ASTVผู้จัดการรายวัน-นปช.ยังเหิม! ยกระดับไล่ 9 ตุลาการให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ต่อเนื่อง หนักข้อยื่นสำนักงบงดจ่ายเงินเดือน พิลึกสอดคล้องความเห็น ครม. องค์กรอิสระทำงานไม่คุ้มเงิน แถมจ้องล่า 2 หมื่นชื่อยื่นถอดถอนอีก "วสันต์"เมินคำขู่ เตรียมเก็บหลักฐานยื่นฟ้องหมิ่น "อุกฤษ"โดดรับลูก จี้ยกเครื่องศาลรัฐธรรมนูญ เพิ่มเป็น 15 คน ลดวาระเหลือ 4 ปี ปูดส.ส.เพื่อไทย เซ็นชื่อเตรียมยื่นถอดถอนแล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานจากอาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ วานนี้ (24 เม.ย.) ว่า กลุ่มคนเสื้อแดง นำโดยนายพงษ์พิสิษฐ์ คงเสนา หรือเล็กบ้านดอน ผู้อำนวยสถานีวิทยุคนไทยหัวใจเดียวกัน ยังคงปักหลักชุมนุมกดดันเรียกร้องให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ยุติการทำหน้าที่โดยเด็ดขาด ซึ่งเป็นการชุมนุมต่อเนื่องมาเป็นวันที่ 3
พร้อมกันนี้ ยังระบุด้วยว่า ตัวแทนกลุ่มจะไปยื่นหนังสือที่สำนักงบประมาณ เพื่อขอให้ยุติการจ่ายเงินเดือนให้แก่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน และจะมีการล่ารายชื่อประชาชนไม่น้อยกว่า 2หมื่นรายชื่อ เพื่อยื่นถอดถอนตุลาการฯ ต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยทางกลุ่มจะยังชุมนุมต่อเนื่องไปไม่มีกำหนด
การดำเนินการดังกล่าว สอดคล้องกับที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่มีการพูดในเชิงว่า องค์กรอิสระหลายแห่งใช้เงินภาษีไม่คุ้มค่า สมควรถูกตัด
สำหรับการชุมนุมในช่วงบ่าย นายธนชัย สีหิน ตัวแทนกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้เข้ายื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยอมรับกระบวนการยุติธรรม หลังจากร่วมกับนายวรพล พรหมิกบุตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปราม เพื่อร้องทุกข์ดำเนินคดีกับประธานศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งหมด 9 คน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
มีรายงานว่า สำนักงานได้ให้เจ้าหน้าที่ทำการบันทึกภาพ บันทึกเสียงการปราศรัยโจมตีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไว้ทั้งหมด และกำลังอยู่ในการระหว่างการพิจารณารวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องดำเนินคดี
**“วสันต์”เผยเตรียมฟ้องหมิ่นแกนนำแดง
นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกกังวลอะไร เพราะคิดว่าน่าจะเป็นคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวมากกว่า เป็นแบบเดียวกับนางกรองทอง ทนทาน หรือ ดีเจป้อม อุดรธานี ที่ครั้งก่อนชุมนุมหน้ารัฐสภา ก็ด่าตนเสียหาย ตนก็ฟ้องศาลอาญาใน 4 ข้อหา ในฐานดูหมิ่นศาล ดูหมิ่นเจ้าพนักงานด้วยการโฆษณา โดยใช้ทนายจากสำนักงานทนายของคนพรรคเพื่อไทย คือสำนัก งานทนายนิติทัศน์ศรีนนท์ ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ประทับรับฟ้อง นางกรองทองก็ยื่นขอประนีประนอมจะขอขมา ศาลสั่งเลื่อนไปพิจารณาในวันที่ 27 พ.ค.นี้ ซึ่งตนยังไมได้ตัดสินใจว่าจะรับคำขอขมาหรือเปล่า ดังนั้น ที่ชุมนุมกันหน้าสำนักงานอยู่ขณะนี้ก็กำลังรวบรวมข้อมูลอยู่
“ผมตามเก็บหมดไม่ฟังเสียงหรอก”
**"จรัญ"ขอดูเนื้อหาจม.เปิดผนึก
นายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวถือเป็นเสรีภาพของคนที่จะเขียน ส่วนตัวคิดว่าต้องติดตามฟังและดูว่าเนื้อหาของจดหมายมีความชอบธรรมหรือไม่และเหตุผลมีผลอย่างไร
เมื่อถามว่า การคัดค้านอำนาจและไม่ไปชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญ จะส่งผลต่อกระบวนการวินิจฉัยคดีหรือไม่ นายจรัญ กล่าวว่า ไม่ขอให้ความคิดเห็น เนื่องจากตุลาการไม่ควรพูดถึงกระบวนการพิจารณาคดี ขณะนี้พยายามติดตามฟังการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่ายผ่านสื่อ ส่วนการยื่นถอดถอนตุลาการถือเป็นกระบวนการที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำได้
**"เต้น"โพสต์เฟซบุ๊กตอบโต้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายจรัญได้ยกตัวอย่างว่า ศาลก็คงมีแต่เพียงปากกา ไม่ได้มีอำนาจอะไรมากมายไปกว่านั้น ซึ่งก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับบ้านเมืองในปัจจุบันนี้ที่เหมือนนักมวยไล่ต่อยกรรมการ
ต่อมานายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งว่า โอ๊ะ! แม่เจ้า จริงหรือครับนี่? เคยเห็นนักมวยไล่ต่อยกรรมการ มีแต่เวทีมวยปล้ำที่กรรมการเข้าข้างฝ่ายหนึ่งอย่างออกนอกหน้า ไม่แคร์สายตาใคร บางแห่งไปตรวจสอบแล้ว พบว่าทั้งกรรมการกับนักมวยอภิสิทธิ์รายนั้นมาจากค่ายเดียวกัน ซึ่งมีรถถัง เอ๊ย! อิทธิพลล้นเหลือซะด้วย หนักเข้ากรรมการบุกไปขู่นักมวยอีกฝ่ายถึงในบ้าน ห้ามทำโน่นนั่นนี่ ถ้าเวทีมาตรฐานกรรมการปกติ ไม่มีที่ไหนเขามี
** สภาแจ้งส่งหนังสือให้ 312 ส.ส.-ส.ว ไม่ได้
กรณีสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักเลขาธิการวุฒิสภา แจ้งว่า ไม่สามารถ ส่งหนังสือให้ ส.ส.ส.ว. 312 คน ซึ่งเป็นผู้ถูกร้องในคดีนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งระงับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และมาตรา 237 ได้นั้น
นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ. 2550 ข้อ 31 ระบุว่า การส่งคำร้อง ประกาศ หรือเอกสารอื่นใด ให้ส่งแก่คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้อง ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ปกติ หรือสถานที่ติดต่อแห่งใดแห่งหนึ่งตามที่คู่กรณีหรือผู้เกี่ยวข้องได้แจ้งไว้ ในกรณีไม่อาจดำเนินการได้ ให้ ศาลมีอำนาจสั่งให้นำเอกสารดังกล่าวปิดไว้ ณ ที่ทำการศาล หรือสถานที่ที่คู่กรณีแจ้งไว้ หรือให้ประกาศโดยวิธีอื่นใดตามที่ศาลเห็นสมควร และการปิดหรือการประกาศดังกล่าว ให้ถือว่าได้มีการส่งเอกสารโดยชอบแล้วนับแต่วันปิดหรือประกาศแล้ว ขณะที่ข้อ 29 ก็ระบุว่า กรณีผู้ถูกร้องไม่ยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 นับแต่วันรับสำเนาคำร้อง หรือภายในระยะเวลาที่ศาลกำหนด หรือไม่มารับสำเนาคำร้องภายในกำหนดเวลา ให้ศาลดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป ดังนั้น ก็ขึ้นอยู่กับประธานศาลรัฐธรรมนูญและคณะตุลาการว่าจะพิจารณาดำเนินการตามข้อกำหนดข้อใด
*** "อุกฤษ" จี้ยกเครื่องศาลรัฐธรรมนูญ
นายอุกฤษ มงคลนาวิน ประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรมแห่งชาติ (คอ.นธ.) ทำหนังสือเปิดผนึกเสนอให้ปรับปรุงแก้ไขปัญหาของศาลรัฐธรรมนูญว่า ที่ผ่านมา คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีสำคัญ ได้ถูกวิจารณ์ว่าอาจมีปัญหาความถูกต้องเป็นธรรม มีหลายคดีอาจก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่น โดยข้อเสนอแนะ เช่น การแก้ไของค์ประกอบของศาลรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้ประกอบด้วยประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการอีก 14 คน ซึ่งองค์คณะในการนั่งพิจารณาและในการทำคดีวินิจฉัย ต้องประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่น้อยกว่า 10 คน และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนตุลาการทั้งหมด และกำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งเพียง 4 ปี และให้ดำรงตำแหน่งเพียงวาระเดียว เป็นต้น
** "ส.ส.พท."เซ็นชื่อเตรียมยื่นถอดศาล
นายชูศักดิ์ ศิรินิล คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างยกร่างจดหมายเปิดผนึก เมื่อไม่ยอมรับอำนาจศาลฯ ก็ไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลฯ ภายใน 15 วัน หลังได้รับสำเนาคำร้องตามที่ศาลฯ สั่งให้ชี้แจง สาระสำคัญของจดหมายเปิดผนึก คือ การโต้แย้งว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องไว้พิจารณา เพราะการแก้ไขกฎหมายไม่ใช่การใช้สิทธิเสรีภาพ แต่เป็นเรื่องที่รัฐสภาใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ จะอ้างมาตรา 68 ไม่ได้ การกระทำที่เข้าด้วยมาตรา 68 คือ พวกกบฏ ล้มล้างหรือพวกแช่แข็งประเทศ
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนการประชุมเพื่อลงมติเรื่องวันแปรญัตติแก้รัฐธรรมนูญในวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา พรรคเพื่อไทยได้ให้ ส.ส.เซ็นชื่อในเอกสารเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับยื่นถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยไม่ได้สอบถามความสมัครใจหรือแจ้งรายละเอียด
***"เหลิม"โชว์แผนปราศรัยพ.ร.บ.ปรองดอง
ที่ห้างอิมพีเรียลลาดพร้าว นางธิดา ถาวรเศรษฐ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) แถลงว่า เราขอสนับสนุนฝ่ายบริหารในการทำสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าจุดยืนอยู่กับประชาชนก็ต้องรับฟังเสียงของประชาชน ซึ่งการดำเนินการของ 312 ส.ส.และ ส.ว. ทำให้เห็นว่าอำนาจฝายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารนั้นมีจริง
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเดินสายปราศรัยร่าง พ.ร.บ.ปรองดองแห่งชาติว่า จะนำพ.ร.บ.ปรองดอง 6 มาตราที่ได้ร่างไว้ไปชี้แจง มีนายพีระพันธ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย นายอดิศร เพียงเกษ แกนนำเสื้อแดง นายเวียง วรเชษฐ์ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทยเป็นทีมงาน
โดยวันที่ 26 เม.ย. ที่อ.สว่างแดนดิน จ.นครพนม วันที่ 27 เม.ย. ที่จ.ขอนแก่น ช่วงท้ายในการประชุมแก้ไขปัญหายาเสพติดจะเชิญนายตำรวจทุกภาค ผู้ว่าราชการจังหวัด อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่นร่วมฟัง และในวันที่ 24 พ.คที่ทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานี ส่วนภาคใต้น่าจะเป็นจ.ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี และ จ.สงขลา ส่วน จ.กระบี่ไม่ไปกลัวถูกไล่
เมื่อถามว่ามีการมองว่าที่ต้องรีบทำ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณระบุว่าจะกลับบ้านในปี นี้ ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่เกี่ยว ตั้งใจมานานแล้ว ถ้าไม่ขยับเลือกตั้งครั้งหน้าไปปราศรัยที่ภาคอีสานก็หัวแตก
**"มาร์ค"ให้กำลังใจศาลอย่ากลัวแดงขู่
ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขอเป็นกำลังใจให้ฝ่ายตุลาการ และองค์กรศาลว่าอย่าหวั่นไหว อย่าปล่อยให้การกดดันมีผลต่อการพิจารณาของตุลาการ ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองก็จะไม่มีหลัก จึงขอให้ทุกฝ่ายทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ส่วนที่นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.พาณิชย์ ระบุคนเสื้อแดงสามารถชุมนุมกดดันศาลรัฐธรรมนูญได้นั้น ถือเป็นเรื่องที่ นายกรัฐมนตรีต้องสั่งการดูแลให้ทุกอย่างเรียบร้อยไม่ให้เกิดปัญหาต่อการทำหน้าที่ตุลาการ หากรัฐบาลไม่ดูแลก็น่าจะสุ่มเสี่ยงต่อการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจนว่าจะไม่ปล่อยให้มีการใช้มวลชนมาข่มขู่การปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการ
**ชี้แดงคุกคามศาลเป็นยุทธศาสตร์ พท.
นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มกรีน กล่าวว่า เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย และ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ต้องการทำลายองค์กรอิสระและกลไกลถ่วงดุลการตรวจสอบ ซึ่งเป็นการสมรู้ร่วมคิดของคนในรัฐบาล พรรคเพื่อไทยและคนเสื้อแดง ซึ่งในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พบว่า มีการขยายตัวของอำนาจเถื่อน หรืออำนาจนอกระบบมากขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐและคนในรัฐบาล
ทั้งนี้ กลุ่มกรีน กำลังรวบรวมหลักฐานเพื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามมาตรา 68 เข้าข่ายการได้มา ซึ่งอำนาจที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญ โดยจะเชื่อมโยงให้เห็นโฉมหน้าของอำนาจนอกรัฐธรรมนูญที่ทำงานเชื่อมโยงเป็นขบวนการ ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ที่สไกป์สั่งงานรัฐบาล บทบาทพรรคเพื่อไทยที่ต่อต้านอำนาจศาล ผ่านการรื้อรัฐธรรมนูญและการคุกคามศาลของมวลชนเสื้อแดงที่เป็นทั้งสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรค
**กมธ.3 คณะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... มาตรา 190 นายอภิสิทธิ์ได้กล่าวในเรื่องนี้ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ที่เกี่ยวกับข้อตกลงทางการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ต้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติในสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะที่เป็นตัวแทนของประชาชน มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบ เพราะหากปล่อยให้เพียงฝ่ายบริหารดำเนินการเพียงอย่างเดียว ประชาชนก็จะขาดโอกาสการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ และไม่สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้ ซึ่งจะเปิดช่องทางการทุจริต
ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 มีการเชิญตัวแทนจากฝ่ายผู้ร้องคัดค้านการแก้ไขมาตรา 68 และผู้ถูกร้องมาชี้แจงด้วย
โดยพล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้อง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยร้องคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 291 ผ่านศาลรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีเสียงข้างมากที่จะยับยั้งในสภาฯ ได้ และได้ยื่นผ่านอัยการสูงสุดแล้ว แต่มีความล่าช้า ส่วนการยื่นคัดค้านการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 68 ครั้งนี้ เนื่องจากการยื่นเรื่องตามมาตรา 68 ต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิของปวงชนชาวไทย ซึ่งหากแก้แล้วจะเป็นการตัดช่องทางการร้องและเอาสิทธิประชาชนไปอยู่ในมืออัยการสูงสุดเพียงองค์กรเดียวเสมือนเป็นเผด็จการ
ด้านร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนผู้ถูกร้อง แสดงความมั่นใจว่า ในครั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องรับเรื่องคัดค้าน เพราะเคยรับเรื่องคัดค้านเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 291 ไปแล้ว โดยเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะยอมให้แก้ เพราะได้เคยแนะนำไปแล้ว และส่วนตัวมองว่าหากต้องทำประชามติ จะประสบความสำเร็จยาก ทั้งนี้ กรแก้รัฐธรรมนูญครั้งนี้ป็นการยื่นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา แต่รัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วย
ส่วนการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่. ...) พ.ศ. ... ที่เกี่ยวกับการแก้ไขที่มาและวาระการดำรงตำแหน่งของส.ว. เช่น มาตรา 115 เรื่องบุคคลที่ผู้มีคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของการสมัครเป็นส.ว. ในประเด็นสำคัญ (5) กมธ.เสียงข้างมาก ได้ตัดข้อความใน (5) ทิ้งทั้งหมด ซึ่งเนื้อหา ผู้ที่จะสมัครส.ว. ต้องไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งส.ส.หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง