณาตัดสินคดี   

    ขณะเดียวกัน ไม่ขอวิจารณ์ หากนายกรัฐมนตรี นำร่างดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ จะเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในมาตรา 154 หรือไม่  ตนไม่สามารถพูด หรือชี้นำคดีก่อนได้เช่นเดียวกัน
    

แฉร่างฯ วิปรัฐไม่ตรงกับสำเนา
    นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา ได้เขียนข้อความผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กส่วนตัว คำนูณ สิทธิสมาน ระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่มา ส.ว.มีข้อน่ากังขามากกว่าที่คิด ประเด็นที่ยังไม่ค่อยได้พูดถึงกันคือตัวร่างฯที่นายอุดมเดช รัตนเสถียร ประธานวิปรัฐบาลในขณะนั้น และคณะยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 20 มีนาคม 2556 เลขรับ 20/2556 เวลา 13.05 น. มีข้อความในสาระสำคัญไม่ตรงกับตัวร่างฯ ฉบับสำเนาที่สมาชิกรัฐสภาได้รับในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเมื่อ 1 เมษายน 2556 ระเบียบวาระที่ 5.1 ทั้งๆ ที่ระบุเลขรับตรงกัน คือ 20/2556 และวันที่รับก็ตรงกันคือ 20 มีนาคม 2556
 ทั้งนี้ข้อความที่ไม่ตรงกันในสาระสำคัญระหว่างร่างฯ ที่น่าจะถ่ายจากเอกสารต้นฉบับ ณ วันยื่น (20 มีนาคม 2556 เวลา 13.05 น.) กับร่างฯ สำเนาที่จัดทำขึ้นใหม่โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรแจกแก่สมาชิก ณ วันพิจารณา (1 เมษายน 2556) ที่มีเลขรับตรงกัน มีถึง 3 จุด 1. ข้อความในส่วนของหลักการ ร่างฯสำเนามีการเพิ่มคำว่า “มาตรา 116 วรรคสอง” เข้าไป 2. ข้อความในมาตรา 5 แก้ไขมาตรา 115 ข้อความในมาตรา 115 (9) แตกต่างกัน โดยร่างฯสำเนามีการเติมประโยค “...ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา” เข้าไป 3. ในร่างฯ สำเนามีการเติมมาตรา 6 ใหม่แทรกเข้าไป เป็นการแก้ไขมาตรา 116 วรรคสอง เติมคำว่า “...ซึ่งมิใช่สมาชิกวุฒิสภา” เข้าไป ไม่ปรากฏในรายงานของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่าคณะผู้เสนอร่างฯ ได้มีการยื่นขอแก้ไขร่างฯ หรือไม่ อย่างไร ทำให้เป็นข้อกังขาสำคัญที่ว่าเอกสารที่มีเลขรับเดียวกันไฉนมีข้อแตกต่างกันถึง 3 จุด และเป็น 3 จุดสำคัญที่เพิ่มเข้ามาในร่างฯ สำเนา (1 เมษายน 2556) ทำให้การแก้ไขให้ ส.ว.เลือกตั้งชุดปัจจุบันได้ลงสมัครได้ต่อเนื่องอย่างสมบูรณ์ ถ้ามีเพียงเท่าที่ปรากฏในร่างฯ แรก (20 มีนาคม 2556) การแก้ไขจะไม่มีผลสมบูรณ์ หรืออาจทำให้เกิดข้อถกเถียงทางกฎหมายได้

แชร์ว่อนเน็ต !!! ชายปริศนาหันหลังคุยกับ ทักษิณ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(30ก.ย.)  ในเพจผู้ใช้นามว่า "Nam Chanisara" ได้โพสต์ภาพชายปริศนาท่านหนึ่ง หันหลังคุยกับอดีตนายกทักษิณ ชินวัตร โดยที่มีสีหน้าไม่สู้ดีนัก  ขณะอยู่ที่ประเทศฮ่องกง เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา พร้อมกับแสดงความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า "มีคนส่งมาให้ถ่ายที่ฮ่องกงช่วงวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา เลยมาประกาศให้ทราบและผู้ส่งประกาศตามหา คนหายคือชายหันหลังไม่ทราบชื่อ ใครรู้บอกที"

    ทั้งนี้มีการตั้งข้อสังเกตในโลกออนไลน์ว่า บุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลในรัฐบาลที่เกี่ยวข้องในกฎหมายเพื่อไปผลักดันร่างกฎหมายที่ค้าง โดยมีการคาดเดาจำนวนมากว่า อาจจะเป็น พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี หรืออาจเป็น นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร

ไม่สนกม. “บิ๊กแจ๊ส”ขนคณะถ่ายรูป “แม้ว”ถึงมาเก๊า
    นอกจากนี้ มีภาพของ พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. พร้อมกับเพื่อนได้เดินทางไปถ่ายรูปหมู่กับอดีตนายกฯทักษิณ เมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา จากเพจ "ล้านชื่อต้านล้างผิด" โดยเดินทางไปถึงมาเก๊าไม่สนคำครหาของสังคม หลังผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ส่งเรื่องดังกล่าวไปยัง สตช. แล้ว พร้อมมีความเห็นระบุว่า ตำแหน่ง ผบช.น. เป็นตำแหน่งสำคัญ อีกทั้งการเดินทางไปพบ ทักษิณ ชินวัตร ถือเป็นนักโทษหนีคดี  ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อเกียรติ และอาจถูกมองว่าไม่เป็นกลาง จึงส่งเรื่องไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้บังคับบัญชา ดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น