xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิสภาเผด็จการทาส แก้รธน.หวังกินรวบปท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐบาลให้เวลา 2 วัน ประชุมร่วมรัฐสภา แก้รธน. เรื่องที่มาส.ว. ยันไม่มีการลักไก่เอามาตราอื่นมาพ่วง ด้านปชป.ยืนยันค้านเต็มที่ แฉรัฐบาลตั้งใจออกกติกาใหม่ หวังกินรวบอำนาจทั้งสองสภา เป็น "เผด็จการสภาทาส" ลั่นสุดท้ายจบที่ศาลรธน. "เพื่อไทย"ห้ามส.ส.ขาดประชุม ขณะที่"ยิ่งลักษณ์" หนีสภาไปทัวร์ต่างประเทศเหมือนเดิม "มาร์ค"ไฟเขียวแกนนำปชป. จับมือภาคประชาชนโค่นระบอบทักษิณ เดินหน้าส่งจดหมายเปิดโปงวาระซ่อนเร้นรัฐบาล ศาลเรียก"ไทกร -พิเชฐ -สมบูรณ์" ไต่สวนถอนประกัน 3 ก.ย.นี้ หลังมีผู้ร้องทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว "เหลิม"ฟันธงปชป.ระดมม็อบใหญ่ ต้นเดือนก.ย. ประมาทไม่ได้

นายอำนวย คลังผา ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ในการประชุมรัฐสภา วันที่ 20-21 ส.ค.นี้ จะมีการพิจารณา ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มาของส.ว.เพียงฉบับเดียว ส่วนร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 จะมีการบรรจุภายหลัง

อย่างไรก็ตาม ที่หลายฝ่ายมองว่า การแก้ไขที่มาของส.ว.อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญนั้น ทางคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญที่มา ส.ว.ได้พิจารณากันมาเรียบร้อยแล้ว จึงถือเป็นเรื่องของกรรมาธิการฯ ทั้ง 35 คน ซึ่งการพิจารณาเบื้องต้นได้กำหนดระยะเวลาไว้ 2 วันก่อน หากยืดเยื้อค่อยมาพิจารณาอีกครั้ง

ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภา กล่าวว่า สำหรับที่หลายฝ่ายกังวลว่า อาจมีการรวบรัดพิจารณาทั้ง 3 มาตรา ในคราวเดียวนั้น ทางวิปรัฐบาลได้แจ้งแล้วว่าจะไม่มีการพิจารณารวมกันอย่างแน่นอน ทั้งนี้หากสมาชิกทั้ง 3 ฝ่าย หาข้อสรุปร่วมกันลงตัว ตนก็ทำหน้าที่อย่างไม่ลำบาก

นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานรัฐสภา ระบุว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภา วันนี้ จะมีเฉพาะการพิจารณา ร่าง รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่เกี่ยวกับประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา ทั้ง 13 ร่าง เท่านั้น ซึ่งป็นการแก้ไขคุณสมบัติที่ ห้ามบุพการี คู่สมรส ลงสมัคร โดยไม่มีการพิจารณาร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ว่าด้วยการจัดทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศต่อ ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาก่อน และ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 และ 237 ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการยุบพรรค โดยคาดว่า น่าจะใช้เวลาการอภิปราย 2 วัน ระหว่างวันที่ 20 - 21 ส.ค. แต่หากไม่พอก็อาจขยายเวลาเพิ่มเติมได้

รื้อที่มาส.ว.หวังรวบอำนาจทั้ง 2 สภา

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่า ที่ประชุมวิปฝ่ายค้านมีความเห็นร่วมกัน ที่ไม่เข้าร่วมประชุมกับวิปรัฐบาล และวิปวุฒิสภาเพื่อพิจารณากรอบเวลาในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่มาของส.ว.วาระ 2 วันที่ 20 ส.ค.ดังนั้นเมื่อฝ่ายค้านไม่ร่วมประชุมกับวิป 3 ฝ่าย การอภิปรายในวันที่ 20 ส.ค. ก็ขอให้เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภา ที่จะควบคุมการประชุมให้เป็นไปตามข้อบังคับ ทั้งนี้มีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เตรียมใช้สิทธิ์อภิปรายในฐานะผู้เสนอคำแปรญัตติเพื่อแก้ไขถ้อยคำในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 118 คน

" ฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย เพราะเป็นความพยายามรวบอำนาจศาล องค์กรอิสระ ดังนั้น การบรรจุระเบียบวาระ ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญ มีความผิดปกติ เนื่องจากครั้งแรกประธานรัฐสภาได้บรรจุเฉพาะร่างแก้ไขที่มาของส.ว. ก่อนที่ต่อมาจะมีการบรรจุร่างแก้ไข มาตรา 68 และ 190 เพิ่มเติมเข้ามา ทำให้ฝ่ายค้านมีเป็นห่วงว่า จะเกิดการลักไก่ หรือไม่ ขณะเดียวกัน ฝ่ายค้านมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการแก้ไขที่มาของส.ว. ก่อนร่างแก้ไขฉบับอื่น เพราะเป็นความต้องการให้สอดรับกับส.ว.เลือกตั้ง ชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 1 มี.ค. 57 และจากนั้นได้เลือกตั้งส.ว.เข้ามา เพื่อเป็นการกินรวบรัฐสภา”นายจุรินทร์ กล่าว

ทำเพื่อประโยชน์ตัวเองส่อขัดรธน.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวการที่บุคคลเหล่านี้กำลังพิจารณาร่างกฎหมาย หรือ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ที่เป็นผลประโยชน์ของตัวเองโดยตรงนั้น มันขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่มีคนแปรญัตติเยอะมาก ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ เห็นด้วยว่า ที่มาของ ส.ว.ควรมาจากการเลือกตั้ง แต่จะทำอย่างไรให้วิธีการ และระบบ ที่จะนำ ไปสู่การเลือกตั้งที่มีหลักประกันที่ดีที่สุด ว่าจะได้บุคคลตามวัตถุประสงค์ หรือเจตนารมณ์ที่เราต้องการจากสภาสูง

"ยิ่งลักษณ์"หนีสภาอีกตามเคย

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ประธาน ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง เหมือนกับ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ เพราะเราจะไม่ได้เห็น น.ส.ยิ่งลักษณ์ เข้ามาร่วมรับฟังในการประชุมสภาทั้งๆ ที่เป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากนายกฯ เดินทางไปต่างประเทศ ทั้งๆ ที่เมื่อดูวาระแล้วสามารถส่งรองนายกฯ ไปปฏิบัติราชการแทนได้

แก้รธน.นำไปสู่ "วุฒิสภาเผด็จการทาส"

นายองอาจ กล่าวด้วยว่า การแก้ไขที่มา ส.ว.อาจกระทบต่อโครงสร้างของประเทศ เพราะการแก้ไขครั้งนี้ มีเป้าหมายกินรวบประเทศไทย หรือ ผูกขาดประเทศไทยไว้ในกำมือของผู้มีอำนาจมีเสียงข้างมากในสภา ถ้าการแก้ไขสำเร็จ จะมีการผูกขาดประเทศไทยจากสภาไปถึงวุฒิสภา ซึ่งตนคิดว่าเป็นการวางแผนมาตั้งแต่ต้น เพราะร่างแก้ไขที่มา ส.ว. มีส.ส.พรรคเพื่อไทย ร่วมเซ็นชื่อกับ ส.ว.บางส่วนเกือบทั้งพรรค เพื่อให้เห็นว่าเป็นเรื่องของสมาชิกรัฐสภา แสดงให้เห็นว่า เริ่มต้นก็มีการอำพรางแล้ว

ส่วนอีกสองประเด็นก็ให้ ส.ว.นำหน้าลงชื่อแก้ไข เป็นการริเริ่มวางแผนแก้รัฐธรรมนูญ แบบผลัดกันเกาหลัง เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมุ่งหวังเอื้อประโยชน์กันและกันในรัฐสภา มีเป้าหมายผูกขาดประเทศไทย เพราะถ้าดูจากการเลือกตั้ง ตามที่มีการแก้ไขเป็นรูปแบบที่เลวร้ายกว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ที่เคยถูกตั้งฉายาว่า “สภาทาส”ถ้าร่างแก้ไขที่กำลังจะพิจารณาผ่านออกมา จะยิ่งกว่า “สภาทาส”จะเป็น วุฒิสภาเผด็จการทาส หนักกว่าในปี 2540

นอกจากนี้วุฒิสภายังมีอำนาจในการถอดถอนด้วย หากโครงสร้างเป็นเช่นนี้ จะเป็นการผูกขาดประเทศไทยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ซึ่งเป็นอันตรายเป็นอย่างยิ่ง

"สภาผัวเมีย"จบที่ศาลรธน.

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ส.ส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคเห็นด้วยกับ ส.ว.จากการเลือกตั้ง แต่เราคัดค้านกรณีการยกเลิกเงื่อนเวลาที่เปิดให้ส.ว.เลือกตั้งที่จะหมดวาระในเดือน มี.ค.57 สามารถลงสมัครต่อได้ จากเดิมที่ต้องเว้นวรรค 1 วาระ หรือ 4 ปี หรือการเปิดช่องให้ ส.ส.ลาออก และมาสมัครส.ว.ได้ทันที จากเดิมที่ผู้สมัคร ส.ว. ต้องปลดจากการเมือง คือ ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง 5 ปี หรือการเปิดให้ สามี ภรรยา พ่อ แม่ ที่เป็น ส.ส.สามารถให้คนในครอบครัวลงสมัครได้ ก็จะกลายเป็นสภาครอบครัว หรือ สภาผัวเมีย เป็นการผูกขาดอำนาจในจังหวัดนั้นๆ ไว้กับคนแค่สกุลเดียว

ทั้งนี้ ตนมองว่าเป็นการแก้ไขรธน.ครั้งนี้ เพื่อหาทางออกในการรองรับบัญชี 3 บัญชี 4 ในพรรคเพื่อไทย ที่ขณะนี้พวกบัญชี 1 บัญชี 2 ที่เคยติดโทษแบนทางการเมือง ออกมารับตำแหน่งได้แล้ว จึงต้องมีการผ่องถ่ายคนในเครือข่ายใกล้ชิด โดยจัดหาตำแหน่งให้แทน ซึ่งกรณีนี้ขัดต่อหลักการ และเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญทั้งปี 40 และ 50 ก็จะกลายเป็นสภาผูกขาด

"หากมีการโหวตผ่านวาระที่ 3 หลังวันที่ 20 ส.ค. ซึ่งก่อนที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 15วัน ผมจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันทีว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ร่าง ถือเป็นโมฆะหรือไม่ ซึ่งได้สอบถามนักกฎหมาย หรือ ส.ส.ร.ที่ร่างรัฐธรรมนูญต่างฟันธงว่า 100 เปอร์เซนต์ ต้องนับจากการการลงมติกำหนดวันแปรญัตติครั้งที่ 2 จึงมีปัญหาว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับนี้ เป็นโมฆะ หากศาลฯชี้ให้เป็นโมฆะ ก็ต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่หมด เพื่อความถูกต้องตามหลักกฏหมาย" นายนิพิฏฐ์ กล่าว

พท.กำชับสมาชิกเข้าสภา 6 วันรวด

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงหลังการประชุม ส.ส.พรรค ว่า ประธานที่ประชุมพรรคได้กำชับให้สมาชิกพรรคงดภารกิจ 6 วันรวด ตั้งแต่วันที่ 20-25 ส.ค. เพื่อเตรียมประชุมพิจารณา ร่าง แก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ในวันที่ 20-21 ส.ค.นี้ รวมถึงการประชุมพิจารณาต่อถึง ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ที่ยังพิจารณาไม่เสร็จ ตามที่วิปรัฐบาลได้กำหนดกรอบว่า ทั้ง 2 ร่างกฎหมาย จะพิจารณาแล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 25 ส.ค.นี้

ภท. มีมติงดออกเสียงร่างแก้ไขรธน.

น.ส.ศุภมาศ อิศรภักดี โฆษกพรรคภูมิใจไทย แถลงภายหลังการประชุมพรรคโดยมี นายชัย ชิดชอบ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นประธานในที่ประชุม ว่า พรรคได้มีมติที่จะงดออกเสียง อย่างไรก็ตามการตัดสินใจของพรรคภูมิใจไทย จะพิจารณาจากท่าทีของสังคมเป็นหลัก ว่าสิ่งใดที่ทำแล้วจะเกิดประโยชน์กับสังคมมากที่สุด

แก้ไขรธน. ลดอำนาจหน้าที่ของศาล

นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยถึงการแก้ไข ร่าง รัฐธรรมนูญ ใน ม.190 ที่มีเนื้อหาแก้ไขให้ศาลรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรชี้ขาดในกรณีที่มีปัญหาการตีความ โดยกำหนดให้ศาลพิจารณาแล้วเสร็จภายใน 15 วันนั้น ตนไม่ขอตำหนิ หรือท้วงติงใดๆ ว่าจะเป็นการลดอำนาจหน้าที่ หรือเป็นการกดดันเร่งรัดให้ศาลวินิจฉัยคดี ซึ่งคงต้องให้สังคมเป็นผู้พิจารณาหรือตัดสินเอง ว่าเหมาะสมหรือไม่

อัดปธ.วุฒิฯดูถูกส.ว.สรรหา

ในการประชุมวุฒิสภา วานนี้ (19ส.ค.) มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่การประชุม ช่วงก่อนเข้าสู่วาระ ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือถึงปัญหาต่างๆ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีคำให้สัมภาษณ์ของนายนิคม ที่พูดถึงการทำหน้าที่ของ ส.ว.สรรหา ว่า ทำไมท่านจะต้องแบ่งการทำหน้าที่ของส.ว.สรรหา และเลือกตั้ง จนทำให้เกิดความแตกแยก ถือเป็นการดูถูก ส.ว.สรรหามาก ท่านอาจจะแสดงความคิดเห็นในฐานะ ส.ว.ฉะเชิงเทราได้ แต่ในฐานะประธานวุฒิสภาต้องคำนึงถึงภาพรวมวุฒิสภา ต้องวางตัวเป็นกลาง

นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า มีข้อสงสัยหลายประการในการให้สัมภาษณ์ของประธานวุฒิสภา ต่างกรรม ต่างวาระ เช่น เมื่อครั้งมีการลงชื่อในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ส.ว.ต่างถอนชื่อ แต่ประธานฯไปลงชื่อด้วย หรือ กรณีกลุ่ม 40 ส.ว.เป็นส.ว.สรรหา มาแล้ว 11 ปี พอจะให้มีการเลือกตั้งกลับร้อนตัว ข้อนี้ก็ไม่จริง เพราะรัฐธรรมนูญเว้นบทเฉพาะกาลไว้ พวกตนจึงได้กลับมาใหม่

"นิคม"โบ้ยผู้สื่อข่าวรายงานไม่คร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส.ว.สรรหา ส่วนใหญ่ต่างพากันหารือการให้สัมภาษณ์ของนายนิคม ด้วยคำพูดที่ไม่เหมาะสม ทำให้นายนิคม ชี้แจงว่า วันนี้มีผู้หารือ 15 คน มีผู้วิจารณ์การทำงานของตน 6 คน แต่ตนอยากเรียนให้ที่ประชุมทราบว่า ปกติตนเป็นคนให้สัมภาษณ์เชิงบวก และบางเรื่องอยากให้เพื่อนสมาชิกใช้วิธีคิดว่า ตนจะให้สัมภาษณ์ว่า มีแต่ ส.ว.เลือกตั้ง ที่เข้าประชุมได้อย่างไร ถ้าเป็นอย่างนั้นคือองค์ประชุมไม่ครบแล้ว ส่วนเรื่องการลงมติของ ส.ว.สรรหา ตนก็บอกว่า อย่าไปว่าส.ว.เลือกตั้ง ให้ดูสถิติคนที่มาลงเลือกตั้งได้ 5 ดาว ตั้งหลายคน ซึ่งเวลาเพื่อนสมาชิกฟังอะไร ตนไม่ใช่คนดูถูกคน ตนเป็นคนให้เกียรติคนอื่น แต่เวลาให้สัมภาษณ์ มันก็เป็นการพูดคุยกัน และมีการหยิบยกแค่บางประเด็นมาเสนอเป็นข่าว ไม่ครบ จนเป็นการให้ร้าย และเสื่อมเสีย ทั้งนี้เพื่อนสมาชิกจะเชื่อหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าทำให้พวกท่านเสียหาย ตนก็พร้อมขอโทษด้วย

"มาร์ค"ไฟเขียวมือภาคปชช.โค่นรบ.

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ ไปพบกลุ่มประชาชนภาคส่วนต่างๆ ที่สวนลุมพินีว่า ถือว่าภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวในทิศทางที่เห็นว่าบ้านเมืองปัจจุบัน ถูกนำพาไม่ถูกต้อง หรือว่าต่อต้าน"ระบอบทักษิณ"ได้เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบกฎหมาย ซึ่งจะเป็นพลังร่วมกันที่อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคมไปในทางที่ดีขึ้น ดังนั้นอะไรที่เราสามารถจะให้กำลังใจกันและกันได้ ก็เป็นเรื่องที่ดี แม้ว่ายังจะมีความเห็นที่แตกต่างกันก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา

ปชป.คุยพันธมิตรฯ เป็นสิทธิที่ทำได้

พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ไปพูดคุยกับกลุ่มพันธมิตรฯ เพื่อหารือถึงการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมนั้น ตนก็เป็นห่วง แต่ก็เป็นสิทธิโดยความชอบธรรมตามกฎหมาย ที่พรรคประชาธิปัตย์ทำได้ เราก็ไม่ได้ทำอะไรที่ไปขวางสิทธิตรงนี้

จ่อถอนประกัน"ไทกร -พิเชฐ -สมบูรณ์"

ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก วานนี้ (19 ส.ค.) ศาลได้มีคำสั่ง คดีผิดเงื่อนไขประกันตัว ที่นายสุรศักดิ์ ปรานศิลป์ พนักงานอัยการฝ่ายคดีอาญา 9 ได้ยื่นคำร้อง เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 56 ขอให้ศาลออกหมายเรียก นายพิเชฐ พัฒนโชติ จำเลยที่ 20 , นายสมบูรณ์ ทองบุราณ จำเลยที่ 21 และ นายไทกร พลสุวรรณ จำเลยที่ 25 คดีร่วมกันก่อการร้าย ปิดล้อมสนามบินดอนเมือง และสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีพล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวกรวม 96 คน เป็นจำเลย ซึ่งจำเลยทั้งสามมีพฤติการณ์กระทำผิดเงื่อนไขการประกัน โดยศาลพิจารณาแล้วให้ออกหมายเรียกจำเลยทั้งสามมาไต่สวนคำร้อง ในวันที่ 3 ก.ย .นี้ เวลา 09.00 น.

ด้านนายไทกร กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตนได้หารือกับ นายพิเชฐ และ นายสมบูรณ์ แล้ว ตกลงจะไปชี้แจงศาลตามนัดแน่นนอน เพราะมั่นใจว่าไม่ได้กระทำผิดเงื่อนไขการประกันตัว ตามที่อัยการกล่าวอ้าง

เดินหน้าเปิดโปงวาระซ่อนเร้นรัฐบาล

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำจดหมายเปิดผนึกไปยังองค์กรระหว่างประเทศ สถานทูตต่างๆ ในประเทศไทยและองค์กรประชาธิปไตยในระดับโลก ขอยืนยันว่าข้อความที่ส่งไปเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดในไทย พรรคพร้อมรับผิดชอบทุกถ้อยความที่มีการระบุในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการเปิดโปงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของรัฐบาลชุดนี้ ด้วยการเปิดเผยความจริง

“ปู”เมินปชป.เดินสายยื่นจดหมาย

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ ส่งจดหมายเปิดผนึกไปยังสถานทูต และองค์กรระหว่างประเทศ โดยระบุว่า ตนไม่ขอพูดในรายละเอียด เพราะถือว่าต่างคนต่างทำหน้าที่ รัฐบาลก็มีหน้าที่ชี้แจงกับประชาชน

เตรียมรับมือชุมนุมใหญ่ต้นก.ย.

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย เปิดเผยหลังการประชุม ส.ส.พรรคว่า ขณะนี้ทางพรรคได้จัดทำคู่มือ เรื่องสภาปฏิรูปการเมืองไทยให้ ส.ส.ทุกคนนำไปชี้แจงต่อประชาชน พร้อมยืนยันว่า การตั้งเวทีปฏิรูป ไม่ได้ตั้งธงเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร แต่เป็นความต้องการจากนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการระดมความเห็นจากทุกฝ่าย

ทั้งนี้อยากฝากถึง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ว่า ขณะนี้กำลังตีสองหน้า เล่นการเมืองแบบ 2 ระบอบ ใช่หรือไม่ เห็นได้จากการที่ นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี ยืนยันเชื่อมั่นระบอบรัฐสภา แต่ล่าสุดทางพรรคกลับส่งสมาชิกพรรคทั้ง นายนิพิฎฐ์ อินทรสมบัติ และ คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช ส.ส.ปชป. ขึ้นเวทีปราศรัยกับม็อบแช่แข็ง ที่สวนลุมพินี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมพรรคครั้งนี้ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ได้เข้ามาร่วมประชุมด้วย โดย ได้วิเคราะห์สถานการณ์การเมือง ว่า การชุมนุมทางการเมืองที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ ในช่วงต้นเดือนก.ย. จะมีการระดมคนมาร่วมม็อบ เพื่อมาล้มรัฐบาลอย่างเต็มที่ ระดมมาจากม็อบเกษตรกร ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล ม็อบยางพารา ม็อบสวนปาล์ม โดยการเคลื่อนไหวครั้งนี้ ประชาธิปัตย์ ต้องทุ่มเทเต็มที่ เพราะพันธมิตรฯ ไม่ร่วมมือด้วย เขาจึงต้องทำเอง

40 ส.ว.เมินสภาปฏิรูปฯไม่เชื่อน้ำยา"ปู"

ในการประชุมวุฒิสภา วานนี้ (19 ส.ค.) มีนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่การประชุม ก่อนเข้าสู่วาระ ได้เปิดโอกาสให้สมาชิกหารือถึงปัญหาต่างๆ โดยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า พวกเราได้รับการทาบทามเข้าร่วมสภาปฏิรูปการเมือง และไม่ได้เข้าร่วมด้วย เพราะไม่เชื่อในความจริงจัง และความจริงใจ ของนายกรัฐมนตรี เพราะ นายโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เคยพูดไว้ว่า

“การที่สังคมจะสร้างความปรองดองได้สำเร็จ ต้องเป็นคนไทยทุกคน ต้องพูดความจริง ประนีประนอมกัน ผู้นำฝ่ายการเมืองต้องทำเป็นตัวอย่าง อดีตนายกรัฐมนตรี ต้องถามตัวเองว่า จะทำเพื่อประเทศชาติ หรือทำเพื่อตนเอง ถ้าทำได้ความขัดแย้ง ความสูญเสียก็ค่อยๆ ย่อยสลายไป”

“ผมอยากเห็นความจริงใจและจริงจัง อยากให้คณะที่จะทำไปอ่านข้อเสนอของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส และคณะ ข้อเสนอของ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ(คอป.) และคณะ และถ้าประธานวุฒิสภาจะไป ก็ไปในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามวุฒิสภา”นายสมชาย กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น